20thApril

20thApril

20thApril

 

January 30,2022

จัดสรรงบให้โคราช ๓๐๘ ล. สร้างพนังริมลำตะคอง ป้องกันรพ.มหาราชฯท่วม

กระทรวงมหาดไทย เห็นชอบจัดสรรงบกลางฉุกเฉิน ๓๐๘ ล้านบาทให้โคราช ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลมหาราชฯ และบริเวณใกล้เคียง ด้าน “โยธาธิการจังหวัดฯ” เผยโครงการมี ๓ เฟส แก้ปัญหาน้ำท่วมในและนอกโรงพยาบาลฯ พร้อมยกระดับถนนให้สูง เพื่อรับส่งผู้ป่วยในช่วงน้ำท่วม

สืบเนื่องจาก กระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือเรื่อง การขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และบริเวณใกล้เคียง ถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยระบุรายละเอียดว่า ตามที่ จังหวัดนครราชสีมา ได้ขอให้กระทรวงมหาดไทย นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และบริเวณใกล้เคียง จำนวน ๓๐๘,๒๔๘,๓๕๐ บาท บัดนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายการดังกล่าวแล้ว ลงนามโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๓๐ น. นายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลกับ “โคราชคนอีสาน” ในกรณีดังกล่าวว่า “เนื่องจากในปี ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมาประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งมวลน้ำเหล่านี้มาพร้อมกันจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน และเขื่อนลำแชะ ทำให้เกิดผลกระทบทั้งโคราช โดยเฉพาะน้ำที่มาจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจหรือเขตตัวเมืองโคราช เมื่อไหลผ่านไปก็ไปสะสมกับมวลน้ำจากทิศทางอื่น ทำให้น้ำในเขตเมืองระบายช้าขึ้น กระทั่งเกิดเป็นน้ำท่วมในที่สุด โดยจุดที่ประสบปัญหามากที่สุดอยู่ที่บริเวณโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หากจุดนี้เกิดน้ำท่วมขึ้นก็จะมีผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ผู้ป่วยที่รักษาอยู่ ผู้ป่วยที่จะเดินทางมารับการรักษา และแพทย์ที่ทำงานอยู่เกิดความเดือดร้อนลำบาก ทุกภาคส่วนในโคราชจึงช่วยกันระดมกำลังช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานชลประทานจังหวัดฯ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ โรงพยาบาลมหาราชฯ สำนักงานโยธาฯ ทหาร ตำรวจ ภาครัฐและเอกชน ถ้าหากทุกคนไม่ร่วมมือกันอาจจะไม่สามารถปกป้องโรงพยาบาลฯ ไว้ได้”

“เดิมทีโรงพยาบาลฯ มีเขื่อนป้องกันตลิ่งอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งที่สร้างมาโดยมีวัตถุประสงค์เดิมไม่ใช่การป้องกันน้ำท่วม ดังนั้น เมื่อเกิดน้ำท่วมในปี ๒๕๖๔ จึงทำให้ทราบว่า เขื่อนไม่สามารถป้องกันได้ และน้ำก็ลอดใต้เขื่อนมา ในเมื่อเขื่อนป้องกันตลิ่งไม่สามารถรับมือน้ำท่วมได้ จึงมีการตั้งโจทย์ว่า หากต้องการป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองจริงๆ จะต้องมีกำแพงหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้เข้ามาเสริมของเก่า อาจจะปรับปรุงจากเขื่อนเดิมให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดินเกิดขึ้นอีก และอีกปัญหาหนึ่ง เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น ระบบบำบัดน้ำเสียก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะไม่สามารถผลัดน้ำเสียออกไปได้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงถามว่า หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแบบนี้ขึ้นอีก จะแก้ไขปัญหากันอย่างไร โดยถามกรมงานโยธาธิการฯ ว่า ‘มีงบประมาณหรือไม่ ช่วยสนับสนุนงบประมาณหน่อย’ ผมในฐานะโยธาธิการจังหวัดฯ จึงเรียนผู้ว่าฯ ว่า การจะก่อสร้างอะไรก็ตาม จะต้องบรรจุในแผนงบประมาณก่อน ยกเว้นจะเป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆ ซึ่งสามารถของบกลางได้ ผู้ว่าฯ จึงพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา กระทั่งเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยเห็นชอบในเบื้องต้นแล้ว จำนวน ๓๐๘ ล้านบาท โดยงบประมาณนี้ เป็นเพียงการเห็นชอบด้วยว่า จะเสนอให้ แต่ไม่ใช่การอนุมัติ ซึ่งทำให้ติดปัญหาว่า จะต้องใช้งบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี เพราะงบส่วนนี้เป็นงบเร่งด่วน จึงทำให้มี ๒ ทางเลือก คือ ๑.ลดขนาดโครงการลง เพื่อจะได้ใช้งบประมาณให้แล้วเสร็จใน ๑ ปี ๒.ผันงบประมาณก้อนนี้ไปให้กรมโยธาฯ เป็นหน่วยงานดำเนินการแทน โดยใช้งบประมาณปกติ”

“ในส่วนของรายละเอียดโครงการ วางแผนดำเนินการไว้ ๓ เฟส คือ เฟสที่ ๑ ระบบป้องกันน้ำท่วมภายในโรงพยาบาลมหาราชฯ เฟสที่ ๒ ระบบป้องกันน้ำท่วมภายนอกโรงพยาบาลมหาราชฯ เช่น พื้นที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลนครฯ โดยจะเริ่มจากบริเวณเขื่อนอัษฎางค์เป็นต้นไป ถึงบริเวณวัดสามัคคี และเฟสที่ ๓ ยกพื้นผิวถนนบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลมหาราชฯ ให้สูงขึ้น เพราะจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุด การนำผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลฯ กระทำได้ลำบาก จึงคิดว่าจะต้องปรับปรุงจุดนี้ด้วย โดยจะให้เทศบาลนครฯ ซึ่งเป็นเจ้าของถนน เป็นผู้รับผิดชอบยกพื้นผิวถนนให้สูงขึ้น หากจำเป็นต้องวางท่อระบายน้ำก็ต้องวางท่อเพิ่มเติบ เมื่อมีน้ำท่วมเกิดขึ้นอีก ก็ยังสามารถรับส่งผู้ป่วยได้ พื่อให้ระบบการรักษาผู้ป่วยเป็นปกติ”

นายอนุชา เจริญพันธ์ กล่าวท้ายสุดว่า “ขณะนี้ยังติดปัญหาเพียงเล็กน้อยเรื่องงบประมาณว่า ใครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เนื่องจากการใช้งบประมาณ ๓๐๘ ล้านบาท ไม่สามารถเบิกได้ภายใน ๑ ปี แต่ถ้าทำไม่ได้ภายใน ๑ ปี ก็ต้องผลักภาระไปให้กรมโยธาธิการฯ เป็นคนดำเนินการ ซึ่งจากการพูดคุยกับสำนักงบประมาณในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง เขาบอกว่า ต้องการให้กรมโยธาธิการฯ ไปก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อน โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี ๒๕๖๕ หากไม่สามารถใช้งบกลางได้ ก็จะเริ่มก่อนสร้างได้ทันที ตอนนี้ทุกฝ่ายก็กำลังติดตามอยู่ว่า ปัญหานี้จะไปทางใดได้บ้าง ถ้างบกลางผ่อนผันให้เบิกได้ ๖ เดือน ๒ ครั้ง ก็ตกลงใช้งบกลาง หากเบิกไม่ทันก็ต้องกันเงินไปอีก ๖ เดือน แบบนี้อาจจะมีสิทธิ์ที่จะก่อสร้างโครงการให้เสร็จเร็วขึ้น แต่ถ้าให้กรมโยธาธิการฯ รับผิดชอบ ก็จะกลายเป็นงบผูกพันอย่างน้อยระยะเวลาก่อสร้างประมาณ ๒-๓ ปี ดังนั้น การดำเนินงานก่อสร้างก็อาจจะล่าช้าออกไป”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๒ ประจำวันที่ ๒๖ เดือนมกราคม - วันอังคารที่ ๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๕

 


1033 1400