29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 12,2022

อดีตปธ.หอให้โอวาท‘กก.’ คดีหมิ่น‘ยกหนี้ ๗ แสน’ รองนายกฯใหม่กิ๊กโร่ ตร.

ตำรวจส่งหมายถึงบ้าน ‘ทวิสันต์ โลณานุรักษ์’ หลังรองนายกเทศมนตรีฯ ใหม่เอี่ยม กล่าวหาหมิ่นประมาท กรณีอดีตประธานหอการค้าฯ ยกหนี้ ๗ แสน เผยตำรวจยังไม่แจ้งข้อหา ขอเวลารวบรวมหลักฐานเพิ่ม เจ้าตัวย้ำไม่กังวล มีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเพราะห่วงใยองค์กร

ตามที่มีการเสนอข่าวสมาชิกหอการค้าฯ บางส่วน ส่งจดหมายสนเท่ห์สอบถามกรณีอดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตร จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ได้แก่ ๑.ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๒.โรงแรมวีวันโคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๓.สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และ ๔.บริษัท รุ่งเรือง ธ.วัฒนา จำกัด ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งกลุ่มพิทักษ์หอการค้าฯ ได้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะนายทะเบียนคลี่คลายและสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ โดยต่อมามีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งข่าวนี้สร้างความสนใจในวงกว้าง และมีการส่งต่อข้อความทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ส่งผลให้นายชัชวาล วงศ์จร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในข่าว แจ้งความหมิ่นประมาทกับบุคคลที่ส่งต่อข้อความต่างๆ โดยเมื่อวานก่อนนั้น (๘ สิงหาคม ๒๕๖๕) นายชัชวาล วงศ์จร ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

ล่าสุดวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.(หญิง) วิสาสิริ เกียรติวิสัย รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองนครราชสีมา ตามหมายเรียกพยานลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ซึ่งระบุว่า นายชัชวาล วงศ์จร เป็นผู้กล่าวหา โดยมีสมาชิกกลุ่มพิทักษ์หอการค้าฯ เดินทางมามอบดอกกุหลาบ เพื่อให้กำลังใจก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนฯ

นายทวิสันต์ เปิดเผยก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนฯ ว่า “ผมได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมาที่บ้าน ที่มีนายชัชวาล วงศ์จร เป็นผู้กล่าวหา โดยอ้างว่าผมเป็นพยาน ไม่รู้ว่าจะเป็นพยานฝ่ายไหน เรื่องอะไร แต่น่าจะเป็นเรื่องหอการค้า จากการพูดพาดพิงเรื่องเงิน ๗ แสนบาท ตีความว่าเป็นการบริจาค หรือเป็นการขอ Sponsor (การสนับสนุน)”

“วันนี้ผมมาใช้สิทธิ์ คือ ๑.ตามรัฐธรรมนูญ ผมมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นในกรอบที่ทำได้ และผมก็เป็นนักวิชาการ แสดงความคิดเห็นในเชิงหลักการ ๒.หอการค้ามี พ.ร.บ. หมายความว่ามีกฎหมายเฉพาะ บางคนไม่เข้าใจว่า หอการค้าเป็นองค์กรอะไร เอกชนหรือไม่ ซึ่งมีกฎหมายควบคุม ที่สำคัญคือหอการค้ามีข้อบังคับ ๓.ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกหอการค้า เป็นสมาชิกก่อตั้ง อยู่มา ๔๓ ปี ผมจึงมีความสนใจเรื่องที่เกิดขึ้นว่า มีการขัดแย้งอะไร อย่างไร” นายทวิสันต์ กล่าวและว่า

“หอการค้าเป็นองค์กรภาคเอกชน ต้องดูแลกัน และบังเอิญว่ามีกลุ่มสมาชิกอยากให้เข้าไปแก้ปัญหา เพราะอดีตที่ปรึกษา อดีตประธานหอการค้าประมาณ ๗-๘ คน ไม่อยากมีส่วนร่วมหรือยุ่งเกี่ยว เพราะกลัวจะเกิดความขัดแย้ง ผมจึงเกิดความสนใจ น่าจะมีการพิสูจน์ และขณะเดียวกันมีการยื่นเรื่องความขัดแย้งดังกล่าวไปที่นายทะเบียนจังหวัด ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ๕ คน ซึ่งผมมอบเอกสารที่พูดถึงเรื่องเงิน ๗ แสนบาทให้คณะกรรมการ แต่มีการแจ้งกลับมาว่า เป็นเรื่องของการบริจาค ผมจึงแย้งไปว่าไม่ใช่การบริจาค เพราะว่าเจตนาของจดหมายเชิญชวนนี้ เป็นลักษณะของการเสนอบริการ เช่น สิ่งที่ส่งมาด้วย ในรายละเอียดบอกว่า หากร่วมสนับสนุนทุน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หอการค้าจะทำอะไรให้บ้าง ดูอย่างไรก็เป็นเรื่องการขอสปอนเซอร์ ฉะนั้นการขอสปอนเซฺอร์เป็นเรื่องการตอบแทน”

นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า “เรื่องที่ ๒ ที่กังวล คือ กรรมการที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งนั้น บอกว่า การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีผลอะไร หากไม่มีคนร้อง แต่ถ้าจะให้ล้มมติ ต้องไปฟ้องศาล ผมมองว่าไกลเกินไป ไม่ต้องฟ้องศาล ความจริงกรรมการชุดนี้น่าจะบอกได้ว่า ถูกหรือผิด ปกติแล้วจะห้ามคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าที่ประชุม หากเข้าไปจะทำให้การประชุมนั้นเป็นโมฆะ ผมก็ติงเรื่องนี้ไป และ ๓.เรื่องจ่ายเช็คเข้าบัญชีกรรมการหอการค้า ซึ่งกรรมการบอกว่าทำได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผมมองว่าไม่ถูก เพราะเช็คหอการค้า จะไปจ่ายให้ใครไม่ได้ง่ายๆ ผมอยากพิสูจน์ว่า มีการจ่ายจริงหรือไม่ ดูที่ต้นขั้วเช็คก็รู้แล้ว แต่ยังไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการระบุชื่อ จริงๆ แล้วหอการค้าตอนที่ผมเป็นประธาน มีการระบุชื่อผู้จ่าย ระบุชื่อผู้ถือ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้ง่าย และระบุไว้ว่า ถือเงินสดได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท การถือเงินสดคือมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้วคือ เหรัญญิก”

“สำหรับประเด็นการนำรถยนต์หอการค้าฯ ไปใช้ ดูเหมือนจะมีการตีความว่า รู้ว่ามีการนำไปใช้แต่คณะกรรมการแจงว่า เป็นเรื่องภายในหอการค้า ผู้ที่เป็นกรรมการหอการค้านั้นเป็นอาสาสมัคร จะต้องมีจริยธรรม ไม่ควรเอารถหอการค้าไปใช้ในการส่วนตัว โครงการต่างๆ ไม่ต้องประมูลแบบราชการก็ได้” นายทวิสันต์ กล่าว

จากนั้น นายทวิสันต์ เปิดเผยย้ำอีกหลังจากให้การกับตำรวจกว่า ๓๐ นาที ว่า “เนื่องจากเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับหอการค้า เรื่องเงิน ๗ แสนบาท เพื่อหาความจริงว่า เป็นเงินบริจาค หรือเงินขอสปอนเซอร์ ประเด็นนี้เป็นประเด็นภายในหอการค้า ซึ่งผมก็เป็นสมาชิกหอการค้า ผมต้องการให้มีการเปิดประชุมวิสามัญสมาชิก เพื่อชี้แจง แต่บังเอิญว่าไม่ได้ทำ พอไม่ได้ทำผมก็มีการพูดคุยกับคนอื่นๆ แต่เมื่อคุยไปคุยมา ก็กลายเป็นประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน คราวนี้การที่เห็นไม่ตรงกัน นายชัชวาลเลือกที่จะแจ้งความเอาผิดคนที่คุยกับผม แต่คนที่ผมคุยด้วยนำบทสนทนาไปส่งต่อในกลุ่มไลน์ แอบอ้างว่า รู้จักผม ซึ่งผมจะปฏิเสธ เพราะเรื่องผ่านมานาน ๖ เดือนแล้ว เลยมองว่าคงจะต้องมาให้การอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องนี้น่าจะไม่จบง่าย เพราะไม่ใช่ประเด็นเดียว ยังมีอีกหลายประเด็น และผมเป็นสมาชิกหอการค้า ผมมีสิทธิ์ที่จะสอบถามตามรัฐธรรมนูญ เป็นประชาชนคนหนึ่งที่สามารถที่จะขอรายละเอียด ข้อมูล โดยเฉพาะองค์กรหอการค้าเป็นองค์กรสาธารณะและมีกฎหมายควบคุม ฉะนั้นคนที่เป็นกรรมการเป็นเพียงแค่ทำหน้าที่ แต่ผู้เป็นเจ้าของคือสมาชิกอย่างพวกผม เมื่อผมเห็นองค์กรของผมมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง ผิดปกติ ผมจะไปร้องขอ ในเรื่องกรรมการหอการค้า เขาบุคคลสาธารณะ บุคคลสาธารณะควรที่จะเปิดกว้าง เมื่อเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง ควรเปิดเผย แต่เมื่อเขาเลือกที่จะแจ้งความเอาผิดผม ผมต้องยอมรับ ใช้สิทธิ์กันไป ผมจึงต้องใช้สิทธิ์ของผม”

“ทางตำรวจบอกว่า นายชัชวาลแจ้งข้อหาผมแล้ว แต่ทางตำรวจยังไมได้แจ้งอะไร เพียงแต่บอกว่าให้ผมทำบันทึกการให้การมา อย่างที่บอกไปว่า ในฐานะสมาชิก การแสดงความคิดเห็นก็ต้องใช้สิทธิ์กันไป ผมก็มีความรู้สึกเสียใจ ผมเป็นสมาชิกหอการค้ามา ๔๓ ปี เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมาเกิดที่บ้านเรา จังหวัดนครราชสีมา อีกอย่างคือ น่าจะพูดคุยภายในองค์กร เปิดประชุมวิสามัญสมาชิก ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ที่ผ่านมาก็เคยมีการจัดประชุม ผมเป็นประธานหอการค้ามาหลายสมัย แต่เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วผมก็ต้องดำเนินการ”

นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า ผมไม่มีความกังวล มีหลายคนที่อึดอัดใจแต่ไม่กล้าแสดงออก เนื่องจากหอการค้าประกอบด้วยนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายคน บุคคลพวกนี้เขาไม่อยากขัดแย้ง สำหรับผมเองในส่วนหนึ่งผมเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์เลยเห็นว่า ต้องมีความถูกต้อง ไม่อย่างนั้นความเชื่อถือต่อสังคมจะลดลง เมื่อมีน้อยสมาชิกก็จะลดลงตามไปด้วย การที่ผมออกมาจึงไม่มีความกังวลอะไร

“ในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ ควรจะใจกว้าง มีการต่อว่าอะไร ควรจะใจกว้างรับฟัง ไม่ใช่อะไรก็ไปแจ้งความ ตำรวจเขาก็งานเยอะอยู่แล้ว แจ้งความก็แจ้งได้อยู่แล้ว เขาใช้สิทธิ์ของเขาเพราะมันเป็นระบบกล่าวหา ผมหมายความว่าถ้าเป็นบุคคลสาธารณะ ต้องใจกว้าง ต้องรับฟัง เพราะทุกคนที่เข้าไป เป็นอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทน การเป็นอาสาสมัครเราต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลสูงกว่าคนอื่น ถ้าหากว่าไม่มีก็จะเกิดปัญหา” นายทวิสันต์ กล่าวย้ำในท้ายสุด


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่  ๑๖  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


982 1605