28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 24,2021

โคราชตัวเลขผู้ติดเชื้อยังน่าห่วง เตือนระวังคลัสเตอร์ครอบครัว เดินทางมาจากไหนต้องรายงานตัว

สสจ.โคราชยังไม่วางใจโควิด-๑๙ เผยช่วงนี้เป็นการระบาดคลัสเตอร์ครอบครัว ชี้ผู้เดินทางมาจากจังหวัดอื่น ต้องรายงานตัว แจ้งไทม์ไลน์ย้อนหลัง ๑๔ วัน ให้เจ้าหน้าที่ทราบ หากพบประวัติเสี่ยงต้องกักตัว ด้าน ศบค.ปลดล็อกโคราช ปรับเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ผ่อนปรนบางกิจกรรมและกิจการ แต่ผับ บาร์ สถานบันเทิง ยังปิดต่อ

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา มีการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการถ่ายทอดสดการประชุมด้วยโปรแกรม zoom ให้ประชาชนร่วมรับฟัง

นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา เปิดเผยว่า “วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๑๐ ราย แยกเป็น ตำบลสระจรเข้ อำเภอด่านขุนทด ๓ ราย ตำบลตะเคียน อำเภอด่านขุนทด ๑ ราย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ๓ ราย ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง ๒ ราย ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง ๑ ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม ๑,๐๐๔ ราย รักษาหาย ๙๑๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๗๙ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๓ ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การแจ้งขอเข้าพื้นที่ของผู้ที่เดินทางมาโคราช จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ในพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพราะถ้าหากกลับมาโดยไม่แจ้ง แล้วเข้าไปอาศัยอยู่ในครอบครัวจะทำให้เกิดปัญหา หากมีคนติดเชื้อก็จะทำให้แพร่กระจายติดกันทั้งหมด และยังทราบมาอีกว่า บางคนมาจากพื้นที่ที่โรงพยาบาลสนามเต็ม จึงเดินทางมารักษาที่โคราช ซึ่งผมมองว่า หากมาโดยการติดต่อและประสานงาน ก็สามารถรับได้ เพราะเป็นประชาชนและคนไทยด้วยกัน จะได้ช่วยดูแลกันและกัน ดังนั้น หากจะกลับมาต้องแจ้ง เพราะเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อจะได้รับการคัดกรองทันที และป้องกันไว้ไม่ให้สัมผัสกับผู้อื่น”

คลัสเตอร์สงบ

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า “คลัสเตอร์ตำบลหนองจะบก ที่แพร่ระบาดในโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ และโรงเรียนสอนพิเศษบ้านครูกานต์ พบผู้ป่วยรายล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ รวมจำนวน ๙ ราย เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดตรวจครั้งที่ ๒ ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ซึ่งระบาดในพื้นที่อำเภอปากช่อง โดยกระจายทั้งหมด ๓ วง มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๖ ราย ผู้ป่วยรายล่าสุดพบเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ และยังไม่พบรายใหม่ถึงปัจจุบัน และคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ในเขตทองหล่อ กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๐ ราย รายล่าสุดพบเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔”

“สำหรับผู้ป่วยในวันนี้ ซึ่งไม่ใช่คลัสเตอร์ แต่เป็นการเดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการ มีทั้งหมด ๓ ราย ได้แก่ รายที่ ๙๙๙ อาศัยอยู่ที่อำเภอห้วยแถลง รายที่ ๑,๐๐๐ อยู่อำเภอคง และรายที่ ๑,๐๐๔ อยู่อำเภอโนนสูง ซึ่งทั้ง ๓ คนเป็นเพื่อนสนิทกัน ที่มหาวิทยาลัย โดยรายที่ ๙๙๙ ทำงานเสริมเกี่ยวกับการจัดดอกไม้ ซึ่งพบปะผู้คนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี จากนั้นได้เดินทางมาพบเพื่อน (รายที่ ๑,๐๐๐) ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการควบคุมไซด์งานก่อสร้าง โดยเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ รายที่ ๙๙๙ มีอาการไข้ จึงชวนรายที่ ๑,๐๐๐ มาพักที่คอนโดด้วยกัน เพื่อจะได้ช่วยดูแลกัน แต่รายที่ ๑,๐๐๐ จำเป็นต้องเดินทางมาดูแลธุรกิจที่อำเภอโนนสูง จึงชวนเพื่อนรายที่ ๙๙๙ มาโคราช ส่วนผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๐๔ ก็มีความเป็นห่วงจึงขอเดินทางมาด้วย แต่รายที่ ๑,๐๐๔ ก่อนจะมาโคราชยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อ แต่ขณะที่กำลังเดินทางในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. โรงพยาบาลโทรมาแจ้งว่า รายที่ ๙๙๙ และ ๑,๐๐๐ ติดเชื้อโควิด-๑๙ ซึ่งแพทย์ที่โทรมาก็ถามว่า จะตัดสินใจขับรถกลับมาหรือจะไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เขาจึงตัดสินใจมารักษาตัวที่โคราช และรายที่ ๑,๐๐๔ เมื่อมีอาการก็เข้ารับการรักษาที่โคราชเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้ง ๓ ราย เดินทางโดยไม่ได้แวะที่ไหน จึงทำให้ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง”

สถานการณ์วัคซีน

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวสรุปสถานการณ์วัคซีนในจังหวัดนครราชสีมา ว่า “สรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา วันที่ ๕ เมษายน-๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป้าหมายการฉีดวัคซีนประชากร ๑๘ ปีขึ้นไป ๒,๑๑๖,๗๐๐ คน (ร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งจังหวัด) ฉีดวัคซีนไปแล้ว ๒๐๕,๐๙๗ คน หรือร้อยละ ๗.๒๙ แบ่งเป็น บุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า ๖๘,๓๗๑ คน ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย ๗ โรค และผู้ป่วยอื่นๆ ๓๗,๘๐๓ คน ประชาชนทั่วไป ๙๘,๙๒๓ คน ส่วนการจองฉีดวัคซีนของประชาชน จากประชาชนอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป จำนวน ๕๔๑,๔๔๖ คน และกลุ่มผู้ป่วย ๗ โรค จำนวน ๑๙๒,๐๔๕ คน รวม ๗๓๓,๔๙๑ คน มีความคืบหน้าจองในระบบหมอพร้อม และ MOPH จํานวน ๔๘๖,๑๘๗ คน คิดเป็น ๖๖.๒๘% แผนการกระจายและการจัดสรรวัคซีนให้หน่วยบริการสาธารณสุข จากการลงทะเบียนระบบหมอพร้อม ก่อน และระบบโคราชพร้อมที่จะเริ่มรับลงทะเบียน ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม ๗ โรคเรื้อรัง และที่ลงทะเบียนระบบหมอพร้อมหรือโคราชพร้อม และสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ในพื้นที่ โดยประชาชนที่จะได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม ๗ โรคเรื้อรัง และประชาชนที่ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม และโคราชพร้อม โดยเรียงตามลําดับที่ได้สิทธิจากการจองและการนัด วัน เวลา ที่จะวัคซีน เป็นไปตามลําดับ และตามจํานวนวัคซีนที่มีหรือได้รับจัดสรรจากกระทรวงฯ สำหรับจุดบริการฉีดวัคซีนของโคราช ในเขตอําเภอเมือง ได้แก่ ๑.ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา โดยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ๒.ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช โดยโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมาสสจ.นครราชสีมา และโรงพยาบาลเครือข่าย ๓.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ๔.โรงพยาบาลค่ายสุรนารี ๕.โรงพยาบาลจิตเวชฯ เพื่อฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยจิตเวช ส่วนต่างอําเภอ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ทุกแห่ง”

เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย

วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๒ ราย แยกเป็นอำเภอสูงเนิน ตำบลสูงเนิน ๓ ราย, อำเภอแก้งสนามนาง ตำบลแก้งสนามนาง ๑ ราย, อำเภอเมือง ตำบลในเมือง ๑ ราย ตำบลโคกกรวด ๑ ราย ตำบลปรุใหญ่ ๑ ราย ตำบลหนองจะบก ๑ ราย, อำเภอพิมาย ตำบลดงใหญ่ ๑ ราย, อำเภอโนนสูง ตำบลพลสงคราม ๓ ราย และในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๓ ราย แยกเป็น อำเภอเมือง ตำบลในเมือง ๑ ราย, อำเภอปากช่อง ตำบลโป่งตาลอง ๑ ราย ตำบลหนองสาหร่าย ๑ ราย, อำเภอหนองบุญมาก ตำบลบ้านใหม่ ๑ ราย, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตำบลท่าช้าง ๑ ราย, อำโนนสูง ตำบลพลสงคราม ๑ ราย, อำเภอคง ตำบลเมืองคง ๗ ราย ส่วนวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย แยกเป็น อำเภอโนนสูง ตำบลมะค่า ๒ ราย ตำบลพลสงคราม ๓ ราย, อำเภอสูงเนิน ตำบลสูงเนิน ๑ ราย, อำเภอจักราช ตำบลสีสุก ๑ ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย (รายที่ ๙๙๓) เป็นผู้หญิงอายุ ๗๐ ปี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๙ ราย แยกเป็นอำเภอเมือง ตำบลในเมือง ๑ ราย, อำเภอปักธงชัย ตำบลงิ้ว ๓ ราย ตำบลสะแกราช ๑ ราย, อำเภอสีคิ้ว ตำบลคลองไผ่ ๑ ราย และอำเภอโนนสูง ตำบลมะค่า ๓ ราย

วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

นพ.วิญญู จันทร์เนตร เปิดเผยว่า “วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย แยกเป็นตำบลในมือง อำเภอเมือง ๔ ราย ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว ๑ ราย ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง ๒ ราย หากดูการระบาดในระยะหลังมานี้ จะพบว่ามีการระบาดน้อยกว่าช่วงเดือนเมษายน แต่ยังพบการระบาดเพิ่มจากการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาโคราช ทำให้นำเชื้อมาระบาดสู่คนในครอบครัว หากไม่แน่ใจข้อมูลของตัวเอง ขอให้กักตัว ๑๔ วัน ไม่อย่างนั้นจะเป็นการนำเชื้อเข้ามาสู่สถานที่ต่างๆ”

คลัสเตอร์ในโคราช

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์คลัสเตอร์สำคัญ ว่า “วันนี้มี ๔ คลัสเตอร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ คลัสเตอร์อำเภอคง มีผู้ติดเชื้อจำนวน ๗ ราย ทั้งหมดเป็นคนโคราช เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งก่อนจะกลับมาจากกรุงเทพฯ ได้ประสานงานกับ อสม.ในพื้นที่ โดยทั้งหมดทำงานอยู่ที่ไซด์งานก่อสร้างรถไฟฟ้า เขตมีนบุรี ผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๒๙ เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔  รายที่ ๑,๐๒๘ มีอาการวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ รายที่ ๑,๐๒๔/๑,๐๒๖/๑,๐๒๕ และ ๑,๐๒๗ มีอาการวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ จากนั้นวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีคนงานในแคมป์ติดเชื้อโควิด-๑๙ จำนวนหลายราย ผู้ป่วยทั้ง ๗ ราย จึงเดินทางกลับโคราช มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอคง ๕ ราย และที่อำเภอโนนสูง ๒ ราย เมื่อกลับมาถึงโคราช อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทั้งหมด ยกเว้น รายที่ ๑,๐๒๓ รพ.อำเภอคง รับแอดมิด และส่งตรวจ RT-PCR และในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ผลตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ ทั้ง ๗ ราย”

“คลัสเตอร์ครอบครัวอำเภอสูงเนิน เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยรายแรก คือ รายที่ ๙๗๒ ทำงานอยู่กรุงเทพฯ กับสามี เดินทางกลับมาโคราช ที่ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน ในบ้านมีผู้อาศัย ๔ คน วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ รายที่ ๙๗๒ เริ่มมีอาการไม่ปกติ จึงเรียกรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาลสูงเนิน ซึ่งผลตรวจโควิด-๑๙ พบว่า ติดเชื้อ โรงพยาบาลจึงตรวจหาเชื้อกับผู้เดินทางมาด้วย พบว่า ติดเชื้อด้วยเช่นกัน และขณะที่พักอยู่กับญาติ ประกอบด้วย ทวด แม่สามี และอาสามี ทำให้ทั้งหมดติดเชื้อด้วย รวมมีผู้ติดเชื้อ ๕ ราย”

คลัสเตอร์วงพนัน

นางสาวทิพวรรณ กล่าวอีกว่า “คลัสเตอร์อำเภอโนนสูง ผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๐๓ เป็นผู้ป่วยรายแรก วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีอาการปวดเมื่อยตัว เจ็บคอ และปวดหัว แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงเดินทางไปรักษาที่คลินิกเสาวรักษ์ เนื่องจากมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ คลินิกจึงส่งตัวให้โรงพยาบาลโนนสูง เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ปรากฏว่า พบเชื้อ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคของอำเภอโนนสูงจึงสอบสวนในเชิงรุก พบว่า รายที่ ๑,๐๐๓ มีกิจกรรมทำร่วมกันกับผู้อื่น คือ การเล่นพนัน ซึ่งจะนำหลานอายุ ๓ ปีไปด้วย คือ รายที่ ๑,๐๑๕ โดยวงพนันมีผู้ติดเชื้อ ๕ ราย ซึ่งรายที่ ๑,๐๑๕ มักจะมาเล่นกับคนในบ้านเลขที่ ๑๕๘ ทำให้ติดเชื้ออีก ๓ ราย ส่วนบ้านเลขที่ ๑๖๔ เป็นประเด็นที่จะต้องสอบสวนเพิ่ม เพราะรายที่ ๑,๐๔๙ และ ๑,๐๕๐ เดินทางไปหาแม่ที่กรุงเทพฯ ในช่วงปิดเทอม และเดินทางกลับมาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ จากนั้นทราบว่า แม่ติดเชื้อโควิด-๑๙ จึงต้องสอบสวนเพิ่มว่า จริงๆ แล้วต้นเหตุของคลัสเตอร์นี้ มาจากเด็กทั้ง ๒ คนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ หรือไม่ เนื่องจากรายที่ ๑,๐๐๓ ก็เป็นพี่สาวของเด็ก ๒ คนนี้ด้วย นอกจากนี้ รายที่ ๑,๐๓๐ จากวงพนันตำบลพลสงคราม เดินทางมาร่วมงานศพที่บ้านเสลา ซึ่งมีการเล่นพนันไฮโลและมีการทานอาหารร่วมกัน ทำให้มีผู้ติดเชื้อ ๒ ราย จากนั้นทั้ง ๒ รายนี้ เดินทางไปที่ร้านนวด ทำให้เกิดการติดเชื้ออีก ๒ ราย รวมแล้วคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๗ ราย ทั้งนี้ อำเภอโนนสูงได้สั่งปิดพื้นที่หมู่บ้านดอนแฝก หมู่ ๘ และหมู่บ้านดอนแฝกพัฒนา หมู่ ๑๕ ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง เป็นเวลา ๑๔ วัน”

ครูแนะแนวติดเชื้อ

“คลัสเตอร์อำเภอปักธงชัย เป็นคลัสเตอร์ที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากมีครูที่โรงเรียนอุบลรัตน์อุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครราชสีมา (ราชสีมา ๒) ติดเชื้อโควิด-๑๙ เป็นผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๓๗ จากการสอบสวนโรคพบว่า สามีของผู้ป่วย ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ มีอาการก่อนเดินทางกลับมาโคราชเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ช่วงเช้าได้แวะไปหาคุณแม่ คือ ผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๔๑ ที่อำเภอปักธงชัย วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้ทำอาหารทานกับคุณแม่ พร้อมกับลูกจ้าง เมื่อทานอาหารเสร็จจึงไปพบภริยาหรือผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๓๗ ก่อนที่จะเดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์ จากนั้นวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ โทรมาแจ้งภริยาว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ เจ้าหน้าที่จึงติดตามตัวคนในครอบครัวมาตรวจหาเชื้อ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ จึงทราบผลติดเชื้อ ในส่วนของโรงเรียนอุบลรัตน์ฯ มีผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด ๒๑ คน เนื่องจากผู้ป่วยรายที่ ๑,๐๓๗ เป็นครูแนะแนว ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ๓๓ คน โดยคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๖ ราย เมื่อโรงเรียนทราบเรื่อง จึงสั่งให้หยุดการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ ๒๑-๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า จะปิดต่อหรือเปิดเรียนตามปกติ” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

มาโคราชต้องสอบประวัติ

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวเสริมว่า “การระบาดของโควิด-๑๙ ในช่วงนี้ จะเป็นรูปแบบของคลัสเตอร์ครอบครัว ซึ่งในช่วงเปิดเทอม จะมีความเชื่อมโยงไปถึงโรงเรียนด้วย ผมขอให้ข้อคิดว่า หากตรวจสอบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้แล้ว ขอให้เข้มข้นในเรื่องของมาตรการกักตัว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำก็จะต้องไม่เดินทางไปพื้นที่ชุมชน และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้เดินทางมาโคราชไม่ว่าจะมาจากพื้นที่จังหวัดใด จะต้องตรวจสอบข้อมูลตัวเองย้อนหลัง ๑๔ วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบสวนทางระบาดวิทยาว่า อยู่ในไทม์ไลน์สัมผัสผู้ป่วยมาหรือไม่ ถ้าอยู่ในไทม์ไลน์ก็จะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะต้องถูกกักตัว ๑๔ วัน เจ้าหน้าที่จะไม่เริ่มต้นจากการกักตัว แต่จะสอบประวัติย้อนหลังก่อน”

ผ่อนคลายมาตรการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๔) โดยมีสาระสำคัญเรื่อง การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการออกเป็น ๕ ระดับพื้นที่ และกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดจำแนก ตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ ๑.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ๒.พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น ๑๑ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา และนราธิวาส ๓.พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น ๙ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ระนอง ระยอง ราชบุรี สระแก้ว และสมุทรสงคราม ๔.พื้นที่เฝ้าระวังสูง รวมทั้งสิ้น ๕๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พะเยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี และ ๕.พื้นที่ควบคุม (ไม่มี)

สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ เฝ้าระวังสูง มีมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ ๑.สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถานหรืออยู่ในสถานที่สาธารณะอย่างถูกวิธี ๒.สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ ตามปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม ๓.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ ของสถานที่นั้นๆ ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ ๔.ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน ๒๐๐ คน ๕.ร้านอาหารและเครื่องดื่มเปิดให้บริการตามปกติ ตามมาตรการที่กำหนด และ ๖.โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการ จัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม

ผู้ติดเชื้อยังพุ่ง

อนึ่ง วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒๐ ราย แยกเป็น อำเภอปักธงชัย ตำบลงิ้ว ๑ ราย เดินทางมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอโชคชัย ตำบลกระโทก ๒ ราย เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม อำเภอชุมพวง ตำบลโนนยอ ๑ ราย เดินทางมาจากแคมป์ก่อสร้างกรุงเทพฯ อำเภอด่านขุนทด ตำบลบ้านเก่า ๒ ราย เดินทางมาจากแคมป์ก่อสร้างกรุงเทพฯ อำเภอเมือง ตำบลโคกกรวด ๑ ราย ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยโควิด-๑๙ อำเภอวังน้ำเขียว ตำบลวังน้ำเขียว ๔ ราย ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยโควิด-๑๙ และอำเภอเสิงสาง ตำบลกุดโบสถ์ ๙ ราย ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยโควิด-๑๙ รวมผู้ป่วยสะสม ๑,๐๗๒ ราย รักษาหาย ๙๓๒ ราย รักษาอยู่ ๑๒๖ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๔ ราย แยกเป็นรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมือง ๔๓๙ ราย ปากช่อง ๑๘๗ ราย สีคิ้ว ๔๘ ราย ด่านขุนทด ๕๓ ราย สูงเนิน ๑๘ ราย ชุมพวง ๓๑ ราย บัวใหญ่ ๓๕ ราย พิมาย ๑๖ ราย โนนไทย ๑๑ ราย ประทาย ๔๙ ราย ปักธงชัย ๑๖ ราย ครบุรี ๑๖ ราย บัวลาย ๑ ราย เสิงสาง ๑๖ ราย โนนสูง ๓๘ ราย คง ๑๖ ราย โชคชัย ๑๒ ราย ห้วยแถลง ๙ ราย ขามทะเลสอ ๕ ราย เทพารักษ์ ๒ ราย หนองบุญมาก ๕ ราย จักราช ๕ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๕ ราย ลำทะเมนชัย ๑ ราย สีดา ๓ ราย โนนแดง ๑ ราย บ้านเหลื่อม ๓ ราย วังน้ำเขียว ๑๘ ราย แก้งสนามนาง ๘ ราย ขามสะแกแสง ๔ ราย โดยมี ๒ อำเภอที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ได้แก่ อำเภอพระทองคำ และเมืองยาง 

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในจังหวัดนครราชสีมา เป้าหมายประชากร ๑๘ ปีขึ้นไป ๒,๑๑๖,๗๐๐ ราย มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ ๑ จำนวน ๑๕๗,๕๘๑ ราย หรือร้อยละ ๗.๔๕ ฉีดวัคซีนเข็มที่ ๒ จำนวน ๘๖,๖๔๑ ราย รวมฉีดวัคซีนไปแล้ว ๒๔๔,๒๒๒ โดส (ข้อมูล ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔)

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๔ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


967 1593