29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 21,2022

ถกอนาคต‘นครชัยบุรินทร์’ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ไม่แข่งกับขอนแก่น-อุดรฯ

กรรมาธิการการเงินฯ สัมมนาอนาคตกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสานชูจุดเด่นการเกษตร และขนส่งทางราง “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” เผยอาจจะต้องรอ ๓-๕ ปี จึงเป็นรูปธรรม แนะทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมทุกด้าน รอรับนักลงทุนทั่วโลก ไม่แข่ง ขอนแก่น อุดรฯ และหนองคาย

 

ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) มีการพิจารณาและเห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง ๔ ภาค ดังนี้ ๑.จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ๒.จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ๓.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor : CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตรการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC และ ๔.จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

อนาคตนครชัยบุรินทร์

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.เขต ๑๑ จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ พร้อมคณะ จัดสัมมนาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับอนาคตนครชัยบุรินทร์ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นายก้องเกียรติ วงศ์นิยม ส.อบจ.อำเภอเมืองนครราชสีมา เขต ๑ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) ร่วมงาน

สำหรับการสัมนาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับอนาคตนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยประเด็นสนทนาดังนี้ ๑.การดำเนินงานและรูปแบบการจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษ และ ๒.การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ (กพท.) ผศ.ดร.สุธนา บุญเหลือ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะการบัญชีและจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง ๑ (ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ) ผศ.ดร.ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ หัวหน้าศูนย์วิจัย BCG เพื่อเศรษฐกิจชนบทยั่งยืน สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายสายันห์ ไวรางกูร Founder และกรรมการผู้จัดการ Backster Co, Ltd เป็นวิทยากร

‘โคราช’เขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในช่วงก่อนหน้านี้จังหวัดนครราชสีมา ต้องการเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากในอนาคตจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เข้ามา จังหวัดจึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ต้องการให้โคราชเป็นพื้นที่ที่มีสิทธิพิเศษสำหรับการลงทุน เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนที่โคราช ซึ่ง ครม.รับพิจารณา แต่ไม่ได้พิจารณาโคราชเพียงจังหวัดเดียว แต่พิจารณาเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยโคราชจะเน้นการส่งเสริมการลงทุนระบบราง วันนี้จึงมีการมาประชุมสัมมนาว่า ภาครัฐและเอกชนจะมีข้อเสนออย่างไรต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ต้องการสิทธิพิเศษอะไรบ้าง แล้วสิทธิพิเศษระบบรางอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า ไม่พอ เพราะโคราชต้องการการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อไม่ให้คนโคราชเดินทางออกไปทำงานในพื้นที่อื่น ในเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมต้องการสิทธิพิเศษเรื่องใดบ้าง เช่น เรื่องภาษี ซึ่งวันนี้ทุกฝ่ายจะพูดคุยกันและรวบรวมนำเสนอต่อไป”

ท่าเรือบกสร้างปี’๖๘

“ในการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จะมีความเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือบก เนื่องจากผู้ที่เข้ามาส่งทุนอาจจะต้องการส่งสินค้าไปต่างประเทศ หากโคราชมีท่าเรือบกก็จะทำให้มีลูกค้าหรือมีนักลงทุนมากขึ้น แต่ความคืบหน้าของท่าเรือบก กำลังพยายามเร่งรัดให้มีการออกแบบรายละเอียด โดยกำหนดพื้นที่เบื้องต้นไว้ที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน เบื้องต้นมีแผนก่อสร้างในช่วงปี ๒๕๖๘ ซึ่งในภาคอีสานมีจังหวัดอื่นเสนอพร้อมกับโคราชด้วย จังหวัดจึงพยายามให้เกิดการออกแบบรายละเอียด เพื่อเป็นหลักประกันว่า ท่าเรือบกโคราชจะดำเนินต่อไป โดยก่อนหน้านี้มีภาคเอกชนโคราชเข้าไปที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และมีการรับปากว่า การท่าเรือฯ จะลงพื้นที่โคราชเพื่อศึกษาข้อมูลต่อไป” นายวิเชียร กล่าว

นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ประธานกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ

ชวนลงทุนที่นครชัยบุรินทร์

นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ประธานกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ กล่าวว่า “ตามที่จังหวัดนครราชสีมา เสนอกระทรวงมหาดไทย ในการขอเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการแปรรูป และการขนส่งระบบราง แต่เมื่อเห็นศักยภาพของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ที่มีประชากรมากถึงร้อยละ ๑๔ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ประกอบกับก่อนหน้านี้บางจังหวัดในนครชัยบุรินทร์ ถูกจัดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจการค้าชายแดน แต่ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนในการค้าขายกับต่างประเทศ วันนี้ทั้ง ๔ จังหวัด จึงมาพูดคุยกัน เพื่อวางยุทธศาสตร์ให้มีความพร้อมที่จะเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในนครชัยบุรินทร์ เช่น การลงทุนการแปรรูปอาหารชั้นสูง พัฒนาโคราชให้เป็นครัวโลก พัฒนาต่อยอดเรื่องปศุสัตว์ และระบบราง เพื่อให้การขนส่งในประเทศไทย หันมาใช้งานระบบรางมากขึ้น ไม่ไปเบียดกับการขนส่งบนผิวถนน ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และทุกคนต้องการเห็นซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) เกิดขึ้นในอำเภอปากช่อง ต้องการเห็นนครชัยบุรินทร์เป็นเขตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก และสอดคล้องกับการที่โคราชจะมีท่าเรือบก ดังนั้น ทุกๆ เรื่องในมิติของการลงทุน จะต้องช่วยกันคิดในวันนี้ว่า จะเตรียมอะไรบ้าง ข้อกฎหมายอะไรจะเอื้อให้กับนักลงทุนบ้าง”

ปรับหลักสูตรการศึกษา

“ในโคราชมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง วันนี้ทุกแห่งจะต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยนักลงทุนต้องการจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ คือ ๑.มิติการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ที่จะสามารถรองรับนักศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะมีการเชิญชวนภาคอุตสาหกรรมใดบ้างมาลงทุน และอุตสาหกรรมใดบ้าง ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ๒.มิติภาคเกษตร การพัฒนาโคราชให้เป็นครัวโลก จะต้องมีการหานักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า ต่างประเทศเกิดภาวะสงคราม ทำให้อาหารในกลุ่มประเทศยุโรปเกิดการขาดแคลน ดังนั้น จึงอาจจะมีการเปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนที่ดินในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เพื่อทำการเกษตร และส่งออกไปยังประเทศในแถบทวีปยุโรป ๓.มิติการคมนาคม อาจจะมีการเสนอให้ทำเส้นทางรถไฟใหม่ จากโคราชไปยังแหลมฉบัง นอกจากจะมีท่าเรือบกที่โคราช อาจจะต้องมีเส้นทางเชื่อมกับท่าเรือจริงด้วย เพื่อร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยจะปรับหลักสูตรใหม่มารองรับการลงทุนในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เพื่ให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่า วันนี้เรามีแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะสูง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ไม่มีการแข่งขันกัน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า “สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ทุกพื้นที่อาจจะมีการพัฒนาที่คล้ายกัน แต่จะไม่เกิดการแข่งขัน เพราะแต่ละจังหวัดจะมีจุดเด่นของตัวเอง เช่น จังหวัดขอนแก่น อาจจะทำเรื่องที่เขามีความพร้อม ส่วนกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จะเน้นการทำซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) การแปรรูปอาหารชั้นสูง และการขนส่งระบบราง เมื่อทำ ๓ เรื่องนี้เริ่มลงตัว ก็อาจจะพัฒนาต่อในเรื่องสมุนไพร การท่องเที่ยว ซึ่งเราอาจจะได้เปรียบเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว มีเขาใหญ่ที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปี รวมไปถึงการต่อยอดเป็น Wellness Corridor (ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพ) และอาจจะมีบางเรื่องที่คล้ายกับจังหวัดขอนแก่น แต่ก็ทำของใครของมัน แล้วแต่ความถนัดของแต่ละพื้นที่”

โคราชต้องชัดเจน

“สำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งระบบราง โดยการทำท่าเรือบกให้สำเร็จ จะต้องตอบให้ได้ว่า ทำมาแล้วจะรองรับอะไร ตู้สินค้าจะเพิ่มขึ้นจากอะไร และการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นมากเพียงใด สิ่งที่จะนำเสนอจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ไม่ใช่ความอยากได้ และเมื่อได้มาจะพัฒนาต่ออย่างไร เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า เมื่อมาลงทุนด้านการขนส่งในโคราชจะได้อะไร ซึ่งการลงทุนท่าเรือบก ผมเชื่อว่าไม่ใช่การลงทุนที่สูญเปล่า เมื่อนำมาเดินคู่กันกับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การที่รัฐบาลจะลงทุนคงไม่ติดขัด และแผนในโครงการอื่นๆ ของโคราช หลังจากนี้ผมเชื่อว่า จะมีความชัดเจนมากขึ้น ผมจึงคิดว่า ท่าเรือบกจะไม่มีปัญหา คงเป็นไปตามแผนที่วางไว้”

“การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจจะต้องใช้เวลา ๓-๕ ปี จึงจะเห็นความเป็นรูปธรรม หลังจากที่ทุกฝ่ายมีความชัดเจนด้านยุทธศาสตร์ จะต้องมาพูดคุยกันในรายละเอียดในการเชิญชวนนักลงทุนต่างๆ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า ทั่วโลกประสบกับปัญหาโควิด-๑๙ และภาวะสงคราม หลายอย่างจึงยังหาความชัดเจนไม่ได้ แต่ทุกคนในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ก็ต้องเดินต่อ หาข้อมูลต่างๆ ไว้ให้นักลงทุน ซึ่งผมเชื่อว่า นักลงทุนทั่วโลกกำลังหาจังหวะที่เหมาะสมอยู่ว่า จะลงทุนเมื่อใด แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความพร้อมของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องยอมรับว่า เมื่อก่อนทิศทางของโคราชไม่ชัดเจน ไม่เคยถูกกำหนดว่าจะเป็นอะไร ต่างคนต่างทำ สิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนแทบจะไม่มี ดังนั้น หากวันนี้เราจะเชิญชวนเขามาลงทุน เราต้องมีความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน น้ำประปา การขนส่ง แรงงาน และด้านสาธารณสุข ทำอย่างไรให้นักลงทุนมีความมั่นใจ หลังจากนี้ไปทุกอย่างที่โคราชทำ ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง ๑ (ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ)

ลงทุนร่วมกับท้องถิ่น

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง ๑ (ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ) เปิดเผยว่า “ตามที่ ครม.มีมติออกมาว่า ให้จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีกิจกรรมด้านเศรษฐกิจร่วมกัน แต่จังหวัดใดที่มีจุดเด่นก็ให้แยกกันทำ และเนื่องจากชื่อที่บอกว่า ระเบียงเศรษฐกิจ ทุกจังหวัดจึงต้องร้อยเรียงการพัฒนาร่วมกัน แต่วันนี้โคราชต้องการความคิดเห็นจากกลุ่มจังหวัดนครราชสีมา ว่า อีก ๓ จังหวัดต้องการอะไร เพื่อเสนอแผนเศรษฐกิจไปยังสภาพัฒน์ฯ ในการพัฒนาร่วมกัน แทนที่โคราชจะพัฒนาคนเดียว ก็ให้อีก ๓ จังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมที่จะพัฒนาไปพร้อมกัน โดยในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์มีจุดเด่นคล้ายๆ กัน เช่น การเกษตร และการแปรรูป เมื่อโคราชเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ต้องคิดต่อว่า จะนำสิ่งเหล่านี้ไปเพิ่มมูลค่าอย่างไร โดยทุกคนหวังว่า การประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะสามารถนำเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เข้ามาลงทุนในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์มากขึ้น โดยเน้นนำเม็ดเงินจากนอกพื้นที่มาร่วมกับเม็ดเงินในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยจะให้ทุนท้องถิ่นร่วมลงทุน เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้คนลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาให้กับคนในพื้นที่ แต่ต้องการให้มีการพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมีความเข้าใจพื้นที่ เกิดการพัฒนาร่วมกัน และเกิดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่น้อยลง เพราะบางครั้งจะเห็นว่า เมื่อมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่คนในพื้นที่ไม่ได้รับประโชยน์ มีเพียงการจ้างงาน แต่เราหวังว่า การลงทุนจะมีการนำองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้ นำผลงานการวิจัยของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ออกมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๗ ประจำวันพุธที่  ๑๘ - วันอังคารที่  ๒๔  เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


980 1593