29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 03,2022

๒ อำเภอใหม่อีกหลายด่าน ‘ภูกระโดน-เขาภูหลวง’

ความคืบหน้าการจัดตั้งอำเภอใหม่ “อำเภอเขาภูหลวง” สภา อบจ.เร่งศึกษาข้อมูล เพื่อพิจาณาให้ความเห็นชอบ ส่วน “อำเภอภูกระโดน” กรมการปกครองให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ด้านปลัดจังหวัดฯ เผยการใช้งบจัดตั้งอำเภอใหม่คุ้มค่า ช่วยประชาชนลดการเดินทาง ติดต่อราชการสะดวกมากขึ้น แต่ยังเหลืออีกหลายขั้นตอน


ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เคยนำเสนอข่าวการจัดตั้งอำเภอใหม่ ๒ แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอภูกระโดน ประกอบด้วย ๓ ตำบลในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว คือ ตำบลหนองน้ำใส ตำบลหนองหญ้าขาว และตำบลดอนเมือง มีพื้นที่ ๔๙ หมู่บ้าน ประชากรรวม ๓๐,๙๒๗ คน และอำเภอเขาภูหลวง ประกอบด้วย ๓ ตำบลในพื้นที่อำเภอปากช่อง คือ ตําบลวังกะทะ ตําบลคลองม่วง ตําบลโป่งตาลอง และ ๑ ตําบลในพื้นที่อําเภอวังน้ำเขียว คือ ตำบลระเริง รวม ๔ ตําบล ๗๒ หมู่บ้าน ประชากร ๓๑,๕๓๙ คน

ต่อมาวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมลำปลายมาศ โรงแรมแคนทารี โคราช องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) มีการประชุมสภาฯ สมัยสามัญ สมัยที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ซึ่งมีระเบียบวาระการประชุม ๘ วาระ โดยฝ่ายสภาประกอบด้วย นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ. พร้อมรองประธานสภา เลขานุการสภา ด้านฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ. พร้อมรองนายก อบจ. ๔ คน และสมาชิกสภา อบจ. ๓๘ คน จาก ๔๘ คน นอกจากนี้ ยังมีหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมภายใต้มาตรการการตรวจคัดกรองของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับวาระสำคัญ ได้แก่ ระเบียบ วาระที่ ๕ การเสนอญัตติ เรื่องการจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอเขาภูหลวง โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้นำแถลงต่อสภา อบจ.นครราชสีมา เพื่อขอความเห็นชอบในการจัดตั้งอำเภอเขาภูหลวง ในพื้นที่ ๓ ตำบลในอำเภอปากช่อง คือ ตําบลวังกะทะ ตําบลคลองม่วง ตําบลโป่งตาลอง และ ๑ ตําบลในอําเภอวังน้ำเขียว คือ ตำบลระเริง รวม ๔ ตําบล ๗๒ หมู่บ้าน ประชากร ๓๑,๕๓๙ คน ซึ่งทั้ง ๔ ตำบลอยู่ห่างจากตัวอำเภอ มีความลำบากในการเดินทางและติดต่อราชการ ซึ่งสภา อบจ.รับเรื่องไว้พิจารณา และแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งอำเภอเขาภูหลวง ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจาก สมาชิกสภาฯ เข้ามาจำนวน ๗ คน เป็นสมาชิก อบจ. ๕ คน และบุคคลภายนอก ๒ คน โดยคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมหารือ จากนั้นจะลงพื้นที่จริง เพื่อเก็บข้อมูลมานำเสนอในที่ประชุมสภาฯ ครั้งต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่ศาลาวัดหนองสองห้อง ตำบลวังกะทะ คณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งอำเภอเขาภูหลวง ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลอำเภอที่ขอจัดตั้งใหม่ (อำเภอเขาภูหลวง) โดยมีนายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.อำเภอบ้านเหลื่อม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้นำศึกษาพื้นที่และพบปะสอบถามประชาชน ผู้นำชุมชนท้องถิ่นทั้ง ๔ ตำบล โดยเบื้องต้นประธานคณะกรรมการฯ จะนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาพื้นที่ไปนำเสนอต่อที่ประชุมสภา อบจ.นครราชสีมา เพื่อขอความเห็นชอบในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการขอตั้งอำเภอใหม่

นายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา

เวลา ๑๔.๐๐ น. นายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีการจัดตั้งอำเภอใหม่ว่า “ความคืบหน้าของการจัดจั้งอำเภอเขาภูหลวง หลังจากที่อำเภอได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้นำเข้าที่ประชมุของสภา อบต.ทั้ง ๔ แห่ง ได้แก่ อบต.วังกะทะ คลองม่วง โป่งตาลอง และระเริง ซึ่งที่ประชุมสภา อบต.ทั้ง ๔ แห่งมีมติเห็นชอบ และต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม สภา อบจ.เพื่อให้เห็นชอบด้วย และจากนั้นจึงจะนำเข้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเข้าที่ประชุมสภา อบจ. โดยสภาฯ มีมติตั้งกรรมาธิการ ๗ คน เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ ศึกษารายละเอียด และสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้กรรมาธิการกำลังลงพื้นที่”

“จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้ง ๔ ตำบล ประชาชนมีความเห็นด้วย ไม่มีการคัดค้านอะไร เพราะว่า การจัดตั้งอำเภอใหม่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน เช่น คนที่อยู่ในตำบลโป่งตาลองหรือคลองม่วง ปกติเดินทางมาอำเภอปากช่อง ระยะทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร แต่เมื่อจัดตั้งอำเภอเขาภูหลวง ก็จะทำติดต่อราชการง่ายขึ้น เดินทางสะดวกมากขึ้น ในส่วนของประชาชนในตำบลระเริง เดินทางไปอำเภอวังน้ำเขียว ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร หากอำเภอใหม่จัดตั้งขึ้น ประชาชนก็จะมีความสะดวกสบาย มีทั้งสถาบันการเงิน โรงพยาบาล และส่วนราชการต่างๆ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง”

นายวิจิตร กล่าวอีกว่า “ในส่วนของงบประมาณในการจัดตั้งอำเภอใหม่ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น หากผ่านความเห็นชอบในระดับจังหวัด ก็จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อถึงขั้นตอนนี้จึงจะมีการพิจารณาตั้งงบประมาณในการก่อสร้างส่วนราชการต่างๆ ซึ่งการใช้งบประมาณก่อสร้างต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของการพัฒนาหรือขยายความเจริญ ประชาชนในพื้นที่จะได้รับความสะดวกสบาย อย่างน้อยการติดต่อราชการก็ไม่ต้องเดินทางไกล อีกหน่อยมีโรงพยาบาลใหม่เกิดขึ้น ประชาชนที่จะรับการรักษาก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล เจ็บป่วยจะได้รักษาได้ทัน และโรคที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญก็จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล สามารถรักษาใกล้บ้านได้ การจัดตั้งอำเภอใหม่มีแต่ความสะดวกสบาย เรื่องการใช้งบประมาณถือเป็นเรื่องปกติในการขยายการให้บริการประชาชน เรื่องงบประมาณผมคิดว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะไม่เห็นด้วย เพราะเราเสียงบประมาณเพื่อบริการประชาชน ย่อมมีผลดีมากกว่า ซึ่งจากการรับฟังความของประชาชน ทุกคนก็มีความยินดีในการจัดตั้งอำเภอใหม่ ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชนทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังคงมีอีกหลายขั้นตอน คงจะไม่แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จะนานเท่าไหร่ไม่สามารถบอกได้ เพราะขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น ฐานะการเงินการคลังของประเทศ ก็คงขึ้นอยู่ในระดับกระทรวงฯ ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร”

“สำหรับความคืบหน้าของอำเภอภูกระโดน ผ่านมติของสภา อบจ.แล้ว มีการเสนอไปยังกรมการปกครองแล้ว แต่กรมการปกครองให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ เพื่อจะส่งให้กรมการปกครองต่อไป และในส่วนของอำเภออื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า กำลังศึกษาจัดตั้งอำเภอใหม่อีก ๔ แห่ง ซึ่งในส่วนที่ผมรับผิดชอบขณะนี้จะทำเพียง ๒ อำเภอนี้ก่อน คือ อำเภอเขาภูหลวง และอำเภอภูกระโดน” นายวิจิตร กล่าวท้ายสุด

ทั้งนี้ การตั้งอำเภอใหม่จะต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ ๑.การจัดตั้งกิ่งอำเภอ จะต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ คน มีตำบล ๔ แห่งขึ้นไป มีที่ว่าการกิ่งอำเภอใหม่ ซึ่งควรมีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมไม่น้อยกว่า ๒๐ กิโลเมตร โดยให้ใช้ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อเท็จจริงจากการสำรวจของจังหวัดนำมาประกอบการพิจารณา และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด

๒.การจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอนั้นต้องได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี แต่ข้อกำหนดนี้สามารถยกเว้นได้ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อำเภอใหม่ต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๓๕,๐๐๐ คน และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ทั้งนี้ การจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ หากพื้นที่นั้นไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ทั้ง ๒ อย่าง แต่มีความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองหรือความมั่นคง เช่น เป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่ปัญหาความสงบไม่เรียบร้อย พื้นที่ชายแดน และพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ กระทรวงมหาดไทยสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นกรณีพิเศษได้ แต่จะต้องจัดทำประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน หากประชาชนไม่ยินยอมก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้

อนึ่ง จังหวัดนครราชสีมา แบ่งการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ๒๘๗ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ได้แก่ ๑.อำเภอเมืองนครราชสีมา ๒.คง ๓.ครบุรี ๔.อําเภอจักราช ๕.โชคชัย ๖.ชุมพวง ๗.ด่านขุนทด ๘.โนนไทย ๙.บัวใหญ่ ๑๐.โนนสูง ๑๑.ปักธงชัย ๑๒.ปากช่อง ๑๓.พิมาย ๑๔.สีคิ้ว ๑๕.สูงเนิน ๑๖.ประทาย ๑๗.ห้วยแถลง ๑๘.ขามทะเลสอ ๑๙.ขามสะแกแสง ๒๐.เสิงสาง ๒๑.บ้านเหลื่อม ๒๒.หนองบุญมาก ๒๓.แก้งสนามนาง ๒๔.โนนแดง ๒๕.วังน้ำเขียว ๒๖.เมืองยาง ๒๗.เทพารักษ์ ๒๘.พระทองคํา ๒๙.ลําทะเมนชัย ๓๐.เฉลิมพระเกียรติ ๓๑.สีดา และ ๓๒.บัวลาย มีประชากรทั้งหมด ๒,๖๓๔,๒๑๓ คน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๖๔)

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๑ วันพุธที่ ๓๐ เดือนมีนาคม - วันพุธที่ ๕  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


987 1686