29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 24,2021

‘ศักดิ์สยาม’ตรวจงบสร้างถนน ชม‘ทางหลวงสุรินทร์’ทำงานดี ย้ำต้องคุ้มค่ากับภาษีประชาชน

รมว.คมนาคม ยกคณะลงพื้นที่ติดตามการบริหารงบประมาณก่อสร้างขยายผิวทางหลวงในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ งบประมาณกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ งานต้องได้มาตรฐานคุ้มค่าเงินภาษีของประชาชน ย้ำบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ยืนยันรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมพยายามทำงาน ตอบโจทย์ให้ประชาชนทุกจังหวัด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารในส่วนของหน่วยงานสังกัดคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามการก่อสร้างถนนหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ ระหว่าง ๑๘+๘๐๐ ถึง ๑๘+๙๔๐ สุรินทร์-ลำดวน ระยะทาง ๑๕.๕๐ กิโลเมตร บริเวณตำบลสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยใช้งบประมาณกว่า ๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างเฟสแรก ระยะทาง ๒ กิโลเมตร งบประมาณ ๔๔ ล้านบาท โดยมีนายปกรณ์มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงสุรินทร์ และทางหลวงชนบท หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักการเมืองท้องถิ่นให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอการบริหารจัดการงบประมาณและการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ 

สำหรับโครงการนี้ จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในการใช้รถใช้ถนนในเส้นทางดังกล่าว โดยมีการขอสนับสนุนเพื่อให้มีการก่อสร้างขนาดถนนเป็น ๔ ช่องทางจราจร เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งจัดสรรบงลงมาในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างและขยายถนนระหว่างช่วงถนนหลวงหมายเลข ๒๒๖ สุรินทร์-ศีขรภูมิ-สำโรงทาบ ระยะทางกว่า ๓๐ กิโลเมตร งบประมาณกว่า ๙๐๐ ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีคู่สัญญาแล้ว

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะได้เดินทางรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินโครงการสำคัญเร่งด่วนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และกรมเจ้าท่า ที่ห้องประชุมวีรพลปัทมานนท์ สำนักงานแขวงทางหลวงสุรินทร์ โดยมีนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย และนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ร่วมประชุมด้วย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เป็นการติดตามการบริหารงบประมาณ ซึ่งในภาพรวมหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ตรงเป้าหมายที่รับโจทย์มาจากกระทรวงฯ และรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงประเด็นการก่อสร้างที่ได้รับงบประมาณมาให้เน้นเรื่องการตรวจคุณภาพ เพราะการใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์เป็นภาษีของประชาชน ดังนั้นจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า

จากการลงพื้นที่ตจรวจสอบถนนที่กำลังก่อสร้างในส่วนของจังหวัดสุรินทร์ ช่วงพื้นที่ตำบลสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ไปยังอำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ระยะทางราว ๑๘ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๕๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นดำเนินการไปตามเป้าหมาย ในเฟสแรกเริ่มก่อสร้าง ๒ กิโลเมตร ใช้งบประมาณจำนวน ๔๔ ล้านบาท ดำเนินการไปแล้วประมาณ ๖๐% จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคมนี้ ซึ่งตนได้พบกับประชาชนทุกคนก็ดีใจที่ถนนเส้นนี้ เพราะต้องรอมานานมาก เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และกระทรวงคมนาคม พยายามที่จะตอบโจทย์ให้ประชาชนทุกจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดสุรินทร์

นอกจากนี้ยังได้ติดตามการแก้ไขปัญหาถนนที่เป็นพื้นที่ของกรมชลประทาน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทเข้ามาช่วยดูแลเรื่องผิวจราจรเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม และพบปัญหาเมื่อขับขี่รถ เพราะถนนลื่น ล้มตกลงไปในคลองส่งน้ำ ซึ่งได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบทว่า พื้นที่ทั้งหมด ๓.๗ กิโลเมตรแรก มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ที่เหลือทางทิศใต้ประมาณ ๒๖ กิโลเมตร กรมทางหลวงชนบทนำไปทำแผนแล้ว รวมไปถึงทางทิศเหนืออีก ๖ กิโลเมตรด้วย

  ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้ร้องขอเรื่องการสร้างความปลอดภัยบนถนน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทางกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญอยู่แล้ว ซึ่งการก่อสร้างถนนเราต้องการให้เกิดความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทาง ได้สั่งการให้อธิบดีกรมทางหลวงชนบทดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะจัดวางแบริเออ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ รวมไปถึงการระบายน้ำบนผิวถนน ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของกรมและกระทรวง เมื่อระดับล่างทำงานได้มีประสิทธิภาพ ระดับบนก็สามารถกำหนดเป้าหมายการทำงานได้ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมก็สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายได้เร็วกว่าที่สำนักงบประมาณกำหนดในการเบิกจ่ายงบประมาณ ก็ถือว่าจังหวัดสุรินทร์สามารถทำงานได้ดี ข้อสำคัญก็อยากให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นรับฟังความคิดเห็นจากราษฎร ตัวแทนราษฎร เพื่อนำปัญหาเร่งด่วนมาดำเนินการแก้ไขต่อไป

ส่วนในปัญหาทางน้ำเรื่องของตลิ่งน้ำพัง ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอท่าตูมที่มีแม่น้ำมูลไหลผ่านรวมไปถึงลำน้ำชี ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเข้าไปสำรวจและจัดการดูแลแล้ว เป็นภารกิจของกรมเจ้าท่า โดยงบประมาณได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ในส่วนของงบประมาณปี ๒๕๖๕ ซึ่งกำลังมีการประชุมพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากไม่ทันก็จะต้องไปใช้ในงบประมาณปี ๒๕๖๖

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการประชุมวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นสภาผู้แทนราษฏร และตัวแทนภาคเอกชนเช่น ประธานหอการค้า ซึ่งก็ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง เป็นเรื่องที่เราต้องมีการบูรณาการกันไม่ใช่เฉพาะสุรินทร์ เป็นเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่สร้างในพื้นที่ตั้งแต่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งตนจะลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและอุบลฯ ต่อไป สำหรับเรื่องการประชุมวางมาตรการเปิดประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต และหลายเมืองต่อไปนั้น เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้พิจารณาในเรื่องของการบริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ ให้มีผลในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยได้บริหารมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งในเฟสแรกพบว่ามีประสิทธิภาพขึ้นมาก การป้องกันการแพร่ระบาดจะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่อันดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อมาระบาดรอบสองและสาม ก็เป็นปัญหา ซึ่งตนคิดว่าเกิดขึ้นจากประเทศไทยมีภูมิอาณาเขตที่มีช่องทางธพรรมชาติเข้ามาจำนวนมาก เพื่อนบ้านอยากเข้ามา ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเข้ามาด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็มีความพยายามที่จะเร่งรัดบริหารจัดการในเรื่องของวัคซีน ซึ่งจริงๆ ต้องดูสถานการณ์ของโลกด้วย ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เกิดการแพร่ระบาด ดังนั้น เรื่องวัคซีนมีบริษัทผลิต เขามีการบริหารจัดการวัคซีนของบริษัทตามที่มีการสั่งซื้อของประเทศต่างๆ ประเทศไทยก็พยายามสั่งซื้อ ซึ่งตนเคยรับฟังจากรองนายกรัฐมนตรี ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล และท่านนายกรัฐนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดือนหนึ่งเราจะมีจำนวนวัคซีนประมาณ ๕-๖ ล้านโดส ก็ประมาณ ๑๐% ของจำนวนประชากร ดังนั้นนายกรัฐมนตรีพยายามที่จะบริหารให้ความสำคัญในการที่จะฉีดให้กับกลุ่มต่างๆ

“สำหรับการเปิดประเทศในวันที่ ๑ กรกฎาคมนี้ เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องดูแลในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ต่างๆ มี ๔ มิติ เรื่องหลักก็คือทางอากาศ จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีลักษณะเป็นเกาะ ฉะนั้นการเดินทางเข้าไปยังจังหวัดภูเก็ตจะมีทางเรือและทางอากาศ ทางบกก็จะมีสะพานเข้าไป ทำไมจึงต้องใช้จังหวัดภูเก็ต นายกรัฐมนตรีมองว่า สามารถบริหารจัดการในลักษณะภูมิประเทศได้ ซึ่งการบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้กับชาวภูเก็ตในตอนนี้อยู่ที่ประมาณ ๗๐% และจะฉีดให้ครบ ๑๐๐% ต่อไป ซึ่งคนที่จะเข้ามาต้องมีความปลอดภัย โดยเฉพาะทางอากาศถ้าจะเข้ามาต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนครบ ๒ ครั้ง และต้องผ่านกระบวนการในส่วนของสาธารณสุขเข้มงวด และนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นไม่ได้ ในขณะเดียวกันในส่วนความพร้อมในเรื่องท่าอากาศยานสนามบินและมาตรการต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งตนจะลงไปติดตามความพร้อมอีกต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าวท้ายสุด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๔ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


939 1620