29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 01,2021

ศาลฎีกาจำคุกสวนเมืองพร ขู่ฟ้องอ้างไม่ยุติธรรม

“เฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ” เจ้าของร้านสวนเมืองพร ตั้งโต๊ะแถลงครั้งแรกหลังพ้นคุก อ้างคดีรุกป่าสงวนแห่งชาติ ที่เขายายเที่ยง ผิดปกติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถาม ‘ติดคุกได้อย่างไร’ ล่าสุดเตรียมฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากกรมธนารักษ์ เพราะเป็นผู้ให้เช่าที่ดิน ลั่นถ้าผิดหวังอีก ‘จะขอทรยศแผ่นดินเกิด ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ’


ศาลฎีกาตัดสินบุกรุกป่าสงวน

ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เคยนำเสนอข่าว (ฉบับที่ ๒๔๙๙ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖-๓๐ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๑) กรณีที่คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๖๐๖๐/ ๒๕๕๗ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตัดสินจำคุก นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ ๘ ปี เจ้าของสวนอาหารสวนเมืองพร ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขายายเที่ยง บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ทั้งหมด ๓๖ ไร่ ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์โซนซี ลุ่มน้ำชั้น ๒ บี ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร คิดเป็นค่าเสียหายในการทำลายป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน ๑๑,๔๒๔,๖๐๐ บาท เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี ๒๕๔๓ มีประชาชนร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สีคิ้ว ว่า ร้านอาหารสวนเมืองพรตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และส่งเรื่องไปยังกรมป่าไม้ ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จึงได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า สวนเมืองพรตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจริง บริเวณป่าเขาเตียนและป่าเขาเขื่อนลั่น ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นเพื่อเข้าค้นภายในสวนเมืองพร โดยนายเฉลิมเกียรติได้ให้การว่า ซื้อที่ดินแห่งนี้มาจากนายเมืองและนางพร ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ แต่กลับไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ มาแสดง นอกจากแบบคำขอเช่าที่ดินราชพัสดุ ที่นายเฉลิมเกียรติแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุญาตให้เช่า เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จึงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สีคิ้ว โดยตั้งข้อกล่าวหา “บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” นั้น

อ้างซื้อที่ดินจากนายเมือง-นางพร

โดยจากการคำพิพากษาของศาลฎีกาทราบว่า ปี ๒๕๓๑ นายเฉลิมเกียรติให้การว่า ได้ซื้อที่ดินจากนายเมืองกับนางพรและชาวบ้าน โดยตกลงซื้อขายกันด้วยปากเปล่า เนื้อที่โดยรวมประมาณ ๑๐๐ ไร่ เพื่อสร้างบ้านและทำการเกษตร ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตรวจสอบข้อมูลในปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ และปี ๒๕๒๘ ก็ไม่พบว่านายเมืองและนางพรมีตัวตน เป็นผู้ครอบครองแต่อย่างใด แต่ในปี ๒๕๓๗ นายเฉลิมเกียรติได้ศึกษาทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ๓๖ ไร่ ในปี ๒๕๔๑ นายเฉลิมเกียรติ เจ้าของสวนเมืองพรจึงยื่นเรื่องขอเช่าที่ราชพัสดุ แต่ทางกรมธนารักษ์ไม่ได้ดำเนินการทำสัญญาเช่าให้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกรมธนารักษ์และกรมป่าไม้ นายเฉลิมเกียรติจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ทางราชการทำสัญญาเช่าให้ ซึ่งเป็นผลให้กรมธนารักษ์ต้องออกสัญญาเช่าให้นายเฉลิมเกียรติตามคำสั่งศาล

ทั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติได้เข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าวหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ดังนั้นเมื่อนายเฉลิมเกียรติเข้าครอบครองพื้นที่หลังวันประกาศสงวนหวงห้าม เป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมายครั้งแรก และยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้ในทันที กรมป่าไม้จึงได้ผ่อนผันให้อยู่ไปก่อน ซึ่งต้องอยู่ในเงื่อนไขให้ควบคุมขอบเขตพื้นที่ มิให้ขยายเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และในระหว่างรอการเคลื่อนย้าย ให้จัดระเบียบที่อยู่อาศัยหรือทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพเท่านั้น แต่นายเฉลิมเกียรติได้ขยายพื้นที่การบุกรุกเพิ่มเติม และทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดร้านอาหาร และจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม รวมทั้งสร้างที่พัก และจัดเป็นสถานบริการการท่องเที่ยว รวมถึงตัดต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งขัดต่อมาตรการและแนวทางการผ่อนผันที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ที่มุ่งแก้ปัญหาและเยียวยาราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ยากไร้และเข้าอยู่อาศัยและทำกินก่อนประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสำคัญ แต่นายเฉลิมเกียรติเข้ายึดถือครอบครองเพื่อมุ่งประโยชน์ทางการค้า และเข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าว หลังจากมีมติ ครม.วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ แล้ว

ไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ

ในคำพิพากษาศาลฎีการะบุอีกว่า พฤติการณ์ของนายเฉลิมเกียรติจึงเป็นการฉวยโอกาสโดยแอบอ้างมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ และ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เพื่อเช่าที่ดินดังกล่าวเท่านั้น จึงต้องวินิจฉัยไปต่อว่า ที่เกิดเหตุเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งได้ข้อยุติว่า นายอำเภอจันทึกได้สงวนที่ดินในท้องที่ตำบลลาดบัวขาว เพื่อเตรียมดำเนินการทำเป็นทัณฑนิคมคลองไผ่ โดยใช้เนื้อที่ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ ๒๐๕ ถึง ๒๐๙ ตามแนวทางรถไฟ ส่วนใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือของถนนมิตรภาพ มีส่วนน้อยอยู่ด้านทิศใต้ของถนนมิตรภาพคือบริเวณป่าเขาเตียนป่าเขาเขื่อนลั่น ซึ่งส่วนนี้ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น และที่ดินส่วนนี้กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิม ซึ่งตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังต่อไปนี้ ๑.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน ๒.อสังหาริมทรัพย์สำหรับสำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ เมื่อ “สวนเมืองพร” เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่กรมราชทัณฑ์สงวนไว้เพื่อเตรียมดำเนินการทำทัณฑนิคมคลองไผ่ แต่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ ที่เกิดเหตุจึงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ นอกจากนี้สวนเมืองพรยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น และไม่ปรากฏว่ามีการกันพื้นที่ดังกล่าวหรือที่ดินที่กรมราชทัณฑ์สงวนไว้ตามประกาศของนายอำเภอจันทึกออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใด กรมธนารักษ์จึงไม่มีอำนาจในการให้นายเฉลิมเกียรติเช่าที่ดินดังกล่าว

ทั้งนี้ ลำดับเหตุการณ์ได้ว่า ในปี ๒๕๔๔ นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้จับกุมในข้อหาบุกรุกป่าสงวน แต่นายเฉลิมเกียรติให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วว่า มีความผิดได้ตัดสินจำคุก ๑๐ ปี ก่อนที่นายเฉลิมเกียรติจะยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก ๔ ปี ต่อมาปี ๒๕๕๗ ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำคุกทั้งหมด ๘ ปี เป็นผลให้คดีสิ้นสุดลง ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวแล้วนั้น

อ้างติดคุกได้อย่างไร?

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่โรงแรมโคราชโฮเต็ล นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ หรือเล็ก อายุ ๗๖ ปี อดีตผู้ต้องราชทัณฑ์ในคดีอาญา ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งศาลฎีกาตัดสินจำคุก ๘ ปี ในคดีที่ ๑๖๐๖๐/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ซึ่งขณะนี้ได้พักการลงโทษปล่อยตัวคุมประพฤติ โดยได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อปี ๒๕๖๒ จัดแถลงข่าวเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าจะผิดปกติในคดีสวนเมืองพร โดยมีนายพีรพล หล้าวงษา ทนายความ เข้าร่วมด้วย และนายอรรถเดช สรสุชาติ ทำหน้าที่พิธีกร พร้อมเอกสารที่จัดทำขึ้นระบุว่า “เช่าที่ดินราชพัสดุ (กรมธนารักษ์) ผ่านมาแล้วกว่า ๒๐ ปี ไม่เคยผิดสัญญา สุดท้ายที่ดินเช่ากลายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หลังต่อสู้คดีที่ยาวนานถึง ๑๖ ปี”

นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ แถลงว่า “การจัดแถลงข่าวในวันนี้ เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าจะผิดปกติในคดี เนื่องจากที่ดินพิพาทมูลเหตุของคดี ผมทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จำนวน ๓๖ ไร่ ๖๕.๖ ตารางวา เช่าตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ โดยแบ่งสัญญาออกเป็น ๕ สัญญา ได้แก่ ๑.เพื่อการเกษตร ๒ สัญญา ๒.เพื่ออยู่อาศัย ๒ สัญญา และ ๓.เพื่อประโยชน์อย่างอื่น ๑ สัญญา โดยสิ่งผิดปกติ คือ ที่ดินที่เช่าเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เช่าจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ชำระค่าเช่าต่อเนื่องตามสัญญา เช่นเดียวกับราษฏรอีกกว่า ๓๐๐ ครอบครัว โดยมีระยะเวลาเช่าและอยู่อาศัยรวมกว่า ๒๐ ปี ไม่เคยผิดสัญญาและไม่เคยล่วงล้ำเกินไปจากสิทธิตามสัญญา แต่ทำไมต้องติดคุก หรือว่านี่เป็นการเช่าคุกจากกรมราชทัณฑ์ และในคดีนี้ใครคือผู้บุกรุกป่าสงวนตัวจริง ระหว่างผมและกรมธนารักษ์ แล้วทำไมผมจึงถูกเลือกปฏิบัติแต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่เป็นคู่สัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเจตนากระทำความผิด และต่อไปนี้ คดีนี้จะต้องเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีในกรณีเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำนิติกรรมกับภาครัฐ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะกรณีกับกรมธนารักษ์ คำถามหลังจากที่ผมพ้นโทษมาแล้ว คือ ผมติดคุกได้อย่างไร”

ย้อนอดีตคดีรุกป่าสงวน

นายเฉลิมเกียรติ อ้างรายละเอียดคดีว่า “เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๗ ศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุกผม ๑๐ ปี ในข้อหารุกป่าสงวนแห่งชาติจึงยื่นอุทธรณ์ขอให้ตัดสินปล่อยตัวและขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ ๕๐๐,๐๐๐ บาท และระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้กรมธนารักษ์ทำสัญญาเช่าตามที่ได้ยื่นคำร้องไว้ แต่ศาลปกครองไม่รับคำร้อง จึงยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด ต่อมาวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ในขณะนั้น) พิจารณาและดำเนินการตามคำขอเช่าที่ดินของผมกับกรมธนารักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี ๒๕๓๙ แยกการทำสัญญาตามวัตถุประสงค์ได้ ๕ ฉบับและได้ยื่นเป็นเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง (เพื่อการเกษตร ๒ สัญญา, เพื่ออยู่อาศัย ๒ สัญญา และเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ๑ สัญญา )”

“จากนั้น เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก ๔ ปี โดยไม่พิจารณารายละเอียดสัญญาเช่า ผมจึงยื่นฎีกา เพื่อขอให้ตัดสินปล่อยตัวพร้อมขอประกันตัวด้วยวงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท และต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก ๘ ปี โดยไม่พิจารณาสัญญาเช่าเช่นกัน ผมจึงตกเป็นนักโทษเด็ดขาด เข้าสู่เรือนจำทันที ขณะถูกคุมขังได้ดำเนินการขอ รื้อฟื้นคดีต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พร้อมหลักฐานพยานใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชั้นพิจารณา เพื่อขอให้ตัดสินปล่อยตัวเช่นเดิม ต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ รับรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณา เพราะเชื่อว่าหลักฐานพยานที่ยื่นใหม่น่าจะเปลี่ยนแปลงผลคดี จึงได้รับการประกันตัวอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นนักโทษแล้ว ด้วยวงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท และเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ ศาลชั้นต้นเริ่มการไต่สวนหลักฐานพยานใหม่ แล้วสรุปสำนวนทำความเห็นส่งศาลฎีกา แต่ในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ศาลฎีกาพิพากษายกคำร้อง”

นายเฉลิมเกียรติ เล่าอีกว่า “สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ซึ่งในขณะนั้นนายพงศ์พโยม วาศภูติ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ (กรมธนารักษ์) ได้รับการขอเช่าที่ราชพัสดุของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๑ และพิจารณาเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย ซึ่งยังไม่มีข้อยุติว่า จะใช้กฎหมายฉบับใดบังคับ จึงไม่พิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดี กับทั้งไม่แจ้งเหตุผลของการไม่พิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดี เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการแก้ไขหลักฐานประกอบคำขอให้ถูกต้อง ทั้งที่ในระยะเวลาต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ก็ได้ทำสัญญาเช่าแก่ราษฎรอื่นๆ ในที่ราชพัสดุแปลงเดียวกับผู้ฟ้องคดีขอเช่าไปแล้ว ประมาณ ๖๐ รายในขณะนั้น โดยไม่ได้ยกปัญหาการทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการขอเช่าที่ดินของราษฎรรายอื่นๆ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติหน้าที่แทนกรมธนารักษ์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ นอกจากเป็นการละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแล้ว ยังเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี เป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมาย พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ พิจารณาและมีคำสั่งตามคำขอเช่าที่ราชพัสดุแปลงพิพาทให้แล้วเสร็จ ภายในกำหนด ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด ทั้งหมดนี้คือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงเร่งรัดกรมธนารักษ์ให้ทำสัญญาให้ผม ๕ สัญญา”

ไม่ได้มโนไปเอง

“อีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า ผมไม่ได้มโนไปเอง คือ คำถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งระบุว่า ที่พิพาทแปลงนี้กรมป่าไม้กับกรมธนารักษ์ ยังต้องแย้งกันอยู่ว่า ใครมีอำนาจหน้าที่ดูแลที่ดินผืนนี้ กรมป่าไม้จะให้เช่าก็ไม่ได้ เพราะขัดมติ ครม. กรมธนารักษ์จะให้เช่าก็ไม่ได้ ศาลฎีกาตัดสินว่า ไม่มีอำนาจ หรือกรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจนำที่ดินแปลงนี้มาให้ราษฎรเช่า ซึ่งก่อนที่จะมีคำพิพากษานี้ ผมอยู่ในที่ดินนี้มากว่า ๒๐ ปีแล้ว ซึ่งในการประชุม ครม.ครั้งนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมป่าไม้ เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ไม่มีใครโต้แย้งกรณีกรมธนารักษ์ไม่มีอำนาจให้เช่า จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ฝ่าฝืนมติ ครม.ได้อย่างไร ด้วยผลของคำพิพากษา ทำให้ผมต้องกลับเข้าไปรับโทษในเรือนจำอีกครั้ง และครั้งนี้หมดโอกาสที่จะดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง ทั้งยังถูกขับไล่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ตามคำพิพากษาในคดีเดิม ผมจึงต้องฟ้องกรมธนารักษ์ต่อศาลปกครอง ฐานผิดสัญญาเช่า เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย น่าจะเป็นเงินไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาท เพราะสัญญาเช่านี้ เป็นสัญญาทางปกครอง ทั้งหมดนี้เป็นข้อความที่ผมกราบทูลในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ไม่ได้บิดเบือนใดๆ ประชาชนอย่างผมจะต้องทำอย่างไร กรมป่าไม้อ้างคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนกรมธนารักษ์อ้างมติ ครม.และคำพิพากษาศาลปกครองกลาง” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

ในกรณีนี้ นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ นำเอกสารมาแสดง โดยระบุว่า ได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ กราบทูลข้อเท็จจริง เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เป็นรายบุคคลใน ๒ เส้นทาง คือ เส้นทางที่ ๑ วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๑ ภริยาและบุตรเดินทางไปยื่นถวายฎีกาโดยตรงด้วยตนเอง ที่สำนักงานพระราชวัง และเส้นทางที่ ๒ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ นายเฉลิมเกียรติยื่นถวายฎีกาผ่านเรือนจำตามระเบียบและขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ แต่ฎีกาทั้ง ๒ เส้นทาง ความหวังเดียวที่รอคอยเกือบ ๒ ปีในเรือนจำ เงียบหายไปในเส้นทางปฏิบัติ ตามระบบราชการ โดยปราศจากกรอบเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ กระทั่งขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งว่า ผลเป็นอย่างไร

อ้างไม่มีเจตนาทำผิด

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า “ผมเป็นประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าใครมีหน้าที่อะไร อย่างน้อยน่าจะมองที่เจตนาการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรค ๓ ซึ่งข้อเท็จจริง คือ ผมไม่รู้ว่าที่ดินแปลงนี้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงทำให้ขาดเจตนาทำผิด แต่ศาลฎีกาก็ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เลย คงจะนับว่า ศาลฎีกาตัดสินอะไรย่อมถูกเสมอ แม้จะไม่เป็นธรรมก็ตาม และการขอรื้อฟื้นทุกคดี ไม่เคยได้รับการรื้อฟื้น ทำให้ผมต้องตกเป็นนักโทษในคดีกับกรมป่าไม้ แต่ยังต้องจ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ตามสัญญา โดยทั่วไปต้องรู้สึกว่า ผมไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะถูกกรมป่าไม้เอาโทษทางอาญาและยังถูกกรมธนารักษ์เอาค่าเช่า ทั้งที่เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แต่ผมก็ต้องยอมรับในกติกาบ้านเมือง”

หอบสัญญาเช่าเข้าคุก

“ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ผมได้ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ต่อศาลปกครองกลาง ในกรณีที่ทำผิดสัญญา เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายต่างๆ ซึ่งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ใช้เวลาเกือบ ๒ ปี ในการพิจารณา จากนั้นวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๓ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกคำร้อง โดยปฏิเสธการพิจารณาคดีด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่คดีทางปกครอง ผมจึงหมดหวังที่จะพึ่งพาหน่วยงานใดในประเทศไทย ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ชะล้างคราบสกปรกจากอำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม”

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวอีกว่า “คำถามในวันนี้ คือ ทำไมผมถึงติดคุก ทั้งที่มีสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง เหมือนกับอีก ๓๐๐ ครอบครัวในพื้นที่ แต่มีเพียงผมคนเดียวที่ถูกดำเนินการทางกฎหมาย การออกมาพูดวันนี้ทำให้รู้สึกโล่งใจ เพราะที่ผ่านมารู้สึกอึดอัดมานาน อยากจะเล่าความจริงให้ทุกคนได้รับรู้ว่า คดีนี้มีความผิดปกติ วันนี้จะไม่พูดถึงว่า คดีผิดหรือถูก แต่จะขอเน้นเรื่องกรมธนารักษ์ผิดสัญญากับผม เพราะมีสัญญาถูกต้องตามกฎหมาย จึงเกิดเป็นคำถามว่า ผมติดคุกได้อย่างไร ในขณะที่ผมไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิด โดยหลังจากวันนี้ ผมจะขอสู้ต่อ โดยฟ้องกรมธนารักษ์ในทางแพ่ง ถ้าผู้เช่าผิด แต่ผู้ให้เช่าไม่ผิดได้หรือไม่ เหมือนการนำของผิดกฎหมายมาให้เช่า ก็ต้องผิดทั้งคนเช่าและคนให้เช่า วันนี้จึงจะมาหาคำตอบในส่วนนี้ ซึ่งจะโยงไปถึงอดีตผู้ว่าฯ แน่นอน ซึ่งผมอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ และได้จ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์มาโดยตลอด ปีหนึ่งประมาณ ๓-๔ หมื่นบาท ในช่วงติดคุกก็ยังนำสัญญาทั้งหมดเข้าไปด้วย ไม่รู้ว่าเช่าคุกหรือเช่าที่ดินกันแน่ นี่คือความอัดอั้นที่มีมาตลอดระยะเวลาที่ถูกดำเนินคดี”

ไม่ขออยู่ไทยไปตายดาบหน้า

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวท้ายสุดว่า “จุดมุ่งหมายที่มาพูดในวันนี้ เพื่อให้เปิดเผยถึงการผิดสัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ จะว่าอย่างไร ผมทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เรียกฝ่ายกรมธนารักษ์และกรมป่าไม้ มานั่งพูดคุยถึงข้อเท็จจริง ขณะนี้ผมได้เปิดเผยข้อมูลก็รู้สึกโล่งแล้ว และจะคอยติดตามว่า เรื่องจะดำเนินไปถึงไหน ซึ่งในความรู้สึก คือ กฎหมายไม่เป็นธรรม ตราชูเอียง เมื่อกฎหมายมีความอยุติธรรมเกิดขึ้น แล้วผมไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมทิ้งไปเฉยๆ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร วันนี้มาเปิดเผยแล้ว ถ้าเรื่องดำเนินการต่อไม่ได้ก็จะยอมรับ ผมสู้ในวันนี้เพื่อหาความเป็นธรรมให้กับตัวเอง ถ้าผิดหวัง ไม่สามารถหาความเป็นธรรมได้ จะยอมทรยศต่อแผ่นดินเกิด ไปตายเอาดาบหน้า ขอย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เพราะผมอยู่เมืองไทยไม่ได้ ถ้ายังมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานเราในอนาคตอีก ธุรกิจผมที่ทำอยู๋ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ผมสามารถขายกิจการแล้วให้เงินลูกหลานย้ายไปสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ แต่ตัวผมจะไปรอดหรือไม่ ไม่รู้ เพราะขณะนี้อายุ ๗๖ ปีแล้ว”

กลัวนักข่าวสับสน

เมื่อ “โคราชคนอีสาน” ถามว่า “จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตรวจสอบข้อมูลในปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ และปี ๒๕๒๘ ไม่พบว่า นายเมืองและนางพรมีตัวตนเป็นผู้ครอบครองที่ดินแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร” นายเฉลิมเกียรติ ตอบว่า “วันนี้ไม่อยากลงลึกข้อมูลในส่วนนั้น เดี๋ยวผู้สื่อข่าวจะสับสนข้อมูล”

เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหาย

เมื่อถามว่า “ในการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย ขณะนี้มีการดำเนินการหรือยัง” นายเฉลิมเกียรติ ตอบว่า “ตอนแรกผมคิดว่า หากยื่นให้ศาลปกครองพิจารณา แล้วศาลไม่รับ อาจจะหยุดดำเนินการต่อ แต่มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ต้องสู้ต่อ สวนเมืองพรที่สูญเสียไปได้ยกให้ลูกชาย เมื่อให้เขาไปแล้วอยู่ๆ สิ่งนั้นหายไป ผมจึงจะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ จะต้องนำสิ่งนี้กลับมาให้ลูกชาย โดยจะขอฟ้องทางแพ่ง ในเมื่อศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง ก็จะฟ้องทางแพ่งต่อ ขณะนี้กำลังให้ทนายรวบรวมข้อมูลส่งฟ้อง และจะยื่นฟ้องเร็วๆ นี้ เมื่อยื่นฟ้องไปแล้ว ทุกอย่างจะกลายเป็นประเด็นทันที โดยครั้งนี้จะฟ้องคู่สัญญา คือ กรมธนารักษ์ ผมมีความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีฝ่ายกรมธนารักษ์ จะกลายเป็นผู้พูดข้อมูลแทนผมทั้งหมด คงไม่มีใครยอมรับแน่นอนว่า สัญญาฉบับนั้นออกโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยการฟ้องนี้สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เพียงสิ่งปลูกสร้าง ส่วนค่าเสียหายโอกาสทางสังคมหรือธุรกิจเสียหาย ยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องหาที่มาที่ไปของค่าเสียหายก่อน จึงจะรวบรวมฟ้องทั้งหมด หากผมไม่ถูกคุมขัง ผมอาจจะมีทรัพย์สินในขณะนี้ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ในระหว่างมีคดี ผมไม่สามารถกู้เงินได้ แต่ก็ยังดำเนินธุรกิจไปได้โดยตลอด”

อยากล้างตัวเองให้สะอาด

เมื่อถามว่า “คดีนี้มีความผิดปกติอย่างไร” นายเฉลิมเกียรติ ตอบว่า เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้ว เราในฐานะคนไทยต้องยอมรับในคำพิพากษา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม การที่ออกมาพูดในวันนี้ เพื่อล้างตัวเองให้สะอาดว่า ไม่ได้กระทำความผิด ต้องการความยุติธรรม ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ขอให้เป็นเรื่องในอนาคต”

ขอรับการชดเชยและเยียวยา

ทั้งนี้ ในเอกสารที่นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ นำมาแสดงระบุอีกว่า หากผลประจักษ์ชัดยืนยันถึงความผิดพลาด ในกระบวนการยุติธรรม และการผิดสัญญาของกรมธนารักษ์ ข้าพเจ้าขอรับการชดเชยหรือเยียวยาในสิ่งที่ข้าพเจ้าควรได้รับตามกฎหมาย ได้แก่ ๑.คืนสิทธิสัญญาการเช่า ๒.ชดใช้คืนสิ่งก่อสร้างที่สูญเสียไปทั้งหมดจากการถูกรื้อถอนตามคำบังคับคดี เป็นเงิน ๔๓.๖๓๓ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามหลักฐานที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ๓.ค่าเสียหายที่อาจต้องชดใช้ให้แก่กรมป่าไม้ตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้ด้วยแล้ว เป็นเงิน ๔,๔๔๓,๓๒๐.๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ๔.การขาดโอกาสทางธุรกิจหมดเครดิตทางการเงิน ๕.การเสื่อเสียชื่อเสียงทางสังคม และ ๖.การขาดอิสระภาพ โดยถูกจองจำเป็นเวลาหลายปี และสิทธิมนุษยชนอันพึงมี หรือตามที่เห็นสมควร

นอกจากนี้ เอกสารยังระบุอีกว่า ด้วยลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิตในยามชรา ไม่ว่าจะใช้เวลานานสักเท่าใดก็ตาม ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนละสังขารไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มุ่งแสวงหาความเป็นธรรม ความหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิต จนกว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏและถูกยอมรับ ด้วยความตั้งใจที่จะล้างมลทินให้แก่ตนเองและตระกูล หากผลออกมาตรงข้ามกับข้อเท็จจริงอีก จะยอมถูกตราหน้าว่า ทรยศแผ่นดินเกิด โดยขอไปตายให้ร่างกายเป็นปุ๋ยในประเทศอื่น หมดสิ้นความหวังและความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง http://www.koratdaily.com/blog.php?id=7768


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๘ วันพุธที่ ๒๙ กันยายน - วันอังคารที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


984 1633