29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 11,2021

ออกแบบ ๔ เมืองใหม่โคราช ตั้งงบลงทุนกว่า ๓ แสนล้าน ใช้‘ตำบลสุรนารี’เป็นโมเดล

ระดมสมองออกแบบเมืองใหม่โคราช ๔ แห่ง กรมโยธาฯ เล็งสร้าง “เมืองใหม่สุรนารี” เป็นโมเดลให้เมืองใหม่หนองระเวียง บัวใหญ่ และปากช่อง ด้านบริษัทที่ปรึกษาฯ ตั้งงบลงทุนเมืองละประมาณ ๙ หมื่นล้านบาท เชื่อนักลงทุนไทยสนใจเพราะมีศักยภาพเพียงพอ

เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล โคราช นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเปิดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ ๒ โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา โดยมีตัวแทนภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา อาทิ นายอุบล เอื้อศรี อดีต ส.ว.นครราชสีมา นายสมพล หิรัญญสุทธิ์ ประธานสหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา และนายอัฐพล สัมพันธ์วงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับฟังบรรยายจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งมี นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ อาจารย์ประจำสถาบันระบบราง มทร.อีสาน และนายประมุข ปราบจะบก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการขนส่ง เป็นวิทยากร

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โคราชเป็นเมืองที่มีศักยภาพ และจะเป็นเมืองที่มีความเจริญอย่างมากในอนาคต ขณะนี้มีการพูดคุยกันถึงการขับเคลื่อนโคราชสู่การเป็นมหานครของภาคอีสานว่า จะมียุทธศาสตร์หรือแนวทางในการพัฒนาอย่างไร ซึ่งจากการสัมมนาหรือพูดคุยกันพบว่า หลายหน่วยงานมียุทธศาสตร์ของตัวเอง เพื่อช่วยผลักดันให้โคราชเป็นมหานคร ซึ่งทุกหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเห็นการพัฒนาโคราช แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมืองมีความแออัด และอาจจะไม่มีศักยภาพพอในการรองรับสิ่งเหล่านี้ เพราะตัวเมืองโคราชอาจจะมีปัญหาถนนแคบ น้ำท่วม การระบายน้ำเสีย และที่สำคัญเป็นพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่า จึงต้องมีการมองภาพอนาคตเมืองใหม่ไว้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษา หาพื้นที่เมืองใหม่ จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว ๑ ครั้ง ได้ข้อสรุปว่า เมืองใหม่ควรจะมี ๔ แห่ง อยู่ในอำเภอบัวใหญ่ อำเภอปากช่อง และอำเภอเมือง ๒ แห่ง คือ ตำบลสุรนารี และตำบลหนองระเวียง ดังนั้น วันนี้ ทุกคนควรจะแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปปรับแก้ไขการพัฒนาเมืองใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ ผมคิดว่า เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น น่าจะมีการบล็อกพื้นที่ผังเมืองใหม่ไว้ เพราะหลังจากที่ศึกษาความเหมาะสมแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเลย กว่าจะหาตัวนักลงทุน กว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณ ถึงเวลานั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดิน อาจจะทำให้ยากต่อการพัฒนาระบบเมืองใหม่อย่างที่ต้องการ ดังนั้น เมื่อศึกษาเสร็จจะต้องออกเป็นผังที่ดินบังคับ เพื่อรอการลงทุนหรือการสนับสนุนจากรัฐบาล การศึกษาครั้งนี้ เมื่อทำเสร็จแล้วไม่ใช่เก็บขึ้นหิ้ง แต่ศึกษาแล้วจะต้องมีการปฏิบัติ แม้การหาตัวผู้ลงทุนอาจจะช้า แต่จะต้องบล็อกและเตรียมพื้นที่ไว้”

เมืองใหม่สุรนารี

นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับการวางผังออกแบบชุมชนเมืองในพื้นที่ศักยภาพการพัฒนาโครงการเมืองใหม่ มีทั้งหมด ๔ พื้นที่ ได้แก่ เมืองใหม่สุรนารี เมืองแห่งการเสริมสร้างทักษะและความรู้ สู่ความเป็นศูนย์กลางการวิจัยนวัตกรรมแห่งภูมิภาค มีบทบาทเป็นผู้นาทางด้านการศึกษา การสะสมองค์ความรู้ การวิจัยและทดลอง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของท้องถิ่นขึ้นมาเอง และเป็นฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ ส่วนผสมระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินจะสอดรับกับแนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ให้ความสำคัญกับการสัญจรด้วยรถไฟรางเบา สามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงและการสัญจรด้วยการเดิน ส่วนระบบคมนาคมและขนส่ง จะออกแบบให้มีการเชื่อมต่อกับ Light Rail Transit (LRT) สายสีเขียว เชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่สถานีรถไฟความเร็วสูง และพื้นที่เมืองเดิม มุ่งเน้นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และในการพัฒนาสภาพแวดล้อม ชุมชน และสังคม ต้องการพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ประมาณ ๑,๑๗๐ ไร่ มีพื้นที่นันทนาการภายในเมืองใหม่สุรนารี ๓,๖๘๙ ไร่ เมื่อสรุปงบประมาณในการพัฒนาพบว่า ต้องใช้งบประมาณรวม ๙๗,๐๓๕ ล้านบาท”

เมืองใหม่หนองระเวียง

“เมืองใหม่หนองระเวียง แหล่งรวมองค์ความรู้จากนานาชาติ สู่เมืองแห่งนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ มีบทบาทเป็นห้องรับแขกสำหรับต้อนรับแขกจากต่างประเทศที่จะเดินเข้ามาผ่านท่าอากาศยานนานาชาตินครราชสีมาที่จะพัฒนาขึ้นใหม่ และเป็นสถานที่รองรับการเจรจาต่อรองการค้ากับชาวต่างชาติด้วย นำไปสู่การบ่มเพาะทักษะติดต่อทางการค้ากับชาวต่างชาติของประชาชน การใช้ประโยชน์ที่ดินสอดรับกับแนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองสนามบินและการเชื่อมต่อกับสนามบินด้วยระบบรถไฟ (Airport Rail Link : ARL) และการสัญจรด้วยการเดิน ระบบคมนาคมและขนส่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการเข้าถึงพื้นที่สองข้างทางเป็นหลัก เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ ออกแบบให้ถนนมีกายภาพ และสภาพแวดล้อมที่ชัดเจน โดยต้องการพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ประมาณ ๑,๑๔๖ ไร่ และพื้นที่นันทนาการภายในเมือง ๔,๓๖๙ ไร่ เมื่อสรุปงบประมาณในการพัฒนาพบว่า เมืองใหม่หนองระเวียง ต้องใช้งบประมาณรวม ๘๑,๑๗๙ ล้านบาท”

เมืองใหม่บัวใหญ่

นายธนิชา กล่าวอีกว่า “เมืองใหม่บัวใหญ่ เมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าของอนุภูมิภาค ภายใต้ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว มีบทบาทเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าของอนุภูมิภาค พื้นที่ทดลองปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีโลจิสติกส์การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแบบแม่นยำ(Precision Farming) และการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตตามสั่ง (Tailor made Manufacturing) การใช้ประโยชน์ที่ดินสอดรับกับแนวคิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมมุ่งสู่บทบาทศูนย์กลางอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ระบบคมนาคมและขนส่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการเข้าถึงพื้นที่สองข้างทางเป็นหลัก เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ ออกแบบให้ถนนมีกายภาพและสภาพแวดล้อมที่ชัดเจน โดยต้องการพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกประมาณ ๑,๑๗๐ ไร่ และพื้นที่นันทนาการภายในเมือง ๓,๐๔๔ ไร่ เมื่อสรุปงบประมาณในการพัฒนาพบว่า เมืองใหม่บัวใหญ่ต้องใช้งบประมาณรวม ๗๘,๔๗๔ ล้านบาท”

เมืองใหม่ปากช่อง

“เมืองใหม่ปากช่อง เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ระดับนานาชาติ บนพื้นฐานของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์อันบริสุทธิ์ ต่อยอดฐานเกษตรกรรมสู่การพัฒนาพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพในระดับสากล มีบทบาทในการพัฒนาต่อยอดฐานปศุสัตว์ไปสู่สินค้า GI และสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ และพัฒนาเป็นแหล่งพำนักของคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกที่ปรารถนาชีวิตที่มีความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับเมือง ระหว่างการทำงานกับการละเล่น ซึ่งการใช้ประโยชน์จากที่ดิน จะให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองนิเวศน์ที่พึ่งพารถไฟความเร็วสูง ที่จะช่วยส่งเสริมด้านการขนส่งและโลจิสติกส์โดยเอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักวิจัย และพนักงานดิจิทัล ส่วนระบบคมนาคมขนส่ง จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการเข้าถึงพื้นที่สองข้างทางเป็นหลัก เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ ออกแบบให้ถนนมีกายภาพ และสภาพแวดล้อมที่ชัดเจน โดยต้องการพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ประมาณ ๑,๗๐๑ ไร่ และพื้นที่นันทนาการภายในเมือง ๒,๔๙๗ ไร่ เมื่อสรุปงบประมาณในการพัฒนาพบว่า เมืองใหม่ปากช่องต้องใช้งบประมาณรวม ๙๕,๔๒๒ ล้านบาท” นายธนิชา กล่าว

นายธนิชา กล่าวท้ายสุดว่า “สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาโครงการเมืองใหม่ โดยเมืองใหม่สุรนารีมีความเหมาะสมในการนำมาดำเนินการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เนื่องจากสามารถดำเนินการได้โดยกระทรวงมหาดไทย มีพื้นที่หน่วยงานราชการปริมาณมาก มีความคุ้มค่าในระยะยาว และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการจริงมากที่สุด”

นายธีระ ธีระวงษ์ เจ้าของร้านอาหารและสวนเกษตรบ้านไร่ธีระวงษ์

เสนอปรับผังเมือง

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยนายธีระ ธีระวงษ์ เจ้าของร้านอาหารและสวนเกษตรบ้านไร่ธีระวงษ์ กล่าวว่า “ผมเป็นเกษตรกรอยู่ ต.ไชยมงคล อยู่ติดกับเขตชายแดนเมืองใหม่สุรนารี ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะพื้นที่นี้อยู่รอบบริเวณ มทส.เช่นกัน และถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยประตู ๒ อยู่ในเขต ต.ไชยมงคล มีพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน สวนสัตว์โคราช ตลาดสดต่างๆ พื้นที่บริเวณนี้เจริญมากแต่ทำอะไรไม่ได้ ผมเจอปัญหาในพื้นที่ เพราะผังเมืองกำหนดให้พื้นที่บริเวณ ต.ไชยมงคลและสุรนารีเป็นพื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่เกษตรกรรม แต่พื้นที่บริเวณนี้เจริญหมดแล้ว ทำไมผังเมืองถึงไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความเจริญ มีความก้าวหน้า มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงพาณิชย์ได้บ้าง มีศูนย์การค้า มีหลายอย่างที่เอกชนต้องการลงทุน แต่ทำไม่ได้ เพราะติดผังเมืองสีเขียว ต้องการให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ถนน มทส.ประตู ๑ เป็นเขตชายแดนระหว่าง ต.ไชยมงคลกับพื้นที่เมืองใหม่สุรนารี แล้วออกมาจากตรงนั้นจะเป็นเขต ต.ไชยมงคลทั้งหมด และเป็นที่ดินสปก.จำนวนมาก สามารถทำเกษตรกรรม ทำประโยชน์ได้ แต่ขณะเดียวกันมีพื้นที่โฉนดร่วม ๔,๐๐๐ กว่าไร่ ในพื้นที่เขต ต.ไชยมงคล ซึ่งทำอะไรไม่ได้เลย ให้ทำในเชิงพาณิชย์เพียงแค่ ๑๐% ของพื้นที่ แล้วจะเกิดความเจริญได้อย่างไร ผมฟังโครงการเมืองใหม่สุรนารี ซึ่งอาจจะเริ่มทำได้ในอีก ๑๕-๒๐ ปีข้างหน้า ขณะนี้ผมอายุ ๗๐ กว่าแล้ว คงตายก่อนพอดี ฟังแล้วรู้สึกหมดหวัง และ ต.ไชยมงคลยิ่งหมดความหวัง ทั้งๆ ที่อยู่ติดกัน อยากฝากให้คณะกรรมการช่วยพิจารณา จะมีโอกาสสำหรับลูกหลานหรือไม่ ประเทศไทยขณะนี้เป็นประเทศคนจน จะสามารถทำให้รวย ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นได้ไหม ให้โอกาสประชาชน รัฐแทบจะไม่ต้องไปลงทุนอะไรเลย ให้โอกาสโดยเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีเหลืองก็ยังดี ให้สามารถทำเชิงพาณิชย์ได้บ้าง เชื่อว่าการลงทุนจะต้องเกิดแน่นอน มีนักธุรกิจอีกมากที่ต้องการเข้ามาลงทุน โดยที่รัฐแทบไม่ต้องมายุ่ง”

นายอัฐพล สัมพันธ์วงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

ห่วงพื้นที่เมืองเก่า

นายอัฐพล สัมพันธ์วงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เดิมทีหอการค้าฯ เป็นผู้ผลักดันให้เกิดแผนศึกษาเมืองใหม่นครราชสีมา เพราะหอการค้าฯ เห็นว่า อย่างไรก็ตามตัวเมืองเก่าของโคราชมีความแออัด การขยายตัวภาคพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมลำบาก ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ จึงมองว่า น่าจะสร้างเมืองใหม่ ที่ผ่านมามีการพูดถึงแผนจะย้ายศูนย์ราชการออกจากเมือง ซึ่งควรจะย้ายออก แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มพูดว่า ถ้าย้ายออกไปแล้วไปเจริญในที่ใหม่ แล้วที่เก่าจะตายหรือไม่ จึงขอให้ศึกษาพื้นที่เก่าด้วย ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจะเป็นอย่างไร และพื้นที่เมืองเก่าควรจะพัฒนาต่ออย่างไร ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูง ที่มีความเชื่อมโยงกับเมืองใหม่หนองระเวียง ความจริงแล้วไม่ใช่แค่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินอย่างที่รัฐบาลกล่าว แต่เชื่อม ๔ สนามบิน เพราะขณะนี้มาถึงโคราชแล้ว จากสถานีรถไฟโคราชไปที่สนามบินมีทางเชื่อมต่ออยู่แล้ว จะใช้ฟีดเดอร์วางบนเส้นนั้นในงบประมาณไม่เกิน ๑๐๐ ล้าน ก็สามารถเชื่อม ๔ สนามบินได้โดยปริยาย ส่วนเมืองใหม่สุรนารี ควรจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพื้นที่ ทั้งการเชื่อมรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อสนามบิน ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปด้วยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและความคุ้มค่าในการทำเมืองใหม่ เฉพาะเมืองใหม่สุรนารีงบประมาณกว่า ๙๐,๐๐๐ ล้านบาท จะมีความคุ้มค่าอย่างไร มากเพียงใด อยากให้คำนวณใหม่ การที่จะสร้างเมืองใหม่จะคืนทุนแบบไหน และการที่จะนำคนเข้ามาประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนในพื้นที่เมืองใหม่ ซึ่งในพื้นที่มีประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนแล้ว ก็จะเพิ่มอีกประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน การดึงคนเหล่านั้นมามีสิทธิพิเศษอย่างไร และเห็นด้วย ที่จะสร้างเมืองใหม่สุรนารีเป็นเมืองนวัตกรรม เพราะเชื่อมโยงกับ มทส.”

นายอุบล เอื้อศรี อดีต ส.ว.นครราชสีมา

เมืองใหม่ ๔ ทิศ

นายอุบล เอื้อศรี อดีต ส.ว.นครราชสีมา กล่าวว่า “ชื่อโครงการเมืองใหม่โคราช แต่ปรากฏว่า ออกมา ๔ เมืองใหม่ คือ เมืองใหม่สุรนารี หนองระเวียง บัวใหญ่ และปากช่อง แต่โคราชมีอยู่ ๓๒ อำเภอ แบ่งออกเป็น ๔ เขต เขตละ ๘ อำเภอ ก็จะเป็น ๓๒ อำเภอพอดี น่าจะทำเมืองใหม่ใน ๔ ทิศ ฝากเป็นข้อคิดด้วย และเท่าที่ดูแผนงานเมืองใหม่มีการพัฒนาสาธารณูปโภค แต่ไม่มีการพัฒนาสาธารณูปการ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล นึกถึงประเทศจีนที่เขาสามารถพัฒนามาได้ใน ๑๐๐ ปี เขาส่งเสริมให้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ถ้าเมืองใหม่ไม่มีการสนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยี ผมคิดว่าคงจะไปไม่ถึงไหน และอยากทราบว่า อำเภอที่ไม่เป็นเมืองใหม่จะช่วยอย่างไร อยากให้มีเมืองใหม่อยู่ทุกทิศของจังหวัด จะได้กระจายความเจริญไปทุกๆ พื้นที่ ทุกอำเภอ และอยากให้ส่งเสริมเรื่องการศึกษาวิทยาศาสตร์ ให้คนโคราชเป็นนักวิทยาศาสตร์”

มองภาพอนาคต

นายสมพล หิรัญญสุทธิ์ ประธานสหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน กล่าวว่า “พื้นที่โคราชมีปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเดิมเป็นตัวกำหนดว่า การพัฒนาหรือการวางผังเมืองใหม่ น่าจะใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมเป็นตัวตั้งต้น เพื่อประหยัดเรื่องงบประมาณ เช่น ถนนวงแหวน ระบบการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นแผนนโยบายที่ทางภาครัฐส่งเสริมจากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ ในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูง สนามบิน และศูนย์ขนถ่ายสินค้าทางราง การกำหนดผังเมืองใหม่ของโคราชควรจะบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานเดิมกับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ให้เกิดการแบ่งโซน เป็นโซนพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่อยู่อาศัย ดังนั้น การขยายตัวของเมืองขณะนี้ ถ้ามองดูการผสมผสานในพื้นที่ต่างๆ ควรมีการกำหนดแบ่งส่วนให้เห็นเด่นชัดขึ้น เรื่องการจราจรใน อ.เมืองโคราช ในส่วนของถนนที่จะรองรับการขนส่ง โคราชมีการขยายค่อนข้างช้า เมื่อก่อนการขนส่งรถที่วิ่งมาจากขอนแก่นจะต้องผ่านตัวเมืองโคราชไปยังเส้น ๓๐๔ เพื่อไปชลบุรี แหลมฉบัง แต่เมื่อมีถนนสาย ฉ ก็ระบายได้ดีพอควร และในอนาคตถ้าเชื่อมวงแหวนอีกจะช่วยให้ระบายได้มากขึ้น ดังนั้น ต้องมองเรื่องจราจรการขนส่งสินค้าเผื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ การกำหนดแผนขยายตัวเมืองใหม่นครราชสีมา สามารถกำหนดเขตพื้นที่ที่ ๑ และ ๒ พร้อมกันได้หรือไม่ ให้คิดครั้งเดียวทำครั้งเดียวเสร็จ และควรจะมีการแบ่งโซน โซนที่ดีขึ้นไปข้างบน เช่น กุดจิก สูงเนิน สีคิ้ว ในอนาคตถ้าเกิดทั้งระบบราง ระบบท่อ ระบบถนน การจราจรตรงเมืองใหม่สุรนารีน่าจะแออัดมาก ดังนั้น ต้องมีการขยับพื้นที่ลงมาที่หนองระเวียง ทำให้เชื่อมเข้าใกล้สนามบินพาณิชย์มากขึ้นด้วย น่าจะเป็นเมืองใหม่ที่เหมาะสมที่สุด ให้มองดูโครงสร้างพื้นฐานเดิม เพื่อประหยัดงบประมาณ และโครงสร้างเมืองใหม่ที่จะกำหนดขึ้นต้องแบ่งโซนพื้นที่ เพื่อมองภาพการจราจรในอนาคต และจัดศูนย์ขนถ่ายสินค้ารอบเมืองและกำหนดไม่ให้รถบรรทุกเข้ามาภายในใจกลางเมือง ในอนาคตก็จะมีศูนย์ขนถ่ายสินค้ารอบเมือง”

รศ.ดร.บัญชา วิทยอนันต์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนักศึกษา วิทยาลัยนครราชสีมา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผังเมืองนครราชสีมา ด้านกฎหมาย

๔ ปัจจัยเสี่ยง

รศ.ดร.บัญชา วิทยอนันต์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนักศึกษา วิทยาลัยนครราชสีมา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผังเมืองนครราชสีมา ด้านกฎหมาย กล่าวว่า “มองอยู่ ๔ ประเด็นที่สำคัญ เป็นปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยแรก คือ สถานการณ์ทางการเมืองหรือนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมืองใหม่ของจังหวัดนครราชสีมาทั้ง ๔ เมือง ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ถ้าเอกชนร่วมลงทุนหรือรัฐบาลลงมาสร้างระบบพื้นฐานต่างๆ อะไรคือสิ่งที่ผู้มาลงทุนได้เป็นสิ่งตอบแทน ปัจจัยที่สอง คือ ด้านกฎหมาย มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องหลายเรื่อง โดยเฉพาะกฎหมายท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมีเรื่องสาธารณูปโภค ถ้าหากส่วนกลางไม่ให้อำนาจถ่ายโอนมาท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ก็จะดำเนินการได้ยาก เป็นประเด็นสำคัญเรื่องการเชื่อมโยงการบูรณาการกับหน่วยงานกระทรวงต่างๆ เนื่องจากผังเมืองใหม่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายที่เป็นปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นที่น่ายินดีว่า มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน โคราชมีปัญหามากที่สุด คือ เรื่องที่ดิน ทั้ง สปก. และที่ดินทหาร หากมีการปรับปรุงกฎหมายนี้ได้ จะทำให้สามารถดำเนินงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจัยที่สาม คือ ความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติ โคราชส่วนมากจะเจอภัยธรรมชาติอยู่ ๒ อย่าง คือ ภัยแล้งและน้ำท่วม เมืองใหม่ทั้ง ๔ แห่ง ส่วนหนึ่งภัยน้ำท่วมอาจจะเป็นภัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่จะอยู่มานาน คือ ภัยแล้ง ดังนั้น เมืองใหม่ที่ทำขึ้นมามีจำนวนประชากร ๒-๓ แสนคน ปัญหาน้ำขาดแคลนเกิดขึ้นแน่นอน เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา และปัจจัยสุดท้ายที่จะต้องวิเคราะห์ คือ เรื่องของวัฒนธรรมหรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน บริบทความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งส่วนที่เป็นเมืองใหม่ทั้ง ๔ แห่ง และชุมชนที่อยู่โดยรอบ สิ่งเหล่านี้ควรนำมาพิจารณา เพื่อบูรณาการในการจัดทำเมืองใหม่ด้วย”

อปท.ร่วมดูแลเมืองใหม่

ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ อาจารย์ประจำสถาบันระบบราง มทร.อีสาน กล่าวว่า “ขอเป็นตัวแทนของบุคคลที่เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ คำถามที่ส่งมาจากระบบออนไลน์ สรุปได้ว่า ส่วนใหญ่ถามเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเมือง และพันธกิจของ อปท.ที่เกี่ยวข้องว่า จะบริหารจัดการอย่างไร ตลอดจนตัวผังเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นมีความสอดคล้องกับกฎหมายควบคุมของกฎกระทรวงผังเมืองรวม ประเด็นที่ ๑ ตัวอย่างเมืองนำร่อง เมืองใหม่สุรนารีที่พยายามจะขับเคลื่อนให้เป็นโมเดล มีการครอบคลุมพื้นที่ อปท.คาบเกี่ยวกันหรือไม่ ถ้าคาบเกี่ยวกันจะมีแนวทางการบริหาร อปท.อย่างไรบ้าง ถ้าเป็นไปได้จริงแล้วมีการย้ายเข้าของประชากร ตัวโครงสร้างจะมีการจัดการอย่างไร เช่น ขยะ เมื่อคนจำนวนมากย้ายเข้ามาอยู่ยังเป็นหน้าที่ของ อปท.หรือไม่ ประเด็นที่ ๒ เมืองใหม่ที่เกิดขึ้นมีการพิจารณากับกฎกระทรวงทั้งระดับเมืองและจังหวัดอย่างไรบ้าง ประเด็นที่ ๓ บริเวณรอบนอกสถานีรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง สิ่งก่อสร้างเดิมที่สร้างมาและยังค้างเป็นปัญหาอยู่ หรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวนั้น มีแนวคิดในการแก้ปัญหาให้บรรลุวิสัยทัศน์การเป็นเมืองใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรได้บ้าง”

นายธนิชา นิยมวัน ชี้แจงว่า “พื้นที่เมืองใหม่สุรนารี จะอยู่ในตำบลสุรนารีและพื้นที่ใกล้เคียงในตำบลหนองจะบก ถ้าตั้งเมืองใหม่แล้วอยู่ในพื้นที่ ๒ ตำบลหรือมีองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มากกว่า ๑ แห่ง ตัวแทนของ อปท.เหล่านั้นจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งจะกำหนดได้ว่า บริษัทจะสามารถทำกำไรหรือนำเงินใส่กลับเข้าไปในเมือง ถ้านำเงินใส่กลับเข้าไปในเมืองจำนวนมาก เมืองนี้ก็จะมีคุณภาพมาก เพราะฉะนั้นเรื่องการบริหารการจัดการก็เหมือนจะเป็นการร่วมงานกันระหว่าง อปท.หลายๆ แห่งและบริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งอาจจะต้องระบุว่า เป็นไตรภาคหรือทวิภาคี พหุภาคี หากมีหลายๆ ฝ่ายอาจจะหารือกัน หรือมีการโหวตในรูปแบบหนึ่งของเงื่อนไขบริษัทพัฒนาเมือง ถ้าเป็นไปได้โมเดลนี้จะดีที่สุดและลดความเหลื่อมล้ำได้สูงที่สุด ซึ่งบริษัทเอกชนที่อยากทำหรือร่วมลงทุนกับบริษัทพัฒนาเมือง ถึงจะไม่มีที่ดิน แค่มาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สมมุติว่า มาขอผลิตไฟฟ้าให้กับเมืองใหม่ ถ้าหากกระทรวงพลังงานยอมให้มีผู้ผลิตรายย่อยได้ รู้แน่นอนว่าลูกค้าในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าคือใคร ถ้าประมูลได้ กิจการผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ต้องทำการตลาด ไม่ต้องวิ่งหาลูกค้า และโมเดลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีกำไรสูงมาก แต่ไม่ยั่งยืน ไม่ประหยัด แรงจูงใจที่สำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่เอกชนสามารถจะเอาเงินสดมาลงทุนได้ ผมคิดว่า แรงจูงใจยังไม่สำคัญเท่ากับมาตรการส่งเสริมให้ทั้งบริษัทของไทยและต่างประเทศมาลงทุนในเมืองใหม่”

โคราชต้องถูกยกระดับ

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า “เมืองใหม่ที่จะเข้ามาในพื้นที่ เอกชนจะต้องเจรจากับหน่วยงานที่กำกับดูแลว่า สิทธิพิเศษเพิ่มเติมในเรื่องภาษี นิติบุคคล และระยะเวลาในการเข้าออกพื้นที่ แม้กระทั่งในเรื่องของการจำหน่ายแอลกอฮอล์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อเป็นพื้นที่เมืองที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใดการหนึ่ง จะสามารถยืดหยุ่นหรือยกเว้นตามกิจกรรมของเมืองที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ดังนั้น คนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในอนาคตจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ทุกคนต้องปรับให้เข้ากับบทบาทของเมืองที่จะเกิดขึ้น เอกชนมองเห็นอยู่แล้วว่า โคราชเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เหมาะที่จะเป็นพื้นที่ที่ถูกยกระดับขึ้นในอนาคต และมีการคำนึงถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะไม่อยากซื้อบ้าน แต่อยากจะเช่าตลอดชีวิต เขาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ควรใส่ใจ ผมย้ำอยู่เสมอว่า นี่คือ Future of Job งานในอนาคตที่จะเกิดขึ้น มีการวางแผนระยะยาวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่อยากให้เด็กเก่ง มีความสามารถในโคราช แต่ไม่มีงานทำ และต้องไปทำงานที่อื่น ถ้ามีงานอยู่ที่นี่เขาก็จะอยู่ที่นี่”

เชื่อมโยง NEEC

ทั้งนี้ นายธนิชา นิยมวัน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่ของโคราช จะทำทั้ง ๔ เมือง คือ เมืองใหม่สุรนารี หนองระเวียง บัวใหญ่ และปากช่อง แต่กรมโยธาธิการและผังเมือง จะเริ่มทำผังเมืองใหม่ด้วยตัวเองที่ตำบลสุรนารีก่อน ส่วนอีก ๓ เมืองจะมีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น เมืองใหม่ปากช่อง จะมีพื้นที่ทหารกับการรถไฟฯ ทั้งสองหน่วยงานจึงจะต้องเข้ามาร่วมมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้การศึกษาโครงการฯ ดำเนินการมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว เหลือรายงานเพียง ๒ ฉบับ เป็นร่างรายงานครั้งสุดท้าย กับรายงานครั้งสุดท้าย โดยโครงการฯ มีระยะเวลาศึกษาทั้งหมด ๖๐๐ วัน จะปิดโครงการในเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ซึ่งการเริ่มต้นศึกษาโครงการฯ ไม่ใหญ่มากนัก แต่ในระหว่างการศึกษามีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาคอีสาน (NEEC) ในแนวพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งการประกาศนี้ อาจจะทำให้โครงการเมืองใหม่ถูกนำไปพูดถึงได้ เมื่อทำ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเสร็จ ก็สามารถนำผังเมืองใหม่นี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งจะการพัฒนา NEEC ก็อาจจะทำให้เริ่มลงมือทำโครงการผังเมืองใหม่หลังศึกษาเสร็จใน ๑-๒ ปี”

นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา

เมื่อถามว่าใช้หลักการใดพิจารณาเลือกพื้นที่ ๔ เมืองใหม่ นายธนิชา ตอบว่า “ที่ปรึกษาโครงการฯ ใช้โปรแกรม GIS : Geographic Information System (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) ไม่ได้ให้มนุษย์เป็นคนคัดเลือก ซึ่งโปรแกรมนี้จะมีอัลกอริทึม (Algorithm) จำนวนมากในการให้ค่าคะแนนจากปัจจัยของข้อมูลสารสนเทศในประเทศไทย ไม่ได้เลือกแบบมองๆ ด้วยตาแล้วเลือกมา แต่ผู้ศึกษาจะใส่ค่าคะแนนปัจจัยต่างๆ ที่มีมากถึง ๗๐ เรื่อง ใส่ไปในกระบวนการ Prosencial Process Analysis แล้วโปรแกรมจะคำนวณออกมาว่า พื้นที่ใดมีศักยภาพเพียงพอ”

เชื่อเมืองใหม่เกิดขึ้นได้

ต่อข้อถามว่า “งบประมาณในการลงมือทำจะมาจากส่วนใด” นายธนิชา เปิดเผยว่า “ตามที่ศึกษาไว้ภาครัฐแทบจะไม่ต้องออกเงินสักบาทเดียว โดยรัฐจะใช้วิธีหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งผังเมืองใหม่มีมูลค่าลงทุนประมาณ ๙ หมื่นล้านบาทต่อพื้นที่ สมมุติว่า วันนี้เอกชนลงทุนซื้อห้างสรรพสินค้าในยุโรปมูลค่า ๑.๘ แสนล้านบาท มีมูลค่าแพงกว่าเมืองใหม่สองเท่า หรือยกตัวอย่าง CP ซื้อ Lotus มูลค่า ๓ แสนล้านบาท ดังนั้น มูลค่าผังเมืองใหม่ที่คิดว่าจะสูง แต่เอกชนไทยยังมีศักยภาพ ถ้าเขาสนใจ ตัวเลขการลงทุนนี้ ไม่ใช่ตัวเองที่จะบอกรัฐบาลว่า คุณต้องไปจัดสรรงบประมาณมา แต่ตัวเลขที่กำหนดนี้ ตั้งใจจะเสนอไปถึงนักลงทุนมากกว่าที่จะไปดึงดูดหน่วยงานรัฐมาลงทุน ซึ่งการเสนอตัวเลขนี้ ผมตั้งใจจะให้เอกชนเห็นถึงกรอบคร่าวๆ ว่า มูลค่านี้ถูกกว่าการลงทุนซื้อห้างสรรพสินค้า หรือถูกกว่าการลงทุนซื้อบริษัทใหญ่ๆ แม้ตัวเลขจะดูมีมูลค่าสูงสำหรับประชาชน แต่สำหรับนักลงทุนผมว่า มูลค่านี้เป็นไปได้”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๖ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1062 1682