16thApril

16thApril

16thApril

 

August 07,2021

โคราชพื้นที่สีแดงเข้ม ๔ เดือนติดเชื้อเฉียดหมื่น

โควิดระลอก ๓ อาละวาดหนัก ผ่านไป ๔ เดือนยอดผู้ติดเชื้อในโคราชเฉียดหมื่นราย ทั้งรับกลับมารักษา และติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่ เร่งสกัดการระบาดทุกคลัสเตอร์ หลังถูกปรับเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จับ ๑๔ ไรเดอร์ส่งอาหารแอบเล่นพนัน ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ว่าฯ ให้จัดการทุกข้อหา

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ ทั้งนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ของสัปดาห์

โดยวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๔๔๔ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย ติดเชื้อสะสม ๖,๒๖๑ ราย รักษาหาย ๒,๘๑๔ ราย รักษาอยู่ ๓,๓๙๑ ราย เสียชีวิตสะสม ๕๖ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

เก็บของเก่าติดเชื้อ

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์สำคัญว่า คลัสเตอร์ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง เริ่มจากผู้ป่วยรายที่ ๔๕๙๓ เป็นพ่อ อายุ ๗๓ ปี ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย เวลา ๐๕.๐๐-๐๖.๐๐ น. ใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ใส่ถุงมือ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผู้ป่วยรายที่ ๔๕๙๓ มีอาการไข้ไอ เหนื่อย เวียนหน้า หายใจไม่อิ่ม ไม่ไปรับการตรวจหาเชื้อ ทานยาพาราเซตามอลแทน และต้มฟ้าทะลายโจรให้ดื่ม วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ รายที่ ๔๕๙๓ มาตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนสูง มีอาการไข้ไอ เหนื่อย เวียนหน้า หายใจไม่อิ่ม ส่งต่อโรงพยาบาลมหาราชฯ เวลา ๒๔.๐๐ น. เจ้าหน้าที่แจ้งผลติดเชื้อโควิด-๑๙ และย้ายเข้าห้องผู้ป่วยหนัก สาเหตุอาจจะเกิดจากการเก็บเศษขวดน้ำปนเปื้อนเชื้อโควิด ต่อมาพบบุคคลในครอบครัวประกอบด้วยภรรยา ลูกสาว และหลาน ติดเชื้อเพิ่ม ๓ ราย และขยายวง ๒ จากลูกสาวแม่ค้าขายไก่ย่าง และแกงถุง ทำให้แพร่เชื้อสู่แม่ค้าขายอาหารตามสั่งที่อยู่ติดกัน และหมอนวดแผนโบราณซึ่งให้บริการนวดคลายเส้นแม่ค้าเป็นประจำ นอกจากนี้ยังขยายวง ๓ เป็นลูกค้าประจำ ๓ ราย โดยรายที่ ๑๐ เป็น อสม. นำเชื้อไปติดคนในครอบครัว ๓ ราย ขยายเป็นวง ๔ ล่าสุดมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดเชื้อเพิ่มอีก ๗ ราย รวมทั้งสิ้น ๒๑ ราย ขณะนี้ได้ระดมทีมสอบสวนโรคเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเสี่ยงจำนวนนับร้อยคน

คลัสเตอร์ทหารอากาศ

คลัสเตอร์ทหารอากาศ ผู้ป่วยรายแรกเป็นทหาร วันที่ ๑๔-๑๗ กรกฎาคม พักอยู่ตำบลบางบ่อ สมุทรปราการ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม เดินทางกลับมาโคราช วันที่ ๒๑ กรกฎาคมมีอาการไข้ไอ วันที่ ๒๓-๒๔ กรกฎาคมเดินทางกลับสมุทรสาคร ไปรักษาอาการป่วยที่คลินิก วันที่ ๒๗  กรกฎาคม ทราบข่าวเพื่อนติดโควิด-๑๙ เดินทางกลับโคราชพร้อมครอบครัว เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ผลยืนยันติดเชื้อ ส่วนผู้ป่วยรายที่ ๒ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยลำดับที่ ๕๗๙๐ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ตั้งวงสังสรรค์ในบ้านพัก ซึ่งมีครอบครัวร่วมด้วย ทำให้เกิดแพร่กระจายเชื้อติดต่อเพื่อนทหารอากาศ ทำให้ติดเชื้อ ๙ ราย โดยทหารอากาศรายที่ ๙ นำเชื้อไปติดภรรยาเป็นซึ่งเป็นพยาบาล ที่โรงพยาบาลมหาราชฯ และกำลังตั้งครรภ์ อีก ๑ ราย รวมทั้งสิ้นมีการติดเชื้อ ๑๑ ราย อย่างไรก็ตามหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ป่วยไม่ได้ขึ้นตรงกับกองบิน ๑ ซึ่งสังกัด กองบิน ๖ ดอนเมือง ทำให้เกิดช่องว่างของกฎ ระเบียบ กองบิน ๑ ขอยอมรับผิดในข้อบกพร่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและยินดีให้ความร่วมมือ

โคราชพื้นที่สีแดงเข้ม

ต่อมา วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๓๖๘ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย ส่วนวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อ ๔๔๒ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๓ ราย ติดเชื้อสะสม ๗,๐๕๑ ราย รักษาหาย ๓,๒๐๔ ราย รักษาอยู่ ๓,๗๘๗ ราย เสียชีวิตสะสม ๖๐ ราย และในขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ศบค. โดยที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีก ๑๔ วัน นับจากวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป และมีมติประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม ๑๓ จังหวัด เป็น ๒๙ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

โคราชเพิ่มมาตรการ

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ โคราชพบผู้ติดเชื้อ ๔๐๗ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๔ ราย ติดเชื้อสะสม ๗,๔๕๘ ราย รักษาหาย ๓,๔๕๔ ราย รักษาอยู่ ๓,๙๔๐ ราย เสียชีวิตสะสม ๖๔ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยถึง มาตรการของจังหวัดนครราชสีมา ว่า สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดย ศบค. ฉบับที่ ๒๘ กำหนดไว้ว่า ๑.ลดและจํากัดการเคลื่อนย้ายของบุคคล ให้ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา เลี่ยงหรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถาน สําหรับการเดินทางในบางกรณี เช่น สิ่งจําเป็นต่อการดํารงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ การรับวัคซีนป้องกันโรค และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อย่างเคร่งครัด ๒.ห้ามบุคคลใดในจังหวัดนครราชสีมาออกนอกเคหะสถาน ระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ น. ถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีการขยายถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ จำเป็นต้องตั้งจุดตรวจสกัด ในเส้นทางข้ามเขตจังหวัดพื้นที่เข้มงวดไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ๓.กรณีที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปพบแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภค บริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ สิ่งพิมพ์ พัสดุภัณ์ สินค้าเพื่อการส่งออกและนำเข้า ผู้ขนส่งเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานหรือสถานีขนส่ง ผู้ไร้โอกาส ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

๔.การขนส่งสาธารณะ ให้สํานักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมากํากับดูแลการให้บริการ ขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กําหนด ๕.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเปิดให้ดําเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ได้แก่ ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้นํากลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดบริการได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยา เวชภัณฑ์ จุดบริการฉีดวัคซีนของภาครัฐ โรงเรียนให้งดจัดการเรียนการสอนทุกประเภท จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ทั้งนี้ให้จัดการเรียนการสอนผ่านระบบ On Line เท่านั้น ๖.ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า ๕ คน และหากมีความจําเป็นต้องจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากกว่า ๕ คน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ๗.การบังคับใช้มาตรการตามคําสั่ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันจนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔โดยให้ประเมินสถานการณ์ และความเหมาะสมของมาตรการข้อกำหนดนี้ ทุกห้วงระยะเวลา ๑๔ วัน

ทำลายสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่

ต่อมา วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๔๑๒ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย ส่วนวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๕๔๕ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย ติดเชื้อสะสม ๘,๔๑๕ ราย รักษาหาย ๓,๔๕๗ ราย รักษาอยู่ ๔,๘๙๑ ราย เสียชีวิตสะสม ๖๗ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ. ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

CI ยังมีเตียงเพียงพอ

นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวว่า “เมื่อมีคนเดินทางเข้ามาในโคราชมากขึ้น นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องจัดหาสถานกักกัน เพื่อกักตัว ๑๔ วัน ต้องทำอย่างเข้มงวด ผู้เดินทางเข้ามาต้องแยกอยู่ แยกกิน แยกนอน หากไม่แยกอาจจะเป็นคลัสเตอร์ต่อไป ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลสนามกำลังมีเพิ่มมากขึ้นตามศักยภาพของพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลสนามที่อำเภอสีคิ้วและปากช่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยสีแดงและสีเขียว ส่วนการทำ Community Isolation (CI) ของสำนักงานสาธารณสุข ขณะนี้ยังมีเพียงพอ เตียงว่าง ๔๘๘ เตียง แต่อย่างไรก็ห้ามนิ่งนอนใจ ต้องเพิ่มอีก เนื่องจากผู้ป่วยสีแดงกับสีเหลืองกำลังเดินทางเข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะให้นอนเตียงสนามก็มีข้อจำกัดว่า ขยายเตียงสนามมากไม่ได้ เพราะบุคลากรการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอ แต่ CI แม้มีมากถึง ๑๑๓ แห่ง ผู้ป่วยสามารถนอนรักษาได้ ๓,๘๐๐ ราย แต่ขณะนี้นอนรักษา ๑,๒๐๐ ราย และในขณะเดียวกัน ผู้ที่เข้าระบบ Home Isolation (HI) จำนวน ๙๐๔ ราย จากการตรวจสอบไม่ใช่ผู้ป่วยสีเหลือง แต่ก็มีบางแห่งปรับมาเป็นระบบ CI เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ เช่น ที่อำเภอแก้งสนามนาง มี HI จำนวนมาก แต่ไม่มั่นใจในวินัยของผู้เข้าอยู่ เช่น การดูแลตัวเอง เนื่องจาก HI คือ การกักตัวที่บ้าน หากครอบครัวอยู่รวมกัน ความเสี่ยงก็มากขึ้น จึงพยายามปรับให้ผู้อยู่ในระบบ HI ที่มีความเสี่ยง ให้มาอยู่ในระบบ CI ซึ่งมีที่ว่างเพียงพอ”

ยังไม่ถึงจุดสูงสุด

“สำหรับผู้ที่เดินทางมาตามระบบ สสจ.จะดูแลให้ สกัดคัดกรองด้วยระบบ State Quarantine (SQ) ก่อนที่จะให้เข้าสู่ชุมชน หากไม่ทำตามระบบอาจมีการแพร่เชื้อในชุมชน จังหวัดนครราชสีมา มี ๓๒ อำเภอ มี SQ ๘๔๑ แห่ง และจะมีผู้ลักลอบไม่อยากเข้าระบบ จะให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ตามหาตัวนำมาเข้าระบบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ อย่างไรก็ตามตัวเลขติดเชื้อ ๔๐๐ รายขึ้นทุกวัน อาจจะเป็นเช่นนี้ไปอีกสักพัก เพราะ สสจ.นครราชสีมา คำนวณแล้วยังไม่ถึงจุดสูงสุด กลางเดือนสิงหาคมอาจจะมีจำนวนลดลง ในตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวัน ๓๐๐-๔๐๐ ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากนอกจังหวัด” นายกอบชัย กล่าว

จับ ๑๔ ไรเดอร์เล่นพนัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา รายงานการบังคับใช้กฎหมายช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า มีการจับกุมมั่วสุม ผู้เล่นจับการพนันทั้งหมด ๒๓ คน เคสที่น่าสนใจเกิดใกล้ สภ.เมืองนครราชสีมา บริเวณตลาดในเขตเทศบาลฯ จับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันได้ ๑๔ คน โดยเป็นการสืบสวนร่วมกับฝ่ายปกครอง ทุกคนเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันลักลอบเล่นการพนัน และร่วมกันทำกิจกรรมเป็นลักษณะการมั่วสุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค จากนั้นเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมผู้ออกนอกเคหสถาน ออกนอกเวลา ตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. ถึง ๐๔.๐๐ น. จำนวน ๒ คน ขับมอเตอร์ไซค์และตรวจวัดแอลกอฮอลล์ ผลพบว่ามีแอลกอฮอล์ทั้งคู่ เนื่องจากไปดื่มที่บ้านเพื่อน ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด”

ใช้โทษสถานหนัก

นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “กรณีจับกุมเช่นนี้ ตำรวจในพื้นที่มีทั้งส่งฟ้องและไม่ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฟ้องเพียงข้อหามั่วสุมเล่นการพนัน ซึ่งอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาว่า ผิดตามข้อหาตาม พ.ร.ก.ด้วยหรือไม่ อยากให้ฟ้องทุกคดี ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ขอให้พิจารณาโทษสถานหนัก เพื่อควบคุมให้ปลอดภัย หากมีการดำเนินการแบบนี้ จะเป็นช่องทางให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้ ที่ผ่านมาหลายอำเภอไล่จับปรับ ๒,๐๐๐ บาท ก็เหมือนเดิม ทุกวันนี้จับในอำเภอเมืองได้ ๑๔ คน ไม่ทราบจะปรับกี่บาท หากไม่ฟ้องมาตรการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอด”

นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวเสริมว่า “เอาทุกข้อหา โดยเฉพาะการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดำเนินการได้เลย ทำให้เข็ดหลาบ เจตนาไม่ได้มีอะไรมากกว่านอกจากเข็ดหลาบ เพื่อให้จะเป็นตัวอย่างกับคนที่จะคิดทำแบบนี้ จะได้รู้ว่าทำจริง อย่างกรณีเมาสุรา ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป และข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ๕,๐๐๐ บาทขึ้นไป เพื่อต้องการให้รู้ว่าไม่คุ้มกับการเสียค่าปรับแบบนี้ อาจจะเกิดอุบัติเหตุและทำให้เกิดการติดเชื้อ ฝากทุกโรงพักช่วยกัน เพื่อเป็นการเข็ดหลาบ ปราบในสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น”

อนึ่ง การระบาดของโควิด-๑๙ ระลอก ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา พบผู้ป่วยสะสม ๘,๔๑๕ ราย รักษาหาย ๓,๔๕๗ ราย รักษาอยู่ ๔,๘๙๑ ราย เสียชีวิตสะสม ๖๗ ราย (ข้อมูล ณ วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔) โดยพบผู้ป่วยรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมือง ๑,๑๐๒ ราย ปากช่อง ๑,๖๑๑ ราย สีคิ้ว ๓๐๐ ราย ด่านขุนทด ๕๖๘ ราย สูงเนิน ๒๖๕ ราย ชุมพวง ๑๒๑ ราย บัวใหญ่ ๓๔๐ ราย พิมาย ๒๖๕ ราย โนนไทย ๑๖๑ ราย ประทาย ๓๙๕ ราย ปักธงชัย ๒๒๘ ราย ครบุรี ๒๕๕ ราย บัวลาย ๖๓ ราย เสิงสาง ๒๘๖ ราย โนนสูง ๓๐๕ ราย คง ๒๘๐ ราย โชคชัย ๑๗๒ ราย ห้วยแถลง ๑๐๒ ราย ขามทะเลสอ ๑๑๔ ราย เทพารักษ์ ๓๕ ราย เมืองยาง ๖๒ ราย หนองบุญมาก ๑๔๑ ราย จักราช ๑๗๖ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๕๖ ราย ลำทะเมนชัย ๒๙ ราย สีดา ๘๕ ราย โนนแดง ๑๓๓ ราย บ้านเหลื่อม ๑๓๓ ราย วังน้ำเขียว ๑๔๖ ราย แก้งสนามนาง ๑๗๒ ราย ขามสะแกแสง ๑๑๔ ราย และพระทองคำ ๑๓๙ ราย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๐ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


1020 1378