11thOctober

11thOctober

11thOctober

 

September 19,2021

อุบลฯเตรียมป้องกันน้ำท่วม รุดวางแผนรับมือพายุลูกใหม่

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รุดดูสถานการณ์น้ำภาคอีสาน พร้อมวางแผนรับมือพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าสู่ไทยปลายเดือนกันยายนนี้

เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๔ ที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล แล้วบริหารจัดการลุ่มน้ำ เพื่อวางแผนป้องกันน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ให้เกิดเหมือนครั้งพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ทำให้เกิดน้ำท่วมใหม่เมื่อปี ๒๕๖๒ เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจุดรวมน้ำของลำน้ำต่างๆ ในภาคอีสานทั้งหมด แม้พายุโกนเซินจะสลายตัวไปแล้ว แต่ด้วยความห่วงใยของ พล.อ.ประวิตร จึงให้มาเตรียมป้องกัน โดยกรมชลประทานจะกระจายเครื่องสูบน้ำเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงตามลุ่มน้ำทั้ง ๑๗ จุดของจังหวัด หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น ก็ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้บริหารเหตุการณ์ โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในปี ๒๕๖๔

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงการเตรียมบริหารจัดการจราจรในลุ่มน้ำชีและมูลในฤดูฝนนี้ ไว้ ๒ กรณี คือ กรณีเกิดน้ำหลากในลุ่มน้ำยังตอนล่าง เขื่อนยโสธร จะเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่มจากปกติ ๑-๒ เท่า ของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำแม่น้ำชีที่ อ.ทุ่งเขาหลวง กับสถานีวัดน้ำแม่น้ำยัง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยจะไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย และลำน้ำมูล แต่หากเกิดกับแม่น้ำชีตอนล่าง และแม่น้ำมูล มีปริมาณน้ำมาก เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนของแม่น้ำชีทั้ง ๔ เขื่อน จะลดการระบายเพื่อหน่วงชะลอน้ำ ช่วยแม่น้ำชีตอนล่างและแม่น้ำมูลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง

ขณะนี้ แม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 ยังถือว่ายังปกติมีน้ำครึ่งหนึ่งของลำน้ำ (ต่ำกว่าตลิ่ง ๓ เมตรเศษ) ที่รองรับได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีสัญญาณช่วงปลายเดือนกันยายนจะมีพายุเข้ามาอีกครั้ง แม้ในช่วง ๑๐ วันนี้ฝนได้เริ่มเบาลงแล้ว แต่การประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปลายเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีพายุเข้ามาอีก แต่ก็สามารถปรับแผนรองรับได้

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้แม่น้ำทุกสายมีอัตราการขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะแม่น้ำโขงขึ้นเร็ว ๑-๒ เมตร ส่วนท้ายเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น จากฝนที่ตกท้ายเขื่อนสูงถึง ๒ เมตร แต่เป็นการขึ้นชั่วคราว เมื่อปริมาณฝนเบาลงจะทำให้แม่น้ำทั้งหมดทรงตัว เพราะฝนที่ตกขณะนี้ เป็นฝนจากร่องความกดอากาศต่ำ ไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของพายุโดยตรง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๖ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


56 1,568