January 17,2022
โควิดระบาดหลังฉลองปีใหม่ ปรับโคราชเป็นพื้นที่ควบคุม ผู้ว่าฯจี้เทศบาลนครจัดทำ CI
กลับมาระบาดอีกครั้ง หลังช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๕ โคราชเกิดคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ ปรับพื้นที่ ๒๕ อำเภอเป็นพื้นที่ควบคุม และ ๗ อำเภอพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันการระบาด ผู้ว่าฯ วิเชียรเร่งควบคุมโรค ติดตามทุกอำเภอที่มีการติดเชื้อมากกว่า ๑๐ ราย ป้องกันการระบาดหนัก พร้อมเร่งรัดให้เทศบาลนครฯ หาสถานที่จัดทำเป็น CI สสจ.เชิญชวนไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา มีการระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๕ โดยเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ พบผู้ติดเชื้อ ๙๐ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ปรับมาตรการควบคุมโรค
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “มาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา ฉบับที่ ๓ ซึ่งพื้นที่นำร่อง ๗ อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โชคชัย เมือง ปากช่อง พิมาย วังน้ำเขียว และสีคิ้ว เนื่องจากเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๕ มีประกาศข้อกำหนดฉบับที่ ๔๑ ของ ศบค. ได้กำหนดว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้ม จำนวน ๒๕ อำเภอ ซึ่งในประกาศระบุอีกว่า ให้พื้นที่ควบคุมปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑.การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ พื้นที่ควบคุมห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนเกินกว่า ๕๐๐ คน ส่วนพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว กำหนดว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลจำนวนมาก ให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ๒.การผ่อนปรนและกิจกรรมที่สามารถทำได้ กำหนดว่า โรงเรียนหรือสถานบันการศึกษา สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนได้ ส่วนร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มสามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ แต่ห้ามการบริโภคสุราภายในร้าน ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดได้ตามปกติ แต่พื้นที่สวนน้ำและสวนสนุกยังคงให้ปิดไว้ โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุม สามารถเปิดให้บริการได้ โดยมีมาตรการที่ปลอดภัย เช่น การจำกัดจำนวน หรือให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สำหรับคลินิก สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวยแต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ ร้านสปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดทำการได้ไม่เกินเวลา ๒๔.๐๐ น. และพื้นที่สวนสาธารณะ สนามกีฬา และสระน้ำเพื่อการกีฬา สามารถเปิดได้ตามปกติ แต่ถ้าจัดให้มีการแข่งขันกีฬาในร่ม ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าชมไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของความจุสนาม ส่วนกีฬากลางแจ้ง จำกัดผู้เข้าชมไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุสนาม”
“สำหรับมาตรการต่างๆ อาจจะต้องทำประกาศออกมาเพื่อความชัดเจน เช่น กรณีที่บอกว่า ตามเวลาที่กำหนด คือ เท่าไหร่ ร้านอาหารในพื้นที่บลูโซน จำหน่ายสุราได้ไม่เกิน ๒๑.๐๐ น. จำหน่ายอาหารได้ไม่เกิน ๒๓.๐๐ น. การจำกัดจำนวนคนก็ไม่เกิน ๕๐๐ คน ส่วนการจัดงานนิทรรศการต่างๆ อาจจุได้ถึง ๑,๐๐๐ คน เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของ ศบค. เดี๋ยวจะมีข้อขัดแย้งว่า ศบค.กำหนดอย่างนี้ แต่จังหวัดกำหนดไม่สอดคล้องกัน โดยขอให้ทำเป็นภาพอินโฟกราฟิกว่า ๒๕ อำเภอที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม สามารถทำอะไรได้บ้าง และ ๗ อำเภอนำร่องการท่องเที่ยวทำอะไรได้บ้าง จะได้มีความชัดเจนให้กับประชาชน”
นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “ประกาศของ ศบค. ยังกำหนดมาตรการ เรื่องการจำหน่ายหรือบริโภคสุราในร้านอาหาร สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวไว้อย่างขัดเจน โดยการดื่มสุราสามารถทำได้ไม่เกิน ๒๑.๐๐ น. ส่วนการนั่งรับประทานอาหารยังนั่งได้ แต่การดื่มสุราจะต้องงดภายหลัง ๒๑.๐๐ น. และร้านอาหารที่จำหน่ายสุราจะต้องผ่านมาตรฐาน SHA Plus ของ ททท. หรือผ่านมาตรฐาน Thai Stop Covid 2 Plus ของกรมอนามัย ทั้งนี้ สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังคงให้ปิดดำเนินการไว้ แต่ถ้าผู้ประกอบการต้องการเปิดบริการ สามารถปรับรูปแบบให้เป็นร้านจำหน่ายอาหารได้ โดยจะต้องขอรับการประเมินและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ภายในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๕”
บลูโซนต้องผ่าน SHA Plus
นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “พื้นที่ ๗ อำเภอนำร่องการท่องเที่ยว (บลูโซน) ไม่ได้หมายความว่า ร้านอาหารทุกร้านสามารถเปิดให้จำหน่ายและดื่มสุราได้ แต่จะต้องเข้ารับการประเมินมาตรบาน SHA Plus ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือผ่านมาตรฐาน Thai Stop Covid 2 Plus ของกรมอนามัย และจะต้องมีป้ายบ่งบอกชัดเจนว่าผ่านการประเมินแล้ว รวมถึงผู้ใช้บริการจะต้องทราบชัดเจนว่า สามารถดื่มสุราได้ไม่เกิน ๒๑.๐๐ น. หลังจากนั้นยังสามารถรับประทานอาหารต่อได้ไม่เกิน ๒๓.๐๐ น. ซึ่งขณะที่เปิดจำหน่ายหรือดื่มสุรา ผู้ประกอบการก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของ SHA Plus หรือ Thai Stop Covid 2 Plus ตลอดเวลา เพื่อให้สถานประกอบการมีความปลอดภัย โดยภาครัฐจะมีการตรวจสอบตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยจากโควิด-๑๙ แต่ถ้าตรวจพบว่า มีการย่อย่อนมาตรการ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีสิทธิ์ในการดำเนินตามกฎหมาย”
คลัสเตอร์สถานบันเทิง-สังสรรค์
สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า “คลัสเตอร์ร้าน PEE2 เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ผู้ติดเชื้อสะสม ๔๑ ราย โดยวันนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่เป็นลูกค้าที่เข้ารับบริการเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ และพนักงานภายในร้ายติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย และแพร่กระจายไปยังวงที่ ๒ อีก ๔ ราย คลัสเตอร์ร้าน The Blacklist ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๐ ราย เริ่มต้นจากผู้ป่วยรายแรก อายุ ๑๙ ปี วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ เดินทางไปจังหวัดปทุมธานี วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ เดินทางไปฉลองที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ จากนั้นวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ เดินทางกลับมาอำเภอปากช่อง และร่วมรับประทานหมูกระทะกับเพื่อนๆ วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ ไปสังสรรค์กับเพื่อน ๑๓ คน ที่ร้าน The Blacklist วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ ตรวจ ATK พบผลบวก จึงเข้ารับการตรวจ RT-PCR ผลยืนยันติดเชื้อ จากนั้นสอบสวนโรคพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมเป็นลูกค้า ๑๖ ราย เป็นพนักงาน ๓ ราย กระจายไปยังครอบครัว ๒๐ ราย ทั้งนี้ อำเภอปากช่องจะออกมาตรการปิดสถานบริการในพื้นที่เทศบาลเมืองปากช่อง ตั้งแต่วันที่ ๑๐-๒๓ มกราคม”
“คลัสเตอร์สังสรรค์ปีใหม่ หมู่ ๑๘ ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย มีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๕ ราย เริ่มต้นจากมีคนที่ทำงานอยู่ กทม.กลับมาภูมิลำเนาที่ตำบลรังกาใหญ่ นั่งรถมาพร้อมกับเพื่อน ๒ คน โดยวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ จัดกิจกรรมสังสรรค์ในครอบครัว ประมาณ ๒๐ คน จากนั้นคนที่ทำงาน กทม.เดินทางกลับไปทำงาน และได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ จึงติดต่อมาที่ครอบครัวแจ้งว่า ผลยืนยันติดเชื้อ คนในครอบครัวจึงตรวจ ATK พบผลบวก ๑๕ ราย โดยคลัสเตอร์นี้ยังจำกัดอยู๋ในวงครอบครัวเท่านั้น และคลัสเตอร์กิจกรรมเลี้ยงไก่หรือชนไก่ บ้านหนองรังกา ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง มีผู้ติดเชื้อสะสม ๒๒ ราย เริ่มจากวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ ผู้ป่วยรายแรกทำกิจกรรมชนไก่ที่บ้านโป่งดินสอ ซึ่งมีคนร่วมกิจกรรมประมาณ ๕๐-๖๕ คน เมื่อทำกิจกรรมเสร็จก็นั่งดื่มสังสรรค์ร่วมกัน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ เดินทางไปชนไก่ที่สะพานหิน ตำบลสุรนารี คนร่วมกิจกรรมประมาณ ๓๐ คน วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๔ มีอาการป่วย จึงเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ผลยืนยันติดเชื้อโควิด เจ้าหน้าที่สามาธารณสุขจึงค้นเชิงรุกกับผู้สัมผัสเสี่ยง พบผู้เพิ่มเติมในวงที่ ๑ จำนวน ๑๕ ราย และวงที่ ๒ จำนวน ๕ ราย ล่าสุดวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย”
ต้องตรวจพนักงานเป็นประจำ
นพ.ธีรวัฒน์ วิลัยเสถียร ผู้อำนวยการ สคร.๙ กล่าวว่า จากการติดตามคลัสเตอร์ต่างๆ จะเห็นว่า คลัสเตอร์ร้านอาหารหรือผับบาร์ ส่วนใหญ่จะได้รับมาตรฐาน SHA แล้วจึงเปิดให้บริการได้ แต่เมื่อเปิดให้บริการแล้วมีการระบาด พนักงานมักจะนำเชื้อไปติดกับครอบครัว ดังนั้น ร้านที่ได้รับมาตรฐาน SHA จะต้องให้พนักงานหรือบุคลลากรประเมินตนเองเป็นประจำ ตามมาตรการของ Thai Stop Covid เมื่อเกิดเหตุระบาดขึ้น พนักงานไม่ควรจะนำเชื้อไปแพร่ระบาดสู่คนในครอบครัว หากตรวจพบเชื้อก็ให้หยุดงานและกักตัวทันที และเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องประชาสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ยังเปิดให้บริการตามเดิม
ผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อ ๑๗๓ คน เวลา ๑๐.๐๐ น. ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นพ.สมบัติ วัฒนะ รายงานว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๗๓ ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ๑๕๐ ราย และผู้ติดเชื้อมาจากพื้นที่อื่น ๒๓ ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม ๓๕,๓๖๓ ราย รักษาหาย ๓๓,๘๒๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๑,๒๕๒ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย รวมเสียชีวิตสะสม ๒๘๙ ราย สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม ๑๗๓ ราย แยกตามรายอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมือง ๖๐ ราย ปักธงชัย ๑๖ ราย ปากช่อง ๑๖ ราย แก้งสนามนาง ๑๒ ราย ครบุรี ๑๑ ราย สูงเนิน ๑๐ ราย พิมาย ๙ ราย สีดา ๘ ราย สีคิ้ว ๗ ราย บัวใหญ่ ๔ ราย ชุมพวง ๔ ราย หนองบุญมาก ๓ ราย โนนสูง ๓ ราย ด่านขุนทด ๒ ราย ขามทะเลสอ ๒ ราย เสิงสาง ๒ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย วังน้ำเขียว ๑ ราย และพระทองคำ ๑ ราย
ติดตามรายอำเภอ
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “การติดตามป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มากกว่า ๑๐ คน ประกอบด้วย อำเภอเมือง ปักธงชัย แก้งสนามนาง ครบุรี สูงเนิน และปากช่อง ผมตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้อำเภอเมืองพบผู้ติดเชื้อมากถึง ๖๐ ราย กระจายในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากคลัสเตอร์ต่างๆ ส่วนที่ไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เป็นกรณีใดบ้าง”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองพบผู้ติดเชื้อ ๖๐ ราย อยู่ในการดูแลของสาธารณสุขอำเภอ ๓๑ ราย และเทศบาลนครฯ ๒๙ ราย จากข้อมูลการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยที่ตำบลหนองจะบก ทำอาชีพส่งอาหาร ตำบลโคกกรวดเป็นชาวต่างชาติที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว แต่ไม่พบการติดเชื้อ แต่เมื่อเขาเข้ารับการตรวจ RT-PCR เพื่อยื่นเรื่องกับสถานทูต พบว่า ผลเป็นบวก ขณะนี้รักษาอยู่ที่ รพ.เทพรัตน์ฯ ที่ตำบลบ้านเกาะ เป็นผู้ป่วยที่สัมผัสกับเคสเก่า ที่ตำบลโพนสูง เป็นพนักงานศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ตำบลบ้านโพธิ์ ซึ่งขณะนี้ในศูนย์ฯ พบผู้ป่วย ๓ ราย โดยมีน้องสาวเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทำงานอยู่ที่ศูนย์ไปรษณีย์อำเภอเมือง ที่ตำบลพุดซา ผู้ป่วยไปเที่ยวร้านตะวันแดง ที่ตำบลโพธิ์กลาง ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.ค่ายสุรนารี ๘ ราย นอกจากนี้ยังมีเคสเพิ่มขึ้นมาจากร้านอาหารเบิร์นบาร์ ๑ ราย และเป็นผู้ติดเชื้อมาจากเชียงใหม่ ๑ ราย
เจ้าหน้าที่เทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า “สำหรับเคสที่เทศบาลฯ ดูแล ส่วนใหญ่เกิดจากการสังสรรค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ แล้วนำเชื้อไปติดในชุมชนและครอบครัว แต่ที่ตรวจพบเคสใหม่ เป็นพนักงานฟิตเนสที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ซึ่งในฟิตเนสมีพนักงานทั้งหมด ๑๔ คน มีนักศึกษาฝึกงาน ๒๖ คน แต่มีผู้ติดเชื้อเป็นนักศึกษาฝึกงาน ๒ คน เป็นผู้ใช้บริการ ๔ คน และติดเชื้อไปวงที่ ๒ จำนวน ๑ คน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า มีจุดสัมผัสค่อนข้างมาก จึงให้ปิดฟิตเนส ๓ วัน เพื่อทำความสะอาด และจะประกาศให้คนที่ไปใช้บริการเข้ารับการตรวจหาเชื้อต่อไป”
นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง กล่าวว่า “สำหรับผู้ติดเชื้อในอำเภอปากช่อง ส่วนใหญ่จะเกิดจากคลัสเตอร์เดิม คือ คลัสเตอร์ร้าน blacklist อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ป่วยเพิ่มจากคำสั่งให้กักตัว”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอครบุรี กล่าวว่า “วันนี้พบผู้ติดเชื้อ ๑๑ ราย แบ่งเป็นเคสจากโรงงานน้ำตาล ๗ ราย เนื่องจากโรงงานมีมาตรการให้ตรวจหาเชื้อก่อนเข้าทำงาน จึงพบพนักงานฝ่ายผลิตติดเชื้อ ๗ ราย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อำเภอให้กักตัวแล้ว โดยผู้ติดเชื้อทั้ง ๗ ราย ส่วนใหญ่ติดมาจากการสังสรรค์ช่วงปีใหม่ อาจจะติดจากญาติที่มาจากต่างจังหวัด”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสูงเนิน กล่าวว่า “ผู้ติดเชื้อเกิดจากคลัสเตอร์บ้านหนองพยอม หมู่ที่ ๖ ตำบลหนองตะไก้ ทั้ง ๑๐ เข้ารับการรักษาแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ได้ลงไปตรวจหาเชื้อแล้ว ขณะนี้กำลังรอผลตรวจ”
นายชิดชัย พิรักษา ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอปักธงชัย กล่าวว่า “วันนี้อำเภอปักธงชัยพบผู้ติดเชื้อ ๑๖ โดย ๖ ราย เป็นเด็กกับผู้ปกครองที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอ ซึ่งสัมผัสมาจากเพื่อนที่อยู่ในคลัสเตอร์บ้านหนองพยอม หมู่ที่ ๖ ตำบลหนองตะไก้ อำเภอสูงเนิน นอกจากนี้มีผู้ป่วย ๒ ราย เดินทางมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีก ๕ ราย มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เช่น พัทยา จังหวัดชลบุรี และอีก ๓ ราย ติดเชื้อจากผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และชลบุรี”
เจ้าหน้าที่จากอำเภอแก้งสนามนาง กล่าวว่า “สาเหตุของตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์งานเลี้ยงสังสรรค์ หมู่ที่ ๗ บ้านนาแค ตำบลโนนสำราญ ทราบว่า มีผู้ป่วยยืนยันผลแล้ว เดินทางมาจากจังหวัดชลบุรี กลับมาภูมิลำเนาบ้านนาแค เป็นชาย ๒ หญิง ๑ คน จากการสอบสวนโรคทราบว่า ทั้ง ๓ คน ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ได้จัดงานสังสรรค์ช่วยเทศกาลปีใหม่ที่บ้านนาแค มีผู้ร่วมงานประมาณ ๒๐ คน หลังจากนั้น ๓ คนดังกล่าวกลับไปจังหวัดชลบุรี จึงโทรมาแจ้งคนที่บ้านนาแคว่า ตรวจพบเชื้อ อำเภอจึงลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุก พบผลบวก ๑๒ ราย และวันนี้ตรวจเพิ่มอีก ซึ่งกำลังรอผลตรวจ นอกจากนี้มีคนจากตำบลสีสุกมาร่วมงาน ซึ่งคนดังกล่าวมีตำแหน่งเป็นนายก อบต. ทำงานอยู่ตำบลสีสุก แต่บ้านอยู่ที่อำเภอแก้งสนามนาง จึงมีคนใกล้บ้านติดเพิ่มอีก ๑ ราย แต่จุดแพร่เชื้ออยู่ที่บ้านนาแคและไทยสามัคคี วันนี้จึงจะขออนุมัติปิดหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด”
ต้องรีบฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวสรุปว่า “งานสังสรรค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ ภาครัฐไม่ได้ห้าม แต่เมื่อพบการติดเชื้อแล้ว จะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด คงไม่มีการต่อว่ากันว่า ใครทำให้เกิดการติดเชื้อ เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วต้องควบคุมอย่างรวดเร็ว”
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวว่า “ขณะนี้ที่ต้องเน้นคือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่ง สสจ.ได้แจ้งกับทุกโรงพยาบาล ให้เปิดจุดฉีดเพิ่มเติม ขณะเดียวกันจุดฉีดเดอะมอลล์โคราช ซึ่งหยุดฉีดไปตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ จะกลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ เนื่องจากประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย สิ่งสำคัญที่จะต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพราะว่า ขณะนี้มีเด็กอายุ ๓-๑๑ ปี ยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะต้องรอวัคซีนเฉพาะสำหรับกลุ่มนี้ หากประชาชนติดเชื้อสู่เด็กอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้น ทุกคนจะต้องฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็ก คาดว่าวัคซีนที่จะฉีดให้เด็ก จะเริ่มฉีดได้ต้นเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้โควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว กลัวจะติดเชื้อในเด็กมากขึ้น เพราะวันนี้ผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนหมดแล้ว ดังนั้น การตรวจด้วย ATK จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากมีอาการไม่รุนแรงให้นำเข้าสู่ Home Isolution (HI) แต่จะต้องประเมินความเหมาะสมของแต่ละบ้านให้ดีว่า เหมาะที่จะอยู่หรือไม่ ส่วน CI (Community Isolation) ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตลอด ขอให้ทุกอำเภอสำรวจและปรับให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้หลายแห่งปรับปรุงแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ CI ในเขตอำเภอเมืองยังมีน้อย ในส่วนนี้ขอให้ รพ.มหาราชฯ รพ.เทพรัตน์ฯ และ รพ.มทส. ช่วยดูแล CI ด้วย เพราะครั้งนี้จะเน้นใช้ CI เนื่องจากใช้บุคลากรไม่มาก จะช่วยทำให้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมทำด้วยกัน โดย สสจ.จะเป็นตัวกลางในการดำเนินการ ส่วน รพ.สนามที่มีอยู่ ก็จะพยายามปรับให้เป็น CI เพื่อจะดูแลง่ายขึ้นต่อไป”
เร่งเทศบาลนครฯ จัดทำ CI
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “เราช่วยเทศบาลนครฯ มาตลอด วันนี้เทศบาล นครฯ จะต้องช่วยตัวเองด้วย วันนี้จะต้องไปคุยกับผู้บริหารเทศบาลฯ ในการจัดหาพื้นที่ทำ CI บางครั้งการที่จังหวัดจัดหา ก็เป็นเรื่องของภาพรวม และ อปท.อื่นเขาก็หาแล้ว แต่เทศบาลนครฯ จะต้องหาด้วย การประชุมครั้งต่อไปในวันศุกร์ที่ ๑๕ มกราคมต้องทราบว่า จะจัดทำ CI ที่ใดบ้าง อปท.อื่นเขามีหมดแล้ว ยกเว้นเทศบาลนครฯ เท่านั้น”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๐ วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
62 1,602