29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 27,2022

ร้อง‘บ้านมั่นคง’ห้ามปิดค่างวด อ้างกลัวขาดสภาพคล่อง

 

สาวร้องสื่อ ขอความเป็นธรรมหลังโครงการบ้านมั่นคงสุรินทร์ ไม่ให้ปิดค่างวดบ้าน และห้ามให้ประโยชน์ในที่ดินทั้งที่มีสัญญาถูกกฎหมาย เผยโดนสหกรณ์ต่อว่า ไม่ให้เห็นแก่ตัว ให้คิดถึงสหกรณ์ หวั่นไม่มีเงินมาบริหาร อ้างกลัวขาดสภาพคล่อง

 

เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้รับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากนางสาวพิฌยาวัลย์ วัชรกุลอภิโชค กรณีเรื่องการกู้เงินสหกรณ์บ้านมั่นคงสุรินทร์ จำกัด เพื่อเช่าซื้อบ้านและที่ดินของโครงการบ้านมั่นคงสุรินทร์ ที่ชุมชนทุ่งโพธิ์ เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีบ้านในโครงการจำนวน ๑๙๖ หลัง

นางสาวพิฌยาวัลย์ วัชรกุลอภิโชค เปิดเผยว่า “ได้เช่าซื้อบ้านและที่ดินในโครงการฯ เลขที่ ๓๐๐/๔๔ อาคาร c ซึ่งเป็นตึกแถว ๒ ชั้น ขนาด ๑๐ ตาราววา และซื้อที่ดินด้านข้างติดกับบ้านเพิ่ม ๙ ตารางวา รวมเป็น ๑๙ ตารางวา แต่การเช่าซื้อกลับมีปัญหา ทั้งเรื่องที่ดินและเรื่องที่อยู่อาศัย โดยที่ดินนั้นได้ผ่อนเป็นงวดๆ ละ ๑,๓๒๐ บาทต่อเดือน จำนวน ๑๘๐ งวด เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี และบ้านผ่อนเดือนละ ๑,๘๘๐ บาท ระยะเวลา ๑๕ ปี ตามสัญญาเช่า-ซื้อ กับโครงการ โดยผ่อนมาตั้งแต่ทำสัญญาเมื่อปี ๒๕๖๐ เป็นเวลา ๕ ปีแล้ว และเมื่อมามีเงินเก็บพอปิดค่าที่ดินที่ผ่อนผันและบ้าน แต่กลับไม่สามารถปิดได้ เรื่องของที่ดินก็จ่ายไปครบแล้ว ได้เอกสารเป็นใบเสร็จมาแล้ว กลับบอกว่าจะถอนคืนให้ และหาว่าจะทิ้งภาระหนี้ดอกเบี้ยให้กับสมาชิกที่เหลือ แบกรับภาระเป็นเวลานับ ๑๐ ปี จึงสงสัยทั้งที่จ่ายเงินปิดค่างวดน่าจะเป็นผลดี แต่กลับถูกหาว่าทิ้งภาะหนี้ให้คนอื่น อีกทั้งในเรื่องของที่ดินส่วนเกิน เคยไปปรึกษาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแล้ว และมีเจ้าหน้าที่เข้าไกล่เกลี่ย และทางโครงการหมู่บ้านจะส่งเจ้าหน้าที่มาวัดเขตให้ เพื่อดำเนินการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่ถึงขณะนี้ ๕ ปีแล้ว ก็ไม่มีการออกมาวัดที่ดินกินให้ อ้างปิดบัญชีไม่ลงตัว และไม่สามารถทำประโยชน์ได้ และสัญญาเช่าซื้อที่ถือไว้กลับถูกบอกว่าเป็นของกรรมการชุดเดิมทำไว้ใช้ไม่ได้ ให้ไปยึดถือกฎระเบียบของสหกรณ์แทน เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว จึงออกมาร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมในเรื่องที่เกิดขึ้น”

“ก่อนจะนำเงินไปปิดค่าที่ดินส่วนเกิน ได้สอบถามไปแล้วว่า สามารถปิดได้ไหม และได้รับคำตอบกลับมาว่าสามารถปิดได้ ทำให้มีความหวัง โดยครั้งแรกนำเงินเพื่อปิดงวดที่ดิน ซึ่งได้มา ๑๙ ตารางวา เนื่องจากมีที่ดินส่วนเกินมาจากที่กำหนดเพียง ๑๐ ตารางวา โดยกำหนดจ่ายเดือนละไม่ต่ำกว่า ๑,๓๒๐ บาท จำนวน ๑๘๐ งวด รวมระยะเวลา ๑๕ ปี โดยได้นำเงินส่วนที่เหลือจากที่ผ่อนมาไปจ่ายที่สหกรณ์ ครบทั้งหมดจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ กว่าบาท และได้เอกสารเป็นบิลใบเสร็จรับเงินออกมา ซึ่งในวันที่ไปปิดงวดที่ดิน เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ยังได้แนะนำให้มาปิดค่างวดของบ้านด้วย เนื่องจากจะได้นำเงินของเดือนต่อไปไปทำธุรกิจ จากที่ปิดค่างวดของที่ดินไปเพียงเดือนกว่าเท่านั้น จึงนำเงินก้อนหนึ่งไปปิดค่างวดของบ้านส่วนที่เหลือ จำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท ขณะนับเงินไปได้เกินครึ่งแล้ว มีการทักทวงขึ้นมาว่า ไม่สามารถให้ปิดได้ เป็นหนังคนละม้วนเลย โดยบอกว่าประธานฯ กับคณะกรรมการโครงการฯ ได้ประชุมกันแล้ว ไม่สามารถให้ปิดได้ และจะถอนเงินที่ปิดเรื่องของที่ดินมาคืนด้วย ซึ่งให้เหตุผลว่า กลัวสหกรณ์ขาดสภาพคล่อง เพราะว่า ทาง พอช.เขาคิดดอกเบี้ย ๔ เปอร์เซ็นต์ โดยสหกรณ์จะได้ ๒ เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาบริหารจัดการ แสดงว่าสหกรณ์มีระยะเวลาแค่ ๑๕ ปีหรือ หากครบ ๑๕ ปี เขาจ่ายหนี้หมดสหกรณ์ก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี ในสัญญาซื้อขายบอกไว้ทำไมว่าสามารถปิดก่อนได้”

นางสาวพิฌยาวัลย์ กล่าวว่า “นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า สัญญาดังกล่าวที่มีอยู่เป็นของประธานฯ คนเก่า ไม่ใช่ของประธานชุดใหม่ อย่างนั้น ๒ ปี เปลี่ยนประธานโครงการใหม่ จะต้องมีการเปลี่ยนสัญญาทุก ๒ ปี หรือไม่ ในเมื่อซื้อบ้านจากสัญญาเดิมก็ต้องใช้สัญญาเดิม แต่อยู่ดีๆ ก็ให้ไปถือกฎของสหกรณ์ ซึ่งอยากเปลี่ยนแปลงกฎอะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่ถือสัญญาแต่บอกว่า ห้ามยึดตามสัญญานี้ ให้ยึดตามกฎระเบียบของสหกรณ์ ซึ่งมีประธานและคณะกรรมการเพียง ๑๔ คน เท่านั้น แล้วมีมติมาห้ามทุกอย่าง เช่น ห้ามทำรั้ว ห้ามใช้ที่ดินส่วนเกิน รวมทั้งห้ามตกแต่งบ้าน ทั้งที่เขาซื้อมาแล้ว เคยไปปรึกษาศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์มาแล้วเมื่อปลายปี ๒๕๖๒ เรื่องจะใช้ที่ดินส่วนเกินที่อยู่ข้างจำนวน ๙ ตารางวา ซึ่งทางศูนย์ดำรงธรรมก็บอกว่า สัญญาซื้อขายจบตั้งแต่ทำสัญญาซื้อแล้ว ซึ่งทุกคนสามารถมีสิทธิ์ทำประโยชน์ในที่ดินของตัวเองได้ แต่ทางคณะกรรมการบอกว่าไม่ และยังบอกอีกว่า ใช้สมองคิดบ้าง คนมาซื้อบ้านภายใต้สหกรณ์ไม่ได้มาซื้อเดี่ยว จะต้องฟังทางสหกรณ์เท่านั้น ซึ่งจุดนี้เองทำให้ไม่มั่นใจในความปลอดภัย จึงต้องหาเงินมาปิดชำระให้หมดไปโดยเร็ว เพื่อว่าบ้านเป็นของตนแล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นจู่ๆ ประกาศมาจะซื้อบ้านคืน ขอซื้อที่ดินคืน จะเอาเงินคืนให้ พูดเหมือนสามารถขับไล่เราได้ทุกเมื่อถ้ามีมติอะไรออกมา รู้สึกว่าไม่มีความมั่นคง”

“เคยไปพบกับประธานโครงการฯ เขาบอกว่า อย่าเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเองไม่ได้ ต้องคิดถึงสหกรณ์ หากสหกรณ์ขาดสภาพคล่องจะทำอย่างไร เธอคนเดียวปิดหนี้ค่าบ้านค่าที่ดิน จะทำให้สหกรณ์สูญเสียรายได้ที่จะมาบริหาร แล้วทุกคนที่เหลือต้องมาแบกภาระหนี้ของเธอไปอีกสิบปีที่เหลือ ทั้งที่นำเงินไปปิดน่าจะดีต่อส่วนรวมด้วย เพราะว่าต้นก้อนใหญ่ลดทุกคนก็จะได้ลดดอกเบี้ยลงไปด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าทุกคนจะต้องแบกภาระหนี้ดอกเบี้ย แล้วก็มาทำประชาคมในหมู่บ้านก็มีการให้ข้อมูลในลักษณะนี้ ทุกคนก็เลยกลายเป็นว่าไม่ยอมให้ปิด” นางสาวพิฌยาวัลย์ กล่าว

จากนั้น นางสาวพิฌยาวัลย์ วัชรกุลอภิโชค ได้นำไปดูจุดที่ดินที่พบว่ามีปัญหาซึ่งติดอยู่ข้างบ้าน จำนวน ๙ ตารางวา ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๒ ได้ทำโครงสร้างเป็นเหล็กต่อเติมเพื่อทำเป็นห้องนอน โดยทำตามกฎระเบียบของโครงการ ไม่มีการเทคาน หรือฝังเกาะยึด เป็นแบบน็อคดาวน์ กำลังจะสร้างเป็นรูปเป็นร่างก็ถูกแจ้งให้ระงับการดำเนินการ สูญเสียเงินไปกว่า ๑ แสนบาท แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ กระทั่งไปยื่นขอความเป็นธรรมที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ และมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่มาไกล่เกลี่ย ซึ่งทางโครงการก็บอกว่าจะออกมาวัดเขตให้ แต่จนถึงขณะนี้ทิ้งไว้เกือบ ๕ ปี แล้ว สนิมกินเหล็กไปหมดแล้ว ก็ยังไม่มาวัดให้ อ้างยังปิดบัญชีไม่ลง

นางสาวพิฌยาวัลย์ วัชรกุลอภิโชค กล่าวย้ำท้ายสุดว่า “มีสัญญาทั้งที่ดินและบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อยากได้ความยุติธรรมและได้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน และจะได้ปลดภาระหนี้สินสักที ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลเรื่องนี้มาให้ความเป็นธรรมด้วย”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๑ วันพุธที่ ๒๔ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


981 1639