19thApril

19thApril

19thApril

 

June 25,2022

อีสานแห่ปลูกเห่อกินกัญชา คาดความนิยม‘ภูมิใจไทย’เพิ่ม แต่โพลชี้ราคากัญชาจะร่วง

 

โพลชี้ชาวอีสานเกินครึ่งจะปลูกกัญชา ส่วนใหญ่จะลองกินอาหารผสมกัญชา แต่ไม่เสพ คาดอีกประมาณ ๑ ปี ราคาจะลดลงทำให้การปลูกกัญชาได้กำไรไม่มาก และอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน เกินครึ่งกังวลว่าเยาวชนจะบริโภคหรือเสพกัญชาจนเสียสุขภาพหรือการเรียน


รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า อีสานโพลทำการสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการปลูกกัญชาเสรี” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานกับการปลูกกัญชาเสรี ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๑๐๕ รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด

ผลสำรวจสรุปว่า ครัวเรือนอีสานเกินครึ่งจะปลูกกัญชา ส่วนใหญ่จะกินและลองกินอาหารผสมกัญชา แต่ไม่แห่เสพกัญชา คาดอีกประมาณ ๑ ปี ราคากัญชาจะลดลงทำให้การปลูกกัญชาได้กำไรไม่มาก และอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน นอกจากนี้เกินครึ่งมีความกังวลมากถึงมากที่สุดเยาวชนจะบริโภคหรือเสพกัญชาจนเสียสุขภาพหรือการเรียน หนุนให้ห้ามขายและบริโภคกัญชาในสถานที่ราชการ วัด โรงพยาบาล และสถานศึกษา เชื่อการปลูกกัญชาเสรีอาจช่วยลดปัญหายาเสพติดพวกยาบ้า ยาอี ยาเค ได้บ้าง ข้อดีและข้อเสียของการปลูกกัญชาเสรียังก้ำกึ่งแต่ค่อนไปทางมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย หนุนจำกัดปริมาณการปลูกต่อครัวเรือน และการผลักดันการปลูกกัญชาเสรีส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทยในอีสานเพิ่มขึ้น

สำหรับคำถามแรกในแบบสอบถามถามว่า “ครัวเรือนของท่านจะปลูกต้นกัญชาหรือไม่” พบว่า ร้อยละ ๕๓.๑ จะปลูก และร้อยละ ๔๖.๙ จะไม่ปลูก โดยกลุ่มที่จะปลูก แยกเป็นดังนี้ ร้อยละ ๒๕.๖ จะปลูก ๑-๕ ต้น ร้อยละ ๑๔.๗ จะปลูก ๖-๑๐ ต้น และร้อยละ ๑๒.๘ จะปลูกมากกว่า ๑๐ ต้น แต่ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด เมื่อถามต่อว่า “จะกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่” พบว่า ร้อยละ ๗๓.๒ จะมีการกินหรือลองกิน และร้อยละ ๒๖.๘ จะไม่กิน โดยกลุ่มที่จะกินหรือลองกินแยกเป็นดังนี้ ร้อยละ ๓๓.๒ อาจจะลองแค่ลองกินไม่กี่ครั้ง, ร้อยละ ๓๓.๘ จะกินตามโอกาสต่างๆ และมีเพียงร้อยละ ๖.๒ ที่จะกินบ่อยหรือกินเป็นประจำ

เมื่อถามว่า “จะเสพกัญชาหรือไม่” พบว่า ร้อยละ ๖๖.๙ จะไม่เสพ และร้อยละ ๓๓.๑ จะเสพหรือลองเสพ โดยกลุ่มที่จะเสพหรือลองเสพแยกเป็นดังนี้ ร้อยละ ๑๙.๐ อาจจะลองแค่ลองเสพไม่กี่ครั้ง ร้อยละ ๑๐.๖ จะเสพตามโอกาสต่างๆ และมีเพียงร้อยละ ๓.๕ ที่จะเสพบ่อยหรือเสพเป็นประจำ ต่อคำถามที่ว่า “หลังจากนี้ประมาณ ๑ ปี เมื่อประชาชนปลูกกัญชาเยอะขึ้น ราคากัญชา จะเป็นอย่างไร” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๘.๑ เห็นว่า ไม่ถูกไม่แพงปลูกแล้วยังพอมีกำไร รองลงมาร้อยละ ๓๕.๒ เห็นว่า พอๆ กับผักสวนครัวปลูกแล้วไม่ค่อยมีกำไร และมีเพียงร้อยละ ๑๖.๖ เห็นว่า ยังแพงมากปลูกแล้วได้กำไรสูง

เมื่อถามต่อว่า “การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ จะช่วยให้ประเทศลดปัญหาความยากจนได้หรือไม่” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๖๖.๗ เห็นว่า ไม่ช่วยลดปัญหาความยากจนหรืออาจเพิ่มปัญหา ขณะที่ ร้อยละ ๓๓.๓ เห็นว่าจะช่วยลดปัญหาความยากจน ส่วนคำถามที่ว่า “กังวลว่าบุตรหลานของท่านหรือเยาวชนจะบริโภคหรือเสพกัญชาจนเสียสุขภาพหรือการเรียน หรือไม่อย่างไร” พบว่า เมื่อเรียงจากระดับความกังวล ดังนี้ ร้อยละ ๒๓.๗ ตอบว่า กังวลมากที่สุด, ร้อยละ ๒๔.๙ ตอบว่า กังวลมาก, ร้อยละ ๓๓.๕ ตอบว่า กังวลปานกลาง, ร้อยละ ๑๒.๔ ตอบว่า กังวลน้อย และมีเพียงร้อยละ ๕.๕ ที่กังวลน้อยที่สุดหรือไม่กังวลเลย

สำหรับคำถามต่อมา “การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ จะทำให้ปัญหายาเสพติดพวกยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ ยาเค ในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นหรือลดลง” พบว่า โดยภาพรวมเห็นว่าปัญหายาเสพติดจะเท่าๆ เดิม ค่อนไปทางลดลง โดยมีรายละเอียดดังนี้ อันดับหนึ่งร้อยละ ๔๕.๘ เห็นว่า ปัญหาจะเท่าๆ เดิม รองลงมาร้อยละ ๒๔.๕ เห็นว่า ปัญหาจะลดลง ตามมาด้วยร้อยละ ๑๗.๔ เห็นว่า ปัญหาจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๖.๓ เห็นว่า ปัญหาจะลดลงมาก และร้อยละ ๖ เห็นว่า ปัญหาจะเพิ่มขึ้นมาก

เมื่อถามอีกว่า “การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรต่อประเทศไทย” พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ ๕๓ เห็นว่า มีข้อดีพอๆ กับข้อเสีย รองลงมา ร้อยละ ๒๗.๒ เห็นว่า ข้อดีมากกว่าข้อเสีย และร้อยละ ๑๙.๘ เห็นว่า ข้อเสียมากกว่าข้อดี

เมื่อถามต่อว่า “กฎหมายควรกำหนดให้สถานที่ราชการ โรงพยาบาล วัด โรงเรียนและสถานศึกษา เป็นเขตห้ามขาย/บริโภคกัญชาและอาหารผสมกัญชา” พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ ๘๓.๓ เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ ๑๒.๕ ไม่เห็นด้วย และร้อยละ ๔.๒ ระบุอื่นๆ หรือไม่แน่ใจ

ส่วนคำถามที่ว่า “กฎหมายควรกำหนดให้แต่ละครัวเรือนปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกินกี่ต้น” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๖๒.๔ ยังมองว่า รัฐควรจำกัดจำนวนการปลูก โดยแยกเป็น ร้อยละ ๒๖.๓ ให้ปลูกไม่เกิน ๖ ต้น ร้อยละ ๒๓.๒ ให้ปลูกไม่เกิน ๑๐ ต้น และร้อยละ ๑๒.๙ ให้ปลูกไม่เกิน ๒๐ ต้น อย่างไรก็ตาม มีถึงร้อยละ ๓๔.๙ ที่สนับสนุนให้ปลูกได้เสรีไม่จำกัด และมีร้อยละ ๒.๘ ที่ระบุอื่นๆ หรือไม่แน่ใจ

เมื่อสอบถามต่อว่า “การผลักดันการปลูกกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย จะทำให้ความนิยมของพรรคภูมิใจไทยในอีสาน เป็นอย่างไร” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๖๑.๕ ระบุว่า ความนิยมพรรคภูมิใจไทยเท่าๆ เดิม รองลงมาร้อยละ ๑๗ ความนิยมพรรคภูมิใจไทยเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยร้อยละ ๑๓.๗ ความนิยมพรรคภูมิใจไทยลดลง, ร้อยละ ๖.๑ ความนิยมพรรคภูมิใจไทยเพิ่มขึ้นมาก และร้อยละ ๑.๗ ความนิยมพรรคภูมิใจไทยลดลงมาก ซึ่งโดยภาพรวมกลุ่มที่ระบุว่าความนิยมพรรคภูมิใจไทยเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นมาก รวมแล้วมีร้อยละ ๒๓.๑ ขณะที่ กลุ่มที่ระบุว่า ความนิยมพรรคภูมิใจไทยลดลงหรือลดลงมาก รวมแล้วมีร้อยละ ๑๕.๔ ดังนั้น ความนิยมของพรรคภูมิใจไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากการผลักดันการปลูกกัญชาเสรี

สำหรับคำถามสุดท้าย “ถ้าเลือกตั้ง ส.ส.วันนี้ ท่านมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้พรรคใด” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๓๖ ระบุพรรคเพื่อไทย, รองลงมา ร้อยละ ๑๙.๕ พรรคก้าวไกล, อันดับ ๓ ร้อยละ ๑๓.๗ พรรคภูมิใจไทย (ซึ่งเพิ่มจากเดือนเมษายน ๒๕๖๕ ที่ได้ร้อยละ ๙ จากผลของการผลักดันการปลูกกัญชาเสรี), อันดับ ๔ ร้อยละ ๑๓.๖ พรรคพลังประชารัฐ, อันดับ ๕ ร้อยละ ๑๑.๑ พรรคไทยสร้างไทย, อันดับ ๖ ร้อยละ ๒.๙ พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ ๗ ร้อยละ ๒.๒ และร้อยละ ๑  พรรคอื่นๆ

อนึ่ง สำหรับกลุ่มตัวอย่าง ในการสำรวจครั้งนี้ ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ ๕๑.๗ เพศชายร้อยละ ๔๘.๓ อายุ ๑๘-๒๔ ปี ร้อยละ ๘.๒ อายุ ๒๕-๓๐ ปี ร้อยละ ๑๓.๙ อายุ ๓๑-๔๐ ปี ร้อยละ ๒๓.๔ อายุ ๔๑-๕๐ ปี ร้อยละ ๒๒.๖ อายุ ๕๑-๖๐ ปี ร้อยละ ๒๐.๓ และอายุ ๖๑ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๑.๗ ส่วนการศึกษา แบ่งเป็นประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ ๑๒.๓ มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๑๙ มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับ ปวช. ร้อยละ ๒๗.๗ ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๑๗.๔ ระดับปริญญาตรี ร้อยละ ๒๒ และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ ๑.๕ ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ ๓๖.๑ รองลงมา รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ ๑๖.๖ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ ๑๒.๓ พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๑๑ รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๐ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๖.๕ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ ๖.๕ และอื่นๆ ร้อยละ ๐.๙ ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน รายได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๘.๔ รายได้ระหว่าง ๕,๐๐๑-๑๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๖.๗ รายได้อยู่ระหว่าง ๑๐,๐๐๑-๑๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๙.๖ รายได้ระหว่าง ๑๕,๐๐๑-๒๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๒.๘ รายได้ระหว่าง ๒๐,๐๐๑-๔๐,๐๐๐ ร้อยละ ๑๑.๔ และรายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไปร้อยละ ๑.๑

สำหรับในส่วนของรายชื่อคณะผู้วิจัยโครงการสำรวจอีสานโพล ประกอบด้วย ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน, รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการวิจัย, ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ และ รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๒ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


1014 1388