29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 21,2021

แนะนำให้ตรวจโรงงาน‘เจ้าสัว’ พนักงานแพร่เชื้อ ๓ วง ๖๐ ราย มติจังหวัดสั่งห้ามเข้าเด็ดขาด

โคราชยังพบคลัสเตอร์ใหม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยเคยเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง กลับมาไม่กักตัวตั้งวงสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ เล่นไพ่ ต้องปิดพื้นที่ ๓ หมู่บ้าน ในอำเภอประทาย ด้านคลัสเตอร์เจ้าสัว ถูกสั่งปิดโรงงาน ๑๔ วัน ต้องตรวจหาเชื้อพนักงานทั้งหมด เพราะขยายการแพร่ระบาดไปแล้ว ๓ วง กว่า ๖๐ ราย สั่งห้ามเข้าพื้นที่เด็ดขาด


ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดจากกลุ่มคลัสเตอร์สถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๔ จึงจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรายงานความคืบหน้าทุกวันเรื่อยมา

สำหรับความคืบหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจากวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๙ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๘๕ ราย รักษาหายแล้ว ๔๕๗ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๒๓ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม
    
นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า “คลัสเตอร์ที่สำคัญขณะนี้คือ คลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ๒ ราย ซึ่งอยู่ที่อำเภอสูงเนินและอำเภอเมือง เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไปตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปัจจุบันยอดรวมของคลัสเตอร์นี้มีทั้งหมด ๒๓ ราย”

สรุปคลัสเตอร์เจ้าสัว

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๙๒ ราย รักษาหายแล้ว ๔๘๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๓๐๒ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา

นพ.วิญญู จันทร์เนตร ให้มีการนำเสนอเรื่องการระบาดของโควิด-๑๙ ในโรงงานเจ้าสัว โดยนางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ในฐานะนักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา นำเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมว่า “คลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว (ฝ่ายผลิต) เริ่มต้นขึ้นที่โรงงาน ๒ พบคนไข้รายแรก คือ รายที่ ๖๕๔ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เขาอยู่ในส่วนงานปรุงน้ำราด จากนั้นไปพบรายแรกของโรงงาน ๑ คือ รายที่ ๖๙๙ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รายนี้อยู่ในห้องบรรจุ ๓ ในส่วนของผลิตภัณฑ์กุนเชียง โดยมีพนักงานอยู่ในห้องทั้งหมด ๓๑ คน โดยพบผู้ติดเชื้อในห้องนี้ทั้งหมด ๑๓ ราย ส่วนอีก ๑๘ ราย เราส่งให้กลับบ้านและทำการกักตัว ๑๔ วัน ซึ่งในห้องนี้มีอยู่ ๒ ราย ที่ทำให้เกิดการระบาดไปยังครอบครัวที่อยู่อำเภอโนนไทย ในส่วนของห้องบรรจุ ๒ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าห้องแรก มีพนักงานทั้งหมด ๙๑ คน โดยห้องบรรจุ ๓ เป็นห้องที่มีความแออัดมากกว่า มีระบบระบายอากาศที่ค่อนข้างร้อน พนักงานจึงปลดแมสก์ลง และไม่สวมถุงมือ ทำให้เกิดการระบาดค่อนข้างมาก ซึ่งห้องบรรจุ ๒ เป็นห้องขนาดใหญ่คล้ายกับห้องประชุม จึงพบคนไข้ไม่มาก มีเพียง ๓ ราย จากคนทำงานทั้งหมด ๙๑ คน และห้องบรรจุ ๑ เป็นห้องแคบๆ คล้ายห้องบรรจุ ๓ พบผู้ติดเชื้อ ๓ ราย จากทั้งหมด ๑๗ ราย”

พบในโรงงานที่ ๒

นางสาวทิพวรรณ กล่าวอีกว่า “จากการสอบสวนโรคพบว่า รายที่ ๗๔๙ (ห้องบรรจุ ๑) ๗๕๐ (ห้องบรรจุ ๒) และ ๗๑๕ (ห้องบรรจุ ๓) เป็นคนจากบ้านวัง อำเภอโนนไทย ซึ่งทั้ง ๓ ห้องในโรงงานที่ ๑ มีค่าในห้องปฏิบัติการแตกต่างกันมาก มีทั้งคนที่กำลังแพร่กระจายและติดเชื้อมานานแล้ว โดยรายที่ ๗๔๙ พบว่ามีการติดเชื้อมานานแล้ว ซึ่งคนไข้ทั้ง ๓ รายจากบ้านวัง เคยโดยสารรถสาธารณะในช่วงเดียวกันกับคนไข้ของอำเภอด่านขุนทด เราจึงคิดว่า การเกิดคลัสเตอร์ของโรงงานนี้น่าจะเกิดจากการรวมตัวของคนจากหลายๆ พื้นที่มารวมกัน จึงทำให้เกิดการระบาด หากถามว่าการสอบสวนโรคของเรานั้น ยังหาแหล่งที่ชัดเจนไม่ได้ แต่จากการเข้าไปตรวจสอบในโรงงานพบว่า มีจุดสัมผัสร่วมหลายแห่งที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายโรค ซึ่งเรื่องนี้ได้แนะนำโรงงานให้ทำความสะอาดในเบื้องต้นแล้ว”

“ส่วนโรงงานที่ ๒ รายที่ ๗๘๒ เพิ่งตรวจพบในวันนี้ เป็นคนจากอำเภอด่านขุนทด ทำหน้าที่เป็นพนักงานอนามัยที่จะต้องตรวจทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน ซึ่งเขาจะมีไม้ตรวจฝุ่นที่ใช้กลิ้งบนร่างกาย โดยพนักงานจะสวมชุดกาว มีหมวกคลุมหัว ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจร่างกายจากคนนี้ ทำให้เป็นจุดสัมผัสร่วม โดยมีพนักงานในช่วงเช้าประมาณ ๑๗๗ คน จึงคิดว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญมาก เพราะต้องสัมผัสกับทุกคน และค่าปฏิบัติการณ์ค่อนข้างต่ำ คือ มีการแพร่กระจายโรคค่อนข้างสูง โดยในช่วงแรกรายที่ ๗๘๒ เป็นคนที่ไม่มีความเสี่ยง แต่เนื่องจากโรงงานจะเปิดทำการในวันที่ ๑๓ (โรงงาน ๑) และ ๑๕ พฤษภาคมนี้ (โรงงาน ๒) จึงต้องตรวจ หากไม่มีผลตรวจก็จะไม่ให้มาปฏิบัติงาน เขาจึงไปตรวจหาเชื้อในวันที่ ๙ พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในการตรวจครั้งนี้ โรงงานใช้รถตู้นำไป โดยรถตู้นี้เป็นรถคันเดียวที่เวียนรับคนจำนวน ๔๐ คน ในการทำความสะอาดระหว่างถ่ายคนลงคงไม่มีแน่ๆ ที่สำคัญค่าของการติดเชื้อก็น่ากังวล”

อำเภอเมืองมากสุด

นางสาวทิพวรรณ กล่าวท้ายสุดว่า “ขณะนี้การกระจายของคลัสเตอร์เจ้าสัว โดยอำเภอเมืองมีการแพร่กระจายมากที่สุด ในส่วนนี้ก็มีการกักตัวของบุคคลที่โรงงานแจ้งรายชื่อมา บางส่วนก็กำลังติดตาม เพื่อกักตัวให้ได้มากที่สุด เพราะการตรวจในวันแรกจะไม่พบเชื้อ ส่วนใหญ่จะพบในวันที่ ๕ สำหรับคลัสเตอร์ของอำเภอชุมพวง ยังไม่สรุปว่าเป็นการระบาดมาจากที่ใด ยังอยู่ในการสอบสวนโรคอยู่ นอกจากนี้ยังมีการระบาดไปที่อำเภอด่านขุนทด ขามทะเลสอ และโนนไทย ในการเข้าร่วมกับโรงงานเพื่อพิจารณาบุคคลเสี่ยงทำค่อนข้างยาก เพราะโรงงานนี้มีพนักงานเกือบ ๘๐๐ คน และมีพนักงานรายวันด้วย ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับโรงงาน จึงทำให้เราทำงานค่อนข้างยากว่า จะเหลือใครที่สามารถทำงานได้บ้าง เพราะจุดหนึ่งในการลงพื้นที่โรงงาน มีจุดเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นห้องที่ทุกคนจะต้องมาเปลี่ยนชุดเป็นชุดคลุมสีขาว จุดนี้จึงเป็นจุดที่มีการสัมผัสค่อนข้างมาก และในช่วงกลางวันก็ต้องมาห้องนี้เพื่อเปลี่ยนชุด เพื่อไปรับประทานอาหาร ในส่วนนี้ได้คุยกับโรงงานแล้ว เห็นว่าจะปรับเป็นห้องที่มีแสงส่อง เพื่อใช้ฆ่าเชื้อ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลาการดำเนินงาน และยังมีอีกหลายจุดที่เสี่ยง จากการลงพื้นที่ได้ให้คำแนะนำไปบ้างแล้ว และจะมีการติดามเป็นระยะ และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้”

ปิดโรงงานเจ้าสัว ๑๔ วัน

นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากมองย้อนกับไป คลัสเตอร์เจ้าสัวจะคล้ายๆ กับที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากผ่านมา ๑๐ วันนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่าเชื้อเข้ามาอย่างไร ลักษณะแบบนี้จะเรียกว่า รังโรค คือ มีคนติดเชื้อไปทั่ว การแยกผู้สัมผัสก็ทำได้ยาก ความเห็นของผม คือ ลักษณะแบบนี้จะต้องปิดและตรวจทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องแยกเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ ขอให้ตรวจอย่างน้อย ๒ ครั้ง เพราะครั้งนี้มีการระบาดไป ๕ อำเภอแล้ว ทั้งอำเภอเมือง ด่านขุนทด ขามทะเลสอ โนนไทย และชุมพวง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ปิดสถานที่ ขอให้ตรวจอย่างน้อย ๒ ครั้ง ทุกคนที่อยู่ในโรงงาน และขอให้ปิดโรงงานผลิตหรือสถานที่ขายอะไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจเมื่อกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ขอให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้ด้วย”

จากนั้น นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา ขอ มติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปิดโรงงานเจ้าสัว ในจุดที่มีการแพร่ระบาดเป็นระยะเวลา ๑๔ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยจะต้องมีการตรวจเชื้อคนงานทุกคน เป็นจำนวนอย่างน้อย ๒ ครั้ง

เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๗๙๙ ราย รักษาหายแล้ว ๕๐๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๘๗ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย รวมเสียชีวิตสะสม ๗ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ขณะนี้ที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอยู่ ๖๑ ราย มีอาการโคมา ต้องใส่ท้อช่วยหายใจ ๓ ราย และใส่เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ ๗ ราย ส่วนที่เหลือมีอาการปกติ มีเด็กทั้งหมด ๖ ราย อาการปกติทุกคน และมีผู้เสียชีวิตวันนี้ ๒ ราย ได้แก่ รายที่ ๘๓ เพศชาย อายุ ๗๑ ปี อำเภอปากช่อง ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง และรายที่ ๖๑๖ เพศชาย อายุ ๒๘ ปี อำเภอปักธงชัย ผู้ป่วยมีภาวะอ้วน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวทั้ง ๒ ราย ซึ่งจะเห็นว่า ผู้เสียชีวตทั้ง ๒ รายนี้ และสะสม ๗ ราย มีความเสี่ยงตามโรค ๗+๑ ที่ต้องฉีดวัคซีน มี ๓ ราย อายุเกิน ๖๐ ปี และ ๔ ราย อายุน้อยกว่า ๖๐ ปี แต่มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ และมีภาวะน้ำหนักเกิน”

เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๐๓ ราย รักษาหายแล้ว ๕๔๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๕๕ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย รวมเสียชีวิตสะสม ๘ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายชรินทร์ ทองสุข นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล และนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา พญ.อารีย์ เชื้อเดช รอง นพ.สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ เปิดเผยว่า “ผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง ๔ ราย อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองทั้งหมด อยู่ในตำบลบ้านใหม่ ๒ ราย ตำบลบ้านเกาะ ๑ ราย และตำบลในเมือง ๑ ราย โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย เป็นผู้ติดเชื้อลำดับที่ ๓๘๗ เพศชาย อายุ ๖๘ ปี อำเภอห้วยแถลง ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ มีภาวะแทรกซ้อน มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔ โดยติดมาจากลูกสาวและลูกเขยที่มาพักอยู่ด้วย ในช่วงวันที่ ๑๑-๑๕ เมษายน ๒๕๖๔ โดยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลห้วยแถลง เมื่อพบภาวะปอดบวมจึงส่งมาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ”

คลัสเตอร์เฝ้าระวัง

พญ.อารีย์ เชื้อเดช รายงานคลัสเตอร์สำคัญ ว่า “ปัจจุบันมี ๒ คลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ คลัสเตอร์ตำบลโนนรัง อำเภอชุมพวง มีผู้ป่วยทั้งหมด ๑๗ ราย โดยผู้ป่วยรายแรก คือ รายที่ ๗๖๐ โดยวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีการจัดงานศพในบ้านของผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งมีผู้ร่วมงานทั้งหมด ๘๐ คน และในขณะนั้นยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อ ในระหว่างนั้นมีญาติจากกรุงเทพฯ มานอนพักค้างคืนที่บ้านของผู้ป่วยด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายที่ ๗๖๐ เป็นเด็กฝึกงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานเจ้าสัว เมื่อทราบว่า มีผู้ติดเชื้อภายในโรงงาน จึงมาตรวจหาเชื้อและพบเชื้อ จากนั้นจึงต้องหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และพบว่า ภายในบ้านที่ผู้ป่วยรายที่ ๗๖๐ อาศัยอยู่มีผู้ติดเชื้อรวม ๙ ราย เมื่อสั่งปิดหมู่บ้านและตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในคลัสเตอร์งานศพทั้งหมด พบผู้ติดเชื้อ ๑๗ ราย ซึ่งหลังจากปิดหมู่บ้านก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้”

“สำหรับคลัสเตอร์เจ้าสัว มีผู้ป่วยทั้งหมด ๒๙ คน โดยโรงงานที่ ๒ มีผู้ป่วยทั้งหมด ๓ ราย คือ รายที่ ๗๘๒ ๖๕๔ และ ๗๖๐ ส่วนโรงงานที่ ๑ พบผู้ติดเชื้อในห้องบรรจุหมู่หยอง ๖ ราย ห้องบรรจุหมูปรุงรส ๓ ราย และห้องบรรจุกุนเชียง ๑๓ ราย โดยมีผู้ป่วยรายที่ ๖๙๙ เป็นผู้ป่วยรายแรก ซึ่งพื้นที่ของทั้ง ๓ ห้อง มีพนักงานอยู่จำนวนมาก มีความแออัด และระบายอากาศได้ไม่ดี ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงงานที่ ๑ โดยคลัสเตอร์นี้ขยายการแพร่ระบาดไปสู่ครอบครัวอีก ๔ ราย กลายเป็นการติดเชื้อวงที่ ๒ รวมทั้งหมดของคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ ๒๙ ราย ซึ่งโรงงานได้ปิดทำการไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. โดยตรวจหาเชื้อพนักงานไปแล้วประมาณ ๖๐๐ ราย” พญ.อารีย์ กล่าว

ยังระบาดไม่หยุด

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๘ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๑๑ ราย รักษาหายแล้ว ๕๖๖ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๓๗ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รายงานคลัสเตอร์ที่น่าสนใจ ว่า “ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ๘ ราย มี ๗ รายอยู่ในอำเภอเมือง มีส่วนเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์เจ้าสัว โดยมี ๕ ราย เป็นพนักงานของโรงงานเจ้าสัว ส่วนอีก ๒ ราย เป็นผู้ป่วยวงที่ ๒ เป็นคนร่วมบ้านและลูกสาวของผู้ป่วย สิ่งที่วางใจได้ คือ การพบผู้ติดเชื้อในโรงงานวันนี้ ๕ ราย เป็นพนักงานจากโรงงานที่ ๑ ทั้งหมด ซึ่งการพบผู้ติดเชื้อวันนี้ เป็นการตรวจหาเชื้อครั้งที่ ๒ หรือวันที่ ๕ โดยเราจะให้พนักงานเจ้าสัวตรวจในวันที่ ๐ วันที่ ๕ วันที่ ๗ และวันที่ ๑๔ หลังจากการพบผู้ป่วยรายอื่น ขณะนี้ทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ เราได้ให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามตลอด เพราะการตรวจในวันแรกจะพบการติดเชื้อน้อยมาก สิ่งที่น่ากลัว คือ หลังวันที่ ๕ ถึงวันที่ ๑๔ และสิ่งที่น่ากังวล คือ คนในครอบครัว เพราะพนักงานเขากักตัวจริง แต่ไปกักตัวที่บ้าน โดยพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์นี้สูงสุดอยู่ที่อำเภอเมือง ตำบลสุรนารี แลตำบลไชยมงคล อำเภอขามทะเลสอ ด่านขุนทด โนนไทย และสูงเนิน ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยให้ความรู้ความเข้าใจกับพนักงานเจ้าสัว ซึ่งเป็นผู้ที่กำลังกักตัวอยู่ เพราะสิ่งที่เรากลัว คือ การเกิดคลัสเตอร์ครอบครัว”

คลัสเตอร์เจ้าสัวพุ่ง ๓๘ ราย

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๑๕ ราย รักษาหายแล้ว ๕๙๑ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๑๖ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รอง นพ.สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ รายงานคลัสเตอร์ที่น่าสนใจ ว่า “วันนี้พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์เจ้าสัวอีก ๑ ราย โดยคนนี้ตรวจพบในวันที่ ๗ ของการกักตัว และมีส่วนเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตำบลโนนรัง อำเภอชุมพวง เขามาทำงานพร้อมกับภริยา เมื่อวันที่ ๒๐-๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ แต่ตัวภริยาตรวจพบเชื้อก่อน เคสนี้อยู่ในส่วนของโรงงานที่ ๒ เกี่ยวกับเข้าตัง นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อของคลัสเตอร์เจ้าสัวเป็นวงที่ ๓ จำนวน ๑ ราย โดยเริ่มจากรายที่ ๘๐๘ อยู่ในห้องบรรจุหมูปรุงรส ซึ่งแพร่เชื้อให้ลูกสาว แต่เนื่องจากการกักตัวเป็นมาตรการที่ใช้เฉพาะกับพนักงานเจ้าสัว ลูกสาวจึงใช้ชีวิตปกติ แต่เมื่อตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เจ้าหน้าที่จึงติดตามกลุ่มผู้สัมผัสกับลูกสาว ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยไปพูดคุย หรือไปพบญาติ ทำให้แพร่เชื้อไปหารายล่าสุด คือ รายที่ ๘๑๒ สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่พบ เพราะเรากักตัวฉพาะพนักงานจากโรงงานเจ้าสัว บางคนกักตัวในบ้านจริง แต่ยังใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อ และคนในครอบครัวเนื่องจากไม่มีคำสั่งกักตัว จึงใช้ชีวิตปกติ ทำให้เชื้อแพร่ไปหาคนอื่นได้ โดยคลัสเตอร์เจ้าสัวขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๓๘ ราย ซึ่งยังไม่รวมกับคลัสเตอร์ตำบลโนนรัง อำเภอชุมพวง ที่มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๙ ราย”

พบคลัสเตอร์ใหม่ที่ประทาย

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒๒ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๓๗ ราย รักษาหายแล้ว ๖๐๗ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๒๒ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “คลัสเตอร์ที่น่าจับตาในวันนี้ คือ คลัสเตอร์ที่อำเภอประทาย ขอเล่าไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายที่ ๘๑๔ ซึ่งพบเมื่อวานเป็นรายแรก เคยเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงที่ลาดกระบัง จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ ๔ และ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เดินทางกลับมาร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัว และทำงานอยู่ในปั๊มน้ำมันในอำเภอประทาย ตำบลหันห้วยทราย ก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้กักตัว มีการสังสรรค์กับเพื่อนๆ และมีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เกือบทุกวัน จากนั้นวันที่ ๑๓ หรือ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เริ่มมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย จึงไปรักษาที่คลินิก กลับมาทำงานตามปกติโดยไม่ได้กักตัว ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เดินทางไปตรวจหาเชื้อโควิดที่โรงพยาบาลประทาย ผลออกในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบว่า ติดเชื้อ และรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและส่งต่อมาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ”

ดื่มสังสรรค์และตั้งวงไพ่

“จากการพบผู้ติดเชื้อรายแรก โรงพยาบาลประทายจึงค้นหาเชิงรุกในกลุ่มครอบครัวของผู้ป่วย และผู้ที่ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ในวันที่ ๗-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ในบริเวณร้านอาหารหลังปั๊ม ซึ่งปิดบริการไปแล้ว จึงเป็นจุดรวมกลุ่มสังสรรค์ของคนกลุ่มนี้ โดยพบคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-๑๙ ทั้งหมด ๖ ราย และเพื่อที่ร่วมสังสรรค์อีก ๖ ราย แต่จากการค้นหาเชิงรุก ๒๘ ราย ผลออกมาแล้วแค่ ๑๗ พบเชื้อทั้งหมด ๑๒ ราย ยังเหลืออีก ๑๑ รายที่ต้องรอลุ้มผลตรวจ” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

นางสาวทิพวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอนำเรียนข้อมูลที่แท้จริงว่า เขามีกิจกรรมเล่นไพ่ และมีการดื่มสังสรรค์แอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ ๗-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จึงทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงค่อนข้างมาก และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังมีสัมพันธภาพค่อนข้างดี มีการเดินทางไปหลายพื้นที่ในหมู่บ้าน ซึ่งเรายังไม่ได้ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยทั้งหมด เมื่อตรวจสอบก็อาจจทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงเป็นจำนวนมาก”

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวว่า “เคสนี้ควรจะปิดหมู่บ้าน เนื่องจากมีการสัมผัสคนเป็นจำนวนมาก และคนจำนวนมากนี้ก็จะเดินทางไปพื้นที่อื่นอีก ก็อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้างได้”

ต้องจัดการทางกฎหมาย

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “เมื่อมีเหตุการณ์ระบาดของคลัสเตอร์ใหญ่ เราควรจะมีมาตรการที่เพิ่มมากขึ้นนอกจากการปิดหมู่บ้าน เพราะการปิดหมู่บ้านเป็นมาตรการหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อาจจะจำเป็นใช้มาตรการที่อำเภอเมืองใช้ คือ มีเจ้าหน้าที่ออกตรวจหมู่บ้าน ร้านอาหาร เพื่อค้นหาการรวมกลุ่มกันเกิน ๒๐ คน หรือมีการจัดกิจกรรมสังสรรค์ เล่นพนันหรือไม่ หรือบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงได้รายงานตัวหรือไม่ มีการกักตัวหรือยัง ซึ่งมาตรการกักตัวผมเห็นว่า ยังจะต้องมีการบังคับใช้อยู่”

จากนั้น นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ขอมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ปิดหมู่บ้าน หมู่ที่ ๑, หมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๙ ตำบลหันห้วยทราย อำเภอประทาย ระยะเวลา ๑๔ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ และให้ตรวจสอบร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ติดเชื้อที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายมีความผิดตามข้อกำหนด คำสั่ง และประกาศของจังหวัดนครราชสีมา

นพ.วิชาญ คิดเห็น เปิดเผยว่า “สำหรับยอดลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ผ่านทุกช่องทาง ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมา มียอดจอง ๕๒๘,๔๐๓ คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๗๔๙,๓๙๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๐.๕๑ ซึ่งสถานการ์การจองของทุกอำเภอเกินกว่าร้อยละ ๗๐ ทั้งหมดแล้ว โดยมีอำเภอโนนแดง มียอดจองมากที่สุด ร้อยละ ๑๐๕.๗๓ ในขณะที่อำเภอเมือง ซึ่งมียอดจองเพียงร้อยละ ๒๒.๔๖ ของจำนวนประชากร อำเภอเมืองมีจุดฉีดทั้งหมด ๖ แห่ง คือ ๑.เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ๒.ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช ๓.เดอะมอลล์โคราช ๔.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ๕.โรงพยาบาลเทพรัตน์ (ที่เดอะมอลล์โคราช) และ ๖.โรงพยาบาลค่ายสุรนารี คาดว่า เมื่อเราออกคิวอาร์โค้ชให้มีการจองเข้ามา ก็จะสามารถนำกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ระบบได้ จากนั้นอำเภอเมืองก็จะมียอดตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา ต้องให้โอกาสอำเภอเมือง เพราะระบบบริการสาธารณสุขยังมีความซับซ้อน ซึ่ง สสจ.จะเร่งปรับและแก้ไขต่อไป”

รง.เจ้าสัวขยายไป ๓ วง

ล่าสุดวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

พญ.อารีย์ เชื้อเดช รายงานคลัสเตอร์สำคัญว่า “คลัสเตอร์เจ้าสัวขณะนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑ ราย ในโรงงานที่ ๑ เป็นผู้ป่วยรายที่ ๘๔๒ อยู่ในวงที่ ๑ ซึ่งคลัสเตอร์นี้มีการระบาดเป็นวงที่ ๓ แล้ว โดยวงที่ ๑ เป็นผู้ป่วยภายในโรงงาน มีจำนวน ๓๒ ราย วงที่ ๒ เป็นคนในครอบครัวของผู้ป่วยวงที่ ๑ มีจำนวน ๖ ราย และวงที่ ๓ มี ๑ ราย สะสมทั้งหมด ๓๙ ราย ส่วนคลัสเตอร์ครอบครัวที่อำเภอชุมพวง เชื่อมโยงกับผู้ป่วยในโรงงานที่ ๒ ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยแล้ว ๑๗ ราย ดังนั้น คลัสเตอร์เจ้าสัวมีผู้ป่วยแล้วกว่า ๖๐ ราย”

ขอเข้าไปทำความสะอาด

จากนั้น ในระเบียบวาระการประชุมที่ ๔.๒ มีการนำหนังสือจากบริษัท เตียหงี่เฮีง (เจ้าสัว) จำกัด ลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลงนามโดยนายธนภัทร โมรินทร์ ประธานกรรมการบริษัทฯ เรื่อง ขออนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อทําความสะอาดร้านขายของฝากเจ้าสัวและพื้นที่คลังสินค้า ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งนายวิเชียรเกษียนในหนังสือว่า ให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยในหนังสือขออนุญาตดังกล่าวมีเนื้อความว่า “ตามที่บริษัทฯ ได้รับประกาศคําสั่งปิดพื้นที่บริษัทบางส่วน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ บริษัทฯ มีความประสงค์ขอเข้าพื้นที่ร้านขายของฝากเจ้าสัวด้านหน้าและพื้นที่คลังสินค้าเพื่อทําความสะอาดพื้นที่ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยได้มีแผนการทํา ความสะอาดพื้นที่ดังนี้ ๑.เข้าทําความสะอาดพื้นที่บริเวณร้านขายของฝากเจ้าสัว (พื้นที่ด้านหน้า) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีระยะห่างจากพื้นที่การผลิตที่พบผู้ติดเชื้ออย่างชัดเจน ๒.เข้าทําความสะอาดพื้นที่อาคารคลังสินค้า โดยเป็นพื้นที่อาคารที่แยกออกจากพื้นที่การผลิตที่บริษัทพบผู้ติดเชื้อและไม่มีพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันอย่างชัดเจน ๓.นําพนักงานรวม ๒๐ คน เข้าพื้นที่บริเวณร้านขายของฝากเจ้าสัว จํานวน ๑๐ คน และพื้นที่อาคารคลังสินค้าจํานวน ๑๐ คน เพื่อทําความสะอาดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพนักงาน ดังกล่าวเป็นพนักงานที่ไม่มีความเสี่ยงและได้ทําการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา-๑๙ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผลไม่พบเชื้อทั้งสิ้น ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.วีระพล วงษ์ประพันธ์ หัวหน้างานอาชีวอนามัยและควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเข้ามาควบคุมทําความสะอาดพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเช้าเวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. รวมทั้ง ศูนย์อนามัยที่ ๙ จังหวัดนครราชสีมา จะเข้ามาให้ความรู้กับทางพนักงานในการใช้แอปพลิเคชัน “Thai Save Thai” และ “Thai Stop COVID (TSC)” ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “เรื่องเดิมคือ จังหวัดเคยมีคำสั่งที่  ๕๑๗๙/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปิดสถานที่ โดยบอกว่า ห้ามผู้ใดเข้าหรือออกจากพื้นที่ บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ นี่คือ คำสั่งจากมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ แต่เมื่อวานนี้ (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔) ประธานกรรมการบริษัท เตียหงี่เฮียง มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เรื่องขอเข้าพื้นที่ร้านจำหน่ายของฝากและพื้นที่คลังสินค้า ซึ่งหนังสือฉบับนี้บอกว่า ตามที่บริษัทได้รับประกาศคำสั่งปิดพื้นที่บริษัทบางส่วน เขาใช้คำว่า บางส่วน แต่ในคำสั่งจังหวัดให้ปิดทั้งหมด ไม่ใช่บางส่วน นี่เป็นสิ่งที่บริษัทอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน โดยขอเข้าพื้นที่ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔”

พนักงานยังไม่ตรวจ ๑๐๐%

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ตามคำสั่งจังหวัด ให้ปิดพื้นที่ทั้งโรงงานและส่วนขายข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งส่วนนี้พนักงานไปตรวจหาเชื้อเพียงร้อยละ ๘๐ พนักงานขายข้างหน้ายังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ และโรงงานเจ้าสัวได้ขออนุญาตเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อเข้าไปขนสินค้าออกมาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. แล้ว ๑ ครั้ง แต่ในครั้งนี้จะขอเข้าพื้นที่ในส่วนขายของข้างหน้า ซึ่งยังมีคำสั่งปิดอยู่ โดยปัจจุบันเรายังพบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์เจ้าสัวอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีความกังวลในส่วนนี้ และพนักงานก็ยังไม่ตรวจโควิด-๑๙ ทั้งหมด”

นายเอกรัฐ ณรงค์สระน้อย หัวหน้างานระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากคลัสเตอร์นี้มีการระบาดไปเป็นวงที่ ๓ แล้ว และจำนวนผู้ป่วยก็ยังพบอยู่ ลักษณะการระบาดมักพบผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงต่ำ หมายความว่า เราอาจจะได้ข้อมูลที่ไม่ตรงไปตรงมานัก ซึ่งการสัมผัสรับเชื้อก็อาจจะมาจากการสัมผัสจากวัตถุก็เป็นได้ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล จึงเป็นสาเหตุว่า ทีมสอบสวนต้องเข้มงวดกับการเข้าพื้นที่ เพื่อไปสัมผัสหรือดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น ทีมสอบสวนโรคจะต้องให้ข้อเท็จจริงและจะต้องดำเนินมาตรการตามหลักวิชาการ ทางออกคือ ต้องปล่อยให้พื้นที่นี้กลับคืนสภาพก่อนระยะหนึ่ง แล้วจึงให้เข้าไปดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้”

มติกรรมการไม่อนุญาต

จากนั้น นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “ประเด็นที่ ๑ คือ มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเข้าไปทำความสะอาดก่อนที่จะครบกำหนดคำสั่งปิด ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ประเด็นที่ ๒ การเข้าไปขณะนี้ ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากพนักงานของเจ้าสัวที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่จะขอเข้าไป ทางบริษัทฯ บอกมาว่า เป็นพนักงานที่ไม่มีความเสี่ยงและตรวจหาเชื้อแล้ว แต่มีข้อเท็จจริงว่า การตรวจหาเชื้อครั้งแรกไม่พบ อาจจะตรวจพบในครั้งที่ ๒ ดังนั้น การตรวจหาไม่พบครั้งแรก ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีเชื้อในร่างกาย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ จะต้องพิจารณาว่า จะอนุญาตให้ทางบริษัทเข้าไปทำความสะอาดพื้นที่ตามที่ขอหรือไม่”

จากนั้น มีการขอมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๑๒ เสียง จากทั้งหมด ๒๒ เสียง มีมติไม่อนุญาตให้บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด เข้าพื้นที่ตามที่ได้ทำหนังสือขอมา

ให้พนักงานตรวจหาเชื้อทั้งหมด

พญ อารีย์ เชื้อเดช เปิดเผยกรณีมีพนักงานเจ้าอีกส่วนหนึ่งยังไม่ตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ว่า “ในพื้นที่มีการระบาดมาก เราจึงอยากให้ตรวจหาเชื้อทั้งหมด แต่ว่า เป็นความสมัครใจของเขา เพราะกล่มความเสี่ยงต่ำ เขาบอกว่า ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ยอมตรวจ เหลือประมาณร้อยละ ๒๐ ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงส่วนใหญ่ตรวจหาเชื้อ ๒ ครั้งแล้ว กลุ่มเสี่ยงต่ำจะตรวจ ๑ ครั้ง และบางคนก็ตรวจ ๒ ครั้ง พนักงานจำนวนว ๘๐๐ คน เหลือประมาณร้อยละ ๒๐ ที่ยังไม่ตรวจ เนื่องจากว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับส่วนที่ติดเชื้อ”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมมีมติวันนี้ ความคิดของเขาคงเปลี่ยนไป โดยให้ประสานผู้บริหารบริษัท ให้นำกลุ่มที่ยังไม่ตรวจไปตรวจ เพราะว่าวันนี้ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อไม่เห็นชอบให้เข้าพื้นที่ เพราะมีความเห็นว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งยังไม่ตรวจโรค และให้คำแนะนำเขาว่า ให้นำพนักงานทุกคนมาตรวจ หากวิธีการแนะนำไม่ได้ผล ให้นำเรื่องเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เพื่อให้มีมติเป็นคำสั่ง เบื้องต้นให้แนะนำก่อน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสะสมในจังหวัดนครราชสีมา (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔) จำนวน ๘๔๔ ราย, รักษาหาย ๖๒๑ ราย, ยังรักษาอยู่ ๒๑๕ ราย เสียชีวิตสะสม  ๘ ราย โดยผู้ติดเชื้อในจำนวน ๘๔๔ ราย กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ดังนี้ อำเภอเมือง ๓๗๕ ราย, ปากช่อง ๑๕๔ ราย, สีคิ้ว ๔๕ ราย, ด่านขุนทด ๓๔ ราย, สูงเนิน ๑๓ ราย, ชุมพวง ๒๘ ราย, บัวใหญ่ ๓๐ ราย, พิมาย ๑๑ ราย, โนนไทย ๑๑ ราย, ประทาย ๒๖ ราย, ปักธงชัย ๑๑ ราย, ครบุรี ๑๐ ราย, บัวลาย ๑ ราย, เสิงสาง ๗ ราย, โนนสูง ๒๓ ราย,  คง ๘ ราย, โชคชัย ๙ ราย, ห้วยแถลง ๙ ราย, ขามทะเลสอ ๒ ราย, เทพารักษ์ ๑ ราย, หนองบุญมาก ๓ ราย, จักราช ๔ ราย,  เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย, ลำทะเมนชัย ๑ ราย, สีดา ๓ ราย, โนนแดง ๑ ราย, บ้านเหลื่อม ๓ ราย, วังน้ำเขียว ๑๒ ราย, แก้งสนามนาง ๑ ราย และขามสะแกแสง ๑ ราย โดยมี ๒ อำเภอที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อได้แก่ พระทองคำ และ เมืองยาง


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๙ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๔


984 1597