23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

August 27,2022

เทศบาลฯไม่ยอมให้เกิดภาพลบ เร่งซ่อมถนนให้เสร็จต้นปีหน้า โคราชต้องเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

เทศบาลนครฯ แจงความคืบหน้าการปรับปรุงถนน ๑๙ สาย หลังนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เผยล่าช้าจากการส่งมอบ ผู้ประกอบการสายสื่อสารยังทำไม่เรียบร้อย ‘รองนายกเทศมนตรี’ ชี้ทราบปัญหาดี อยากเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ย้ำพยายามทำให้เสร็จต้นปี ๒๕๖๖ เพื่อโคราชสวยงาม ไม่ยอมให้เกิดภาพลบกับเมืองโคราชแน่นอน

สืบเนื่องจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) หรือการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ทำให้ถนนสายต่างๆ ในพื้นที่โครงการเกิดชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อจากการก่อสร้าง และไม่ได้รับการแก้ไขนั้น

กระทั่งช่วงกลางปี ๒๕๖๕ ความคืบหน้าในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดคืนให้กับเทศบาลนครนครราชสีมาแล้ว และเทศบาลนครฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นผิวถนนใหม่ จำนวน ๕ เส้นทาง จากทั้งหมด ๑๙ เส้นทาง ทำให้มีเสียงตำหนิจากประชาชนถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีระยะเวลาครบ ๓ ปี ในเดือนกันยายนนี้ และผู้รับผิดชอบไม่ได้ชี้แจงถึงปัญหาและความล่าช้า

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ‘โคราชคนอีสาน’ สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าจากนายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ซึ่งชี้แจงว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากความไม่สมบูรณ์ในการส่งมอบงานจากผู้ประกอบการสายสื่อสาร เช่น ปัญหาการร้อยสายไฟจราจรลงดิน ซึ่งเดิมทีการทำงานอาจจะกำหนดแผนไว้แบบหนึ่ง แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วกลับพบปัญหาที่ไม่เคยเจอ จึงทำให้เกิดปัญหาล่าช้าและผิดพลาดขึ้น เมื่องานไม่สมบูรณ์มีปัญหามากมาย ทำให้เทศบาลนครฯ ไม่สามารถรับมอบงานต่อได้ เนื่องจากเทศบาลนครฯ จะต้องรับมอบงานต่อโดยสภาพแวดล้อมต้องมีลักษณะสมบูรณ์คล้ายกับก่อนดำเนินการ ซึ่งมีถนนส่วนหนึ่งที่เทศบาลนครฯ สามารถทำได้และแล้วเสร็จ อีกส่วนหนึ่งได้ผู้รับจ้างแล้ว รอผู้รับจ้างเข้ามาเซ็นสัญญา และส่วนสุดท้าย คือ อยู่ในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง”

“สายสื่อสารมีความเชื่อมโยงกันหมด จากเดิมที่อยู่บนดินอาจจะมองเห็นได้ง่าย แก้ไขได้ง่าย แต่เมื่อนำลงดิน ทำให้แก้ไขได้ยาก บางครั้งก็พบปัญหา เช่น กำลังนำลงดินแล้วพบปัญหาอินเทอร์เน็ตขาด ก็ต้องค้นหาว่าเป็นที่จุดใด ซึ่งทำได้ยากกว่าบนดิน และที่สำคัญ พื้นที่เทศบาลนครฯ เป็นเขตเมืองเก่า การขุดเจาะอะไรอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ และอาจจะกลายเป็นการสร้างปัญหา เช่น ระบบน้ำประปามีรอยร้าวหรือชำรุด ทำให้ดินหรือทรายไหลลงไป เกิดถนนยุบตัวตามมา ซึ่งหลายๆ ปัญหาเทศบาลนครฯ ได้แจ้งผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาเข้ามาแก้ไขเสมอ บางครั้งผู้ประกอบการสายสื่อสารส่งมอบถนนกลับมาให้เทศบาลนครฯ พบว่า ถนนมีสภาพชำรุด เป็นหลุมยุบขนาดใหญ่ เกิดเป็นถนนผิวดวงจันทร์ เกิดเป็นปัญหาและส่งมอบงานไม่ได้”

ต้องการเปลี่ยนแปลง

นายชาตรี กล่าวอีกว่า “สำหรับถนนที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) มีทั้งหมด ๑๙ เส้นทาง ขณะนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์เพียง ๕ เส้นทาง คือ ถนนราชดำเนิน-ชุมพล ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนโพธิ์กลาง ถนนสุรนารี และถนนข้างซอยโรงแรมลีโอซอ ซึ่งเส้นที่เหลือเทศบาลนครฯ จะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด ถ้าคาดการณ์ คือ ประมาณช่วงต้นปีหน้า เพราะนอกจากจะมีปัญหาการส่งมอบแล้ว ยังมีปัญหาจากข้อกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้าง และปัญหาระบบใต้ดินที่มีทั้งระบบประปาและไฟฟ้า ทำให้ต้องปรับแผนการดำเนินงานส่วนหนึ่ง เพราะงานใต้ดินเป็นงานยาก บางครั้งทำงานไปแล้วอาจจะไปขัดกับระบบประปาก็ต้องปรับแผนใหม่ มีการแก้ไขเฉพาะหน้า ทำให้งานถนนมีความล่าช้า ซึ่งขณะนี้ผมก็มีความกังวลใจ เพราะผมก็ใช้ถนนในเขตเมืองเช่นกัน ผมนั่งดูก็มีความกังวลใจอย่างมากว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ผมก็ต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก”

นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

ทำของเดิมให้เรียบร้อย

“โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ ๑ จังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินงานจาก ๓ ส่วน คือ การไฟฟ้าฯ เทศบาลนครฯ และผู้ประกอบการสายสื่อสาร (หลายบริษัท) ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง ๓ ฝ่ายมีการประชุมกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหาร วางแผนร่วมกันว่าโครงการจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการคลาดเคลื่อน รวมทั้งพูดคุยถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะบางครั้งเราวางแผนไว้ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด แต่วันนี้ทุกฝ่ายมีประสบการณ์แล้ว จึงมีการปรับรูปแบบ ปรับแผน ถ้าจะมีการทำโครงการใหม่ (โครงการ ๑ จังหวัด ๑ ถนนเฉลิมพระเกียรติ) จะต้องบูรณาการร่วมกัน ไม่ทำงานแยกกันอย่างที่ผ่านมา และที่สำคัญต่อไป สร้างความลำบากให้กับประชาชนน้อยลง อาจจะมีเงื่อนไขว่า การเปิดหน้าดินทำได้เพียงใด เพื่อให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ไม่ใช่ทำไปแล้วเกิดการล่าช้า ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก และถ้าโครงการเดิมยังไม่เรียบร้อย ยังมีปัญหาอยู่แบบนี้คงจะไม่ได้ทำโครงการใหม่” นายชาตรี กล่าว

เสร็จภายในต้นปี ๒๕๖๖

นายชาตรี กล่าวต่อไปว่า “เทศบาล นครฯ จะพยายามเร่งทำถนนให้สมบูรณ์อย่างน้อย ๑ เส้น ภายในต้นปีหน้า จะพยายามให้ถึงที่สุดเพื่อทำให้ถนนกลับมาสวยงาม เมื่อผมมารับผิดชอบงานตรงนี้จะไม่ยอมให้เกิดภาพลักษณ์แบบนี้กับเมืองโคราช เพราะโคราชเป็นเมืองสวยงาม เป็นเมืองเก่า เมื่อถนนเป็นแบบนี้ทำให้เกิดภาพลบ ทั้งคณะผู้บริหารเทศบาลนครฯ ไม่ยินยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน ทุกคนมีความกังวลใจ แม้แต่ ส.ท.เองก็ยังช่วยเดินตรวจดู ทุกฝ่ายพร้อมที่จะทำให้โคราชเป็นเมืองสวยงามอีกครั้ง ซึ่งเทศบาลนครฯ มีแผนหลายอย่างที่ต้องการปรับปรุง อะไรที่เป็นปัญหาเก่าๆ เราพยายามกรีดแผลแล้วแคะหนองออกมา อาจจะมีความเจ็บปวดบ้างบางครั้ง แต่จะทำให้โครงสร้างแข็งแรงมากขึ้น”

นายชาตรี ย้ำท้ายสุดว่า “เทศบาล นครฯ จะพยายามทำให้ได้ภายในต้นปีหน้า ที่จะต้องปรับปรุงอะไรก็ตามที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ถนนเส้นใดที่เป็นหลุมอุกกาบาตหรือดาวอังคาร เราต้องการปรับแล้วทำให้ดีขึ้น ไม่ต้องการปะผุเฉยๆ แต่ต้องทำให้อยู่คงทนและยาวนานกว่าเดิม หรือแม้แต่ความกังวลของประชาชนที่ห่วงว่า เทศบาลนครฯ จะนำยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตหรือยางมะตอยไปลาดทับเฉยๆ เทศบาลนครฯ จะไม่ทำ ที่ผ่านมาอาจจะมีการแปะและปะถนน ทำให้ผิวถนนนูนขึ้นเรื่อยๆ แต่การทำผิวถนนใหม่ครั้งนี้ เทศบาลนครฯ จะแซะหน้าดินเดิมออก ปรับชั้นรองพื้นฐาน ให้เป็นพื้นที่ที่ควรจะเป็น ทางเท้าก็ต้องชัดเจน ไม่ใช่พื้นถนนเท่ากับทางเท้า ต้องมีพื้นที่สัญจรทั้งรถและคน”

นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

ความคืบหน้าโครงการ

ทั้งนี้ นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างถนนที่ได้รับผลกระทบสายไฟลงดิน ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ถนนภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาที่ได้รับผลกระทบจากการนำสายไฟฟ้าลงดิน มีทั้งหมด ๑๙ เส้นทาง ได้รับงบประมาณสำหรับการปรับปรุงผิวถนนแล้วทั้ง ๑๙ เส้นทาง โดยแบ่งออกเป็น ๑.ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ ๕ เส้นทาง ระยะทาง ๖,๗๐๘ เมตร ได้แก่ ถนนราชดำเนิน-ชุมพล ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนโพธิ์กลาง ถนนสุรนารี และถนนข้างร้านโอซาก้า

๒.ได้ผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างตามสัญญา ๔ เส้นทาง ระยะทาง ๒,๐๒๔.๕๐ เมตร ได้แก่ ถนนมหาดไทย งบประมาณ ๓,๙๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ระยะสัญญา วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ – ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕, ถนนสรรพสิทธิ์ งบประมาณ ๒,๖๑๕,๐๐๐ บาท ระยะสัญญา วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ – ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕, ถนนบัวรอง งบประมาณ ๒,๒๖๑,๐๐๐ บาท ระยะสัญญา วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ และถนนบุรินทร์ งบประมาณ ๔,๗๐๐,๐๐๐ บาท ระยะสัญญา วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ – ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕

๓.ได้ผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างลงนามในสัญญาจ้าง ๒ เส้นทาง ระยะทาง ๑,๕๒๕ เมตร ได้แก่ ถนนพลแสน งบประมาณ ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท และถนนจอมพล งบประมาณ ๔,๑๗๒,๘๒๐ บาท

๔.อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ๘ เส้นทาง ระยะทาง ๕,๙๔๖.๕๐ เมตร ได้แก่ ถนนยมราช งบประมาณ ๖,๕๘๐,๐๐๐ บาท, ถนนอัษฎางค์ งบประมาณ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท, ถนนกำแหงสงคราม งบประมาณ ๖,๑๕๐,๐๐๐ บาท, ถนนจักรี-วัชรสฤษดิ์ งบประมาณ ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท, ถนนมนัส งบประมาณ ๖,๗๒๖,๐๐๐ บาท, ถนนประจักษ์-ไชยณรงค์ งบประมาณ ๖,๘๘๐,๐๐๐ บาท, ถนนโยธา งบประมาณ ๘,๖๑๗,๐๐๐ บาท และถนนเทศบาล งบประมาณ ๒,๘๕๐,๐๐๐ บาท


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๑ วันพุธที่ ๒๔ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


1006 1423