14thNovember

14thNovember

14thNovember

 

May 06,2022

เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ๔ ภาค อีสานฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่

กพศ.เห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ๔ ภาค กำหนดโคราช-ขอนแก่น-อุดรฯ-หนองคาย เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ 

เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “สถานการณ์ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-๑๙ เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อทำให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตพร้อมเพรียงกันทุกภาค อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาฐานเศรษฐกิจในประเทศให้เจริญเติบโตและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย ขณะเดียวกันต้องเร่งหารายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น ควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศให้เพิ่มขึ้นและทำให้ทุกพื้นที่มีการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ช่วยกันประสานงานขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล ขอให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ และให้มีการติดตามประเมินผลเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบรรลุเป้าหมายตามแผนที่กำหนดไว้ เรื่องใดที่ติดขัดอุปสรรค ข้อกฎหมาย หรือกติกาในพื้นที่ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมีก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ”

“ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมต่างๆ ที่มีศักยภาพ และตามแนวเส้นทางรถไฟต่างๆ มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมไปถึงจะเป็นการกระจายความเจริญ กระจายคนจากเมืองใหญ่ไปสู่พื้นที่นอกเมืองและภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยให้พิจารณาดำเนินการในพื้นที่มีศักยภาพและสามารถดำเนินการได้ให้ดำเนินการก่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ต้องมีการพัฒนาเตรียมแรงงานและบริหารจัดการแรงงานทั้งในประเทศและแรงงานต่างประเทศให้เพียงพอ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ภาค เร่งส่งเสริมขับเคลื่อนให้เกิดวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้ได้ตามศักยภาพที่แต่ละพื้นที่มีอยู่ โดยการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม และมีการดูแลเรื่องที่พักที่ปลอดภัยให้กับแรงงาน เพื่อให้คนกลับไปทำงานในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ เกิดการสร้างงาน อาชีพ และรายได้ในพื้นที่ให้กับแรงงานในประเทศอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด”

จากนั้น ที่ประชุม กพศ. มีการพิจารณาและเห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยกำหนดพื้นที่ ดังนี้ ๑.จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน  ๒.จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ  ๓.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor : CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตรการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC และ ๔.จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ กพศ.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ เร่งพิจารณากำหนดกิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการลงทุนให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง และได้เห็นชอบให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามองค์ประกอบของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน ๕ ด้าน ประกอบด้วย ๑.การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน ๒.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ๓.การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ ๔.การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ  และ ๕.การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๕ ประจำวันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕


113 1,716