20thApril

20thApril

20thApril

 

April 30,2022

‘ชาติพัฒนา’พร้อมสู้ศึกส.ส. ‘สุวัจน์’ย้ำเกิดที่ไหนตายที่นั่น


 

‘สุวัจน์’ นั่งประธานพรรคชาติพัฒนา ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ ๔ ด้าน คือเศรษฐกิจ สังคมท้องถิ่น เทคโนโลยี และการเมือง เผยชาติพัฒนามีความพร้อม มีความตั้งใจทำงาน ขอโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ เพื่อนำเศรษฐกิจยุคทองกลับมาอีกครั้ง ย้ำเกิดที่ไหนตายที่นั่น ยึดโคราชเป็นเรือนตาย

 

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา เวลา ๑๐.๐๐-๑๔.๐๐ น. ที่โรงแรมแคนทารีโคราช พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) จัดประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี ๒๕๖๕ โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา และ ส.ส.นครราชสีมา รวมทั้งที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ประกอบด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายสุเมธ ศรีพงษ์ อดีต ส.ว.นครราชสีมา, นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ในฐานะรองหัวหน้าพรรคฯ และสมาชิกพรรคชาติพัฒนาจากทั่วประเทศ ๒๙๐ คน ร่วมประชุมและลงคะแนนเลือกตั้งประธานพรรค

การประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญ คือ การเสนอสมาชิกพรรคชาติพัฒนาให้ความเห็นชอบงบการเงิน รายงานการดำเนินกิจการของพรรค และแก้ไขข้อบังคับพรรค โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างของพรรค ด้วยการยกเลิกตำแหน่งประธานที่ปรึกษาและคณะที่ปรึกษาพรรค เปลี่ยนให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านเทคโนโลยี มาทำหน้าที่แทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพรรคชาติพัฒนาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ของโลก และที่สำคัญมีการแต่งตั้งตำแหน่งประธานพรรคชาติพัฒนา โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบ เลือกนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานพรรคชาติพัฒนา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นประธานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้ง ๔ ด้าน เพื่อจัดทำนโยบายและข้อเสนอแนะในการบริหารงานของพรรคชาติพัฒนาให้ทันกับการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองและสร้างความอยู่ดี กินดี ให้กับพี่น้องประชาชน

‘สุวัจน์’ประธานพรรคชาติพัฒนา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า “ขอขอบคุณหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกทุกคน ที่ไว้วางใจให้ผมรับตำแหน่งประธานพรรคชาติพัฒนา จากการแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของพรรคชาติพัฒนาให้สอดคล้องกับภาวะปัญหา และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปัจจัยต่างๆ ของโลกรอบตัวเรา และปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อให้พรรคชาติพัฒนามีขีดความสามารถในการทำงานทางการเมือง โดยโครงสร้างพรรคใหม่ ภายใต้ข้อบังคับที่มีการแก้ไขวันนี้ จะเพิ่มเติมให้มีโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคมีทั้งหมด ๔ คณะ คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมท้องถิ่นและการเมือง ด้านเทคโนโลยี และด้านการเมือง โดยมีประธานพรรค เป็นประธานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็จะคล้ายๆ กับบริษัทใหญ่ๆ ที่จะมีคณะผู้บริหารและบอร์ดใหญ่ โดยบอร์ดใหญ่จะดูแลเรื่องนโยบายต่างๆ มอบให้กับคณะผู้บริหารรับไปพิจารณาเป็นแนวทางการบริหาร คณะผู้บริหารของพรรคก็มีหัวหน้าพรรคเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็จะทำหน้าที่คล้ายบอร์ดนโยบายที่จะประกอบด้วยผู้อาวุโส ผู้มีประสบการณ์ นักวิชาการต่างๆ มาร่วมกันคิดยุทธศาสตร์และนโยบาย ที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของประเทศและของประชาชนให้ลุล่วง โดยมอบยุทธศาสตร์และนโยบายให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรครับไปเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป”

ทางออกประเทศหลังเลือกตั้ง

จากนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ บรรยายสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้หัวข้อ “ทางออกของประเทศภายหลังการเลือกตั้ง” ว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองหรือนักการเมือง จะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ หาวิธีแก้ไขปัญหาของประเทศ นำความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจกลับมา ซึ่งผมคิดทางออกได้ทั้งหมด ๗ เรื่อง คือ ๑.การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดูแลผลกระทบจากโควิด-๑๙ ซึ่งหลังจากนี้ โควิดอาจจะเริ่มคลี่คลายหรือรุนแรงน้อยลง เพราะประชาชนฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่ปัญหาจะยังไม่จบสิ้น การติดเชื้อจะมีต่อเรื่อยๆ บางคนหายป่วยแล้วก็ยังได้รับผลกระทบลองโควิด (Long Covid) ดังนั้น รัฐบาลที่จะเข้ามาต้องเตรียมความพร้อมทุกด้าน เช่น ยา อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ อย่าคิดว่าโควิดจะจบง่ายๆ และอาจจะมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นอีก เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ประชาชนก็จะตื่นตระหนก ของบางอย่างขาดแคลน เหมือนตอนที่โควิดระบาด ประเทศไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัยและวัคซีน ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อม อาจจะหาวัคซีนเอง ผลิตในประเทศ ต้องมีศูนย์วิจัยต่อสู้กับโรคระบาดใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจก็ต้องแก้ไข มีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เศรษฐกิจรากหญ้ากำลังอ่อนแอ หากไม่มีการกระตุ้นก็อาจจะตายได้ จึงต้องกระตุ้นให้ฟื้น ให้มีกำลังเติบโตกลับมา โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๔ เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังดีขึ้น เพราะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ แม้อาการจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไม่ได้เติบโตกลับมาเท่าเดิม และยังต้องมาพบกับปัญหาสงครามและเงินเฟ้ออีก ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัฐ หากเศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ก็เท่ากับเศรษฐกิจยังติดลบอยู่ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันด้วย เพราะราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจยากขึ้น รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาราคาน้ำมัน หากทำได้เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยกู้เงินมา ๑.๙ ล้านล้านบาท และ ๕ แสนล้านบาท เศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น แต่วันนี้อาจจะต้องเตรียมเงินอีกประมาณ ๑.๕ ล้านล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ การกระตุ้นไม่ใช่บรรเทาหรือไปช่วยเหลือ การแจกเงิน คือ การบรรเทา แต่การกระตุ้น คือ การแจกงาน นำเงินมาสร้างงาน กระตุ้นให้ทุกคนมีงานทำ เมื่อประชาชนมีงานทำ เศรษฐกิจก็จะกลับมาดีขึ้นทั้งระบบ การกระตุ้น คือ การให้เบ็ดไปตกปลา เพื่อจะได้หาปลามากินทุกวัน แต่ไม่ใช่การแจกปลา การกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ทุกอย่างต้องใช้เงิน ถ้าจำเป็นก็ต้องกู้ แต่กู้แล้วต้องนำมาใช้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่กู้แล้วนำมาทำประชานิยมอย่างเดียว

ยกระดับเทคโนโลยีไทย

๒.สร้างประเทศให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาด้วยเทคโนโลยี แต่ไม่ใช่ขั้นสูง ซึ่งต้องนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง และคอยส่งออกเทคโนโลยีขั้นกลางและต่ำ ทำให้เกิดการเสียดุล ซึ่งเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาประเทศ วันนี้เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ไม่ใช่ดิจิทัลอย่างเดียว แต่ยังมีเทคโนโลยีชีวภาพ ก่อให้เกิดการรวมกันของเทคโนโลยี เกิดสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มีรถยนต์ไร้คนขับ  และเกิดการใช้เงินแบบดิจิทัล วันนี้มีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ดังนั้น จะต้องรีบตักตวงในการสร้างความทันสมัยให้กับประเทศ หลังจากนี้จะต้องพัฒนาระบบการศึกษา ส่งเสริมให้เยาวชนเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งเสริมให้ภาครัฐหรือภาคเอกชนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน ควรมีกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีให้คนไทย จะได้ช่วยกันคิดช่วยกันสร้างเทคโนโลยีขั้นสูง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อประเทศเกิดความทันสมัยก็จะช่วยให้ต่อสู้กับเศรษฐกิจต่อไปได้

เปลี่ยนจุดเด่นเป็นจุดแข็ง

๓.สร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่ บนจุดเด่นประเทศ เช่น อาหาร เกษตร และการท่องเที่ยว วันนี้จะต้องหาตัวตนของเรา มองหาจุดเด่นของประเทศให้เจอ ขณะนี้ทั่วโลกไม่มีประเทศไหนแข่งกับไทยได้ในเรื่องเกษตร ข้าว อ้อย ยาง มัน ปาล์ม และข้าวโพด ไทยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะช่วงโควิด ทุกคนต้องการอาหาร และขณะนี้มีภาวะสงคราม ทั่วโลกกำลังขาดแคลนอาหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะลุกลามไปถึงปีหน้า นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตของโลก แต่นี่คือโอกาสของไทย เพราะเราคือผู้ยิ่งใหญ่ทางเกษตร ต่อไปอาจจะต้องมีแผนแม่บทแห่งชาติพัฒนาด้านการเกษตร ภายในเวลา ๕-๑๐ ปี สินค้าเกษตรทุกตัวจะต้องเพิ่มสัดส่วนในการแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกขายทั่วโลก รายได้มหาศาล และช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด แก้ปัญหาราคาเกษตรตกต่ำ ต่อจากนี้ไปจะต้องสร้างจุดแข็งด้านเกษตร

ในส่วนของการท่องเที่ยว ก่อนจะมีโควิดระบาด ปีหนึ่งประเทศไทยรับนักท่องเที่ยว ๔๐ ล้านคน สมมุติว่า ใช้จ่ายคนละ ๕ หมื่นบาท มาเที่ยวประมาณ ๑๐ วัน ทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวมีสัดส่วนในจีดีพีของประเทศมากถึงร้อยละ ๑๕ ก็เกิดคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่เกิน ๑๐ วัน ทำอย่างไรให้เขาใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น เรื่องการท่องเที่ยวต้องทำกันอย่างจริงจัง ยกระดับให้มีการท่องเที่ยวระดับสูง เพราะไทยมีความพร้อมครบทุกด้าน ไม่มีประเทศไหนจะพร้อมเท่าไทยอีกแล้ว ทั้งอาหารการกิน ที่พัก การต้อนรับ และให้บริการ จะต้องนำ Soft Power มาประยุกต์ใช้ในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัฒนธรรมประจำถิ่น ทุกคนสามารถทำให้เมืองไทยกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับสูง ประกอบกับปัจจุบันเมืองไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีระดับโลก เป็นศูนย์กลางของ Wellness ถ้าจะเลือกการรักษาให้เลือกเมืองไทย เที่ยวเมืองไทย และประเทศไทยยังมีอาหารอร่อย อาหารไทยสุดยอดที่สุด มาโคราชต้องกินขั่วหมี่โคราช นำอาหารมาเป็นจุดขายร่วมกับการท่องเที่ยว ใครมาก็ต้องกินต้องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวดีขึ้นและยั่งยืน

สร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

๔.สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น การ กระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งประเทศก็จะเข้มแข็ง สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น การกระจายอำนาจจะลดความเหลื่อมล้ำ ต้องชื่นชมผู้นำท้องถิ่นทุกคน ที่ช่วยกันรับมือกับสถานการณ์โควิด โดยจัดหาหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัคซีน มาสนับสนุนให้กับหน่วยงานสาธารณสุขหรือประชาชน ที่ประเทศไทยผ่านโควิดมาได้ ๒-๓ ปี เพราะมีท้องถิ่นเข้มแข็ง เช่น เทศบาลนครนครราชสีมา ในช่วงโควิดระบาดหนัก ได้จัดหาวัคซีน ตรวจหาเชื้อให้กับประชาชน จัดหาสถานที่กักตัว และออกไปแจกอาหารให้กับประชาชน รวมถึงทุก อปท.ทำงานกันอย่างหนักเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ จึงทำให้ทุกคนผ่านวิกฤตโควิดมาได้ ดังนั้น ผมคิดว่า รัฐบาลจะต้งอกระจายอำนาจให้มากขึ้น เช่น เพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น หรือจะแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นหารายได้จากวิสาหกิจชุมชน ทำโรงไฟฟ้า ทำโรงขยะ ทำระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ หารายได้เข้าหน่วยงานของแต่ละแห่ง เพื่อจะได้นำเงินมาพัฒนาชุมชน ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งมากขึ้น กฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคก็คลายล็อก การทำงานจะได้คล่องตัว เพราะทุกท้องถิ่นมีผู้นำมาจากการเลือกตั้ง ถ้าทำงานดีก็ได้อยู่ต่อ แต่ถ้าไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือก ถ้าทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งได้ ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งด้วย

เพิ่มกำลังให้ประเทศ

๕.ดึงผู้สูงอายุมาเป็นกำลังของประเทศ ทุกวันนี้เรานำเอาเลขอายุ ๖๐ ปี มาเป็นสิ่งกีดกั้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ขณะนี้มีผู้อายุเกิน ๖๐ ปี จำนวน ๑๒ ล้านคน ซึ่งอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยจะเพิ่มมากถึง ๒๐ ล้านคน แล้วคนทำงานอายุ ๑๕-๕๙ ปี ก็จะลดน้อยลง ทำให้แรงงานน้อยลง เศรษฐกิจก็จะถดถอยงบประมาณแต่ละที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น วันนี้จะต้องเปลี่ยนคำจำกัดความ กำจัดสิ่งที่คิดว่าจะเป็นภาระ ต้องทำให้ไม่มีผู้สูงอายุหรือทำให้มีน้อยลง ทุกวันนี้ผู้อายุเกิน ๖๐ ปี มีแต่คนแข็งแรง เพราะทุกคนหันมาออกกำลังกาย ผู้ที่มีอายุ ๖๐ ปีไม่ใช่คนแก่อีกต่อไป ผมอายุ ๖๗ ปี ก็ยังทำงาน ต่อไปอาจจะต้องเปลี่ยนคำจำกัดความผู้สูงอายุจาก ๖๐ ปี เป็น ๖๕ ปี ประเทศก็จะได้กำลังแรงงานเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยต้องการมืออาชีพมาช่วยเหลือประเทศ แต่ปัจจุบันหลายคนกว่าจะได้ทำงานบริหารในองค์กรต่างๆ หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงในส่วนราชการ อายุก็ประมาณ ๕๕ ปี ได้นำความสามารถมาทำงานเพียงไม่กี่ปีก็เกษียณ ผมคิดว่า คนเหล่านี้ต้องทำงานต่อ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศ

แก้โลกร้อน

๖.แก้ไขปัญหาโลกร้อน ปัจจุบันโลกกำลังพบกับภาวะโลกร้อน เนื่องจากมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น รถยนต์ก็ต้องใช้น้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมก็มากขึ้น การเผาไหม้ต่างๆ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ไปทำลายชั้นโอโซนของโลก และก๊าซเรือนกระจกก็จะห่อหุ้มชั้นบรรยากาศแทนโอโซน ทำให้โลกเหมือนถูกครอบและกักเก็บความร้อน น้ำแข็งขั้วโลกก็ละลาย ทำให้ปริมาณน้ำทะเลสูงขึ้น แผ่นดินน้อยลง เกิดปัญหาน้ำท่วม และเป็นต้นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโลก เกิดภัยธรรมชาติมากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีข้อตกลงร่วมกันในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ต่อไปถ้าไทยส่งออกสินค้า แล้วถูกพิสูจน์ได้ว่า มีกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดโลกร้อน จะทำให้ถูกเรียกเก็บภาษีโลกร้อน แล้วสินค้าไทยก็จะสู้ต่างชาติไม่ได้ ดังนั้น วันนี้ไทยจะต้องเตรียมตัว และจริงจังกับการแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต

การเมืองต้องมีเสถียรภาพ

๗.การเมืองต้องมีเสถียรภาพ มีอิสระ ลดความขัดแย้ง ตั้งแต่เลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ กระทั่งปัจจุบัน ผมมองว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก เริ่มตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จ กว่ารัฐบาลจะรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็ลำบาก เมื่อรวบรวมได้ก็มีเสถียรภาพน้อย เมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพน้อย ก็ต้องมาคอยดูแล ส.ส.ไม่ให้เกิดความแตกแยกที่อาจจะกระทบต่อรัฐบาล ถ้าความขัดแย้งทางการเมืองยังดำรงอยู่ รัฐบาลก็จะประสบปัญหาในการบริหารประเทศ วันนี้ประชาชนต้องการกำลังในการแก้วิกฤตต่างๆ จากสภาฯ จากรัฐบาล แต่ในเมื่อรัฐบาลขาดเสถียรภาพ การทำงานก็ยากมากขึ้น เกิดการแก้ปัญหาที่ไม่รอบด้าน รัฐบาลทำงานลำบาก และในปี ๒๕๖๕ การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งบนความลำบากของประชาชน บนวิกฤตทางเศรษฐกิจต่างๆ นับเป็นการเลือกตั้งที่อยู่บนความคาดหวังของประชาชน ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองจะต้องคิดให้มาก เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมอยากเห็นการเมืองที่ประชาชนยอมรับ เลือกตั้งมาแล้วทุกคนรับได้ ไม่เกิดความขัดแย้ง การเมืองก็จะมีเสถียรภาพ ทุกฝ่ายก็จะสามารถทำงานได้ สภาฯ สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ นอกจากนี้ จากประสบการณ์ด้านการเมืองของผมตลอด ๓๐ ปี คิดว่ารัฐบาลควรจจะมีเสียงข้างมากอย่างน้อย ๓๐๐ เสียง การเมืองครั้งนี้ ต้องเป็นการเมืองที่นำเสนอนโยบาย เพราะประชาชนจะคอยติดตามว่า ในวิกฤตเช่นนี้ พรรคการเมืองมีนโยบายอะไรที่จะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ดังนั้น ทุกพรรคจะต้องนำเสนอนโยบายที่ดี มีผู้สมัครที่ดีมีประสบการณ์ เพื่อให้การเมืองมีคุณภาพ

‘ชาติพัฒนา’ขอ Come back

นายสุวัจน์ กล่าวท้ายสุดว่า “ในนามของพรรคชาติพัฒนา เรามีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เรามีประสบการณ์ เราเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุกว่า ๓๐ ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านความสำเร็จมามากมาย หากพูดถึงพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทุกคนก็จะคิดถึงเศรษฐกิจยุคทอง ผมต้องการจะบอกว่า พรรคชาติพัฒนามีความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประชาชน เราทำได้ ทำมาแล้ว และจะมาทำต่อ ผมเองก็เป็น ส.ส.ครั้งแรกที่โคราช ชีวิตการเมืองผมเกิดขึ้นที่โคราช พรรคชาติพัฒนาเกิดขึ้นที่โคราช คนเราเกิดที่ไหนก็อยากตายที่นั่น ผมและพรรคชาติพัฒนาเกิดที่โคราช ก็จะขอตายที่โคราช ขอยึดเอาโคราชเป็นเรือนตาย ขอให้พรรคชาติพัฒนาได้ Come back กลับมาทำงานให้ทุกคน แล้วเราจะมาทำงานให้ประชาชน นำเศรษฐกิจยุคทองกลับมาสู่เมืองโคราชอีกครั้ง”

ยังมีเวลาเลือกผู้สมัคร

ทั้งนี้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ในส่วนของผู้สมัครในนามพรรคชาติพัฒนาและแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังมีเวลาเหลืออีกมาก วันนี้ปรับโครงสร้างพรรค มีตำแหน่งประธานพรรค ต่อไปจึงจะจัดทำนโยบาย เมื่อถึงเวลาอันสมควรจึงจะดูว่า ใครคือผู้ที่จะได้เป็นแคนนิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามขั้นตอน”

‘พลเอกฐิติวัจน์’ลาออก

นอกจากนี้ นายสุวัจน์ เปิดเผยถึงกรณีที่พลเอกฐิติวัจน์ กำลังเอก (เอ็กซ์) ลาออกจากรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนาว่า “ผมกับพลเอกฐิติวัจน์ เติบโตด้วยกันมาตั้งแต่พลเอกอาทิตย์ กําลังเอก อยู่ที่พรรคชาติพัฒนา และเป็นหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย เมื่อพลเอกอาทิตย์ เกษียณอายุราชการ พลเอกฐิติวัจน์ก็ได้เข้ามาทำงานกับพรรคชาติพัฒนา ช่วยงานพรรคมาโดยตลอด แต่มาช่วงหลังนี้มีปัญหาสุขภาพ จึงเข้ารับการผ่าตัด ทำให้ไม่สะดวกต่อการเดินทางไปทำกิจกรรมการเมือง ครอบครัวก็อยู่ที่ต่างประเทศ พลเอกฐิติวัจน์จึงมาหารือและแจ้งให้ผมทราบถึงปัญหาสุขภาพ และต้องการยุติบทบาททางการเมือง เหมือนกับล้างมือทางการเมือง เพื่อจะดูแลเรื่องสุขภาพ แต่ด้วยความรักความผูกพัน ยังคงพูดคุยหารือกันได้ ผมต้องขอบคุณพลเอกฐิติวัจน์ กำลังเอก ที่ได้ทำงานให้กับพรรคชาติพัฒนา และยังคิดถึงพลเอกอาทิตย์เสมอ เพราะผมเป็น ส.ส.ครั้งแรกก็อยู่กับพลเอกอาทิตย์ ดังนั้น คุณพ่อของพลเอกฐิติวัจน์ ถือเป็นผู้มีพระคุณกับผม ทำให้ผมได้เป็น ส.ส.ที่โคราชครั้งแรก ทำให้ผมและพลเอกฐิติวัจน์เปรียบเสมือนพี่น้องกัน”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๔ ประจำวันที่ ๒๗ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕

 


1002 1397