August 07,2021
3,354 หมู่บ้านไร้คนติดเชื้อ มอบธงฟ้าชุมชนเข้มแข็ง
ประกาศเจตนารมณ์ “หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-๑๙” จำนวน ๓,๓๕๔ หมู่บ้าน หรือร้อยละ ๘๗.๔ ของหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ทีมแพทย์ด่านหน้า ป้องกันการระบาดในชุมชน สร้างสังคมแบ่งปัน ‘ผู้ว่าฯ’ ย้ำต้องการเห็นชุมชนเข้มแข็ง ร่วมมือร่วมใจกัน ฝ่าวิกฤตโควิด-๑๙ และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๒.๓๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา และนพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-๑๙” จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ที่มาของหมู่บ้านปลอดโควิด-๑๙ เกิดขึ้นจากที่หลายจังหวัดเสนอตัวว่า เป็นพื้นที่สีฟ้าหรือเป็นพื้นที่ปลอดโควิด เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยว่า นโยบายมีประโยชน์ จึงให้จัดทำข้อมูลแต่ละจังหวัดที่มีผู้ติดเขื้อ เพื่อหาว่า ยังมีพื้นที่สีฟ้าหรือเป็นพื้นที่ปลอดผู้ติดเชื้ออยู่กี่แห่ง ในส่วนของโคราช กำหนดแนวทางในการค้นหาหมู่บ้านหรือชุมชนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ และกำหนดคุณสมบัติว่า จะต้องเป็นอย่างไรถึงจะเป็นหมู่บ้านสีฟ้า จาก ๓๒ อำเภอ มีหมู่บ้านสีฟ้าทั้งหมด ๒๘๙ ตำบล ๓,๓๕๔ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๘๗.๔ จากจำนวนหมู่บ้านหรือชุมชนทั้งหมดในจังหวัด การเป็นหมู่บ้านสีฟ้า บ่งบอกถึงความเข้มแข็ง และสื่อถึงการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะประกาศเจตนารมณ์ เพื่อทำให้โคราชปลอดโควิด-๑๙ อย่างน้อยก็เป็นการสร้างกำลังใจให้กับทุกคน และที่สำคัญมี ๖ อำเภอ ที่ขณะนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙”
ชุมชนต้องเข้มแข็ง
นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราช สีมา กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ มีความรุนแรงมากขึ้น ทีมแพทย์ด่านหน้าทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนพวกเราที่ไม่ใช่หน่วยงานด่านหน้าก็สามารถช่วยกันได้ โดยทำอย่างไรก็ได้ อย่าให้ตัวเองติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นการช่วยลดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ดีที่สุด ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการออกมาอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังมีคนที่ไม่รักษาวินัย ยังฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่ง จึงจัดตั้งโครงการหมู่บ้านสีฟ้าขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและการปฏิบัติตามมาตรการ จากการสำรวจในโคราชพบ ๓,๓๕๔ หมู่บ้าน/ชุมชน โดยหมู่บ้านเหล่านี้อาจจะเคยมีผู้ติดเชื้อมาก่อน แต่ขณะนี้รักษาหายหมดแล้ว และยังรักษาความเข้มงวดไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หากรักษาความเข้มแข็งของหมู่บ้านเหล่านี้ และหยุดการติดเชื้อในหมู่บ้านอื่นๆ จะทำให้โคราชกลายเป็นพื้นที่ปลอดโควิด-๑๙ อาจจะทำไม่ได้ทั้งหมดก็จริง แต่อย่างน้อยช่วยให้หมอและพยาบาลมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานทีมแพทย์ด้วย”
“แนวทางที่โคราชทำแล้วได้ผล คือ ให้หมู่บ้านต่างๆ ช่วยสกัดคัดกรองผู้ที่จะเข้าหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งทุกหมู่บ้านจะมีสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย เพื่อสังเกตอาการว่าปลอดภัย เมื่อปลอดภัยจึงจะให้เข้าพื้นที่ หรืออย่างน้อยต้องผ่านการตรวจคัดกรองและมีผลยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ เรื่องต่อมา คือ การประชาสัมพันธ์หรือเชิญชวนคนในหมู่บ้านให้รับทราบข้อมูลข่าวสารว่า จะทำอย่างถึงจะแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙ รวมถึงการออกกฎหมู่บ้าน เป็นสัญญาประชาคมร่วมกันว่า ทำอย่างไรจะรักษามาตรฐานทางสาธารณสุขในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A เช่น ไม่รวมกลุ่ม ไม่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หากใครไม่ทำตามก็อาจจะมีบทลงโทษทางสังคม เรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่แต่ละหมู่บ้านจะสร้างขึ้นมา ไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นกระบวนการทางสังคมที่ทุกคนต้องช่วยกัน และในแต่ละหมู่บ้าน อาจจะมีการปลูกพืชผักสมุนไพรที่สามารถใช้ช่วยรักษาโรคก่อนที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล สำหรับกรณีที่มีคนติดเชื้อหรืออยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานที่กักกันในชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนในชุมชน ช่วยกันดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน ไม่ปล่อยให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งต้องยากลำบาก เหมือนคำว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะต้องอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน”
“การที่จะแก้ไขปัญหาโรคระบาดนี้ จะต้องอาศัยกำลังของชุมชน ซึ่งมีระบบราชการที่เข้มแข็งที่สุด โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ช่วยเป็นหูเป็นตาและสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ทุกคนมีความใกล้ชิดและรู้จักกัน ทำให้มาตรการค้นหาผู้ป่วยทำได้อย่างต่อเนื่อง หากพบก็ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปช่วยดูแล กลายเป็นการสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือกันและกันของหมู่บ้านสีฟ้า ซึ่งหมู่บ้านสีฟ้าจะมีการตรวจและประเมินจากนายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นประจำ และถ้าหมู่บ้านใดที่มีผู้ติดเชื้อ แต่สามารถทำตามข้อกำหนดได้ดี ก็จะประกาศให้เป็นหมู่บ้านสีฟ้าต่อไป” นายวิสูตร กล่าว
หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด
นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวเสริมว่า “โคราชวันนี้มีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แม้ทุกอำเภอจะมีพื้นที่สีแดง แต่ในขณะเดียวกันก็มีหมู่บ้านสีฟ้าอยู่อีกมาก ซึ่งโคราชมีทั้งหมดหมู่บ้าน ๓,๘๓๗ แห่ง แต่มีหมู่บ้านสีฟ้า ๓,๓๕๔ แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ ๘๗ เป็นการบ่งบอกว่า หมู่บ้านสีฟ้ามีความเข้มแข็ง ในพื้นที่มีการดูแลกันอย่างดี โดยหมู่บ้านสีฟ้ามี ๓ ประเภท ได้แก่ ๑.ในวันที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อในหมู่บ้าน ๒.หมู่บ้านนั้นสามารถสกัดคัดกรองคนจากนอกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี หากคัดกรองแล้วพบว่า คนที่มาติดเชื้อ แต่อยู่ในสถานที่กักกัน และส่งโรงพยาบาลก่อนเข้าพื้นที่ ถือว่า เป็นหมู่บ้านสีฟ้า เพราะชุมชนสามารถช่วยสกัดไว้ได้ และหมู่บ้านที่มีการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และพบก่อนที่จะมีการระบาด สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน ทำให้หมู่บ้านปลอดภัย และ ๓.หมู่บ้านที่เคยมีผู้ติดเชื้อ แต่รักษาหายแล้ว สามารถกลับเข้ามาอยู่ในชุมชนได้อย่างปลอดภัย แต่นอกจากหมู่บ้าน ๓ ประเภทนี้ จังหวัดจะดูความร่วมมือและความเข้มแข็งของชุมชนเป็นหลัก เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการจะเห็นว่า หมู่บ้านสีฟ้ามีความเข้มแข็งหรือมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการร่วมมือร่วมใจกัน และการออกกฎกติกาทางสังคม รวมถึงการไม่ทอดทิ้งผู้ได้รับผลกระทบไว้ลำพัง เช่น อาจจะมีบางครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถหากินได้ในขณะนี้ แต่ชุมชนก็ไม่เคยทอดทิ้ง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน ซึ่งขณะนี้มี ๓,๓๕๔ หมู่บ้าน และจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะมีลดลงบ้าง เนื่องจากบางหมู่บ้านพบผู้ติดเชื้อ ก็อาจจะต้องลดธงสีฟ้าลงก่อน”
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “การสร้างแรงจูงใจให้คนทำตามกติกา จะต้องเริ่มจากตนเองและครอบครัวก่อน โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างขณะพบกับผู้อื่น รวมถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งการรับประทานผัก จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ส่วนคนที่จะเดินทางเข้ามาในโคราช ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เดินทางมาอย่างมีระบบและถูกต้อง รวมถึงผู้ที่ป่วยที่จะขอกลับมารักษาที่โคราช ห้ามเดินทางมาด้วยตนเอง ขอให้มาอย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ป่วยไม่ใช่คนผิด ทุกคนต้องช่วยให้กำลังใจและดูแลกัน เมื่อเขารักษาหายแล้ว ก็ขอให้ต้อนรับกันอย่างอบอุ่น เพื่อให้คนที่ป่วยอยากเข้าระบบมากขึ้น ไม่ใช่รังเกียจกัน ในการจัดตั้งหมู่บ้านสีฟ้า อยากให้ช่วยกันค้นหาเชิงรุกด้วย หากพบผู้ติดเชื้อมาก ก็จะทำให้มีคนเข้าระบบมากขึ้น และถูกรักษาหายมากขึ้น ทำให้โคราชมีหมู่บ้านสีฟ้ามากขึ้นด้วย เพื่อเกิดเป็นความปลอดภัยแก่ชาวโคราชทุกคน”
อำเภอปลอดโควิด
นายกอบชัย บุญอรณะ กล่าวท้ายสุดว่า “นอกจากหมู่บ้านสีฟ้าแล้ว ยังมีเทศบาลฯ ที่แบ่งการดูแลเป็นชุมชนต่างๆ อยู่ ๔ แห่ง ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อขณะนี้ ได้แก่ เทศบาลเมืองเมืองปัก ๑๖ ชุมชน, เทศบาลเมืองบัวใหญ่ ๒๔ ชุมชน, เทศบาลตำบลโนนสูง ๒๓ ชุมชน และมี ๖ อำเภอ ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ ได้แก่ อำเภอขามสะแกแสง ๗๒ หมู่บ้าน, โนนแดง ๖๕ หมู่บ้าน, ลำทะเมนชัย ๕๙ หมู่บ้าน, เมืองยาง ๔๖ หมู่บ้าน, บัวลาย ๔๕ หมู่บ้าน, บ้านเหลื่อม ๓๙ หมู่บ้าน ขอย้ำกับนายอำเภอว่า ให้ชุมชนเหล่านี้รักษามาตรฐานไว้ แต่นายอำเภอคงทำเองไม่ได้หากขาดกำนันและผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน ถือว่า เป็นความท้าทายของนายอำเภอ ส่วนอำเภอที่จะปลอดโควิด-๑๙ เช่น อำเภอโนนไทย มี ๑๓๓ หมู่บ้าน ขณะนี้มีเพียง ๑ หมู่บ้านที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ ดังนั้น ขอให้ทุกคนช่วยกัน เราจะทำให้ทุกหมู่บ้านปลอดจากโควิด-๑๙ ให้ได้ ถ้าทุกหมู่บ้านทำได้ เท่ากับว่า โคราชปลอดโควิด-๑๙ เช่นกัน”
ภายหลังการประกาศเจตนารมณ์ “หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-๑๙” นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ร่วมมอบธงสีฟ้า เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงเจตนารมณ์ให้กับนายชูชาติ พิพัฒน์ศรัทธา นายอำเภอขามสะแกแสง นายวันสุกรี แวมามะ นายอำเภอลำทะเมนชัย นายจิรเดช พงษ์ประสิทธิ์ นายอำเภอบัวลาย และนายโสวัฒน์ ดาวศรี ปลัดอาวุโส อำเภอโนนแดง
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมด ๓,๘๓๗ หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-๑๙ จำนวน ๓,๓๕๔ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๘๗.๔ ประกอบด้วย อำเภอเมือง ๑๖๘ หมู่บ้าน, โนนไทย ๑๒๐ หมู่บ้าน, ด่านขุนทด ๑๒๗ หมู่บ้าน, โชคชัย ๑๒๔ หมู่บ้าน, แก้งสนามนาง ๕๒ หมู่บ้าน, ปักธงชัย ๒๐๘ หมู่บ้าน, ห้วยแถลง ๘๒ หมู่บ้าน, พระทองคำ ๗๓ หมู่บ้าน, ประทาย ๑๓๕ หมู่บ้าน, ชุมพวง ๑๐๗ หมู่บ้าน, เฉลิมพระเกียรติ ๕๗ หมู่บ้าน, ปากช่อง ๖๑ หมู่บ้าน, หนองบุญมาก ๖๐ หมู่บ้าน, สีดา ๔๙ หมู่บ้าน, พิมาย ๒๐๑ หมู่บ้าน, จักราช ๑๐๗ หมู่บ้าน, เทพารักษ์ ๕๒ หมู่บ้าน, สีคิ้ว ๑๐๒ หมู่บ้าน, ขามสะแกแสง ๗๒ หมู่บ้าน, ลำทะเมนชัย ๕๙ หมู่บ้าน, ครบุรี ๑๔๖ หมู่บ้าน, เสิงสาง ๖๗ หมู่บ้าน, เมืองยาง ๒๖ หมู่บ้าน, สูงเนิน ๑๑๐ หมู่บ้าน, วังน้ำเขียว ๗๖ หมู่บ้าน, บัวลาย ๔๕ หมู่บ้าน, คง ๕๔ หมู่บ้าน, ขามทะเลสอ ๒๘ หมู่บ้าน, บ้านเหลื่อม ๑๓ หมู่บ้าน, เทศบาลเมืองปากช่อง ๑๕ ชุมชน, เทศบาลเมืองสีคิ้ว ๙ ชุมชน, เทศบาลเมืองเมืองปัก ๑๖ ชุมชน, เทศบาลเมืองบัวใหญ่ ๒๔ ชุมชน และเทศบาลตำบลโนนสูง ๑๓ ชุมชน
อนึ่ง เมื่อวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชน ช่วยเหลือแบ่งปัน ดูแลซึ่งกันแลกัน ร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โดยให้ทุกอำเภอสำรวจหมู่บ้านหรือชุมชนในพื้นที่ ที่ไม่มีผู้ป่วยโควิด-๑๙
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๐ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
92 1,649