16thApril

16thApril

16thApril

 

January 30,2021

ทอ.สิงคโปร์เคลื่อนทัพสู่โคราช มีมาตรการป้องกันโควิดเข้มข้น

กองบิน ๑ เตรียมเปิดประตูรับทัพอากาศสิงคโปร์มาฝึกร่วมกันในเดือนมีนาคม มาจากอุดรธานี ๑๐๐ นาย และบินตรงจากสิงคโปร์ เข้า SQ ๑๔ วัน จากนั้นกักตัวที่โคราชอีก ๑๔ วัน เตรียมมาตรการป้องกันโควิดเข้มข้น “ผู้การฯเจริญ” ให้คำมั่น ทหารมีเกียรติศักดิ์ที่ดี จังหวัดบอกไว้มาคุยกันอีกที แต่คาดสถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น

 

ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา พญ.ศุภมาส ลิ่วศิริรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เข้าร่วม โดยสรุปว่า ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อสะสม ๑๐ ราย รักษาหาย ๗ ราย ยังรักษา ๓ ราย โดยดำเนินงานคัดกรองประชาชนจำนวน ๓๘,๒๘๓ ราย คัดกรองใหม่ ๑,๑๐๗ ราย มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนรายใหม่ ๑๕๘ ราย สะสม ๖,๑๔๓ ราย ไม่พบเชื้อ ๖,๑๓๖ ราย สะสม ๑,๓๒๙ ราย ไม่พบเชื้อ ๑,๓๒๗ ราย ผู้เดินทางมาจาก ๕ จังหวัด (ควบคุมสูงสุดเข้มงวด) รายใหม่ ๗ ราย สะสม ๙,๔๓๔ ราย เฝ้าระวัง ๑๙๖ ราย พ้นระยะ ๙,๒๓๗ ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิต

จากนั้นในวาระที่ ๔.๑.๑ กองบิน ๑ ขออนุญาตดำเนินการวางกำลังหน่วยบินแยกกองทัพอากาศสิงคโปร์ โดยน.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน ๑ นำเสนอในที่ประชุมว่า “จากบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสิงคโปร์ว่าด้วยการสนับสนุนด้านการฝึก และการส่งกำลังบำรุงซึ่งกันและกัน ระหว่างกองทัพอากาศไทยและกองทัพอากาศสิงคโปร์ ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๒ กองทัพอากาศได้กำหนดห้วงเวลาฝึกบินฝ่ายเดียวของกองทัพอากาศสิงคโปร์ไว้ระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม-๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ โดยกำลังพลของกองทัพอากาศสิงคโปร์ จำนวน ๑๘๐ คน แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ ๑ หน่วยบินแยก F-16 เดินทางมาจากจังหวัดอุดรธานี ๑๐๐ คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว ปีที่ผ่านมาประจำอยู่ที่จ.อุดรธานี (กองบิน ๒๓) เพราะเราไม่อนุญาตให้กลับและไม่อนุญาตให้คนใหม่เข้ามาเปลี่ยน หากมีการคลายล็อกดาวน์จึงมีการเปลี่ยนผลัด และกลุ่มที่ ๒ หน่วยบินแยก F-15 เดินทางมาจากสิงคโปร์ ๘๐ คน กองทัพอากาศไทยได้ประชุม หารือ และรวบรวมข้อมูล รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากโรงพยาบาลกองบิน ๑ เพื่อประกอบการพิจารณาซึ่งกำลังพลของกองทัพอากาศสิงคโปร์ยินดีปฏิบัติตามทุกประการ”

“สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ที่เตรียมไว้ มีรายละเอียด ดังนี้ ๑.กำลังพลของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ จะดำเนินการตามมาตรการแห่งรัฐ โดยกักตัวใน Alternative State Quarantine (ASQ) ๑๔ วัน ก่อนเดินทางมาที่โคราช ๒.กำลังพลของกองทัพอากาศสิงคโปร์ทุกคนที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ก่อนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และนำ Medical Certificate ติดตัวมาด้วย ๓.การเดินทางมายังกองบิน ๑ จะนั่งรถโดยสารขนาดใหญ่ออกจาก ASQ แล้วตรงมาที่กองบิน ๑ โดยไม่จอดแวะระหว่างทาง ๔.เมื่อมาถึงกองบิน ๑ กำลังพลกองทัพอากาศสิงคโปร์ทั้งหมด จะพักอาศัยอยู่ภายในกองบิน ๑ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน และ ๕.โรงพยาบาลกองบิน ๑ จะคัดกรองกำลังพลกองทัพอากาศสิงคโปร์ก่อนเดินทางเข้าที่พักภายในกองบิน ๑ และเฝ้าติดตามให้ปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดนครราชสีมา กองทัพอากาศ และรัฐอย่างเคร่งครัด” น.อ.เจริญ กล่าว

ผู้บังคับการกองบิน ๑ รายงานต่อไปว่า “กำลังพลของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ทั้ง ๑๘๐ คน ต้องพักอาศัยและปฏิบัติหน้าที่ภายในกองบิน ๑ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน ซึ่งจำนวน ๘๐ คน ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ แยกที่พักออกเป็นเอกเทศ และกองบิน ๑ มีความยินดีให้พักอาศัยและปฏิบัติหน้าที่เต็มระยะเวลา ๒ เดือน กำลังพลที่เข้ามาภายในจังหวัดนครราชสีมายังถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดหากต้องการอาศัยอยู่ต่อ กองบิน ๑ ได้เตรียมทีมแพทย์เพื่อรับผิดชอบในการคัดกรองตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและเข้มข้น” 

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “มาตรการที่กองบิน ๑ นำเสนอตรงตามตำราทุกประการ โดยกำลังพลแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ๑๐๐ คนที่เดินทางมาจากอุดรธานี นับเป็นบุคคลทั่วไป ไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือไม่ได้มาจากพื้นที่เสี่ยง เมื่อเดินทางเข้ามาแล้วมีพื้นที่รองรับ ส่วน ๘๐ คน ที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ ปฏิบัติตามตำรา สิ่งที่น่าชื่นชมคือ เมื่อเดินทางเข้ามาภายในจังหวัดนครราชสีมายังกักตัวอีก ๑๔ วัน ด้านวัคซีนยังไม่ขอแสดงความคิดเห็น เนื่องจากยังไม่มีมาตรการที่ออกมาแน่ชัดว่าสามารถป้องกันได้แค่ไหน จึงต้องใช้มาตรการของประเทศไทยเป็นหลัก แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะวัคซีนที่นำเสนอได้รับการรับรองว่าสามารถใช้ได้”  

“ข้อกังวลด้านสาธารณสุขคาดว่าไม่มีปัญหา แต่ขอถามแทนประชาชน คือ ๑.กำลังพลสิงคโปร์ทั้ง ๘๐ คน เมื่อเข้ามาภายในกองบิน ๑ มีโอกาสสัมผัสกับทหารอากาศไทยหรือไม่ ๒.ขอให้สาธารณสุขจังหวัดเข้าไปตรวจเยี่ยมมาตรการที่นำเสนอมาว่า สามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ อย่างน้อยมีหน่วยสาธารณสุขเข้าไปประเมินสถานการณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และ ๓.มีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่ว่า จะอนุญาตให้ทหารอากาศสิงคโปร์ทั้งหมด เข้า-ออกกองบิน ๑ เพื่อท่องเที่ยวภายในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทั้ง ๑๐๐ คนที่มาจากอุดรฯ และ ๘๐ คนที่มาจากสิงคโปร์ ประชาชนจะแยกได้อย่างไรว่า ใครอยู่หน่วยไหน จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า มาตรการที่นำเสนอมานี้จะเกิดขึ้นจริง” นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าว 

น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ชี้แจงว่า “ในการฝึกบิน กองทัพอากาศสิงคโปร์ไม่ได้ต้องการกำลังพลสนับสนุนมากนัก ยกเว้นเข้าฝึกบินด้วยกัน แต่ถือเป็นโอกาสที่หน่วยบินกองบิน ๑ จะได้ฝึกร่วมกับกองทัพอากาศสิงคโปร์ โดย ๑๔ วันแรกจะไม่มีการฝึกร่วมกัน ซึ่งกองทัพอากาศสิงคโปร์จะทำการฝึกด้วยตัวเอง โดยมีอาคาร หน่วยบิน อุปกรณ์การบิน รวมถึงผู้ทำการฝึกเป็นของกองทัพอากาศสิงคโปร์ทั้งหมด เพียงแค่มาใช้ลานจอดและสนามบินของกองบิน ๑ เท่านั้น หลังจาก ๑๔ วันแล้วจึงจะมีการคัดกรองตามมาตรการ โดยกองบิน ๑ มีแนวคิดที่จะทำการฝึกร่วม เพื่อแสวงประโยชน์ในการมาประจำการหรือมาวางกำลังพลอยู่ที่นี่ และยินดีให้ความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด” 

“ผมเชื่อว่า เรามีเป้าหมายร่วมกันในห้องประชุมนี้ เพื่อจะควบคุมถึงความปลอดภัยของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องการเห็นเศรษฐกิจไปได้ด้วย ผมสามารถสั่งการได้อยู่แล้วว่า ทั้ง ๘๐ คน ต้องอาศัยอยู่ภายในกองบิน ๑ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน และอีก ๑๐๐ คน สามารถเดินทางเข้า-ออกได้ หากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ไม่มั่นใจ ขอให้เชื่อว่า ทหารมีระบบเกียรติศักดิ์ที่ดีและปฏิบัติตามนั้น ยินดีบังคับให้ทุกคนอยู่ภายในกองบิน ๑ เป็นเวลา ๑๔ วัน และหลังจากนั้นจึงอนุญาตให้ออกมาภายนอกได้” น.อ.เจริญกล่าวอย่างหนักแน่น

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวว่า “กองกำลังหน่วยบินจะเดินทางเข้ามาในเดือนมีนาคมนี้ เมื่อถึงวันนั้นสถานการณ์คงเปลี่ยนไป ต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งมาตรการในอนาคตอาจจะปลดล็อกแล้ว แต่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศยังต้องใช้มาตรการนี้ จังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทยสามารถควบคุมได้ ณ วันนั้นจะมาพูดคุยกันอีกครั้ง สถานการณ์จะลบหรือบวกไม่มีใครรู้ แต่คาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เหลือเพียง ๕ จังหวัดเท่านั้นที่ต้องควบคุมเข้มข้น ในการเดินทางเข้าโคราช”

พญ.วิชญ์วรีย์ ธีรธัญสิริ ผู้แทนโรงพยาบาลกองบิน ๑ กล่าวว่า “โรงพยาบาลกองบิน ๑ มีคลินิกเพื่อตรวจโรคทางเดินหายใจ ในสถานการณ์ปัจจุบันการระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกใหม่ เมื่อพบผู้ป่วยจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งโรงพยาบาลกองบิน ๑ ไม่มีห้อง negative pressure (ห้องความดันลบ) เพราะอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยหลังใหม่”  

จากนั้น นพ.วิชาญ คิดเห็น ตั้งคำถามว่า “หากทหารที่เดินทางเข้ามามีอาการป่วยต้องตรวจหาเชื้อทันที โดยการตรวจหาเชื้อต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และระยะเวลารอผล ผู้ป่วยควรพักอยู่ในห้อง negative pressure การส่งต่อผู้ป่วยใช้ระบบสาธารณสุขจังหวัด โดยประสานมาทางโรงพยาบาลมหาราชฯ หรือโรงพยาบาลค่ายสุรนารี นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ด้วย”

พญ.วิชญ์วรีย์ กล่าวว่า “ช่วงโควิด-๑๙ รอบแรก มีการฝึกโคปไทเกอร์ ได้ประสานงานโรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีเพียงโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา สำหรับการฝึกครั้งล่าสุด ทหารชาวต่างชาติจะส่งไปที่โรงพยาบาลกรุงเทพ หากเป็นทหารไทยจะนำส่งโรงพยาบาลค่ายสุรนารี ถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน แต่ระลอกใหม่นี้ ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกัน และที่ผ่านมายังไม่พบทหารต่างชาติเจ็บป่วยขณะทำการฝึกในจังหวัดนครราชสีมา จึงขอคำแนะนำจากที่ประชุมด้วย”  

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “ขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากพบเชื้อเป็นบวก ทหารในค่ายก็ต้องตรวจหาเชื้อทั้งหมด โดยใช้แผนเดิมคือ Swab (ตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูก) ให้โรงพยาบาลกองบิน ๑ ทำการ Swab กับทหารที่มีอาการป่วย หากพบเชื้อจะส่งทีมแพทย์เข้าไปรับตัวแล้วนำเข้าห้องแยกเพื่อสร้างความมั่นใจ หากขาดเหลืออุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถแจ้งเข้ามาได้”  

พญ.วิชญ์วรีย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลกองบิน ๑ สามารถขอผู้ช่วยทางการแพทย์ได้ แต่ไม่สามารถ Swab ได้ มีเพียงสถานที่และอุปกรณ์ป้องกัน การส่งคนไข้ Swab ทำได้เพียงส่งไปยังโรงพยาบาลที่ประสานงานกันเท่านั้น”  

นพ.วิชาญ กล่าวท้ายสุดว่า “เป็นโอกาสดีที่สาธารณสุขจะเข้าร่วม หากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นในกลุ่มนี้ จะมีการรับมืออย่างไร นำไปตกลงกันเพื่อให้เกิดมาตรฐาน และนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศสิงคโปร์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน” 

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับเรื่องไว้พิจารณา เพื่อรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ว่าจะคลี่คลายในระดับใด 

โดยผู้ป่วยทั้ง ๑๐ ราย รักษาหายแล้ว ๘ ราย รักษาตัว ๒ รายคือที่รพ.พิมาย และรพ.เทพรัตน์ (๒๗ มกราคม ๒๕๖๔) 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๒๗ เดือนมกราคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

1022 1374