28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 25,2021

“สุรัชสานุ์ ทองมี” ผู้อำนวยการทีเส็บภาคอีสาน หัวเรือหลักขับเคลื่อน “ISAN MICE”

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หรือ TCEB ผู้ขับเคลื่อนการจัดประชุม สัมมนา นิทรรศการ และงานแสดงสินค้า ที่สำคัญ TCEB คือ องค์กรที่เป็นผู้รับรองเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ให้เป็น MICE City ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด ๑๐ เมือง โดยในภาคอีสานมี ๓ เมือง ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา (โคราช) และอุดรธานี ซึ่งการขับเคลื่อน TCEB และ MICE City ในภาคอีสานจะทำไม่ได้เลย หากขาดคนนี้ “สุรัชสานุ์ ทองมี” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคอีสาน ซึ่งเป็นหัวเรือผลักในการผลัดดันกิจกรรมและงานต่างๆ ในภาคอีสาน ให้ออกสู่สายตานานาชาติ ซึ่ง “โคราชคนอีสาน” ได้มีโอกาสสนทนาถึงบทบาทต่างๆ

“สุรัชสานุ์ ทองมี” เล่าถึงหน้าที่หลักของ TCEB ว่า เป็นองค์กรของรัฐ เริ่มแรกดำเนินงานอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องออกไปสร้างเครือข่ายและดึงงานประชุม สัมมนา และนิทรรศการขนาดใหญ่ เข้ามาสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ด้วยชื่อย่อภาษาไทยว่า สสปน. ทำให้ต่างประเทศเรียกชื่อไม่ถูก จึงเกิดชื่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB (ทีเส็บ) หน้าที่หลัก คือ การส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และยกระดับให้การจัดประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า และงานเทศกาลในพื้นที่ประเทศไทย ให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ คือ พันธกิจหลักๆ ที่ TCEB ทำ แต่ในช่วงที่มีโควิด-๑๙ ระบาด มีการปรับตัว หันมาส่งเสริมพื้นที่หัวเมืองหลักในประเทศ โดยเฉพาะเมืองที่เป็น MICE City ให้จัดงานของตัวเอง และยกระดับพัฒนาสถานประกอบการและบุคลากร ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

  • จุดเริ่มต้นของ TCEB

การก่อตั้ง TCEB เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และรัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า การท่องเที่ยวของไทย มีศักยภาพและชื่อเสียงมากอยู่แล้ว แต่บริษัทขนาดใหญ่ๆ ไม่ได้ต้องการให้พนักงานมาท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องการมาจัดประชุมองค์กร ทำธุรกิจ และขยายฐานการผลิตมาประเทศไทย จึงทำให้เกิดธุรกิจการจัดประชุม ช่วงนั้นจึงมีการจัดประชุมค่อนข้างมาก ซึ่งการประชุมขนาดใหญ่ เช่น การประชุมเอเปค หรือของบริษัทแอมเวย์มาครั้งละ ๒-๓ หมื่นคนจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงเห็นว่า จำนวนคนกลุ่มนี้มีค่อนข้างมาก และทุกคนเป็นนักธุรกิจที่มีคุณภาพ ไม่ใช่มาเพื่อท่องเที่ยวทั่วไป มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย เพราะบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทั้งประชุมและท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะกินดีอยู่ดี จึงถูกเรียกว่า นักเดินทางธุรกิจที่มีคุณภาพ เมื่อเห็นโอกาสนี้จึงทำเรื่องเชิญให้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อมาจัดประชุม ท่องเที่ยว และจัดงานขนาดใหญ่ ประกอบกับมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมขึ้น ทำให้มีงานแสดงสินค้ามากขึ้น รัฐบาลจึงแยกองค์การมหาชนออกมา เพื่อดำเนินการเรื่องการประชาสัมพันธ์ว่า ประเทศไทยพร้อมรองรับนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ และมีเป้าหมายนำคนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

  • MICE คืออะไร

สำหรับธุรกิจ MICE มาจากตัวย่อ M : Meetings คือ การจัดประชุมองค์กร เช่น โตโยต้า ที่มี Headquarter อยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อใดก็ตามที่ออกไปจัดประชุมต่างจังหวัด ปีละประมาณ ๒-๓ ครั้ง โดยอาจจะมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวหรือการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เมื่อไหร่ก็ตามที่องค์กรออกไปจัดประชุมนอกสถานที่ จะเข้าข่ายเป็น M : Meetings ซึ่งจะแตกต่างกับการท่องเที่ยวอย่างเดียว เพราะวัตถุประสงค์จริงๆ คือ การประชุมนอกสถานที่ เพื่อธุรกิจ I : Incentives Travel คือ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เช่น องค์กรหนึ่งมีการแข่งขันด้านยอดขายของเซลล์หากตั้งเป้าไว้สูง หากเซลล์สามารถขายได้ตามเป้า องค์กรก็จะให้รางวัล ซึ่งรางวัลจะเป็นการท่องเที่ยวจะแฝงเรื่องธุรกิจด้วยเสมอ C : Conventions การประชุมวิชาชีพหรือการประชุมวิชาการขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ แลกเปลี่ยน อภิปราย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรวิชาชีพเดียวกัน เช่น สมาคมหมอฟัน ที่มีสมาชิกจากทั่วโลก รวมตัวกันเพื่อจัดประชุมที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง จากนั้นอาจจะหมุนเวียนสถานที่จัดประชุมไปในประเทศต่างๆ ตามที่สมาคมมีสมาชิกอยู่ในประเทศใดบ้าง สมมุติมาจัดที่ประเทศไทย องค์ความรู้ก็จะถูกถ่ายทอดสู่พื้นที่จัดงานด้วย ซึ่งการประชุมอาจจะเป็นเชิงธุรกิจที่ต่อยอดไปสู่องค์ความรู้มีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และ E : Exhibitions และ Event คือ งานแสดงสินค้า นวัตกรรม ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และงานเทศกาลประจำท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีเทศกาลมากมายที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่ดีงาม ในต่างประเทศนำเทศกาลประจำท้องถิ่นขึ้นมาเป็นสินค้าขาย เพื่อให้คนจากต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งประเทศไทยต้องยกระดับให้เป็นเมกะอีเว้นท์ให้ได้ เมื่อนึกถึงเทศกาลนี้ก็ต้องนึกถึงประเทศไทย เพื่อช่วยให้เกิดการเดินทางเข้าพื้นที่ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

  • เป้าหมายการเป็น MICE City 

เมื่อ ๕ ปีก่อน ประเทศไทยมีเมืองไมซ์เพียง ๕ แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา และภูเก็ต เมื่อเราขับเคลื่อนเมืองไมซ์เหล่านี้ จะพบว่า แต่ละเมืองมีความพิเศษไม่เหมือนกัน ในการเป็นเมืองไมซ์ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่อยอดกระทั่งทำกิจกรรมในชุมชน จึงทำให้เห็นชัดว่า ความกินดีอยู่ดีหลังจากเป็นเมืองไมซ์นั้นดีขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่า การเป็นเมืองไมซ์ประจำภูมิภาคเพียงแห่งเดียวนั้นเพียงพอหรือไม่ TCEB จึงศึกษาว่า ยังมีจังหวัดอื่นที่พร้อมรองรับการจัดประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าขนาดใหญ่ จึงพบเมืองที่มีศักยภาพเป็นเมืองไมซ์อีกพอสมควร จึงเริ่มผลักดันในแต่ละจังหวัดที่ศึกษาว่า มีความพร้อมหรือไม่ แต่การจะเป็นเมืองไมซ์ได้นั้น จะมีเกณฑ์กำหนดอยู่ ๘ ข้อใหญ่ ได้แก่ ๑.ความสะดวกในการเข้าสู่พื้นที่ และสถานที่จัดงาน เพราะการเป็นเมืองไมซ์ต้องเดินทางสะดวก ๒.การสนับสนุนจากเมืองเจ้าภาพ หากจัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่แล้ว หน่วยงานในเมืองนั้นไม่สนใจ เอกชนไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะทำให้จัดงานไม่ได้ ดังนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนการจัดงานในเมืองไมซ์ ๓.กิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจัดประชุม เช่น มีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวมีความปลอดภัย และร้านอาหารมีคุณภาพ ๔.ที่พักและจุดอำนวยความสะดวก ถ้าเป็นงานระดับโลก มีชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ที่พักต้องมีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีมาตรฐาน ๕.สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่จัดงาน เช่น ห้องประชุมมีสภาพอย่างไร ระบบเสียงดีหรือไม่ การจัดงานมีคนช่วยเหลืออย่างไร และสถานที่มีความพร้อมอย่างไร ๖.ภาพลักษณ์และความมีชื่อเสียงของเมือง เมื่อเอ่ยชื่อเมืองนี้แล้ว นักเดินทางรู้จักทันที แต่ถ้าเอ่ยชื่อแล้วไม่เคยรู้จักเลย ไม่รู้ว่าอยู่จุดไหนของโลกถือว่าไม่ผ่าน ๗.สภาพแวดล้อมของเมือง เช่น สภาพอากาศ ความมั่นคงทางการเมือง สมมุติว่า เมืองนั้นมีการก่อจลาจล ก็จะไม่มีใครต้องการมาจัดงาน หรือสภาพอากาศมีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ก็จะไม่มีใครต้องการมาเสี่ยง ดังนั้นสภาพแวดล้อมต้องเอื้อด้วย และ ๘.ความเสี่ยงในการยกเลิกจัดงานและความปลอดภัยในพื้นที่ อย่าลืมว่า ผู้ที่มาประชุมส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ดังนั้นความเสี่ยงจะต้องน้อยที่สุด และความปลอดภัยจะต้องมากที่สุด 

หากจังหวัดใดมีความพร้อมครบทั้ง ๘ ด้าน TCEB ก็จะลงไปให้ทำการประเมินตนเองตามเกณฑ์ ๘ ข้อใหญ่ และ ๔๗ ข้อย่อย จะต้องมีหลักฐานยืนยันประกอบการประเมิน จากนั้น จึงนำมายื่นที่ TCEB ว่า ประเมินตัวเองแล้ว และมีความพร้อมหรือไม่พร้อมอย่างไร จากนั้น TCEB จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลงไปประเมิน ส่วนระยะเวลาการประเมินก็แล้วแต่จังหวัด บางจังหวัดใช้เวลาหลายปี แต่ถ้าจังหวัดไหนรวบรวมข้อมูลได้รวดเร็ว และผู้นำขับเคลื่อนจริงจังก็จะประเมินได้รวดเร็ว ดังนั้น ขณะนี้ TCEB จึงมี ๑๐ เมืองไมซ์แล้ว

  • ประโยชน์จากการเป็น MICE City

แน่นอนว่า เมื่อมีการจัดงานเกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ จะต้องมีผู้เดินทางจากต่างถิ่นเข้าไปในเมืองนั้นๆ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย อย่างที่บอกว่า นักธุรกิจไมซ์จะกินดี อยู่ดี มีเงินสนับสนุนจำนวนมาก และเป็นนักเดินทางที่มีคุณภาพ ซึ่งสินค้าในพื้นที่ ที่เป็นสินค้าประจำถิ่นจะขายดี เพราะนักเดินทางกลุ่มนี้ชอบมาก ทำให้ทุกๆ ปีนักเดินทางกลุ่มไมซ์จะช้อปสินค้าประจำถิ่นกลับไปเสมอ เพราะชื่นชอบในความเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นนั้นๆ ซึ่ง TCEB มีโครงการไมซ์เพื่อชุมชน โดยจะทำเส้นทางต่อยอดหลังการประชุม เพราะหลายคนมาประชุมแล้วไม่รู้จะไปไหนต่อ หรือที่เรียกว่า เส้นทางสายไมซ์ ให้เชื่อมโยงกับการจัดประชุมกับชุมชนต่างๆ ที่ได้มาตรฐานของ TCEB ซึ่งชุมชนจะได้ขายของ ได้แสดงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ นอกจากนี้ สินค้าชุมชนที่มีอยู่แล้ว จะถูกนำมาต่อยอดให้เป็น MICE Product Premium พร้อมกับเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้ขายสินค้าได้

  • ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลจะได้รับประโยชน์อย่างไร

เรื่องนี้ตอบค่อนข้างยากพอสมควร เพราะถ้าไม่ได้ทำเส้นทางไปถึงแหล่งเหล่านี้ ก็จะทำให้นักเดินทางธุรกิจไมซ์เข้าไปไม่ถึง ซึ่งนักธุรกิจกลุ่มนี้มีเวลาในการลงพื้นที่ไม่มาก แต่เมื่อมีเวลาไม่มาก แล้วยังมีความสนใจ ต้องการกลับมาเยือน และมีความประทับใจเมื่อครั้งมาประชุมหรือสัมมนา โอกาสมากกว่าครึ่งที่จะเดินทางกลับมาเอง ในฐานะนักท่องเที่ยว และจะกลับมาพร้อมครอบครัว ซึ่งกลุ่มนี้จะกลับมาประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพราะยังหาประสบการณ์จากพื้นที่นั้นไม่พอหากพื้นที่ห่างไกลหรือชนบทสามารถส่งเสริมตัวเองว่า เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างกับชุมชนอื่นได้ ก็จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนมากขึ้น ซึ่งจะต้องโปรโมตตัวเองด้วย เรื่องนี้จะไปเกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจะต้องช่วยส่งเสริมและต่อยอดเช่นกัน

  • โคราชกับขอนแก่นเป็น MICE City ที่แตกต่างกันอย่างไร

ขอนแก่น เป็นเมืองไมซ์ที่เน้นเรื่องการประชุม เป็นศูนย์กลางของการประชุมภาครัฐและเอกชน จึงมุ่งที่จะเป็นเมืองจุดหมายปลายทางของการประชุมไมซ์ จากการจัดอันดับ ๑๐ เมืองในอาเซียน คือ ขอนแก่นเสนอการจัดประชุมวิชาชีพ การจัดประชุมต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ขอนแก่นจะใช้การจัดประชุมเป็นตัวหลัก ดังนั้น จุดเด่นจึงต่างกับโคราช แต่ถ้าพูดถึงโคราช วิสัยทัศน์ คือ “เมืองไมซ์มรดกโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว” เห็นภาพชัดๆ ในเรื่องของ Meetings และ Incentives Travel ซึ่งจุดเด่นด้านนี้ของโคราชมาแรงมาก นักเดินทางธุรกิจต่างชาติมีความสนใจโคราชอย่างมาก เมื่อคิดถึงโคราชจะคิดถึงเขาใหญ่ นึกถึงแหล่งท่องเที่ยว นึกถึงแหล่งโอโซน และนึกถึงโคราชจีโอพาร์ค แต่ TCEB ไม่ต้องการให้การเป็นเมืองไมซ์ของโคราช กระจุกตัวอยู่แค่เขาใหญ่ จึงพยายามส่งเสริมอำเภอเมืองให้สามารถรองรับการจัดประชุมที่ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ นอกจากนี้ TCEB กำลังขับเคลื่อนการจัดงานแสดงสินค้า เพราะโคราชเป็นศูนย์กลางการเกษตร มีโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันจำนวนมาก ทำไมไม่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงทำให้เริ่มมีงานแสดงสินค้าเกิดขึ้น โคราชมีสถานที่จัดแสดงสินค้า แต่ไม่ใช่สถานที่ที่เป็นมาตรฐานงานแลกเปลี่ยนแบบ Business to Business เพราะปกติจะจัดที่ห้างสรรพสินค้า  เช่น งาน Agro Fex ซึ่งสามารถผลักดันไปได้มากกว่านี้อีก เพราะงานนี้เป็นรูปแบบการแสดงเครื่องจักรกลทางการเกษตร แต่สถานที่ไม่สามารถนำสินค้าขึ้นไปจัดแสดงได้ ดังนั้น งานแสดงสินค้าส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์   เป็นงานแสดงสินค้าในลักษณะเบาๆ ส่วนอุตสาหกรรมหนักจะไปอยู่ที่ขอนแก่นเป็นส่วนใหญ่

  • ที่โคราชเป็นเมืองไมซ์มา ๑ ปี แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม

ในเบื้องต้นยังไม่เป็นปัญหา เพราะว่า การขับเคลื่อนเมืองไมซ์เป็นเรื่องของการบูรณาการ โคราชมีคณะกรรมการไมซ์ประจำจังหวัด แต่คณะกรรมการไมซ์มีองค์ความรู้ในการใช้ไมซ์ขับเคลื่อนหรือยัง อาจจะเป็นความแปลกใหม่ของพื้นที่ เช่น เวลาจะจัดประชุม ทุกคนก็มองหน้ากันว่า ใครจะจัด ใครจะเป็นเจ้าภาพ จะไปดึงงานประชุมเข้ามา จะไปดึงเรื่องอะไร หรือการจัดงานแสดงสินค้า ใครจะเป็นคนจัดงาน ซึ่งองค์ความรู้นี้ท้องถิ่นอาจจะยังไม่เข้าใจบริบทเชิงลึกของการใช้ไมซ์ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการตลาด ผ่านมา ๑ ปี โคราชอาจจะยัง ไม่เข้าใจ จึงต้องทำและศึกษาเรื่อยๆ ซึ่ง TCEB ก็จะช่วยดึงงานให้เรื่อยๆ ดังนั้นคณะกรรมการไมซ์ประจำจังหวัด จะต้องมีองค์ความรู้ในการใช้ไมซ์ขับเคลื่อนก่อน

ในขณะนี้ที่โคราชมีหน่วยงาน NCEC เป็นศูนย์กลางในการดำเนินการด้านการตลาดไมซ์มี ๒ แบบ คือ ๑.ยกระดับของเดิมให้เพิ่มขึ้นโดยใช้การตลาดเข้าช่วย และ ๒.การหากิจกรรมหรืองานมาลงในเมือง ซึ่งใช้การตลาดช่วยเหมือนกัน ดังนั้น การพัฒนาการตลาดเมืองไมซ์อาจจะต้องใช้เวลานาน ๓-๕ ปี ดังนั้น  การที่ยังไม่ได้ประโยชน์จากการเป็นเมืองไมซ์จึงไม่ใช่ปัญหา เพราะยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ จะเห็นว่ามีการจัดอบรมให้ความรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้โคราชทำได้ดีเลยทีเดียว

สำหรับภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือ จะต้องดูว่าคุณอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร แล้วอุตสาหกรรมของคุณมีการจัดประชุมหรือยัง เช่น หอการค้าจังหวัด เป็นองค์กรที่ส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ สมาชิกแต่ละคนเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องหาว่า หอการค้าจะส่งเสริมด้านใด ให้กับสมาชิก จะต้องดูว่าส่วนใหญ่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอะไร เช่น ด้านการเกษตร แม้แต่องค์กรอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ถ้าอยู่ในภาวะปกติ อาจจะจัดประชุม มีการเดินทางออกนอกสถานที่ ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับพื้นที่ที่กำลังจะไปด้วย ซึ่งทุกองค์กรอาจจะกำลังใช้ไมซ์อยู่ เพียงแต่ว่าไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

  • ผลกระทบช่วงโควิด-๑๙

ทุกเมืองไมซ์กระทบหมด เพราะธุรกิจไมซ์ คือ การรวมกันของกลุ่มคน ในช่วงที่โควิดระบาด ทำให้งานที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ประมาณร้อยละ ๙๐ ถูกยกเลิกทั้งหมด กระทบแรงมาก แต่ในภาคอีสานยังดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะภาคอีสานไม่ได้ใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวนำ ไม่เหมือนเชียงใหม่หรือภูเก็ต ที่ใช้การท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งภาคอีสานจะใช้ท่องเที่ยวและธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ แต่ในส่วนของการจัดประชุมหรือการดำเนินการธุรกิจซื้อขายของยังทำได้ สำหรับโคราชเมื่อถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ประกอบกับมาตรการจังหวัดห้ามรวมกลุ่มกันเกิน ๒๕ คน ทำให้การจัดประชุมหรือสัมมนาถูกลดขนาดลง จึงได้รับผลกระทบพอสมควร แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส เมื่อจัดประชุมรวมกลุ่มกันไม่ได้ คนก็หันมาจัดประชุมแบบออนไลน์ ทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมา เพราะทุกคนยังต้องประชุม บริษัทต่างๆ ยังต้องดำเนินการต่อไป สินค้าก็ยังต้องขาย เช่น งานแสดงสินค้าออนไลน์ ซึ่งการทำรูปแบบออนไลน์ ช่วยให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น เพราะสมัยที่ยังไม่มีโควิด เวลาจัดงานแสดงสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องขนสินค้าต่างๆ มาเพื่อออกบูธ ซึ่งบางครั้งอาจจะนำมาแสดงได้ไม่หมด แต่เมื่อเป็นออนไลน์ เพียงถ่ายรูปหรือวิดีโอก็สามารถทำให้เห็นตัวสินค้าได้หลากหลาย

  • การปรับตัวในยุคโควิดของธุรกิจไมซ์

TCEB ได้จัดทำคู่มือมาตรฐานการจัดงานไมซ์ให้มั่นใจและปลอดภัย ซึ่งเนื้อหาในคู่มือนั้น TCEB ร่วมจัดทำกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยจัดทำขึ้นมาเพื่อธุรกิจไมซ์โดยเฉพาะ เป็นการช่วยเหลือผู้จัดงานตามสถานที่ต่างๆ เพราะไมซ์ คือ ธุรกิจ ทำให้หยุดดำเนินการไม่ได้ แต่เราต้องขอความร่วมมือผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ให้ปฏิบัติตามมาตรการและคู่มือ ไม่ใช่จะรอพึ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ผู้จัดงานจะต้องเตรียมเครื่องมือให้พร้อม ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ และเครื่องมือตรวจหาเชื้อ ซึ่ง TCEB จะเข้าไปช่วยเหลือให้องค์ความรู้กับผู้จัดงาน เพื่อให้ปฏิบัติตามคู่มือต่อไป

  • การสนับสนุนจาก TCEB

สำหรับในพื้นที่ต่างๆ TCEB จะสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้เกิดการจัดงานไมซ์ แล้วถ้าใครต้องการจัดงานประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้า สามารถติดต่อที่ TCEB ประจำภูมิภาคได้เลย จากนั้นมานั่งคุยรายละเอียดกัน โดย TCEB จะสนับสนุนในรูปแบบ ของงบประมาณ ให้คำปรึกษา การต่อยอดเครือข่าย เพราะ TCEB มีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญ คือ องค์ความรู้ในการจัดงาน ซึ่งการจัดงานแต่ละครั้ง เนื่องจากมีการสนับสนุนงบประมาณ ดังนั้น คนจัดงานต้องมีข้อตกลงร่วมกันก่อนว่า วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย คืออะไร แล้วมีตัวชี้วัดอย่างไร ที่จะบ่งบอกว่า การจัดงาน ประสบความสำเร็จ สำหรับงานแสดงสินค้า จะมีที่ปรึกษาประเมินความสำเร็จลงพื้นที่ด้วย เพื่อเก็บข้อมูลตัวเลขผู้เข้าชมงานและ รายได้ จากนั้นจะส่งผลการประเมินกลับไปให้ผู้จัดงาน หากปีต่อไปจัดงานอีก ผู้จัดงานจะต้องขยับตัวชี้วัดขึ้น เพื่อให้มีธุรกิจเกิดมากขึ้น หรือมี Economic Impact (ผลกระทบทางเศรษฐกิจ) มากขึ้น ดังนั้นทุกการจัดงานจะมีการประเมินและตัวชี้วัดแน่นอน

  • ตั้งเป้าเป็น ISAN MICE

“ในปีหน้าและอีก ๕ ปีนับจากนี้ ภาคอีสานหรือที่เรียกว่า ISAN MICE จะเริ่มทำการตลาดเชิงรุก โดยในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ หากการเดินทางทำได้อย่างปลอดภัย เราจะทำการตลาด สร้างการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ในพื้นที่นอกภาคอีสาน เพื่อดึงความสนใจและงานให้เข้ามาในภาคอีสานมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากร ๓ เมืองไมซ์ของอีสานให้มีความรู้มากขึ้น และจะเริ่มยกระดับงานประจำถิ่น ภายใต้โครงการ Flagship Event ของ TCEB ภาคอีสาน ซึ่งเดิมทีดำเนินการมา ๒ ปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม โดยหลังจากนี้จะเริ่มยกระดับงานประจำถิ่นให้เป็นที่รู้จัก โดยผ่านการทำการตลาด เพื่อจะดึงคนจากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ตั้งใจไว้ เพราะต้องการจะนำอีสานไมซ์ออกสู่สายตาของนานาชาติให้ได้” นางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี เล่าในช่วงท้ายก่อนจบการสนทนา

วีรภัทร์ จูฑะพงษ์ : เรื่อง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


993 1631