17thMay

17thMay

17thMay

 

October 26,2021

“เศรษฐกิจอีสานหลังโควิด”

เป็นเวลาเกือบ​ ๒ ปีแล้วที่เราต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-๑๙​ นับเป็นมหันตภัย​ ที่สร้างผลกระทบไปในทุกด้าน

เศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน​   สำหรับภาคอีสานที่มีประชากร​มากถึง ๑ ใน​ ๓ ของประเทศ​ ได้รับผลกระทบด้านแรงงาน​มาก  ที่สุด เพราะรายได้ของภาค​มาจากการขายแรงงาน​ ขนาดเศรษฐกิจของภาคอีสานมีเพียง​ ๙% ของทั้งประเทศ หรือแค่​ ๑.๕​ ล้านล้านบาท​ รายได้ของคนอีสานมีเพียงปีละ​ ๘๔,๐๐๐ บาท​ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น​ สปป.ลาว​ เขามีถึง​ ๘๕,๐๐๐ บาท​

 ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน

๒๐​ จังหวัดของภาคอีสาน มี​ ๔ จังหวัดที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่​ที่สุด หรือ​ Big 4 ประกอบด้วย​ โคราช, ขอนแก่น, อุบล​ฯ และอุดรธานี

หลังโควิด​ เศรษฐกิจของอีสาน​ จะไปทางไหน? ต้องจับตาดู​ ๔ ทหารเสือ​ ที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประชากร​ ๒๐ ​ล้านคน

๑) ภาคอุตสาหกรรม​ มีสัดส่วนของระบบเศรษฐกิจ​ อยู่ที่ ​๑๙% ต่อ​ GDP​ มีกำลังผลิตสำคัญ​อยู่ที่โคราช​ แรงงานของภาค​รวมกันแล้วมีถึง​ ๙.๗ ล้านคน​ หลังโควิด​จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม​ รูปแบบ  การผลิต​ที่ใช้คนน้อยลง​ อุตสาหกรรมยานยนต์​จะเป็นระบบไฟฟ้าแทนระบบเก่า​ ทำให้  โรงงานต้องเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่หมด​ บางอุตสาหกรรมถือโอกาสย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน​ ที่มีแรงจูงใจด้านภาษีและค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย

๒) ภาคการเกษตร​ ยังถือว่ามีสัดส่วนต่อ​ GDP สูงสุดของภาค​ เรามีพืชเศรษฐกิจ  ที่สำคัญ​ เช่น​ ช้าว, มันสำปะหลัง, อ้อย ​และ ยางพารา​ รวมทั้งผลไม้บางชนิด​ ภาคเกษตร​  ยังมีมีปัญหาซ้ำซากกับเรื่ีองเดิมๆ​ ไม่ว่าความแห้งแล้ง​ ราคาผลผลิตที่ตกต่ำ​ และปุ๋ยมีราคา แพง​ ปีนี้มาเจอน้ำท่วมอีก​ ไร่นาบ่อปลาเสียหาย เป็นจำนวนมาก เกษตรกรแทบสิ้นเนื้อประดา ตัว​ หลังโควิด​ ลูกหลานที่เคยไปขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรม​ และงานบริการตกงานจากโควิด-๑๙​ กลับมาอยู่ที่บ้าน​ หลายคนเริ่มต้นด้วยการทำเกษตรกับครอบครัว​ ไม่หันหลังกลับไปใช้ชีวิตคนขายแรงในเมืองอีก​ นักศึกษาจบใหม่ก็เริ่มสนใจภาคเกษตรมากขึ้น​ เพราะการแข่งขันในเขตเมืองมีต้นทุนสูง​ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย

๓) ภาคพาณิชยกรรม​ในอีสานบูมมาก เนื่องจากเป็นภาคที่มีประชากร​มากที่สุด​ ธุรกิจค้าปลีกทุกค่ายมุ่งมายึดพื้นที่​ เฉพาะที่โคราช​ มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ถึง​ ๓ แห่ง​ มีเนื้อที่ให้บริการเกือบ​ ๑ ล้านตารางเมตร​ นี่คือสาเหตุที่ค้าปลีกท้องถิ่นต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก​ เพราะการแข่งขันสูง​ หลังโควิด รูปแแบบการค้าปลีกเปลี่ยนไปมาก​ จากเดิมที่ตั้งร้านคอยรับลูกค้า​ มาเป็นระบบไปหาลูกค้าถึงบ้าน​ และระบบออนไลน์ที่กำลังนิยมกันมาก​ ธุรกิจขนส่งถือเป็นโอกาสทอง​ คนรุ่นใหม่หันมาค้าขาย​ผ่านออนไลน์​ และประสบความสำเร็จสูงมาก​ เพราะตลาดมีขนาดใหญ่​ ย่านการค้าในอดีตกลายเป็นเพียงบ้านอยู่อาศัย​ ตัวอย่างเช่น​ ย่านถนนจอมพลโคราช วันนี้เงียบเหงา​ สะท้อนได้จากราคาซื้อขายอาคารพาณิชย์ที่มีราคาลดลง

๔) ภาคบริการและการท่องเที่ยว​ ถือว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก​ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังภาคอีสาน​ มีเพียง​ ๓% ของจำนวนทั้งหมด​ เมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ​แบบไม่มีการกักตัว​ เริ่มวันที่​ ๑ พฤศจิกายนนี้​ ภาคอีสานย่อมมีโอกาสนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและด้าน  วัฒนธรรมที่ชาวตะวันตกชื่นชอบกันมาก​  โคราชมีอุทยานไดโนเสาร์​ ขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน​ เนื้อที่เกือบ​ ๑,๐๐๐​ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง​ อยู่ระหว่างการพัฒนา​ นักท่อง เที่ยวจากจีน​ ที่เคยมาเที่ยวประเทศไทย ปีละ   กว่า​ ๑๐ ล้านคน​ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเมืองคุนหมิง​ ที่เข้ามาทาง​ สปป.ลาว​ ระยะทาง​ ๔๑๔ กิโลเมตร จะเปิดใช้บริการในวันที่​ ๒ ธันวาคมนี้​ ​นักท่องเที่ยวชาวจีน​ จะเดินทางเข้าสู่ไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น​ เสียดาย​ที่โครงการรถไฟความเร็วสูงของเรา ระหว่าง กทม.-โคราช​ ระยะทาง​ ๒๕๓ กิโลเมตรเพิ่งสร้างได้แค่​ ๓.๕ กิโลเมตรเท่านั้น​ และโครงการ​จากโคราช-หนองคาย​ อีก​ ๓๕๖​ กิโลเมตร​ คงต้อง  ใช้เวลาอีกนาน​ นี่คือการเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวของภาคอีสาน โรงแรมขนาดใหญ่ประกาศขายกิจการ​ อาจยังไม่ค่อยมั่นใจ​ หรือ  สายป่าน​ที่ยาวไม่พอ

หลังโควิด คงประมาณปี ๒๕๖๖ เศรษฐกิจของภาคอีสาน​ ถ้ามีการเตรียมความพร้อมที่ดี​ เราก็จะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ​ และมีเศรษฐกิจที่มั่นคง​ เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติ​ ทรัพยากรมนุษย์​ และยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน​ ที่มีการคมนาคมเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์​ วิกฤตฺ ครั้งนี้​ เราต้องพัฒนาเพื่อไปสู่โอกาสให้ได้

• ทวิสันต์ โลณานุรักษ์
ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๐ วันพุธที่ ๒๐ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 


767 1,388