29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 19,2021

พร้อมทะยานสู่อุทยานธรณีโลก จัดงานฟอสซิลเปิดโลกดึกดำบรรพ์ ครบรอบ ๑๐๐ ปีไม้กลายเป็นหิน

โคราชมหานครแห่งบรรพชีวิน จัดใหญ่ ‘ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๖’ ครบ ๑๐๐ ปี แห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัยรัชกาลที่ ๖ เปิดโลกยุคดึกดำบรรพ์ กระตุ้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน และขับเคลื่อนเป็นอุทยานธรณีโลก

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมลำตะคอง ๑ โรงแรมแคนทารีโคราช นายสมเกียรติ  วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา, นางสาววัชรี ชูรักษา  ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน (อพท), ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมแถลงข่าว งานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๖ : ๑๐๐ ปีแห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัย ร.๖ Fossil Festival VI : 100 Years of Petrified Wood and Elephant Conservation from the Reign of King Rama VI โดยมีผู้แทนจากภาคีเครือข่าย เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (สสปน.) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครราชสีมา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ร่วมรับฟัง 

ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “การอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและการจัดการอย่างยั่งยืน” โดยมี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราชและที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานฯ ดร.อัปสร สอาดสุด ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ ดร.อลงกต ชูแก้ว ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ เป็นวิทยากร

มหานครแห่งบรรพชีวิน

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวว่า “ที่มาของงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๖ : ๑๐๐ ปีแห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัย ร.๖ มี ๓ ประการ ได้แก่ ๑.วันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ๒.เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว รัชกาลที่ ๖ ได้ออก พ.ร.บ.รักษาช้างป่าไทย ครั้งแรก และโคราชเป็นเมืองที่ค้นพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดในโลก มากถึง ๑๐ สกุล จากทั้งหมด ๕๕ สกุลที่ค้นพบทั่วโลก ซึ่งไม่รวมกับสัตว์ชนิดอื่นๆ กว่า ๓๐ ชนิดที่ค้นพบในบ่อทรายท่าช้าง และ ๓.เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๕๔ หรือ ๑๐๐ ปีที่แล้ว รัชกาลที่ ๖ เสด็จถึงโคราชด้วยรถไฟ เพื่อตรวจการก่อสร้างทางรถไฟและสะพานรถไฟ (สะพานดำ) ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก่อนกลับ พระยารำไพพงษ์บริพัตร (จิตร บุนนาค) นับเป็นวิศวกรไทยคนแรกที่ได้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟอีสานใต้ ได้นำไม้กลายเป็นหินที่ค้นพบในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ ถวายให้รัชกาลที่ ๖ แต่พระองค์กลับบอกว่า ให้นำไว้ที่นี่ พระยารำไพพงษ์บริพัตร จึงก่อสร้างอนุสรณ์สถานการเสด็จมาของพระเจ้าอยู่หัว โดยมีไม้กลายเป็นหิวก้อนนั้นวางไว้บนยอด ซึ่งในปัจจุบันไม้กลายเป็นหินก้อนนี้ก็ยังคงอยู่ที่เดิม”

“จากจุดเริ่มต้นของอนุสรณ์สถานไม้กลายเป็นหิน จึงกลายเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ และพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่โคราชจะนำไปใช้ในการขอประเมินเป็น Khorat Geopark Global ต่อยูเนสโก และปรากฏว่า ยูเนสโกให้ความเห็นชอบแล้ว เหลือเพียงการประเมินในภาคสนามเท่านั้น ซึ่งเดิมที่ต้องได้รับการประเมินตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ปัจจุบันมีโรคระบาดโควิด-๑๙ ทำให้การประเมินถูกเลื่อนออกไป โดยงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๖ จะเป็นการประกาศตัวว่า โคราช คือ มหานครแห่งบรรพชีวินของโลก” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว

ตระหนักถึงการอนุรักษ์

ดร.อัปสร สอาดสุด กล่าวว่า “กรมทรัพยากร ธรณีให้ความสำคัญกับซากดึกดำบรรพ์มาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบันมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่า หลายชิ้นถูกนำไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ กรมทรัพยากรธรณีจึงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น จึงจัดทำ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่ออนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นมรดกของคนไทยและของชาติ ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้ซากดึกดำบรรพ์ถูกรักษาไว้นานถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่คำว่า อนุรักษ์ ไม่ใช่ห้ามใครมายุ่งหรือเก็บไว้อย่างเดียว แต่การอนุรักษ์ คือ การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุดไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ปัจจุบันมีฟอสซิลที่รอรับการขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ ๒๕,๐๐๐ รายการ แต่ขึ้นทะเบียนแล้ว  กว่า ๓๐๐ รายการ โดยมีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ประมาณ ๒๐๐ แหล่งทั่วประเทศ แต่มีศักยภาพเพียง ๑๕๐ แหล่ง และขึ้นทะเบียนแล้ว ๒๐ แหล่ง นี่คือสิ่งที่กรมทรัพยากรธรณี กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ แต่การขึ้นทะเบียนแบบนี้ เป็นเพียงวงแคบๆ เพราะยังไม่มีการรับรู้ถึงประชาชน และประชาชนยังไม่ตระหนักถึงซากดึกดำบรรพ์ว่า จะเก็บไปทำไม และใช้ทำอะไรได้”

“การปลุกกระแสของประชาชนมีทั้งระดับ Top down และ Top up เมื่อพบอะไรที่สำคัญก็จะนำไปปลุกกระแสให้กับประชาชน โดยประชาชนจะต้องตระหนักว่า สิ่งนั้นสำคัญ ทุกคนจะต้องเกิดความต้องการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้หายไป ซึ่งหากทำได้ก็จะเรียกว่า ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยกรมทรัพยากรธรณีได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดสตูล ซึ่งสามารถสร้างกระแสการรับรู้และประโยชน์จริงๆ ในพื้นที่ เช่น หากไปถามชาวบ้านหรือนักเรียน ทุกคนจะตอบได้หมดว่า ซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่มีอะไรบ้าง ขณะนี้ทุกคนตระหนักและรับรู้หมดแล้ว แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดำเนินการมากกว่า ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี นอกจากจะสร้างกระแสการรับรู้แล้ว ยังต้องพัฒนาต่อไปถึงเรื่องเศรษฐกิจชุมชน จะทำให้โครงการได้ใจประชาชนมากขึ้น เพราะชาวบ้านสามารถนำสิ่งที่มีในพื้นที่ไปสร้างเป็นรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด” ดร.อัปสร กล่าว

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ กล่าวว่า “ทุกคนรู้จักคำว่า โอกาสหรือไม่ เรามีของดีอยู่ในมือ ทุกคนจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาอย่างเดียว ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจะขายสิ่งเหล่านี้ได้ ผมเคยคิดว่า ไดโนเสาร์หรือซากดึกดำบรรพ์จะสามารถช่วยคนโคราชได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จะมีกันง่ายๆ โคราชมี ๓ พอดี คือ ๑.พอดีว่าอีก ๒ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏจะอายุครบ ๑๐๐ ปี มีลูกศิษย์หลายแสนคน ซึ่งสมาคมศิษย์เก่ากำลังติดตาม เพื่อเรียกให้ศิษย์เก่าหล่านั้นกลับมาบ้าน ลองคิดดูว่าศิษย์เก่าหลายแสนคนนี้จะมีสรรพกำลังขนาดไหน และคณาจารย์ก็มีหลายคน ทุกคนล้วนจบการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง แต่ทำอย่างไรถึงจะนำคนเหล่านี้มารวมกันกับสิ่งที่มีอยู่ได้ คือ ซากดึกดำบรรพ์ ๒.พอดีจะครบ ๑๐๐ ปีที่ค้นพบซากฟอสซิล และ ๓.พอดีโคราชมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่สนใจเรื่องนี้ ตั้งแต่เป็นโยธาธิการจังหวัด เมื่อ ๓ เรื่องนี้มารวมกันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ และผมมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็เป็นเศรษฐกิจข้างเคียงของไดโนพาร์ค บนพื้นที่ ๖๐๐ ไร่ ที่อาจารย์ประเทืองกำลังจะจัดทำขึ้น ในพื้นที่ ๖๐๐ ไร่ที่จะเกิดขึ้นมา จะช่วยทำให้ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงเกิดความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และผมคิดไปไกลอีกว่า โรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทย จะต้องมาทัศนศึกษาที่ไดโนพาร์ค”

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์

“ผมคิดว่า ในอนาคตจะต้องทำการตลาดอย่างยิ่งใหญ่ คือ การเดินสายประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศว่า เรามีของดีที่โคราช หากทำได้โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในโคราช จะกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ในเมื่อโคราชมีเขาใหญ่ มีวังน้ำเขียว เมื่อส่งเสริมเรื่องไดโนพาร์คหรือซากดึกดำบรรพ์เข้าไปด้วย ก็จะทำให้เกิดมูลค่าอีกมหาศาล นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งศักยภาพในการรองรับของโคราชมีเพียงพอ มีโรงแรมจำนวนมาก ความปลอดภัยก็เป็นระดับที่ประเทศอเมริกาไว้วางใจมาฝึกรบที่นี่ และเรื่องคมนาคมก็ไม่น่าเป็นห่วง สนามบินมีอยู่แล้ว เพียงแต่รอให้มีสายการปินมาเปิดให้บริการ ระบบรางก็สมบูรณ์ที่สุด และถนนก็มีมอเตอร์เวย์ ถึงเวลาที่โคราชต้องเปลี่ยนแล้ว” นายทวิสันต์ กล่าว

ร่วมกันสร้างอนาคต

ดร.อลงกต ชูแก้ว กล่าวถึงการอนุรักษ์ช้างว่า “โคราชมีมิติของการอนุรักษ์ที่ค่อนข้างละเอียด สามารถเปิดช่องทางให้คนจากทั่วโลกเข้ามารับรู้และสร้างความเข้าใจ โดยเป็นการอนุรักษ์ทั้งซากดึกดำบรรพ์ และอนุรักษ์ชีวิตปัจจุบันของธรรมชาติ ที่ผ่านมาไม้ที่อยู่ใต้ดินอายุหลายล้านปี สภาพแวดล้อมในวันนั้นกับวันนี้มีเรื่องที่เชื่อมเข้าหากัน คือ การศึกษาของมนุษย์ ดังนั้น โคราชมีความหมายในการอนุรักษ์ทั้งในอดีตและการอนุรักษ์ในสภาพปัจจุบัน เรื่องที่ใหญ่กว่านี้ กว่าจะไปถึงเรื่องการอนุรักษ์ได้ จะต้องอาศัยสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และคอยขับเคลื่อนทุกสิ่ง ขับเคลื่อนนโยบาย การตัดสินใจของผู้คน และคุณค่าความสำคัญของโคราช สิ่งนั้น คือ การศึกษา ซึ่งโชคดีที่โคราชมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ แหล่งขับเคลื่อนความรู้ที่สำคัญ ทำงานมาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๑๐๐ ปี ความท้าทายในวันนี้ คือ จะทำอย่างไรที่จะใช้การศึกษามานำการอนุรักษ์ แน่นอนว่า โคราชมีแหล่งปัญญาที่สำคัญ คือ มหาวทิยาลัยราชภัฏ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้คนหลงใหลหรือติดใจโคราช”

“ในทวีปเอเชียมีช้างอาศัยอยู่เพียง ๑๓ ประเทศ มากที่สุด คือ อินเดีย ซึ่งใน ๑๓ ประเทศ ประเทศไทยมีองค์ความรู้มากที่สุด ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะว่า ผมเคยทำงานศึกษาช้างในหลายประเทศ พบว่า ความรู้ในการเข้าใจช้าง เกิดจากประเทศไทยทั้งนั้น ในอดีตพระเจ้าแผ่นดินจะศึกษาการทำศึกด้วยช้างจากตำรา ซึ่งตำราที่ว่า มีที่มาในประเทศอินเดีย แต่องค์ความรู้ในตำรา ล้วนมาจากประเทศสยาม และสยามเป็นประเทศที่มีการส่งออกช้างไปทั่วโลก แต่การส่งช้างออกไปจะต้องมีความรู้ในการเลี้ยงดูด้วย ดังนั้นสยามจึงส่งทั้งช้างและความรู้ออกไปทั่วโลกด้วยเรือสำเภา ใน ๑๓ ประเทศที่มีช้างเหลืออยู่ มีแหล่งอนุรักษ์ช้างมากมาย แต่องค์ความรู้ในการอนุรักษ์และจัดการช้าง ไม่มีที่ใดดีเท่าประเทศไทย ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ อาจารย์ประเทืองได้กลั่นออกมารอสังคมโลกแล้ว แต่คำถามที่ท้าทายที่สุด คือ จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดองค์กรอิสระที่มีอำนาจทางการเงิน อำนาจตัดสินใจ และมีอำนาจในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยกันหาคำตอบ หลังจากที่เป็น Khorat Geopark จะทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เป็นสถาบันระดับโลก ซึ่งเราไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียง เพื่อองค์ความรู้ที่จะอยู่ต่อไปในอนาคต แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะร่วมกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้” ดร.อลงกต กล่าว

ใช้คุณค่าสร้างมูลค่า

จากนั้นเป็นการแถลงข่าวงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๖ ซึ่ง ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏในประเทศไทยมีทั้งหมด ๓๘ แห่ง แต่มีเพียงมหาวิทยาลัยราภัฏนครราชสีมา ที่มีหน่วยงานระดับเทียบเท่าคณะ คือ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ โดยจะต้องยกย่องคนที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขทุกอณู มีแต่เรื่องซากดึกดำบรรพ์ คือ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผ่านมากระทั่งปัจจุบันมี ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี เป็นผู้อำนวยการฯ โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มีการศึกษาทั้งไม้กลายเป็นหิน ช้าง ๑๐ สกุล ไดโนเสาร์ และยังมีสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำลังจะทำ คือ ไดโนพาร์ค แต่บอกไว้เลยว่า เป็นเรื่องที่ทำไม่ไหวแน่นอน หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน”

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

“ในบรรดาสิ่งที่จะทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้มี ๒ เรื่อง ได้แก่ ๑.หากินกับของใหม่ ทุกวันนี้มีการหากินกับเทคโนโลยีต่างๆ ๒.หากินกับของเก่า ซึ่งโคราชโชคดีที่มีของเก่าเต็มไปหมด แต่ทุกวันนี้เรามัวแต่มุ่งไปที่ของใหม่ อะไรก็สมาร์ท การจัดงานครั้งนี้ผมภูมิใจมาก แต่ถ้าพูดไปแล้วจัดงานเสร็จเข้าสู่สถานะเดิม คือ ไม่ได้ทำอะไร ก็จะไม่มีความหมาย แต่ที่วิทยากรบรรยายในวันนี้ ทุกเรื่องเป็นไปได้ทั้งหมด และทุกอย่างมีแล้วในโคราช ทั้งฟอสซิล ไม้กลายเป็นหิน ซากดึกดำบรรพ์ ขณะนี้จะมัวแต่สร้างคุณค่าไม่ได้ เพราะมนุษย์จะต้องอยู่ต้องกินเป็นปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งคนจะต้องพออยู่พอกินก่อนถึงจะเห็นคุณค่า ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนสิ่งที่มีคุณค่าอยู่แล้วให้กลายเป็นมูลค่า และชุมชนต้องได้ประโยชน์จากสิ่งที่มีคุณค่า แต่การจะทำให้สำเร็จได้ ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นเพียงความฝัน” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

โคราชต้องร่วมแรง

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ผมกับผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ทำงานด้วยกันมานานหลายสิบปี ผมเคยไปเดินในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ที่บ้านโกรกเดือนห้า ตั้งแต่ยังไม่มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ วันที่ไปเดินพื้นที่นั้นยังเป็นป่า มีไม้กลายเป็นหินเกลื่อนพื้นเต็มไปหมด ซึ่งวันนั้นยังไม่มีคำว่า อนุรักษ์ และหลังจากนั้นไม้กลายเป็นหินก็เริ่มหายไป เพราะมีคนแอบลักลอบขุดไปขาย เมื่อเจ้าอาวาสวัดโกรกเดือนห้าทราบ ท่านประกาศทันทีว่า จะรับซื้อไม้กลายเป็นหินทั้งหมด จากนั้นอาจารย์เผ่า จากคณะสถาปัตฯ จุฬาลงกรณ์ เป็นผู้มาออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยอิงรูปแบบจากปราสาทหินพิมาย หลังจากที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ พบปัญหาว่า ไม่มีงบตกแต่งภายใน ซึ่งปล่อยไว้แบบนั้นหลายปี กระทั่งวันหนึ่งได้รับงบจังหวัด เพื่อตกแต่งภายในทั้งหมด ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินเกิดขึ้น”

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

“ในขณะเดียวกันที่มีพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ก็มีการขุดทรายที่ตำบลท่าช้าง พบเจอกระดูกฟันกรามของช้างโบราณ นายกเทศมนตรีท่าช้างจึงเชิญผมไปดู และบอกว่า ต้องการให้มีพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ท่าช้าง ผมจึงออกแบบพิพิธภัณฑ์ช้างโบราณ เพื่อนำกระดูกต่างๆ ของช้างที่ขุดค้นพบไปเก็บไว้ ทั้งหมดนี้ คือ ที่มาของการอนุรักษ์ ซึ่งวันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า หากจะเดินหน้าต่อไป เราต้องย้อนมองอดีต หากทุกคนต้องการให้โคราชเป็นมหานครแห่งบรรพชีวิน ผมเชื่อว่า โคราชไปสู่จุดนั้นได้ไม่ยาก ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน” นายสมเกียรติ กล่าว

การสนับสนุนจากทุกส่วน

นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว อบจ.จัดตั้งงบประมาณในการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดปี พร้อมกับสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว โดยมี อปท.หรืออำเภอแจ้งโครงการเข้ามาที่ อบจ. จากนั้น อบจ.จะจัดทำการประชาสัมพันธ์ให้ หากเป็นโครงการใดที่สามารถสนับสนุนทั้งการร่วมงานและงบประมาณได้ ก็จะมีการจัดทำแผนงบประมาณของแต่ละปี เช่น ในเดือนพฤศจิกายน ปกติ อบจ.จะสนับสนุนการท่องเที่ยวอำเภอพิมาย ทั้งการจัดงานแข่งเรือ เทศกาลเที่ยวพิมาย และงานแสงสีเสียง โดย อบจ.ได้เข้าไปสนับสนุนทั้งการประชาสัมพันธ์และงบประมาณ เช่นเดียวกับงานฟอสซิลเฟสติวัลในเดือนธันวาคม อบจ.ก็จะนำไปบรรจุไว้ในแผนการท่องเที่ยวประจำเดือนธันวาคม โดยนโยบายการบริหารของ อบจ.ประจำปี ๒๕๖๔-๒๕๖๗ กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า โคราชโฉมใหม่ คนคุณภาพ ศูนย์รวมเศรษฐกิจการค้า และเมืองแห่งการพัฒนายั่งยืน เช่น สนับสนุนกิจกรรมใหม่ๆ หรือการพัฒนาเมืองต่างๆ ที่สำคัญ คือ การส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมทุกประเพณีของโคราช”

นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา

นางสาววัชรี ชูรักษา กล่าวว่า “อพท.มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน ซึ่ง อพท.ได้เข้ามาศึกษาศักยภาพของพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยว ๘ เขต โดยมีเขตการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้เป็นหนึ่งในนั้น โดยใช้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเริ่มต้นพัฒนา หากคนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรท่องถิ่นธรรมชาติ มีความตระหนักและเข้าใจในการใช้เครื่องมือด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่ เช่น แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต และแหล่งอารยธรรม รวมทั้งในโอกาสที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และจังหวัดนครราชสีมา ขับเคลื่อน Khorat Geopark อพท.ก็ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น พัฒนาให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่า ได้เข้ามาสัมผัสแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาอย่างแท้จริง”

นางสาววัชรี ชูรักษา

เชิญเที่ยวฟอสซิลเฟสติวัล

ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี กล่าวว่า “แนวคิดการจัดงานครั้งนี้ เพื่อต้องการสอดแทรกความเข้าใจเรื่องฟอสซิล และการนำฟอสซิลไปใช้ประโยชน์ให้เข้าถึงคนในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การที่ทุกคนได้รู้จักสกุลช้างชนิดต่างๆ อาจจะไม่เพียงพอแล้ว แต่ทำอย่างไรให้ช้างทั้ง ๑๐ สกุล เข้ามาสู่เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-๑๙ เราได้คิดมาพอสมควรว่า รูปแบบควรจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงเลือกที่จะจัดงานโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อกระตุ้นให้คนโคราชและทุกคนในประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงจัดเพื่อเป็นเทศกาลท่องเที่ยว ที่มีการจัดงานขึ้นแล้วจบไป ดังนั้น กิจกรรมภายในงานจึงมี ๒ ส่วน คือ ๑.ระบบออนไลน์หรือเที่ยวทิพย์ หากใครไม่สะดวกเดินทางมาร่วมงาน ก็จะมีกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ทุกวัน และ ๒.การจัดงานที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ โดยมีกิจกรรมไฮไลต์หลักเป็นการเปิดตัวมหานครแห่งบรรพชีวินโคราช ซึ่งกิจกรรมทั่วไปที่จัดไว้ คือ นิทรรศการไม้กลายเป็นหินแปลก ที่เต็มไปด้วยคุณค่าและความแปลกใหม่ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และ DIY Dino Kid Mania สำหรับเด็กๆ ณ ลานเด็กเล่น Dino Playground พร้อมกับช้อปปิ้ง ชิม และชิลล์ ในงานตลาดนัดไม้หินกรีนมาร์เก็ต ริมสระไดโนเสาร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการด้านทรัพยากรธรณี หัวข้อฟอสซิลแห่งสยามกับการอนุรักษ์, โคราชมหานครแห่งบรรพชีวินโลก (World Palentopolis) และพิพิธภัณฑ์ฟอสซิลเพื่อการนันทนาการและการเรียนรู้ จึงขอเชิญชวนให้ชาวโคราชเข้าร่วมงาน เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรณี และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟอสซิล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกต่อไป”

ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี 

ฟอสซิลคือสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” สอบถามว่า “การจัดงานครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมิน Khorat Geopark Global หรือไม่” ซึ่ง ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ตอบว่า “การมาประเมินหรือตรวจรับรองการเป็นอุทยานธรณีโลก หรือ Khorat Geopark ของยูเนสโก จุดสำคัญอยู่ที่ฟอสซิล ดังนั้น การจัดงานฟอสซิลเฟสติวัลจึงมีความสำคัญอย่างมากกับการตรวจประเมิน และเป็นไฮไลต์อย่างหนึ่งที่จะทำให้โคราชได้รับการรับรองเป็นจีโอพาร์คโลก”

งานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๖ : ๑๐๐ ปีแห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัยร.๖ Fossil Festival VI : 100 Years of Petrified Wood and Elephant Conservation  from the Reign of King Rama VI จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบ Onsite ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา และระบบ Online ผ่าน Facebook Fanpage พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๓ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1019 1620