9thNovember

9thNovember

9thNovember

 

September 23,2022

มทส.โชว์ตัดช่อดอกกัญชงแปลงแรก พันธุ์ลูกผสม “ชาลอตแองเจิล” ขยายผล “เปิดฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่”

 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  เป็นประธาน ในพิธี “ตัดช่อดอกกัญชา-กัญชง”  และ “เปิดฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่”  ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยมี ศ. ดร.หนึ่ง  เตียอำรุง  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร  พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการกัญชาฯ มทส. และผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามโครงการแปลงปลูก Cannabis Sand Box  จังหวัดนครราชสีมา  ร่วมต้อนรับ และทำการตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ลูกผสม Charlotte’s Angel-มทส. ภายในโรงเรือนปลูกของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี ณ แปลงปลูก SUT Cannabis Sand Box  มทส. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565

จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มทส. และผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เดินทางไปประกอบพิธีเปิด “ฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ” ต.ท่าอ่าง (พลับพลา) อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยมี นายรติ ลอยทวินันท์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี ให้การต้อนรับ และนำชมโรงเรือน Green House มาตรฐาน พื้นที่ 7 ไร่ จำนวน 4 โรงเรือนมาตรฐาน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชีมา นำคณะร่วมปลูกต้นกล้ากัญชา-กัญชง “ลูกผสมลูกผสม Charlotte’s Angel”และ “พันธุ์ฝอยทองสุรนารี 1” เป็นปฐมฤกษ์

ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง เปิดเผยว่า “จากการที่โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ มทส. ได้ดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่ขยายแปลงปลูกกัญชา-กัญชง ในโครงการ SUT Cannabis Sandbox ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)  ประกอบด้วย การวางระบบแปลงปลูกมาตรฐาน ขนาดใหญ่ พื้นที่ 20 ไร่ จำนวน 32 โรงเรือน และพื้นที่ 8 ไร่ สำหรับแปลงปลูกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 17 โรงเรือน ถือเป็นต้นแบบเพื่อนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ GAP ภายใต้ทีมที่ปรึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. นับตั้งแต่การวางระบบโรงเรือนมาตรฐาน การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การเพาะกล้า เตรียมการปลูก บำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว และรักษาคุณภาพ ถึงปัจจุบันสามารถยืนยันถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง มทส. ที่ยึดมั่นการวิจัย พัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ได้ผลผลิตคุณภาพสูง โดยวัสดุปลูกส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมเกษตร หาซื้อได้ภายในประเทศ อีกทั้งได้ผลผลิตกัญชาคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับ Medical Grade เป็นผลจากการทดลอง ประเมินผล และปฏิบัติจริงของทีมนักวิจัย ทำให้เกิดความคุ้มค่าสำหรับการพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่นี้ ตามแผนการผลิตภายใน SUT Cannabis Sandbox ปัจจุบัน“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี” สามารถทำการตัดช่อดอกกัญชงพันธุ์ลูกผสม Charlotte’s Angel-มทส. จำนวน 240 ต้น ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในการครอบครองของมหาวิทยาลัยอย่างถูกต้อง เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย ลำต้น กิ่ง ก้านแข็งแรง และผลิตช่อดอกเต็มสมบูรณ์ ให้สารสำคัญออกฤทธิ์สูงระดับมาตรฐานที่ใช้ได้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ค่าวิเคราะห์สาร CBD เฉลี่ย 8 – 12 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาคุณภาพผลผลิตต่อไป

จากผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีด้านกัญชา-กัญชงของมหาวิทยาลัยที่ปรับใช้ได้จริง จึงได้ขยายผลเพิ่มพื้นที่ “ฟาร์มต้นแบบพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ”  โดย“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สุรนารี” เพื่อการเข้าถึงด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชงของเกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่ ภายใต้การให้คำปรึกษาถ่ายทอดองค์ความรู้การควบคุมเทคโนโลยีการผลิตกัญชา-กัญชง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอย่างครบวงจร ตั้งแต่การทดสอบใช้สายพันธุ์กัญชา-กัญชง ในการครอบครองของ มทส. อาทิ พันธุ์ฝอยทองสุรนารี-1  พันธุ์ลูกผสม Charlotte’s Angel-มทส.” เป็นต้น การทดสอบการปลูกในโรงเรือนเปิด Greenhouse การทดสอบปลูกในระบบเปิด Out door การร่วมใช้สถานที่เพื่อการทดลอง และเก็บข้อมูล ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง  เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่เดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ฟาร์มต้นแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจใหม่ ในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ยกระดับ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน”


80 1,644