19thApril

19thApril

19thApril

 

July 23,2022

‘คลาสคาเฟ่’ผนึก‘กองบิน ๑’ แก้ไขน้ำท่วมเมืองโคราช วอนรัฐเลิกตั้งรับเสียที

 

คลาสคาเฟ่จับมือมหาวิทยาลัย ตั้งทีมพัฒนาเมืองโคราช บุกพบผู้บังคับการกองบิน ๑ หารือแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยเทคโนโลยีทางอากาศและข้อมูลสารสนเทศ ‘มารุต ชุ่มขุนทด’ เผยคนโคราชต้องทำงานเชิงรุก ไม่ตั้งรับอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ฝ่าย ‘น.อ.เจริญ’ ยืนยันทหารอากาศร่วมมือเต็มที่


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายมารุต (กอล์ฟ) ชุ่มขุนทด CEO Class café พร้อมด้วย ดร.พันทิพย์ ปิยะทัศนานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดร.ภาคภูมิ หมีเงิน อาจารย์ประจำสาขาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ มทร.อีสาน และตัวแทนภาคเอกชน เข้าพบ น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน ๑ และคณะ เพื่อหารือความร่วมมือการนำเทคโนโลยีทางอากาศ เช่น อากาศยานไร้คนขับ เทคโนโลยีไลด้า (Li Dar) GIS หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และ Data Model นำมาใช้ป้องกันภัยพิบัติ และบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมเมืองโคราช

โดยเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายมารุต (กอล์ฟ) ชุ่มขุนทด เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “จากความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยต่างๆ จับมือกัน ช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างไร โดยไม่ใช่การตั้งรับเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งโคราชพบวิกฤตน้ำท่วมบ่อยมาก และตั้งรับตลอด เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็เข้าไปช่วยกันหรือแจกถุงยังชีพ แต่การแก้ปัญหาในเชิงรุก คือ ทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม วันนี้ทุกคนจึงมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤต ซึ่งเรื่องที่คลาสถนัด คือ การนำข้อมูลเข้ามาใช้ แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ว่าดีดนิ้วแล้วจะมาทันที แต่ต้องได้รับข้อมูลมาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ ดร.พันทิพย์ ปิยะทัศนานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรม มทส. ที่ทำเรื่อง GIS หรือข้อมูลของพื้นโลกต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลว่า เวลาฝนตกแล้วน้ำจะไหลไปทิศทางไหน มี ดร.ภาคภูมิ หมีเงิน จาก มทร.อีสาน เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลสารสนเทศ เพื่อรวบรวม สังเคราะห์ และจัดระเบียบข้อมูลในการนำมาใช้ เมื่อนำข้อมูลมาดูจะพบว่า ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโคราช มีสาเหตุมาจากเรื่องเดิมๆ จุดไหนมีน้ำท่วมก็จะท่วมเหมือนเดิม จุดไหนแล้งก็แล้งเหมือนเดิม โคราชมีอยู่ ๒ อย่าง คือ น้ำไม่มีกับมีน้ำมากเกิน”

นายมารุต (กอล์ฟ) ชุ่มขุนทด CEO Class café

ลุยแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช

“น้ำท่วมโคราชเกิดจากฝนตกหนัก เมื่อใดที่มีฝนตกหนักน้ำจะท่วม ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ไม่ว่าจะกี่คนก็ตามบอกว่า โคราชเวลามีน้ำท่วม ไม่ใช่ว่าจะท่วมทันที ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำรอการระบาย ๒-๓ ชั่วโมงหาย นี่เป็นเรื่องปกติ แต่น้ำท่วมจริงๆ ที่เกิดจากฝนตกหนักหน้าเขื่อน น้ำก็จะไหลมาตามลำตะคองและท่วมในเมือง ซึ่งมวลน้ำจะค่อยๆ ไหลมาเรื่อยๆ เมื่อมีระบบข้อมูลที่เพียงพอจะสามารถกำหนดเส้นทางน้ำได้ อาจจะผันไปลงแก้มลิง หรือไปในพื้นที่ที่ต้องการน้ำ แต่การจะทำแบบนี้ต้องมีความเข้าใจเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งดร.พันทิพย์ ปิยะทัศนานนท์ ทำเรื่องภูมิศาสตร์อยู่แล้ว แต่ภาพพื้นผิวโลกที่ถ่ายผ่านระบบ GIS อาจจะถ่ายไว้เมื่อเดือนที่แล้ว แต่น้ำมาวันนี้ ข้อมูลก็จะไม่อัพเดท เราจึงช่วยกันคิดว่า นอกจากข้อมูลภูมิศาสตร์ดาวเทียม จะมีข้อมูลจากไหนที่แม่นยำได้อีกบ้าง ทุกคนก็นึกถึงเครื่องบิน หรือโดรน และความพิเศษของโคราช คือ เรามีกองบิน ๑ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าหาหน่วยงานรัฐอย่างกองบิน ๑ ดังนั้น เราจึงเข้าไปพบกับผู้บริหารกองบิน ๑ เพื่อหารือว่า มีเทคโนโลยีใดที่นำมาใช้งานได้บ้าง ไม่ใช่ว่าจะไปหาเครื่องบิน บินดูว่าน้ำท่วมจุดไหน แบบนี้ไม่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่เราจะทำ คือ การจัดทำข้อมูลเพื่อให้รู้ว่า น้ำจะไหลไปทิศทางใด มีปริมาณน้ำเท่าไหร่ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ เราไม่ได้ต้องการทราบสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ต้องการเรียนรู้อดีตและปัจจุบัน เพื่อคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

แลกเปลี่ยนองค์ความรู้

นายมารุต กล่าวอีกว่า “ในการเข้าพบผู้บริหารกองบิน ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ได้รับการตอบรับอย่างดี ซึ่งเริ่มแรกมีความกังวลว่า จะเป็นอย่างไร โดย น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล
ผู้บังคับการกองบิน ๑ ก็ไฟเขียวให้ เพราะเป็นนโยบายของกองทัพอากาศอยู่แล้ว ที่ต้องการทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกิดน้ำท่วม เมื่อเป็นนโยบายระดับกองทัพก็ง่ายต่อการทำงานของเอกชน เพราะจะสามารถดูได้ว่า กองบิน ๑ มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะมาช่วยในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินหรือโดรน และที่สำคัญกองทัพอากาศมีโครงการในลักษณะเดียวกันอยู่แล้วในการบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เช่น ที่จังหวัดปัตตานี มีการทำข้อมูลเพื่อป้องกันภัยต่างๆ เพราะเครื่องบินในยุคนี้เวลาขึ้นบิน นอกจากจะมองพื้นดินด้วยตาเปล่าแล้ว แต่ยังมีข้อมูลพื้นผิวโลกด้วย แต่ต้องมาคุยกันก่อนว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ของกองทัพมีความแม่นยำเพียงใดที่จะนำมาคำนวณ นอกจากนี้กองทัพอากาศยังมีดาวเทียมด้วย ชื่อว่า นภา ๑ และนภา ๒ สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ทางกองทัพอากาศมีอยู่แล้ว”

“ในส่วนของทีมมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ มทส.มีสาขาเทคโนโลยีการบิน เพราะเขามีศักยภาพในการผลิตโดรนบินเอง โดยมีหลายหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในการใช้เทคโนโลยี เช่น การถ่ายภาพพื้นโลก การใช้เทคโนโลยีไลด้า (Li Dar) เราจึงนำสิ่งที่ทั้ง ๒ หน่วยงานมีมาพูดคุยกัน เช่น เทคโนโลยีทางทหาร มทส.สามารถทำถึงระดับนั้นได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะเกิดความร่วมมือ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพูดคุยกันอีกในสัปดาห์หน้า (วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕) สำหรับเทคโนโลยีไลด้า มีความแม่นยำในระดับเซนติเมตร สามารถถ่ายภาพพื้นผิวโลกได้ว่า มีลักษณะอย่างไร จุดใดเป็นพื้นต่างระดับ เมื่อทราบข้อมูลนี้และมีฝนตกเกิดขึ้น ก็จะทราบว่า น้ำจะไหลไปทางไหน และสามารถประมวลผลได้ว่า อีกกี่ชั่วโมงจุดนั้นจุดนี้จะมีน้ำท่วม ก่อนน้ำจะเดินทางไปถึง สามารถทำแก้มลิงได้หรือไม่” นายมารุต กล่าว

ไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

นายมารุต กล่าวต่อไปว่า “ปัญหาน้ำท่วมมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่มีสาเหตุการเกิดไม่เหมือนกัน เช่น กรุงเทพฯ เกิดจากน้ำรอระบาย พื้นที่ติดทะเลเกิดจากคลื่นซัด แต่โคราชเกิดจากฝนตกหนักหน้าเขื่อน ส่วนน้ำท่วมในเขตเมืองนั้น เป็นน้ำท่วมที่รอการระบาย แต่ถ้าเป็นการท่วมจากฝนที่ตกท้ายเขื่อน มวลน้ำจะค่อยๆ ไหลมายังเขตเมือง แต่ถ้าเรามีข้อมูลนี้ เมื่อมีฝนตกท้ายเขื่อนก็นำเครื่องบินหรือโดรนขึ้นทันที และสามารถคำนวณได้ว่า น้ำที่จะไหลไปยังเขตเมืองมีปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็มาคิดว่าจะผันมวลน้ำเหล่านี้ไปที่ใด เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ ลดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจลงไปได้ โดยหน่วยงานที่จะเข้ามาแก้ไขหลังจากที่เรามีข้อมูลแล้วอาจจะเป็น ปภ. แต่ที่ผ่านมาข้อมูลน้ำเหล่านี้ไม่ชัดเจน ไม่แม่นยำ ก็กลายเป็นว่า ปภ.คอยนำถุงยังชีพไปมอบให้ประชาชนหลังน้ำท่วม แต่ถ้าโคราชมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้ ซึ่งการร่วมมือในการป้องกันน้ำท่วม เป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่าไปบรรเทาภัยหลังเกิดเหตุแล้ว หลายวิกฤตที่ผ่านมาในโคราช ทำให้เห็นว่า เราเอาแต่ตั้งรับ แต่ถ้าหันมาร่วมมือกันทั้งจังหวัด โคราชจะสามารถทำอะไรที่เป็นเชิงรุกได้ ป้องกันวิกฤตต่างๆ ได้ และยิ่งรวมตัวกันแน่นมากเท่าไหร่ โลกในอนาคตที่คนพูดถึงหลังวิกฤตโควิด-๑๙ คนเริ่มมองหาความยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากการพูดคุยกัน ใครมีทรัพยากรอะไรบ้างก็นำมาแบ่งปันกัน และเริ่มต้นลงมือทำ”

น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน ๑

กองบิน ๑ พร้อมร่วมมือ

น.อ.เจริญ วัฒนศรีมงคล ผู้บังคับการกองบิน ๑ เปิดเผยว่า “กองบิน ๑ ให้ความร่วมมือกับทีมอาสา Data เพื่อการพัฒนาเมือง ที่นำโดยนายมารุต ชุ่มขุนทด ซึ่งเป็นกลุ่มภาคเอกชนที่มาอาสาแก้ปัญหาให้กับโคราช เขาก็ติดต่อผมมาว่า ต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะคิดว่า กองบิน ๑ มีขีดความสามารถที่สามารถสนับสนุนโครงการนี้ได้ การหารือเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการหารือกันครั้งแรก ผมได้นำเสนอขีดความสามารถของกองทัพอากาศในเรื่อง GIS หรือข้อมูลชั้นความสูง ข้อมูลแผนที่ทางอากาศเพื่อให้ทีมดังกล่าวนำไปแก้ไขปัญหาอุทกภัย”

“เนื่องจากการหารือครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันครั้งแรก จึงยังไม่มีการสาธิตเครื่องมือต่างๆ และช่วงนี้อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ไปก่อน หลังจากนั้นกองบิน ๑ จะไปเยี่ยมชมงานวิจัยของ มทส.ที่กำลังทำเรื่องนี้ และกองบิน ๑ ก็จะนำทีมนี้ไปดูงานของกองทัพอากาศที่กำลังทำเรื่องในลักษณะนี้อยู่ เมื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศึกษางานร่วมกันเสร็จแล้ว จากนั้นอาจจะขอรับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศมาทำข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมากองบิน ๑ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอด ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การส่งกำลังพลและเครื่องมือไปช่วยขุดลอกคลอง เพื่อป้องกันอุทกภัยตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งมีการดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว” น.อ.เจริญ กล่าวท้ายสุด


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๖ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


999 1400