28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

January 22,2021

เชื่อ‘โคราชไมซ์ซิตี้’ นานาชาติมั่นใจ

ผ่านมา ๔ เดือน หลังรับรองโคราชเป็น MICE City เตรียม MOU ผนึกหน่วยงานในโคราช ส่งเสริมจัดกิจกรรมและงาน ขอคนโคราชช่วยกันสร้างอัตลักษณ์ “ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี” ยืนยันการเป็นไมซ์ซิตี้สร้างเรื่องดีมากมาย เชื่อในอนาคตโคราชเป็นที่ต้องการของนานาชาติ

 

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔ “โคราชคนอีสาน” เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์ เพื่อสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และหัวหน้าสถาบันเครือข่าย MICE City and Tourism โคราชไมซ์ซิตี้ ถึงประเด็นการเป็น Korat MICE City ในปัจจุบัน 

ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี เปิดเผยว่า “จากวันที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับการประกาศเป็น MICE City นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยจะมีงาน MICE City Moving Forward ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เป็นการลงนามความร่วมมือระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) และหน่วยงานต่างๆ อีก ๔๕ หน่วยงาน รวมทั้งสื่อมวลชน โดยการลงนามข้อตกลงครั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานรวมพลังขับเคลื่อนโคราชไปด้วยกัน นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการงานที่จะเกิดขึ้นที่โคราชในอนาคต เช่น งาน Agro FEX ของสภาอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นทุกปี และงานที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือ งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ ๒ (Thailand Biennale, Korat 2020) และขณะนี้จังหวัดกำลังขอเป็นเจ้าภาพในการจัดงานพืชสวนโลก ซึ่งภายในงานวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์นี้ คนโคราชจะได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในช่วงเช้าจะมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ MICE City Forward Future ว่าในอนาคต MICE City จะต้องเป็นอย่างไร ในช่วงบ่ายได้เชิญสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (TICA) สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเมือง สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมสัมมนา โดยจะมาเล่าให้ฟังว่า สมาคมเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในโคราชอย่างไร ทั้งหมดนี้คืองานที่จะจัดขึ้นเพื่อส่งเสริม MICE City ของโคราช

“นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางที่จะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ MICE City เป็นศูนย์กลางที่จะช่วยผลักดันและเชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ กับ TCEB เพื่อยกระดับกิจกรรมในโคราช ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะต้องมองหาและจัดกิจกรรมที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์เมืองโคราช สร้างเทศกาลที่บอกว่าที่นี่คือโคราช ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว แต่ต้องหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาภายในโคราชมากขึ้น อีกทั้งเราจะจัดกิจกรรมโรดโชว์ไปตามกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ให้รู้จักถึงความเป็น Korat Mice City เพราะภาคีลูกค้าส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มจังหวัดรอบๆ นี้ด้วย จึงต้องการจะประชาสัมพันธ์ให้คนในภาคอีสานได้รู้จัก Korat Mice City โดยโคราชนับว่าเป็นแห่งแรกในอีสานใต้ ที่ได้รับการรับรองให้เป็น MICE City” ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี กล่าว

เมื่อถามว่า “การเป็น MICE City เปลี่ยนโคราชอย่างไร” ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ตอบว่า “การเป็น MICE City ไม่ใช่แค่การมีกิจกรรมและงาน แต่ข้อดีของการเป็น MICE City คือ โคราชจะได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา เช่น เมื่อมีการจัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อคนโคราช ก็จะสามารถนำมาใช้หรือต่อยอดได้ ทำให้คนโคราชได้ใกล้ชิดกับความรู้มากขึ้น ยกระดับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาต่างๆ ไปอีกขั้น รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้พัฒนาความรู้หรือต่อยอดธุรกิจการค้าต่างๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประชุมเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน หรือกลุ่มประเทศ”

ต่อข้อถามว่า “หลังจากโคราชถูกรับรองเป็น MICE City ขณะนี้ก็ยังไม่มีงานหรือกิจกรรมอะไรที่เป็นรูปธรรม” ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ตอบว่า “ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาประสานงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพื่อศึกษาการก่อสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ซึ่ง มทส.ได้รับเรื่องไปแล้ว น่าจะอยู่ในขั้นตอนของการผลักดัน นอกจากนี้ บทบาทของภาคเอกชนก็สำคัญ เพราะในโคราชมีห้องประชุมขนาดใหญ่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ศูนย์การค้าทั้ง ๓ แห่ง และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่แต่ละภาคส่วนร่วมกันผลักดัน แต่โคราชยังไม่ตีฆ้องดังๆ ว่า เราจะมีสิ่งนี้ แต่ในมุมมองของตน มองว่า โคราชมีความพร้อมและองค์ประกอบหลายอย่างที่พร้อมจะเป็น MICE City ดังนั้นสิ่งที่โคราชทำ คือการผลักดันให้เกิดกิจกรรมและงาน เพราะเมื่อมีกิจกรรมมากขึ้น ประชาชนก็จะเริ่มเข้าใจถึงบทบาทความเป็น MICE City ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร และช่วยส่งเสริมอะไรบ้าง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ต้องช่วยกันหาคำตอบว่า จะทำอย่างไรจึงจะดึงคนต่างถิ่นให้เข้ามาจัดงานหรือจัดกิจกรรมภายในจังหวัด ซึ่ง TCEB ก็ช่วยผลักดันด้วย โดยการนำสื่อมวลชนจากส่วนกลางมาชม Korat MICE City ซึ่งสื่อต่างๆ ก็ได้พูดคุยกันว่า จะช่วยผลักดันและขายความเป็นโคราช นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่กำลังมองศักยภาพของโคราช ซึ่งนับเป็นเมืองที่น่าสนใจในการดึงกิจกรรมเข้ามา แต่ว่าในกระบวนการทำสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้สำเร็จ แต่จะต้องดูด้วยว่า โคราชพร้อมหรือไม่ อีกทั้งยังมาพบกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้งานหรือกิจกรรมต่างๆ นิ่งไป นอกจากนี้ การเป็น MICE City ยังช่วยเหลือในเรื่องการยอมรับจากนานาชาติได้ด้วย โดยเฉพาะการขอจัดงานพืชสวนโลก จะมีขั้นตอนการพิจารณาผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็เข้าสู่ ครม.ก่อน ถึงจะส่งเรื่องไปยังประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งหน่วยงานที่จะช่วยผลักดันเรื่องนี้คือ TCEB นี่คือสิ่งที่ Korat MICE City กำลังทำ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างอัตลักษณ์ของเมืองให้ชัดเจน แล้วโคราชก็จะกลายเป็นเมืองที่นานาชาติต้องการในที่สุด”

เมื่อถามว่า “คำว่า MICE นั้น โคราชไม่จำเป็นจะต้องมีครบทั้ง ๔ ตัวอักษรได้หรือไม่ แต่ให้เน้นไปด้านใดด้านหนึ่ง” ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี เปิดเผยว่า “โคราชสามารถทำได้ เพราะโคราชมีความโดดเด่นในด้านตัว M และตัว I โดยเฉพาะที่อำเภอปากช่อง จะมีการพบปะสังสรรค์ การจัดประชุมอยู่ตลอดเวลา มีนักท่องเที่ยวเข้าออกตลอด แต่ถ้าในเขตตัวเมืองจะได้จากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนตัว C จะได้จากการจัดประชุมขนาดใหญ่ผ่านทางออนไลน์ ส่วนตัว E โคราชมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก มีกิจกรรมที่สภาอุตสาหกรรมจัดเป็นประจำทุกปี แต่ถ้าในอนาคตมีการจัดงานมากขึ้น ก็จะช่วยให้ตัว E มีความชัดเจนมากขึ้น หากโคราชจะเริ่มต้นการเป็น MICE อาจจะต้องเริ่มจากตัว M ตัว I และตัว C ส่วนตัว M ต้องพยายามหาความชัดเจน และสะท้อนให้เห็นว่า โคราชเหมาะกับการจัดแสดงสินค้าแบบไหน แบบนี้ควรจัดขึ้นทุกปี และหากเรามีศูนย์ประชุมเกิดขึ้น จะช่วยให้งานต่างๆ มีความเป็นนิทรรศการมากขึ้น ถึงแม้เราจะมีศูนย์การค้าที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่ แต่ก็มีข้อจำกัดมากมาย แต่เมื่อมีศูนย์ประชุมเมื่อไหร่ ความเป็น MICE City ของโคราชจะชัดเจนขึ้นทันที”

ทั้งนี้ คำว่า MICE เกิดจากการนำตัวอักษร ๔ ตัวมาประกอบ ดังนี้ ตัว M คือ MEETINGS การประชุม การพบปะสังสรรค์ทางความคิด ความรู้ และสร้างสัมพันธ์ขององค์กร ช่วยผลักดันให้องค์กรนั้นเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ รวมไปถึงกิจกรรม Team Building ที่เป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ขององค์กร อาจจะจัดประชุมระดับภูมิภาค ระดับชาติหรือ ระดับนานาชาติ ตัว I คือ INCENTIVES TRAVEL การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นและแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคลากร ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการรูปแบบหนึ่งที่สร้างความรู้สึกพิเศษให้แก่บุคลากร ทุกครั้งที่มีการจัด Incentive นี้ แน่นอนว่าต้องกำหนดที่พัก โปรแกรมท่องเที่ยว วางแผนกิจกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน เช่น งานเลี้ยง กิจกรรมสันทนาการ รวมถึงกิจกรรม CSR ด้วย ตัว C คือ CONVENTIONS การประชุมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ แลกเปลี่ยน อภิปราย โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมอาจถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว โดยสมาคม สมาพันธ์เป็นเจ้าของงาน เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะต่างๆ ซึ่งมักจะจัดขึ้นประจำตามรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดของสมาคมในระดับนานาชาติ อีกความหมายก็คือ Conference การประชุมขนาดใหญ่ใช้เวลาหลายวันและมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยหรือหลายพันคนจากทั่วโลก และตัว E คือ EXHIBITIONS เป็นงานแสดงสินค้า นวัตกรรม ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย รวมไปถึงงาน Trade Show, Trade Fair, Trade Expo และงาน Fair ด้วย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ ระหว่างกัน ประเทศไทยยังให้ความสำคัญ Mega Event ซึ่งประเทศไทยใช้กลยุทธ์การดึงงานอีเว้นท์ขนาดใหญ่ระดับโลกเป็นเครื่องมือสำหรับการประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์ และการรับรู้ รวมถึงการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๓ วันพุธที่ ๒๐- วันอังคารที่ ๒๖ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

968 1588