29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 11,2021

ใช้ไมซ์เคลื่อนเศรษฐกิจ เปิดเมืองรับผู้มาเยือน ฝันโกยพันล้านเข้าโคราช

ภาคเอกชนตั้งโมเดล “Korat Green Box” เตรียมเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนในธุรกิจไมซ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขแบบ ‘ครอบจักรวาล’ เน้นการท่องเที่ยวปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน นำร่องพื้นที่ ๔ อำเภอ ปากช่อง พิมาย วังน้ำเขียว และเมือง ผ่านกิจกรรมใหญ่หลายรายการ หวังโกยเงินพันล้านบาทเข้าเมือง


วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการรองรับการเปิดเมืองต้อนรับผู้มาเยือน จังหวัดนครราชสีมา (Korat Green Box) โดยมี นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ TCEB นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท.  นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting)

ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนครราชสีมา (NCEC) กล่าวว่า “ปัจจุบันในประเทศไทยและทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น จึงมีการพูดถึงแนวทางการเปิดเมือง หรือ Korat Green Box ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจว่า การเปิดเมืองต้อนรับผู้เดินทางเข้ามาสู่อุตสาหกรรมไมซ์อีกครั้ง จะต้องดำเนินการอย่างไร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับความรู้จากผู้ที่รู้จริง นำโดย TCEB ซึ่งดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการเปิดเมืองมาหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากกรมอนามัย มาให้ความรู้ว่า เมืองที่มีความพร้อมและความปลอดภัยเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนโคราช ในการขับเคลื่อนการเปิดเมืองต้อนรับธุรกิจไมซ์ และในช่วงท้ายจะเป็นการพูดคุยของภาคเอกชนในโคราช เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อน Korat Green Box ในอนาคต”

อุตสาหกรรมไมซ์ติดลบ

นางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี กล่าวว่า “TCEB มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และยกระดับการจัดประชุม การสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมวิชาชีพ คลอบคลุมไปถึงงานเทศกาลประจำถิ่น เพื่อให้แนวทางการทำงานเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล TCEB จึงมีแนวทางการดำเนินงานและการเตรียมกิจกรรมกระตุ้นภายในปี ๒๕๖๕ อย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงสถานการณ์ปกติ ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์มีมากถึงร้อยละ ๑๐ ต่อปี มีนักเดินทางเข้ามาในประเทศกว่า ๓๑ ล้านคน เกิดการจ้างงานกว่า ๘ แสนตำแหน่ง และสร้างรายได้กว่า ๒ แสนล้านบาท แต่ในช่วงปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา อุตสาหกรรมไมซ์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตัวเลขในปี ๒๕๖๔ มีนักเดินทางลดลงร้อยละ ๙๙.๙๔ และรายได้จากนักเดินทางนานาชาติ ลดลงร้อยละ ๙๙.๙๕ แต่เมื่อดูตัวเลขของอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ จะเห็นว่า ยังสามารถดำเนินการจัดประชุมหรืองานขนาดเล็ก ซึ่งในภาพรวมลดลงประมาณร้อยละ ๗๐ เนื่องจากว่า การจัดกิจกรรมไมซ์ เป็นกิจกรรมรวมตัวของคนจำนวนมาก เมื่อมีมาตรการของแต่ละจังหวัดในการลดจำนวนคนและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด จึงทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ติดลบ”

ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์

“สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ TCEB ที่เกี่ยวกับการเปิดประเทศของธุรกิจไมซ์ มีการปรับกลยุทธ์เพื่อทำงานอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณาการและภายในประเทศ รวมทั้งปรับแผนสู่การปฏิบัติเชิงรุก ดังนั้นจะเห็นว่า เรามีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมสนับสนุน เป็นลักษณะการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จึงมีการปรับทักษะ หรือ Up-Skill/Re-Skill มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรในพื้นที่อย่างเต็มที่ ให้มีการตอบสนองที่ทันต่อสถานการณ์ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ทำให้รูปแบบการจัดประชุมแบบเดิมหรือต้องเจอตัวกันเป็นๆ ลดน้อยลง จึงยังสามารถจัดประชุม สัมมนา ในรูปแบบที่เปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ และยังมีการใช้ virtual seminar (สัมมนาเสมือนจริง) เข้ามาช่วย ทำให้การจัดประชุมยังดำเนินการได้ปกติ ส่วนการแสดงสินค้า ได้สนับสนุนการเจรจาธุรกิจแบบออนไลน์ ทำให้การทำธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมไม่ติดขัด รวมทั้ง TCEB ร่วมกับเมืองไมซ์ต่างๆ ทำแผนการตลาดเชิงรุก และเตรียมพร้อมการเปิดเมือง เพื่อรองรับงานหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งโคราชในขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการประมูลสิทธิงานพืชสวนโลก”

นางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แนวทางการเปิดประเทศ

นางสาวสุรัชสานุ์ กล่าวอีกว่า “TCEB ไม่ได้นิ่งนอนใจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ โดยกำหนดกรอบแนวทางดำเนินงาน Thailand MICE Recovery Program (TMRP) ๔ ด้านหลัก ได้แก่ ๑.ด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ๒.ด้านการตลาดและการกระตุ้นอุปสงค์การจัดกิจกรรมไมซ์ ๓.ด้านการเตรียมความพร้อมของสินค้า บริการ และผู้ประกอบการข้อมูล ระบบรองรับ และเน้นเชิงพื้นที่ และ ๔.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านไมซ์ ดังนั้น ภาพรวมการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ ภายใต้ TMRP แบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ เตรียมความพร้อมในปี ๒๕๖๔ โดยเริ่มจากการทำข้อมูลศูนย์โควิด-๑๙ จัดทำแคมเปญสื่อสารตลาดในประเทศและเปิดตัว MICE DAY พร้อมกับสื่อสารตลาดต่างประเทศ และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็จะเตรียม Rebranding MICE ประเทศไทย ให้ออกสู่สายตานานาชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเปิดประเทศ ระยะที่ ๒ เริ่มเปิดตลาด โดยปี ๒๕๖๕ จะเริ่มจัดกิจกรรมนำร่องในพื้นที่ Sand Box หรือ MICE City ทั้ง ๑๐ เมือง ส่งเสริมการประชุม สัมมนา และจัดงานในประเทศ รวมทั้ง จัดให้มี Overseas Representative & Virtual Customer Engagement สำหรับตลาดต่างประเทศ และระยะที่ ๓ ขยายผล ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวย TCEB จะเดินหน้ากิจกรรมการตลาดต่างประเทศ และส่งเสริมการประชุมในประเทศอย่างเนื่อง”

“แต่การทำตามแผนที่วางไว้ มีปัจจัยหรือเงื่อนไขสู่ความสำเร็จ ๖ ข้อ คือ ๑.การฉีดวัคซีนตามเป้าหมายและครอบคลุมทุกพื้นที่ ๒.การควบคุมโรคในพื้นที่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ๓.ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจไมซ์ในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่จัดกิจกรรมไมซ์ ๔.ความเชื่อมั่นของประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่จัดกิจกรรมไมซ์ ๕.ผู้จัดกิจกรรมไมซ์ ปฏิบัติตาม SOP หรือมาตรฐานการจัดกิจกรรมไมซ์ และ ๖.รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจและมีมาตรฐานรองรับนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ เพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศ ที่สำคัญถ้าประเทศมั่นคง ไม่มีสถานการณ์อะไร จะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักธุรกิจหรือนักเดินทาง ไมซ์ในต่างประเทศ เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น โดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ โดยช่วงที่ผ่านมา TCEB จัดพิธีลงนาม ร่วมกับเมืองไมซ์ ๑๐ แห่ง ในโครงการเปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐาน ซึ่งทุกเมืองตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ เพราะจะเป็นพื้นฐานในการต่อยอดเศรษฐกิจในองค์รวม ทั้งนี้ การจัดงานต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข” นางสาวสุรัชสานุ์ กล่าว

โคราชต้องปลอดภัย

นพ.ดนัย ธีวันดา กล่าวในหัวข้อเปิดเมืองปลอดภัย มั่นใจด้วย The Stop Covid ว่า “เชื่อมั่นว่าขณะนี้ คนโคราชส่วนใหญ่รอที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาจัดงานหรือกิจกรรมในพื้นที่ ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนไปได้นั้น คนโคราชจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ปกติสุข ดังนั้น ต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่จะเดินทางเข้ามาในโคราช ทั้งการเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เข้ามาเพื่อค้าขาย และเข้ามาเพื่อท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา คนโคราชต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่รุนแรง จึงทำให้มีมาตรการตามสถานการณ์ที่เข้มงวด เนื่องจากตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการจำกัดการเดินทางของประชาชน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ประชาชนที่เข้ามาทำงาน ต้องเดินทางกลับต่างจังหวัด ทำให้การระบาดเกิดขึ้นทุกพื้นที่ในประเทศไทย และโคราชก็ถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนั้น มาตรการหลายด้านจึงมีความเข้มงวดมากกว่าพื้นที่อื่นๆ”

อยู่ร่วมกับโควิด-๑๙

“กลไกของการเปิดเมืองปลอดภัย อาจจะไม่ใช่การตั้งเป้าว่า ต้องมีผู้ป่วยน้อยลง แต่ต้องปรับให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน สามารถสร้างความมั่นใจได้ แม้จะมีผู้ป่วยมากก็ตาม มุมมองใหม่จึงกลายเป็นว่า ต้องเข้าใจและอยู่กับโควิด ผู้ป่วยสีเขียวยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านตัวเองในรูปแบบ HQ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุนและดูแล ส่วนการปรับกลยุทธ์การป้องกันโรค สถานการณ์การฉีดวัคซีนขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ดี มีการตรวจและรักษาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนการเสียชีวิต ประเทศไทยยังมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าทั่วโลกมาก นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี แต่ก็ถือเป็นการสูญเสียในระดับหนึ่ง ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมา แล้วทุกภาคส่วนให้ความสนใจ จะเป็นสิ่งชี้ว่า อาจจะมีการยกระดับตัวเองมากขึ้นในการป้องกันโควิด-๑๙ เพื่อสามารถเปิดประเทศหรือเปิดเมืองรับนานาชาติ” นพ.ดนัย กล่าว

มาตรการครอบจักรวาล

นพ.ดนัย กล่าวอีกว่า “กรอบแนวคิดของการป้องกันการระบาด เดิมทีเราตั้งใจว่า ต้องการให้ประชาชนอยู่นิ่งให้มากที่สุด และพยายามจัดการเคสที่มีอยู่ไม่ให้มีการระบาด แต่ขณะนี้พบแล้วว่า ปัจจุบันจะทำแบบเดิมได้ยาก เพราะผู้ป่วยยังมีการกระจายอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย ดังนั้น การเดินทางไปหรือมาของผู้คน จะต้องอยู่ในระดับที่มีความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมให้ปลอดภัยอย่างมั่นใจด้วยมาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในการดำเนินตามมาตรฐาน Covid Free และคัดกรองพนักงานให้ทั่วถึง ทั้งเรื่องผลตรวจเชื้อและการฉีดวัคซีน เพื่อปกป้องไม่ให้พนักงานมีความเสี่ยงและสามารถรรับมือโควิดได้ ในภาคประชาชนต้องรู้จักและเฝ้าระวังตัวเอง เมื่อไปตามสถานที่ต่างๆ ไปที่ใดมีมาตรการอะไรก็ต้องปฏิบัติตาม และภาครัฐจะต้องวางแนวทางการปฏิบัติต่างๆ พร้อมกับตรวจสอบและประเมินว่า แนวทางเหล่านั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และต้องดูแลสถานประกอบการต่างๆ ที่ยังไม่สามารถทำตามมาตรการได้ หากพบการทำผิดก็ให้ดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

๕ มาตรการสำคัญ

“ดังนั้น จึงเกิดเป็นแนวทางสำคัญ ๕ ประการ ได้แก่ ๑.มาตรการวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่มีในโลกขณะนี้ทุกยี่ห้อเหมาะที่จะนำมาป้องกันโควิด-๑๙ แต่บริบทการจัดสรรวัคซีนสู่ประชาชนว่า จะได้รับเมื่อใด อาจจะมีเงื่อนไขหลายประการ แต่ปัจจุบันประเทศกำลังเข้าสู่โหมดการมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งบุคลากรด่านหน้าส่วนใหญ่ได้รับการฉีดครบ ๒ เข็ม และส่วนหนึ่งได้รับบูสเตอร์แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นในส่วนของกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น กลุ่ม ๖๐๘ และในเดือนตุลาคม จะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมาก จึงจะเริ่มฉีดในกลุ่มประชาชนทั่วไป และอาจจะรวมถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีด้วย คาดว่า ภายในเดือนธันวาคม ประชาชนจะได้รับวัคซีนครอบคลุมร้อยละ ๘๐ ของประชากรทั้งประเทศ”

“๒.มาตรการองค์กร ให้ดำเนินการภายใต้การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-๑ สำหรับเปิดกิจการและจัดกิจกรรม ให้ปลอดภัยและยั่งยืนตามข้อกำหนดฉบับที่ ๓๒ ของ ศบค. ซึ่งระบุถึงสถานประกอบในพื้นที่สีแดงเข้ม เมื่ออนุญาตให้เปิดกิจการอีกครั้ง จะต้องมีแนวปฏิบัติมาตรการองค์กรอย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่โรค โดยเฉพาะการทำตามมาตรการ Covid Free Setting Protocol ด้วยการปฏิบัติ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) Covid Free Environment การรักษาความสะอาดของระบบระบายอากาศ การเว้นระยะห่าง (๒) Covid Free Personnel มีวัคซีนครบตามเกณฑ์และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ (๓) Covid Free Customer มีระบบ Green Card แสดงผลการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ และ Yellow Card ผลการติดเชื้อหรือผลการตรวจ ATK เป็นลบใน ๗ วัน เพื่อนำมาแสดงเป็นหลักฐานว่า ปลอดภัย มีการคัดกรองมาแล้ว ซึ่งมาตรการนี้อาจจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละพื้นที่”

“๓.มาตรการบุคคล โดยป้องกันครอบคลุมเชื้อแบบครอบจักรวาล ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง ให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็นจริง เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย ๑-๒ เมตรในทุกสถานที่ สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในบ้านและนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก และปากโดยไม่จำเป็น ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากสัมผัสวัตถุหรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น เลือกทานอาหารที่ร้อนและปรุงสุก หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือมีอาการ ควรหา ATK มาตรวจ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ หากผลบวกให้รีบไปรักษาที่โรงพยาบาล”

“๔.มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมการระบาด และการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ และ ๕.มาตรการสังคม ผ่อนคลายกิจการหรือกิจกรรมตามมาตรการอย่างปลอดภัย เปิดเมือง เปิดรับนักท่องเที่ยว สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยนำมาตรฐานด้านสุขอนามัย สำหรับสถานประกอบการหรือกิจกรรมอย่างปลอดภัย มีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai Stop Covid แต่หลังจากนี้จะยกระดับการป้องกันผ่านระบบ Covid Free Setting และมาตรการ Universal Prevention หรือมาตรการครอบจักรวาล” นพ.ดนัย กล่าว

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

‘สาธารณสุข-เศรษฐกิจ’เดินคู่กัน

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โคราชมีทรัพยากรธรรมชาติ มีความโดดเด่นด้านศักยภาพ มีวัฒนธรรมที่ยาวนาน และมีซากดึกดำบรรพ์มากมาย ส่งผลให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนกว่า ๙.๙ ล้านคน และสามารถสร้างรายได้ให้กับโคราชอย่างมาก ในปี ๒๕๖๓ โคราชได้รับประกาศให้เป็นเมืองไมซ์ ในประเทศไทยมีทั้งหมด ๑๐ แห่ง ซึ่งด้วยศักยภาพและความพร้อมของโคราช ทั้งความสะดวกในการเข้าถึง ความสะดวกในการจัดงาน ที่พักต่างๆ การท่องเที่ยวเชื่อมโยง และภาพลักษณ์ของเมือง ทำให้โคราชเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางไมซ์ เพื่อจัดประชุมสัมมนา ท่องเที่ยว จัดนิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-๑๙ ในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในระดับโลก ซึ่งวันนี้โคราชเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อประชาชนทุกกลุ่ม ที่ผ่านมีการเยียวยา ป้องกัน และแก้ไขในทุกมิติ ทั้งการจัดหาวัคซีน การช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ดังนั้น ในวันนี้จึงเป็นกิจกรรมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อเปิดเมืองรองรับการให้บริการและสร้างความมั่นใจให้ผู้มาเยือนอีกครั้ง”

“โคราชได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นเวลานาน และในช่วงเดือนที่ผ่านมา ถูกจัดอยู่ใน ๒๙ จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพราะการเดินทางกลับของประชาชนที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หากยังอยู่ที่นั้นก็ไม่มีความปลอดภัย จึงเดินทางกลับในปริมาณมาก ซึ่งการเดินทางกลับเช่นนี้ มักจะมีการนำเชื้อมาด้วย ทำให้เกิดการระบาดในชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดจึงหาแนวทางเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน เพราะโควิดมีความรุนแรง มีการกลายพันธุ์ หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์ภายในจังหวัดจะหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจชะงัก ดังนั้นต้องทำงานควบคู่กันไประหว่างการป้องกันการระบาดกับการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ มีหลายหน่วยงานที่เล็งใช้พื้นที่จัดกิจกรรมหรือพื้นที่ท่องเที่ยว วันนี้คงจะไม่รอให้โควิดหายไป จำเป็นต้องเปิดเมืองก่อน โดยมีมาตรการที่เข้มงวด ภายในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ หลายสิ่งบ่งบอกว่า โคราชมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น การแพร่ระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง”

ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ

นายกอบชัย กล่าวอีกว่า “ภายใต้มาตรการเปิดเมือง จะต้องดูว่าผู้ประกอบการจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามทบทวนเสมอ คือ การเปิดกิจกรรมหรือกิจการ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ประกอบการ พนักงาน และผู้ที่จะมาใช้บริการ ทำอย่างไรจะช่วยให้ผู้ประกอบการปลอดภัย มีมาตรการอะไรที่ทำให้พนักงานปลอดภัย และผู้ที่เข้าใช้บริการปลอดภัย ซึ่งอาจจะต้องมีการคัดเลือกผู้ที่จะเข้าใช้บริการ ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญ จากการพูดคุยก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม และชมรมผู้ประกอบร้านอาหาร ทุกคนพร้อมที่จะเป็นคนกลางในการเชิญชวนผู้ประกอบการในเครือข่าย ดูแลพื้นที่หรือสถานที่และพนักงานให้ปลอดภัย ซึ่งจังหวัดก็พยายามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมสัปดาห์ละ ๓ วัน เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาด เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่างๆ ให้ปลอดภัย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายไปมากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถทำได้อย่างดี”

สร้างวิถีใหม่ยุคโควิด

“หลังจากมีประกาศผ่อนคลายให้เปิดร้านค้าหรือร้านอาหาร ยังมีความเป็นห่วงว่า การระบาดอาจจะกลับมาอีก จึงมีการตั้งชุดบูรณาการจากทุกหน่วยงาน ทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ร้านอาหาร ร้านค้า สถานประกอบการ สถานบริการนวดแผนไทย และห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ทุกคนดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังต้องรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย ทำตามมาตรการทางสาธารณสุข หรือมาตรการ D-M-H-T-T-A เพื่อทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ เป็นระบบการป้องกันการระบาดแบบครอบจักรวาล ในอนาคตอาจจะมีการค้นหาตรวจเชื้อเชิงรุกทุก ๗ วัน สำหรับโรงงานต่างๆ ก็มีทีมออกไปตรวจตลอด เพื่อไม่ให้ผิดพลาด ส่วนเรื่องวัคซีน ทั้งผมและ สสจ. พยายามขอสนับสนุนวัคซีนให้มากที่สุด ขณะนี้มีการฉีดไปแล้วประมาณ ๘ แสนโดส หรือร้อยละ ๓๐ ของจำนวนประชากรเป้าหมาย ซึ่งจังหวัดจะพยายามจัดสรรให้เพียงพอ เพื่อรองรับการเปิดเมืองในอนาคตต่อไป” นายกอบชัย กล่าว

นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

โคราชพร้อมเปิดเมือง

จากนั้น เป็นบรรยายแนวทางการเปิดเมืองนครราชสีมา โดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และ ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนายศักดิ์ชาย กล่าวว่า ภาพรวมของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของโคราช เมื่อปี ๒๕๖๒ มีมูลค่าประมาณ ๒.๙ แสนล้านบาท โดยมีที่มาของเม็ดเงินจาก ๓ แหล่งหลัก ได้แก่ ๑.ภาคอุตสาหกรรม มีค่าเฉลี่ย ๓๐% ๒.การค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งโคราชเป็นจังหวัดเดียว ที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ๓ แห่ง ประกอบกับโคราชมีพื้นที่มาก จึงทำให้การค้าขายกระจายหลายพื้นที่ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยประมาณ ๑๕% และ ๓.ด้านการเกษตร มีค่าเฉลี่ยประมาณ ๑๕% ส่วนค่าเฉลี่ย GDP จากการท่องเที่ยว ๒.๕ หมื่นล้านบาท ปี ๒๕๖๒ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในโคราชเป็น ๙ ล้านคน แต่ปัจจุบันในสถานการณ์โควิดระบาดหนัก ทำให้รายได้จังหวัดเหลืออยู่แหล่งเดียว คือ ภาคอุตสาหกรรม เพราะต่างประเทศสามารถเปิดเมืองได้ ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาในจังหวัดต่อเนื่องจึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งเงินเดียวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องแรงงาน เนื่องจากมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ซึ่งโคราชมีการควบคุมและป้องกันการระบาดในโรงงานอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการทำ Bubble and Seal หรือทำ Factory Isolution เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อไปได้

นำร่อง ๔ อำเภอ

“สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในโคราช ทำให้ภาคธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมามีการเยียวยาบ้าง แต่การเยียวยาค่อนข้างช้า เช่น รอบล่าสุดโคราชถูกล็อกดาวน์รอบที่ ๒ ทำให้การเยียวยาล่าช้ากว่าจังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ก่อน ประกอบกับโคราชยังมีวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้พืชผลทางการเกษตรมีปัญหาด้านการผลิต โคราชจึงมีความจำเป็นมากในการเปิดเมืองต้อนรับการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจสามารถเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งการเปิดเมืองนั้น ภาคเอกชนมีการพูดคุยกันตลอด ซึ่งพบว่า สื่งที่จำเป็นต่อการเปิดเมือง คือ การจัดสรรวัคซีนให้ครบถ้วน ให้ทั่วถึง และมีการตรวจคัดกรองทุกพื้นที่ โดยภาคเอกชนมีความพยายามในการจัดหาวัคซีน มีการเรียกร้องไปยังกลุ่มนักการเมือง ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในโคราช เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ รองรับการเปิดเมืองที่จะเข้ามาช่วงปลายปีนี้ เช่น การแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชีย การเก็บตัวของผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ที่อำเภอปากช่อง และมหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ ๒ จะมีการรวมตัวของศิลปินจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ระดับโลก คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาโคราชประมาณ ๑ ล้านคน และสร้างรายได้หลายพันล้านบาท ดังนั้น จึงมีความพยายามต่างๆ ในการรองรับการเปิดเมือง ทั้งการจัดหาวัคซีน และการวางแนวทางปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ซึ่งเริ่มแรกจะมีการเปิดเมืองใน ๔ อำเภอ เพราะการเปิดเมืองทั้ง ๓๒ อำเภอ อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่การเปิดเมือง ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากช่อง พิมาย และวังน้ำเขียว  รวมทั้งโคราชพยายามโปรโมตความเป็นดินแดน ๓ มงกุฎของยูเนสโก หรือ UNESCO Triple Crown ได้แก่ มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น เขตสงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช และโคราชจีโอพาร์ค ซึ่งคาดว่า จะได้รับการประเมินจากยูเนสโกในปีนี้” นายศักดิ์ชาย กล่าว

นายศักดิ์ชาย กล่าวอีกว่า “การเปิดเมือง ๔ อำเภอ จะเป็นการเชื่อมโยงกับอำเภอต่างๆ ซึ่งจะนำของดีของเด่นจากทุกพื้นที่มาจัดจำหน่ายในอำเภอที่เปิดเมือง รวมทั้งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เพราะการท่องเที่ยวจะไม่หยุดอยู่เฉพาะในโคราช แต่จะพยายามเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน และจะคิดนวัตกรรมใหม่ที่จะใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากที่มีการผ่อนคลายแล้ว กลุ่มประชาชนที่ทำงาน Work from Home อาจจะไม่ต้องทำงานอยู่แค่ที่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตอาจจะนำงานไปทำตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้เช่นกัน โดยผู้ประกอบการอาจจะต้องเตรียมความพร้อมที่จะรองรับการทำงานในรูปแบบนี้ ซึ่งโคราชมีระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก มีการคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ โครงการ Korat Green Box เป็นโครงการที่นำร่องโดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยคิดค้นวิธีการดูแลนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ แต่การเปิดเมืองโคราช จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เราจะไม่เปิดเมืองด้วยความประมาท ดังนั้นความร่วมมือของทุกฝ่ายจะต้องมีอย่างเต็มที่ และมุ่งมั่นที่จะทำให้โคราช กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยว ซึ่งเราจะต้องให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจที่จะเปิดเมืองโคราช โดยเริ่มแรกขอให้เปิดเมือง ๔ อำเภอก่อน แต่ถ้าไม่ได้ก็อาจจะเปิดเมืองเฉพาะอำเภอปากช่องก่อนก็ยังดี เพื่อให้เป็นพื้นที่นำร่องให้กับพื้นที่อื่นในโคราชต่อไป”

ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา

โคราชมหานครสีเขียว

ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ กล่าวว่า “ภาคเอกชนโคราชได้ร่วมมือกันคิดโครงการ Korat Green Box แต่การจะเปิดเมือง ๓๒ อำเภอคงเป็นไปได้ยาก แต่ใน ๔ อำเภอที่จะสามารถทำได้ จะต้องมีวัคซีนที่ครบถ้วน ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก จะไม่แลกชีวิตของประชาชนกับความเสี่ยงต่างๆ โดยจะนำร่องอำเภอแรกที่ปากช่อง เพราะมีความพร้อมและเตรียมการมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ยังคิดถึงภาพรวมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยทำเป็น ‘โคราชมหานครสีเขียว’ หรือ Korat Green Box ซึ่งมีนายกฤษณ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ เป็นผู้จัดทำโครงการ โดยมีการศึกษาข้อมูลจากจังหวัดภูเก็ตและภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำออกมาเป็นแนวทางในการเปิดเมืองโคราช”

ดร.วัชรี กล่าวอีกว่า “สำหรับแผนพัฒนาโคราชหลังจากที่มีการเปิดเมืองแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ เพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าการท่องเที่ยวของโคราช ให้โดดเด่น มีอัตลักษณ์เป็นที่ยอมรับและเชื่อมโยงในทุกมิติ เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น และเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ มีความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-๑๙ นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่จะพัฒนาให้โคราชกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทุกประเภท โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้มีความสะดวก สะอาด และปลอดภัย จัดให้มีกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในโคราช เพื่อสร้างความยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการระบบการท่องเที่ยว ให้รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่”

โคราชพร้อมแล้ว

“ในการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว จะต้องมีแผนด้านความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยว ทุกแห่งจะต้องได้รับมาตรฐานทางสาธารณสุข หรือ SHA เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พักนั้นมีความปลอดภัย มีมาตรฐานที่ดี ส่วนแผนการรับนักท่องเที่ยว จะต้องมีการเตรียมความพร้อม สถานพยาบาล มีแผนเผชิญเหตุ หากมีผู้ป่วยจะทำอย่างไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวรับรู้ว่า มาโคราชแล้วจะมีความปลอดภัย และเนื่องจากการระบาดของโควิดครั้งนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ จึงต้องมีแผนในการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชน โดยจะจัดเป็นกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น และขณะนี้นอกจากแผนการเปิดเมือง เรายังทำเส้นทางท่องเที่ยวปลอดภัยเตรียมไว้ พร้อมกับทำแผนที่ปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และที่พัก ที่ได้รับมาตรฐาน SHA และผ่านการประเมิน Thai Stop Covid นักท่องเที่ยวจะได้ทราบว่าไปที่ไหนจะได้รับความปลอดภัย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราเตรียมไว้ และในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะมีการแถลงข่าวให้ประชาชนในจังหวัดทราบว่า โคราชมีการเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองอย่างไร” ดร.วัชรี กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่ลานอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะแถลงข่าวโครงการ “Korat Green Box” ภายใต้มาตรการเปิดเมืองใน ๑๒๐ วัน ซึ่งเป็นนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในงานจะมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ เช่น เรื่อง “Korat Green Box คืออะไร” โดย ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา การบรรยายเรื่อง “การจัดกิจกรรม MICE บนมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข” โดยนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ TCEB เป็นต้น


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๕ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


982 1611