29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 30,2022

คนอุบลรวมพลสู้ข่าวลวง แก้วิกฤตสังคมหลงทาง

 

ตั้งทีมสู้ภัยข่าวลวง ทำสังคมสับสน เสนอตั้งสื่อชุมชน เพราะสื่อกระแสหลักเสนอแต่ข่าวผัวเมีย สร้างภูมิคุ้มกันไม่ตกเป็นเหยื่อพวกสร้างเรื่องหลอกลวง


ทีมโคแฟคไทยแลนด์จัดปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความรู้ที่กับแกนนำชุมชน จ.อุบลราชธานี สร้างภูมิคุ้มกันแก่ผู้รับข่าวสาร โดยมี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง COFACT ประเทศไทย นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษา COFACT ประเทศไทย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภา นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้งอุบลคอนเนก (Ubon Connect) นายทศพล ไกรพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านศรีไคนอก นายกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข และแกนนำชุมชนในจังหวัดร่วมแลกเปลี่ยนสร้างภูมิคุ้มกันข่าวหลอก ข่าวลวง ข่าวเท็จในสังคมของจังหวัด เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕

โดยผู้มีประสบการณ์เสนอว่า จำเป็นต้องมีการกระจายข้อเท็จจริงในทุกเรื่องราวให้สังคมรับทราบ เพื่อชั่งน้ำหนักข้อมูลใดเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องหลอกลวง ที่มีคนสร้างเรื่องราวขึ้นมาให้ผู้รับข่าวสารเชื่อ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร มีทั้งเชื่อโดยไม่รู้จริง หรือผลิตขึ้นโดยหวังผล เนื่องจากข้อมูลปัจจุบันสร้างขึ้นได้ง่ายและแพร่กระจายได้เร็ว เช่น กรณีจังหวัดอุบลราชธานี มีการตั้งกลุ่มแจ้งเหตุภัยพิบัติ หรือเรื่องโรคระบาดไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของคนในกลุ่ม เป็นที่สนใจของภาคราชการเข้ามาร่วมนำเรื่องจริงลงในกลุ่ม แล้วช่วยกันกระจายข้อมูลที่ชัดเจนให้คนในสังคมได้รับทราบอย่างถูกต้อง จึงช่วยกันป้องกันภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือไม่ตกใจกับภัยลวงที่ถูกสร้างขึ้นมาให้กลัว ทำให้ผู้เข้าร่วมรับข่าวสารในกลุ่มมีภูมิคุ้มกัน สังคมไม่ถูกข่าวลวงสร้างความปั่นป่วน

นายทศพล ไกรพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านในตำบลเมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผู้ร่วมวงเสวนา เล่าประสบการณ์ลูกของบ้านที่ได้รับข่าวลวงมาทางโซเซียล ทำให้ตกอกตกใจว่า น้ำกำลังจะไหลท่วมบ้านที่อาศัย ต้องเรียกลูกหลานให้มาช่วยกันขนข้าวของ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง บางคนได้รับจดหมายให้จ่ายเงินค่าใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เมื่อได้รับจดหมายไม่มีการตรวจสอบ จะรีบโอนเงินให้แก๊งต้มตุ๋น แต่เมื่อสอบถามทราบว่า ลูกบ้านรายนั้นใช้โทรศัพท์มือคนละค่ายกับค่ายที่เรียกเก็บเงิน และใช้โทรศัพท์แบบเติมเงินไม่ได้ใช้แบบรายเดือน

“จึงมีความเห็นว่า ผู้นำชุมชนมีส่วนสำคัญช่วยลดปัญหาการถูกหลอกของคนในชุมชนด้วย ผู้นำชุมชนจำเป็นต้องหมั่นหาความรู้ ตรวจสอบความเคลื่อนไหวและภัยลวงต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกบ้าน ทุกวันนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าถึงโซเซียลมีเดีย ยิ่งมีโอกาสถูกหลอก จำเป็นต้องหาความรู้มาป้องกันตัวเอง ไม่เชื่อข่าวหลอกลวงง่ายๆ และต้องสร้างสื่อสารมวลชนขึ้นในชุมชน เพราะทุกวันนี้ ทุกคนเป็นสื่อได้เหมือนกันหมด” นายทศพล กล่าว

นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้งอุบลคอนเนก กล่าวถึงภัยข่าวลวงสามารถสร้างหายนะให้บ้านเมือง ให้ครอบครัว เหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ถูกยิงตาย เพราะมือปืนเชื่อข่าวลวง

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอว่า สื่อกระแสหลักมีแต่ข่าวแตงโม น้องชมพู่ สามีภริยาทะเลาะกัน เพราะได้สปอนเซอร์ คนทำข่าวเลยต้องเอาตัวรอด บางครั้งสื่อก็เป็นผู้เสนอข่าวลวงที่ยังไม่มีการตรวจสอบเสียเอง จึงอยากให้สื่อกระแสหลักมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๗ วันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


985 1614