14thSeptember

14thSeptember

14thSeptember

 

January 25,2022

มทร.อีสาน จับมือ วช. บางจาก และ บีบีจีไอ ต่อยอดการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (SAF) นำไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่ 24 มกราคม 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในการทำความร่วมมือการสร้างนวัตกรรมสีเขียวเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel; SAF) สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากฐานงานวิจัย ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลในการนำประเทศไทยสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือเรียกสั้นๆ ว่า Net Zero Carbon) ภายใน ค.ศ. 2065

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน ในฐานะมหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ตามประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และวิจัย เรามีเป้าหมายหลักคือการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อสนองการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยนอกจากการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาเป็นนักวิจัยที่สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และคณะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประเทศอย่างแท้จริงจึงนำมาสู่ความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มทร.อีสาน กล่าวว่า โครงการ “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช. ตั้งแต่ปี 2563 โดยคณะผู้วิจัยพบว่าประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลจากวัสดุทางการเกษตรเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามในกระบวนการกลั่นเอทานอลจะให้ฟูเซลแอลกอฮอล์ (Fusel alcohol) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วฟูเซลแอลกอฮอล์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ คณะผู้วิจัยจึงได้เลือกนำฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอลนี้มาศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการเร่งปฏิกิริยาทางเคมี จนกระทั่งได้ผลลัพธ์ในการเปลี่ยนฟูเซลแอลกอฮอล์ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งทำให้ฟูเซลแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงขึ้น โครงการวิจัยนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล และช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาของสภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” นี้ประสบผลสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการหรือ Lab Scale ในการผลิตน้ำมันชีวภาพ สำหรับใช้ในเครื่องบินซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงจากวัตถุดิบที่เรียกว่าฟูเซลแอลกอฮอล์ของโรงงานผลิตเอทานอลที่มีวัตถุดิบจากกากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจตามการส่งเสริมของนโยบายภาครัฐ อีกทั้งงานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้งานในระดับประเทศ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์และการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโรงงานเอทานอลในเชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องบินที่มีคุณภาพสูงและคาร์บอนต่ำ สำหรับส่งออกและใช้ภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจาก กล่าวว่า ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2075 โดยมีเป้าหมายสำคัญเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ. 2050 บางจากฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนการใช้ฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคขนส่ง ซึ่งบางจากฯ ได้พัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับใช้ในการขนส่งทางบกมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้มีโอกาสนำองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยในประเทศมาทดลองผลิตเพื่อพัฒนา SAF ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 80% ตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป แต่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำมันอากาศยานคุณภาพสูงเหมาะสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นขับไล่ของกองทัพอากาศอีกด้วย

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การศึกษาต่อยอดจากฐานงานวิจัยในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น จากวัตถุดิบภาคการเกษตรที่มีอยู่มากมายเพื่อพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งองค์ความรู้ในการผลิต SAF นี้ มีฟูเซลแอลกอฮอล์ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่นเอทานอลเป็นวัตถุดิบ บริษัท บีบีจีไอฯ มีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายไบโอดีเซลและเอทานอล โดยโรงงานผลิตไบโอดีเซลมีกำลังการผลิตรวม 1,000,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานผลิตเอทานอลมีกำลังการผลิตรวม 600,000 ลิตรต่อวัน ทำให้มีความเชี่ยวชาญเต็มศักยภาพและพร้อมสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากกระบวนการผลิตเอทานอลและสนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสีเขียว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในนามกลุ่มบางจากฯ

"ทั้งนี้ จากความร่วมมือ ทุกฝ่ายจะร่วมกันวิจัยต่อเนื่องและทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อผลักดันในเชิงพาณิชย์ โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการผลิตเพื่อทดลองใช้ในเครื่องบินทหาร ซึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์มีสมบูรณ์แล้วจะนำไปใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ต่อไป และหากความร่วมมือนี้ประสบผลสำเร็จ ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ทั้งยังจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสู่การแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งจะนำพาประเทศไทยสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 นี้ได้อย่างแน่นอน" รศ.ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย


59 1,569