28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

November 18,2022

‘ราชภัฏโคราช’ผนึกทุกภาคส่วน พัฒนาคนเป็น‘พลเมืองอัจฉริยะ’

ราชภัฏโคราช ผสานพลังสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานในท้องถิ่น และเซ็นทรัลโคราช ขับเคลื่อนนโยบาย อว. ยกระดับการศึกษา สร้างและพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองอัจฉริยะ ด้าน ‘ดร.เอนก’ ปลื้ม เป็นก้าวสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทย ตั้งเป้านำมหาวิทยาลัยช่วยพัฒนาประเทศ สู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว


เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ๒ อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย อว. ด้านการสร้างและพัฒนาคนให้เป็น Smart Citizen เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ทุกช่วงวัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ตามความต้องการของผู้เรียน (Modular System) พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ผ่านออนไลน์ พัฒนาแพลตฟอร์มการสร้างและพัฒนาคนให้มีคุณภาพสู่ศตวรรษที่ ๒๑ มีงานทํา ในสาขาอาชีพใหม่ๆ หรือเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ พัฒนาทักษะแห่งอนาคต ของคนวัยทํางาน (Skit for the future) ทั้ง Upskill และ Reskill รวมถึงการศึกษาสําหรับคนสูงวัย

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ๓ ฉบับ มีดังนี้ ๑.ความร่วมมือว่าด้วยเครือข่ายคลังหน่วยกิต ระหว่าง มรภ.นครราชสีมา กับ มทร.อีสาน และ มทส. โดยทั้งสามมหาวิทยาลัยจะร่วมกันพัฒนารายวิชาในลักษณะมอดูลที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สามารถ เทียบโอนระหว่างมหาวิทยาลัยได้ สร้างแพลตฟอร์มการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อเปิดสอนมอดูลร่วมให้กับนักศึกษา และบุคคลภายนอกที่สนใจได้เรียนรู้เพิ่มทักษะ รับสัมฤทธิบัตร หรือสะสมหน่วยกิตในการเรียนระดับปริญญา อีกทั้งยังจัดทําคลังหน่วยกิตของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตในคลัง หน่วยกิตของมหาวิทยาลัยที่ลงทะเบียนเรียน หรือนําไปเทียบโอน เพื่อสะสมในคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย ในเครือข่ายได้

๒.ความร่วมมือว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรแบบ ๒ ปริญญา ระหว่าง มรภ.นครราชสีมา กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยจะร่วมกันจัด การศึกษาให้กับบุคลากรและครอบครัวของห้าหน่วยงาน ได้แก่ กองทัพภาคที่ ๒ ตํารวจภูธรภาค ๓ กองบิน ๑ และศูนย์ฝึกอบรมตํารวจภูธรภาค ๓ ให้ได้รับคุณวุฒิปริญญาสองสาขาวิชาในเวลาเดียวกัน คือ สาขานิติศาสตร์ มสธ. และสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา โดยผู้เรียนเพียงสมัครเข้าศึกษากับ มรภ.นครราชสีมา ชําระค่าลงทะเบียนที่เดียวแต่ได้สิทธิ์เป็น นักศึกษาของสองสถาบันทันที นอกจากนี้ทั้งสองมหาวิทยาลัยยังจัดทําหลักสูตร และรูปแบบการเรียนเฉพาะที่เอื้อกับผู้เรียนซึ่งอยู่ในวัยทํางาน และสองหลักสูตรใช้วิชาร่วมกันทําให้ผู้เรียนสามารถเรียนจบสองปริญญาได้ ภายใน ๔ ปี

๓.ความร่วมมือว่าด้วยการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทํางาน และบริการวิชาการ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ระหว่าง มรภ.นครราชสีมากับเซ็นทรัลโคราช เพื่อการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ความรู้สู่การปฏิบัติ การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ทำให้บัณฑิตมีสมรรถนะและคุณลักษณะที่พร้อมในการปฏิบัติงาน พร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา โดยการจัดให้มีการเรียนการสอนภาคทฤษฎีในมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง และการจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและการปฏิบัติงานจริงในศูนย์การค้า เช่น การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) การใช้กรณีศึกษา (Case-based Learning) ภายในศูนย์การค้า เป็นต้น รวมทั้งร่วมจัดทำโครงการต่อยอดภารกิจด้านการบริการวิชาการและการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย และกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ของศูนย์การค้าอีกด้วย


จุดแข็งของมหาวิทยาลัย

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภา มรภ.นครราชสีมา บรรยายในหัวข้อ “สานพลังอุดมศึกษาพัฒนาโคราช” ว่า MOU ทั้ง ๓ ฉบับในวันนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเรื่องแรกเป็นความร่วมมือว่าด้วยเครือข่ายคลังหน่วยกิต แต่ก่อนมหาวิทยาลัยจะรับนักเรียนที่จบมัธยมปลาย เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เรียนตามกรอบที่วางไว้ แต่วันนี้ อว.มี นโยบายใหม่ ที่ผู้เรียนเป็นผู้เลือก ค้นหาตัวตนให้เจอ แล้วสร้างเป็นจุดแข็ง นับเป็นเรื่องที่มีคุณค่าและเป็นมิติใหม่ทางการศึกษา ต่อไปนี้คนที่อยู่ในภาคแรงงานหรือวัยทำงาน สามารถเรียนรู้แล้วเลือกหลักสูตรที่ตัวเองชอบ เช่น อยากเรียนวิชาอะไรจาก มหาวิทยาลัยใด ใน ๓ แห่งนี้ สามารถเลือกได้เลย จากนั้นก็สะสมหน่วยกิตและถ่ายโอน เมื่อเรียนจบก็สามารถเลือกปริญญาได้ในมหาวิทยาลัยทั้ง ๓ แห่ง MOU นี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถแชร์จุดแข็งของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น ราชภัฏโคราช มีจุดแข็ง คือ สังคม ชุมชน และท้องถิ่น ส่วน มทร.อีสาน มีความถนัดด้านเทคโนโลยีเฉพาะทาง และ มทส.มีจุดแข็งด้านวิศวกรรมระดับสูง ผมจำได้ว่า ช่วงที่จะจัดทั้ง มทส.ในสมัยพลเอกชาติชาย มีแนวคิดว่า นำการศึกษามาไล่ความยากจน และต้องการให้ภาคอีสานเป็นฐานการลงทุนของภูมิภาค จึงมีนโยบายนำโคราชเป็นประตูสู่อีสาน อีสานเป็นประตูสู่อินโดจีน และแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ดังนั้น ต้องมีการลงทุน โดยเฉพาะด้านการศึกษา จึงมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนด้านงานอุตสาหกรรม วิศวกร และงานวิจัย ที่สำคัญเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ออกนอกระบบราชการ จะเห็นว่าทั้ง ๓ มหาวิทยาลัยมีจุดแข็งที่ต่างกัน นักศึกษาสามารถเลือกได้ ทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพราะเรียนอยูนบนพื้นฐานของจุดแข็งในแต่ละมหาวิทยาลัย”


ลดต้นทุนการศึกษา

“ข้อดีของการ MOU ความร่วมมือว่าด้วยเครือข่ายคลังหน่วยกิต อีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถลดต้นทุนทางการศึกษาได้ ทำให้วิทยาลัยแต่ละแห่งไม่ต้องสะสมบสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด หลังจากนี้ทุกแห่งจะต้องเน้นเฉพาะจุดแข็งของตัวเอง จึงจะทำให้ลดต้นทุนการลงทุนและบุคลากรน้อยลง ทำให้พื้นฐานของการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อดีต่อมา คือ เป็นการคิดนวัตกรรมด้านการศึกษาที่เหมาะกับสถานการณ์รอบตัวเรา ดูอย่างการปฏิวัติด้านอุตสาหกรรมทั้ง ๓ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งการค้นพบไอน้ำ น้ำมัน และคอมพิวเตอร์ ต่อไปจะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ คือ ยุคดิจิทัล ปัจจุบันเทคโนโลยีรวดเร็วมาก มีระยะเวลาการปฏิวัติที่สั้นและรวดเร็ว แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นกว้างมาก แต่สุดท้ายแล้วดิจิทัลก็ต้องชะงักลงเพราะโควิด-๑๙ ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป การทำธุรกิจเปลียนไป และอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป ดังนั้น วันนี้เราทุกคนกำลังอยู่บนความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลกับโรคระบาด นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากสงคราม ที่ส่งผลต่ออาหาร น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหาราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ทุกประเทศต้องกู้เงินก่อหนี้ เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างมหาศาล เมื่อต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ หลายประเทศจึงต้องขึ้นดอกเบี้ย”

นายสุวัจน์ กล่าวต่อไปว่า “สิ่งที่ผมจะบอกวันนี้ คือ เรากำลังอยู่ท่ามกลางความสับสนและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น บางคนทำธุรกิจก่อนเจอโควิด-๑๙ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นกับไม่ดีใจ เพราะธุรกิจนั้นไม่ได้รับความนิยมแล้ว อาจจะเป็นธุรกิจที่ล้าสมัยไปแล้ว จึงทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ มีการเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามา หรือจะต้องนำบุคลากรไปเพิ่มความสามารถใหม่ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ทำให้คนทุกคนต้องมีสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ของโลก จึงเป็นข้อดีของ MOU ฉบับนี้”

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภา มรภ.นครราชสีมา


ออกแบบชีวิตตัวเอง

“ข้อดีสุดท้าย MOU ครั้งนี้ คือ ทำให้สามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ สมัยก่อนต้องเรียนตามกรอบที่วางไว้ แต่ตัวตนอาจจะไม่ใช่ เพราะมนุษย์มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ทั้งรูปร่าง หน้าตา ความคิด และประสบการณ์ แต่ต้องมารับสิ่งที่เหมือนกัน ทำให้บางคนไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างเต็มที่หรือตรงกับความต้องการ แต่ด้วย MOU นี้จะทำให้ทุกคนสามารถออกแบบชีวิตได้ ต้องการเรียนอะไรก็เลือกได้ ความรู้ ความสามารถ และทักษาะ จะได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ และทำให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา เป็นแรงกำลังสำคัญให้กับทั่วโลก ซึ่ง MOU นี้จะเป็นโมเดลที่สามารถนำไปใช้กับจังหวัดอื่นๆ ได้อีกด้วย จังหวัดใดที่มีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง สามารถนำมารวมพลังกัน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการรวมกันทำให้เกิดพลัง ทุกวันนี้จึงเห็นข่าวการควบรวมอยู่หลายครั้ง ทั้งภาคธุรกิจ และอื่นๆ โดยวันนี้เป็นการควบรวมด้านการศึกษา” นายสุวัจน์ กล่าว


เรียนรู้ตลอดชีวิต

จากนั้น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวบรรยายหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของอุดมศึกษาไทย” ว่า หลังจากที่ผมได้รับฟังนายสุวัจน์บรรยาย ซึ่งทุกวันนี้จะหานักการเมืองที่พูดแบบนี้ได้ยากแล้ว จริงๆ ผมกับท่านสุวัจน์ อายุใกล้ๆ กัน แต่ท่านเป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่อายุ ๓๔ ปี ประจำกระทรวงสำคัญทั้งสิ้น และยังเป็นนายกสภาฯ ๒๗ ปี เคยเป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยคนสุดท้าย เป็นรัฐมนตรีแรงงานท่านแรก และที่เกี่ยวข้องกับผมโดยตรง คือ ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ด้วย ผมถามข้าราชการที่นั่งข้างๆ ว่า ทำงานปีไหน ก็มีทั้งปี ๓๔, ๓๕ และปี ๓๒ ผมบอกว่า ตอนนั้นท่านสุวัจน์เป็นรัฐมนตรีแล้ว แต่ที่ท่านพูดได้เยอะพูดได้ดีเพราะเป็นคนที่เรียนรู้ ไปว่าจะทำงานตำแหน่งใดก็เรียนรู้เสมอ และเรียนรู้ตลอดเวลา เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับ อว. ไม่ว่าจะจบปริญญาเอกที่ใด มันไม่สำคัญ หรือเป็นศาสตราจารย์ก็สำคัญแต่ไม่เท่าไหร่ แต่สำคัญที่สุด คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต สนุกกับความรู้ ไม่ใช่ใครพูดอะไรที่ไม่คุ้นก็หาว  ต้องการรู้แค่เรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว แบบนี้จะไม่คุ้มที่มาอยู่ใน อว.”


ปฏิรูปการศึกษา

“การเซ็น MOU ทั้ง ๓ ฉบับในวันนี้ เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนที่สุด ไอ่ที่ผมพูดที่ผมออกประกาศอะไรต่ออะไร ยังเป็นเรื่องเชิงหลักการ แต่เราต้องการการปฏิบัติ ดังนั้น เป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้มีการเซ็น MOU ซึ่งเราพูดเรื่องการปฏิรูปมา ๘ ปีแล้ว ซึ่งการปฏิรูปของ อว. มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่ง ฉบับแรกในหลักนโยบายของผม คือ ต้องการให้เกิดคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ผมขอเสริมข้อดีจากท่านสุวัจน์อีกเรื่อง คือ ไม่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนได้ เช่น เป็นเด็กนักเรียนอยู่แต่มีความรู้พอที่จะเรียนก็มาเรียนได้ แก่แล้วไม่ต้องการใบปริญญา แต่เห็นว่าวิชานี้น่าสนใจก็สามารถมาเรียนได้ หากต้องการใบปริญญาก็สะสมหน่วยกิตให้ครบ ส่วน MOU ที่ ๒ เป็นการนำความรู้ไปให้ข้าราชการ เป็นการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ คือ เรียน ๒ ปริญญาพร้อมกัน ผมคิดว่าการเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ต้องเรียนกฎหมายด้วย เพราะทำงานด้านนี้ต้องรู้กฎหมาย ไม่ใช่ทำงานด้วยโมเดลของฝรั่ง เวลารับราชการไทยต้องรู้กฎหมายด้วย

“ที่น่าดีใจ คือ MOU ๒ ฉบับแรก มหาวิทยาลัยในพื้นที่โคราชเข้าร่วมทั้งหมด และผมอยากบอกกับคนโคราชว่า มหาวิทยาลัยทั้ง ๓ แห่ง คือ มรภ. มทร. และ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศในประเภทนั้นๆ เช่น ราชภัฏโคราชดีที่สุดในบรรดาราชภัฏทั่วประเทศ ราชมงคลก็ดีที่สุดของประเทศ และ มทส.เป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของประเทศ ดังนั้น โคราชมีคนเก่งเยอะ ในฐานะเป็นคนออกนโยบายก็ขอบคุณทุกคน ที่ช่วยนำนโยบายนี้ไปทำอย่างแข็งขัน” ดร.เอนก กล่าว

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์


สร้างรายได้ระหว่างเรียน

ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า “สำหรับ MOU ฉบับที่ ๓ เป็นความร่วมมือกับเซ็นทรัลโคราช นี่ก็เป็นนโยบายของผมเช่นกัน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้เด็กมีรายได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน เข้ามาวันแรกก็มีงานทำ ให้ชีวิตการเรียนและการทำงานเดินไปพร้อมกันตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะที่ผ่านมาอุดมศึกษาไปแยกเด็กออกจากการทำงาน ๔ ปีที่เข้ามาเรียนไม่ต้องทำอะไร ขอเงินพ่อแม่ใช้ และต้องกู้เงิน กยศ.ใช้ ทั้ง ๒ อย่างผมไม่ตำหนิอะไร แต่ต้องเพิ่มอีกช่องทาง คือ หาเงินด้วยตัวเองตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมจะไม่โทษใคร เพราะที่ผ่านมาโครงสร้าง อว.ยังไม่เอิ้อ แต่บัดนี้เวลามาถึงแล้ว เซ็นทรัลก็มีแนวคิดที่ก้าวหน้า ต้องขอชมเชย การศึกษาจะไม่ใช่อยู่แค่ในห้องเรียนอีกแล้ว แต่จะศึกษาไปด้วยทำงานไปด้วย และที่สำคัญมีรายได้ด้วย คนรุ่นผมกับท่านสุวัจน์เรียนไม่สนุกก็เรียน ไม่เข้าใจก็ท่องจำ แต่เด็กสมัยนี้ต้องเรียนแล้วสนุก หรือเรียนจบไปแล้วใช้ความรู้ทำอะไรไม่ได้ก็ไม่เรียน ดังนั้น พวกเราที่เป็นผู้บริหารต้องคิดให้เหมือนกับเด็กยุคนี้ คือ รวดเร็วและฉลาด หากเราไม่ปรับตัว เด็กก็ไม่อยากเข้ามหาวิทยาลัย ไปทำอย่างอื่นดีกว่า

“หากธุรกิจขนาดใหญ่ในโคราชสนใจทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในโคราช ผมในฐานะ รมว.อว.ก็ยินดีสนับสนุน ผมคิดถึงขั้นว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีอาคาร มีห้องประชุม มีหอพัก ที่มีคุณภาพ สามารถเปิดให้ภาคธุรกิจเข้ามาใช้งานได้ และผูกเข้าไปว่า ภาคธุรกิจต้องมาร่วมกับมหาวิทยาลัย ต้องรับเด็กเข้าทำงาน หรือต้องรับอาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาหรือส่งไปทำงานในองค์กรนั้น ทำให้อาจารย์เก่งในทางปฏิบัติมากขึ้น เพราะภาคธุรกิจต้องการทฤษฏีจากอาจารย์ ส่วนอาจารย์ก็ต้องการการปฏิบัติ


มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด

ดร.เอนก กล่าวอีกว่า “อยากจะบอกทุกคนว่า ทุกคนโชคดีที่มีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ ทั้ง ๓ แห่ง และโชคดีที่ได้มาอยู่ภายใต้ อว. ซึ่งขณะนี้ อว.กำลังปฏิรูปและมีความก้าวหน้า คนในประเทศไทยมักจะเน้นที่จุดอ่อน กลายเป็นเพลงประเทศกูมี แต่จริงๆ ประเทศไทยมีอะไรที่ดีมากหลายเรื่อง โลกมีทั้งหมด ๒๐๐ กว่าประเทศ ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ ๒๐ กว่าของโลก ดังนั้น เราไม่ได้อยู่ในประเทศที่ล้มเหลว แต่เป็นประเทศที่มีความสำเร็จ ทั้งอาเซียน ขนาดเศรษฐกิจเราเป็นรองอินโดนีเซียเท่านั้น บางคนอาจจะบอกว่า มันใหญ่เท่านั้นเอง แต่ไม่ค่อยพัฒนา เรื่องนี้ก็ไม่จริงอีก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ประเทศที่อยู่รอบๆ เราเพิ่งจะเปลี่ยนจากประเทศยากจนเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่เป็นรายได้ปานกลางระดับล่าง ส่วนไทยเป็นระดับบน บนจนประมาณได้ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัมนาแล้วภายในปี ๒๕๘๐ หรืออีก ๑๕ ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ทำอย่างไรจะช่วยให้ประเทศขึ้นไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายใน ๑๕ ปี”


ร่วมพัฒนาโคราช

ดร.เอนก กล่าวว่า “สมัยก่อนอุดมศึกษาอาจจะปรับตัวตามการเรียนรู้ แต่สมัยนี้เราต้องคิดเองทำเองให้มากขึ้น จากการพูดถึงไม้กลายเป็นหิน ผมขอเชียร์ว่า ให้ราชภัฏโคราชเปิดคณะ school of tourism อาจจะยกระดับคณะวิทยาการจัดการ แล้วแทรกด้านธรณีวิทยาหรือวัฒนธรรมเข้าไป ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ สร้างการท่องเที่ยวแบบอีสานหรือโคราช ผมว่าน่าจะขายได้ ไม่ใช่ว่าผมพูดยกเมฆ เพราะคนโคราชมีความพิเศษ โดยเฉพาะการเป็นคนจังหวัดนิยม ‘แก่จะไม่ยอมให้ใครมาแยกโคราชโดยเด็ดขาด’ ขณะนี้เหลือเพียง ๒ จังหวัดในประเทศที่ไม่ยอมให้ใครแยกพื้นที่ คือ เชียงใหม่กับโคราช ผมคิดว่าดีแล้ว อย่าให้เขาแบ่งตามความสะดวกด้านการบริหาร แต่ให้ตั้งมั่นอยู่บนวัฒนธรรม และคนโคราชจะต้องรักหลงใหลและบูชาโคราช จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยทั้ง ๓ แห่ง รวมถึง มศว. ที่จะมาช่วยกันคิดและพัฒนาโคราช”


มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น

“ผมแจ้งกับข้าราชการว่า ในทางราชการเราเหมือนกรม แต่ในทางปฏิบัติเราเหมือนท้องถิ่น แต่เมื่อคิดไปคิดมาจริงๆ หน่วยงานราชการที่เป็นท้องถิ่นจริงๆ คือ มหาวิทยาลัย เพราะราชการส่วนภูมิภาคคือคนแปลกหน้าที่มาแล้วไป เช่น ผู้ว่าคนนี้เก่งมาก ดีมาก เยี่ยมมาก อีกสักพักก็คงไปที่อื่น ไม่อยู่ถาวร ผู้ว่าเก่งก็ดี แต่ถ้าไม่เก่งอีกเดี๋ยวก็ไป ส่วนราชการท้องถิ่น จริงๆ ก็ไม่ท้องถิ่น เพราะบางคนเลือกตั้งมาเป็นคนมาจากที่อื่น หรือปลัดบางคนก็มาจากจังหวัดอื่น แต่คนของ อว. เริ่มทำงานก็เริ่มที่มหาวิทยาลัยนั้นเลย อยู่จนแก่เป็นอธิการบดี ไม่เคยย้ายไปไหน อธิการบดีพอหมดวาระก็ไปเป็นสภาฯ ต่อ อว.เป็นองค์กรที่แปลกมาก ไม่ได้วางแผนไว้แบบนี้ แต่มันออกมาของมันเอง และกลายเป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ดีมาก”

“ทุกวันนี้คนไทยเก่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่หมอ แต่วิศวะก็เก่งขึ้น ดังนั้น ชาว อว.ต้องคิดใหม่ คนไทยเก่ง เช่น โปรจีนก็เป็นนักกอล์ฟระดับโลก ทีมวอลเลย์บอลก็เก่ง มีคนอีสานและคนโคราชอยู๋ในทีมไม่น้อย ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และลิซ่า เป็นไอดอลระดับโลก เป็นคนบุรีรัมย์ เป็นคนอีสานแท้ๆ ต้องคิดภาพใหม่ เพราะอีสานที่เราอยู่ คือ อีสานใหม่ โคราชก็โคราชใหม่ มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าเชียงใหม่ จุดภูมิศาสตร์ก็ดี อย่าไปจมอยู่เพียงว่า โคราชไม่มีสายการบิน เอาเรื่องอื่นไปทดแทน อย่าไปคิดเรื่องเล็กๆ ให้คิดถึงเรื่องใหญ่ๆ เมื่อคิดแล้วก็อย่าขัดคอกัน เรื่องไหนไม่ถูกก็เตือนกัน คนเก่งคนดีต้องหันมาทำงงานด้วยกัน” ดร.เอนก กล่าว

ดร.เอนก กล่าวในท้ายสุดว่า “สิ่งที่ผมพูดวันนี้ ไม่ต้องรับไปทำทั้งหมด แต่ขอให้รับฟังบ้าง แล้วก็ลองไปคิดดู สำหรับผมรู้สึกว่าพวกเรามีความสามารถและเก่ง การสอนหนังสือทำแล้วได้บุญด้วย ดังนั้น ทุกคนโชคดีที่ได้อยู่ใน อว. ภายในการนำของผู้บริหารที่ใส่ใจและเอาใจใส่ ขอให้ทุกคนมีความสุข ส่วนท่านสุวัจน์ก็ขอให้อยู่เป็นตำนานทางการเมืองนานแสนนาน ถ้าท่านอยู่ถูกพรรคคงได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๗ วันอังคารที่ ๑๕ พฤศจิกายน - วันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


960 1594