29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 26,2022

เปิดใจ‘ผู้ว่าฯสยาม ศิริมงคล’ มาแค่ ๒ เดือน ก็ชอบแล้ว ‘อยากอยู่โคราชให้นานที่สุด’

 

“สยาม ศิริมงคล” เปิดใจ ย้ายมาอยู่โคราชแค่ ๒ เดือน ก็ชอบแล้ว รักตั้งแต่มาทำงาน ในชีวิตราชการเป็นผู้ว่าฯ ก็ดีมากแล้ว แต่ได้เป็นผู้ว่าฯ โคราชนี่สุดๆ เผยใช้คนประมาณ ๓ คน คือ หน้าห้อง นิติกร และคนขับรถ อยากให้ข้าราชการทำงานโปร่งใส ประชาชนเชื่อถือ ให้บริการรวดเร็ว มีเหตุผล เป็นที่พึ่งของประชาชน ย้ำจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อยากอยู่โคราชนานๆ เท่าที่จะนานได้ แต่เป็นคนไม่ขอ ไม่ขออยู่ ไม่ขอย้าย ขึ้นอยู่กับกระทรวงฯ จะพิจารณา

เมื่อกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง “สยาม ศิริมงคล” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ย้ายมานั่งเก้าอี้ “ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา” สร้างความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นผู้ว่าฯ ที่แทบจะอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของจังหวัดฯ แม้จะเคยผ่านจังหวัดใหญ่มาแล้ว ๒ แห่งก็ตาม และเมื่อเดินทางมารับราชการพร้อมภริยาที่เป็นอดีตนางงามและนักแสดงที่สวยสดใสสมชื่ออย่าง “ฟ้าใส” อรจิรา ศิริมงคล พร้อมลูกน้อย วัย ๗ เดือน (ขณะนั้น) “น้องตวัน” ชัชรวี ศิริมงคล ก็ยิ่งสร้างความสนใจแก่วงสังคมโคราช

เมื่อมาโคราชได้ประมาณ ๒ เดือน จึงเป็นโอกาสที่ “โคราชคนอีสาน” จะขอพบเพื่อสัมภาษณ์ถึงภารกิจและเรื่องอื่นๆ โดยเริ่มจากการถามถึงความแตกต่างในบทบาทของผู้ว่าฯ ๓ พื้นที่ (นครพนม อุดรธานี นครราชสีมา) ว่าแตกต่างอย่างไร

• ‘นครพนม’ เมืองชายแดน

ผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ต่อมาเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ก็ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แต่ปกติคนในสายงานกระทรวงมหาดไทย อยู่ๆ จะเป็นผู้ว่าฯ เลยไม่ได้ ต้องถูกฝึกผ่านสายทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารระดับต้น เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนผมจะมีวนเข้าส่วนกลางด้วย คือ ไปเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวง และเป็นผู้ตรวจราชการด้วย เมื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแรก ไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นชายแดน มีเรื่องการค้าชายแดน การท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง และการเกษตร ขนาดพื้นที่ไม่ถึงกับเล็กแต่ก็ไม่ใหญ่ มี ๑๒ อำเภอ ประชากร ๗ แสนเศษ ปัญหาของพื้นที่จึงเป็นเรื่องความมั่นคง ยาเสพติดชายแดน บริบทสังคมไม่มีความซับซ้อน ช่วงนั้นก็ได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การเลือกตั้งทั่วไป และช่วงต้นของการระบาดโควิด-๑๙ มีการทำงานด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน สรุปว่า งานที่จังหวัดนครพนมส่วนใหญ่จะเป็นงานในพื้นที่ มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีมิติออกมาค่อนข้างหลากหลาย และความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วนก็ค่อนข้างดี

• ‘อุดรธานี’ เมืองศักยภาพสูง

เมื่อได้ย้ายมาอุดรธานี ซึ่งนับเป็นเมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งของอีสาน แม้จะไม่มีพื้นที่ชายแดน แต่ก็นับว่าเป็นเมืองสำคัญในการค้าชายแดน เพราะเป็นคู่ค้ากับนครหลวงเวียงจันทน์ มีคนเดินทางเข้ามามาก ทั้งมาพัก มาเที่ยว มากิน มาใช้ และมาติดต่อธุรกิจ อุดรฯ ก็นับว่าเป็นเมืองใหญ่ มี ๒๐ อำเภอ ประชากร ๑.๖ ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจถือว่าใหญ่ เป็นที่ตั้งของเทศบาลนคร ในช่วงปลายปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ นับเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-๑๙ รุนแรงมากที่สุด ประชาชนบางส่วนก็อึดอัดกับมาตรการของรัฐ ผมจึงให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสาธารณสุขอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม อุดรธานีเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะขับเคลื่อนเมืองไปสู่อนาคต เพราะเป็นเส้นทางผ่านของรถไฟทางคู่และความเร็วสูง จึงคิดที่จะเปิดเมือง ซึ่งอุดรฯ เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว แต่ประชาชนต้องการให้เป็นเมืองหลัก จะต้องดึงกิจกรรมใหญ่ๆ เข้าไป ผมจึงร่วมมือกับชาวอุดรฯ และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้อุดรฯ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก ๒๕๖๙ และได้ไปเสนอตัวกับเจ้าของลิขสิทธิ์งาน จนได้รับอนุมัติ ซึ่งปีงบประมาณที่ผ่านมาก็ได้รับงบประมาณครั้งแรกแล้ว เพื่อจัดทำแผนการก่อตั้งพืชสวนโลก เป็นจำนวนเงินกว่า ๕๐ ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้เริ่มมีการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ แล้ว ซึ่งเป็นแห่งแรกของจังหวัดและอีสานตอนบน แต่ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ แต่ละเรื่องจึงต้องใช้เวลากว่าจะสำเร็จ

• ภาคภูมิใจได้ย้ายมา ‘โคราช’

ต่อมาเมื่อปลายปีงบประมาณที่ผ่านมา ผมก็ได้รับคำสั่งจาก ครม.ให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ใครที่ได้มีโอกาสมาอยู่โคราช แสดงว่าผู้บังคับบัญชาให้ความไว้วางใจ เพราะเป็นเมืองสำคัญ เป็นที่ตั้งของกองทัพภาค มีหน่วยงานสำคัญมากมาย เป็นจังหวัดที่ใหญ่สุดในประเทศไทย เป็นเมืองที่มีความเจริญสูง มีความหนาแน่นของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และเป็นจังหวัดปลายทางที่หลายคนอยากมาท่องเที่ยวหรือทำการค้าและการลงทุน “แม้จะไม่ได้คิดว่า จะมีโอกาสได้มารับราชการที่โคราช แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาให้ความไว้วางใจ ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจ” ผมมาช่วงสั้นๆ ๒ เดือน ต้องยอมรับตรงๆ ว่า ความร่วมมือของโคราชมีสูงมาก ทั้งภาคเอกชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ มีความพร้อมสูงมาก ถือเป็นจุดแข็งสำคัญของโคราช

• โคราชเหมือนมี ๓ จังหวัด

เมื่อเดินทางมาโคราช ซึ่งมีพื้นที่ ๓๒ อำเภอ และช่วงที่ผมมาเป็นช่วงที่มีสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น อำเภอเมืองยาง พิมาย และชุมพวง แถวนั้นน้ำท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ช่วงแรกที่ย้ายมาจึงต้องใช้เวลากับพื้นที่และประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งโคราชจะมีการแบ่งเป็น ๖ กลุ่มสำคัญ ก็จะเดินทางไปพบปะแต่ละกลุ่ม และเชิญตัวแทนของอำเภอหรือผู้นำชุมชนนั้นๆ และจากการพบปะ ผมก็คิดว่า โคราชมี ๓ จังหวัดในตัวเอง คือ ๑.กลุ่มตัวเมืองและโดยรอบ มีความหนาแน่นของชุมชน และมีการพาณิชย์ที่ขยายตัวมาก ๒.กลุ่มพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น อำเภอวังน้ำเขียวและปากช่อง มีกิจกรรมที่สำคัญๆ มาก ไม่มีที่ใดมี และ ๓.พื้นที่เชิงเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรม แต่ละพื้นที่จะมีปัญหา อุปสรรค และความต้องการต่างกัน แต่ถ้าพูดถึงปัญหาโดยรวมของโคราชก็จะคล้ายๆ กับจังหวัดอื่นๆ คือ โครงสร้างพื้นฐานไม่สมบูรณ์ เช่น แหล่งน้ำ ถนน ปัญหาราคาทางการเกษตร การดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครฯ ที่มีปัญหาถนนหนทาง แม้จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ผู้ว่าฯ ก็ต้องเข้ามากำกับดูแล และพื้นที่เขตเมืองมีความเงียบเหงามาก ดังนั้น ปัญหาของโคราช จะแตกต่างขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ มีปัญหาเกือบทุกมิติ ยกเว้นปัญหาชายแดนอย่างเดียว นอกนั้นเป็นปัญหาที่พบจากจังหวัดอื่นๆ ที่เคยเจอเหมือนกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่า กว้างกว่า และซับซ้อนกว่า

• ปัญหาถนนจากการนำสายไฟฟ้า/สายสื่อสารลงใต้ดิน

โครงการสายไฟฟ้าลงใต้ดิน นับเป็นเจตนาที่ดีของผู้บริหารท้องถิ่นและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการสื่อสาร และต้องการสร้างความสวยงามให้กับเมือง ให้มีความเรียบร้อย แต่การก่อสร้างต้องมีการขุดหน้าดิน เพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่เมื่อผมย้ายมาก็พบปัญหาเดียวกันกับทุกคน คือ การคืนสภาพผิวจราจรไม่ได้เร็วอย่างที่คาดหวัง การส่งมอบพื้นที่คืนให้กับเทศบาลนครฯ ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ฝาท่อไม่เรียบร้อย ทำไปทำมาฝาท่อสูงกว่าทางเท้า หรือเทถนนไปแล้วสูงกว่าหน้าบ้านประชาชน ก็ต้องมีการปรับมีการแก้ไข เป็นปัญหาสะสมเรื่อยมา อีกอย่างคือ เมื่อทำเสร็จแล้ว แต่ไม่ยอมล้มเสาไฟทิ้ง ไม่เหมือนกับที่ตั้งใจไว้ว่าจะให้สวยงามเรียบร้อย สำหรับการบริหารงบประมาณและสัญญาการก่อสร้างของเทศบาลนครฯ งบประมาณการคืนผิวจราจรของเทศบาลนครฯ ไม่ใช่จะเทลงมาทั้งก้อน แต่จะต้องทยอยทีละเส้น ถ้าแบ่งเป็น ๓ ส่วน ขณะนี้ทำเสร็จแล้ว ๑ ใน ๓ ส่วนอีก ๑ ใน ๓ ที่เหลือกำลังดำเนินการ และ ๑ ใน ๓ สุดท้าย ก็กำลังรองบประมาณ ปัญหาที่พบอีก คือ เรื่องผู้รับจ้าง หลายถนนทำเสร็จแล้ว บางถนนกำลังทำ บางถนนทำแล้วต้องรื้อทำใหม่ เพราะทำไม่เรียบร้อย และบางถนนเกือบจะครบสัญญาแล้วผู้รับจ้างยังไม่ลงมือเลย ซึ่งการหาผู้รับจ้างของส่วนราชการไทย ใช้ระบบประมูล ใครถูกคนนั้นได้ และมาตรการในช่วงโควิดที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ที่มีงานก่อสร้าง ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แม้แต่การก่อสร้างอาคารศาลากลางก็ยังล่าช้ากว่ากำหนด

• ให้เทศบาลนครฯ ควบคุมผู้รับเหมาให้ดี

อย่างไรก็ตาม ผมได้เชิญนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา มาอธิบายสาเหตุถนนแต่ละเส้น และขอให้ควบคุมผู้รับจ้างให้ดี เพราะเทศบาลฯ จะเป็นคนควบคุมผู้รับจ้าง ผมกำกับเทศบาลฯ อีกที ผมเรียกผู้รับจ้างมาเองไมได้ ตามที่มีข่าวออกมาช่วงนี้ว่า มีการก่อสร้างล่าช้าเกินกว่าเหตุ ดังนั้น ปัญหาถนนจึงเกิดจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งงบประมาณ การว่าจ้าง ซึ่งผมคิดว่าในปีงบประมาณนี้น่าจะแล้วเสร็จ ถ้าดูจากแผนการใช้จ่ายงบประมาณของเทศบาลฯ หากล่าช้าก็อาจจะเกิดจากสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ผู้รับจ้าง มีเวลาก่อสร้าง ๑๘๐ วัน แต่ผ่านมาแล้ว ๑๐๐ วันยังไม่ก่อสร้าง แต่เราจะไปยกเลิกสัญญาก็ไม่ได้ ต้องคอยกระตุ้นเรื่อยๆ จะพยายามทยอยทำให้แล้วเสร็จเรื่อยๆ ซึ่งจะมี ๑ ใน ๓ หรือประมาณ ๗-๘ ถนน ที่กำลังรองบประมาณ ช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ อาจจะเพิ่งได้เริ่มลงมือ ก็ต้องขยับออกไปอีกถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖

• ปัญหาเรื่องถนนทำให้ยุ่งยากใจหรือไม่

ถามว่ายุ่งยากใจไหม ยุ่งยากอยู่แล้ว การที่ต้องเห็นความเดือดร้อนของประชาชน การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นไปตามแผน ผมต้องหนักใจอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฯ เทศบาลนครฯ และหน่วยงานที่กำกับดูแล อปท.ในจังหวัด ผมจะพยายามเป็นคนกลางในการประสานงาน และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ วันแรกที่ผมมาถึง ผมได้เชิญเทศบาลนครฯ ผู้ประกอบการสายสื่อสาร และการไฟฟ้าฯ มานั่งพูดคุย ต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา ซึ่งผมจะไม่ขยายความขัดแย้งเหล่านี้ แต่จะคิดหาทางว่า ทำอย่างไรจะเร็วขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีความคืบหน้าหลายด้าน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ที่เขารอคอยนั้นมีความคุ้มค่า

• ลงพื้นที่กี่อำเภอแล้ว

ถ้าแค่เดินทางผ่านก็ครบแล้ว แต่ถ้าไปทำงาน ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ยังไม่ครบทั้ง ๓๒ อำเภอ เพราะมาเดือนแรกก็ต้องอยู่กับพื้นที่น้ำท่วม หลังจากนั้น ก็มีหลายงาน เพราะโคราชมีงานเยอะ การเป็นผู้ว่าฯ จะทิ้งงานที่ศาลากลางไม่ได้ จะต้องจัดสรรเวลาครึ่งวันลงพื้นที่ อีกครึ่งวันทำงานที่ศาลากลาง

• ไม่มีเลขาฯ ไม่มี ทส. เจ้าหน้าที่หน้าห้องก็มีน้อย และส่วนใหญ่ขับรถด้วยตนเอง เพราะเหตุใด จะส่งผลถึงการบริหารงานหรือไม่

เป็นลักษณะของผู้บังคับบัญชาแต่ละคน เวลาเปลี่ยนผู้ว่าฯ ทีมเลขาก็ต้องเปลี่ยน ผู้ว่าฯ หลายท่านก็นิยมว่า เวลาย้ายจังหวัดก็นำคนที่ถูกใจย้ายไปด้วย แต่ผมไปที่ไหนก็ใช้คนที่นั่น เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าผมย้ายมาจากอุดรฯ นำคนจากอุดรฯ มาด้วย คนก็จะไม่รู้จักปลัดอำเภอคนนั้น ผมจึงจะใช้คนในพื้นที่ ซึ่งคนที่ผมใช้คือ ๑.เลขาหน้าห้อง คอยทำหน้าที่ธุรการ การอ่านเอกสาร การอ่านแฟ้ม หรือบันทึกทางราชการ และงานเอกสารต่างๆ หรือจะคอยทำหน้าที่นัดหมายต่างๆ ผมไม่ได้นัดยากอะไรนะ จะโทรมานัดเลยก็ได้ ส่งหนังสือมาก็ได้ หรือจะเดินมาบอกหน้าห้องก็ได้ ๒.นิติกรที่จะคอยดูว่า เอกสารต่างๆ มีรายละเอียดอย่างไร คอยดูระเบียบอำนาจในการเซ็นอนุมัติต่างๆ ซึ่งซึ่งในส่วนของงานเอกสาร ผมเป็นคนเซ็นหนังสือเร็ว ที่ไม่เห็นกองหนังสือเพราะผมเซ็นทุกวัน ถ้าวันไหนผมไปงานราชการหรือไปต่างอำเภอ ผมก็จะกลับมาเซ็น อยู่จน ๒-๓ ทุ่ม เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่กว่าจะทำมาเขา ใช้เวลา ผมมอบเป็นนโยบายให้ส่วนราชการว่า เรื่องหนังสือราชการ ขอให้จัดการให้เสร็จในแต่ละวัน อย่าให้ล่าช้า บางเรื่องประชาชนเขารอการอนุมัติ ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องหลับหูหลับตาเซ็นทุกเรื่อง แต่อย่าช้า ถ้าสงสัยอะไรให้รีบถามเจ้าของเรื่องทันที ไม่ใช่ทิ้งไว้ ๓ วันแล้วค่อยสงสัย ถ้าไม่เชื่อให้ไปถามส่วนราชการได้ ดังนั้น จะไม่มีใครบอกว่า เรื่องค้างอยู่ที่ห้องผู้ว่าฯ เพราะไม่เคยค้าง ทุกเย็นผมจะมาเซ็นทุกวัน

อีกเรื่องที่ชอบเรียกกันว่าคนติดตามผู้ว่าฯ ผมเรียนว่า บุคลากรขณะนี้มีจำนวนจำกัด ตอนผมบรรจุใหม่ๆ ช่วงนั้นกรมการปกครองมีข้าราชการประมาณ ๒ หมื่นกว่าคน แต่ทุกวันนี้เหลือประมาณ ๑ หมื่นคน ดังนั้นบุคลากรภาครัฐมีจำกัด ผมเสียดายที่จะต้องให้คนคนหนึ่งมาคอยเดินตามและให้ความสะดวกเรา แต่ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ของผู้ว่าฯ แต่ละคน ผมไม่ได้ก้าวล่วง แต่ในส่วนของผมคิดว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีช่วยเราได้ เช่น การนัดหมายต่างๆ คนที่นั่งอยู่ห้องผู้ว่าฯ เขาจะลงให้แล้วก็มาเด้งที่โทรศัพท์ผม เวลาผมไปถึงงานก็จะรู้ว่าต้องติดต่อใคร คอยนัดหมายคนขับรถว่า จะไปจุดไหน เวลาไปไหนผมจะพยายามเผื่อเวลา จะไปให้ทันก่อนเวลาเสมอ ผมมีหลายเลขติดต่อก็โทรหาได้ บนอินเทอร์เน็ตมีบอก คนเป็นผู้ว่าฯ ก็รับโทรศัพท์ได้ สามารถติดต่อสอบถามได้

ส่วนประเด็นคนขับรถ ผมก็จะใช้เท่าที่จำเป็น ผมก็ไม่ได้ขับรถไปเองทุกงาน บางทีอาจจะไม่ทันก็ให้คนขับรถให้ แต่ถ้านอกเวลาราชการแล้วไปไม่ไกล ผมจะขับไปเอง หรือช่วงเย็นที่ผมมานั่งเซ็นแฟ้ม จะให้คนคนหนึ่งมานั่งรอ ๒-๓ ชั่วโมง ผมรู้สึกว่าเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ผมก็ขับรถกลับบ้านเองได้ ข้อดีเราจะได้จำเส้นทางได้ด้วย ได้เห็นสภาพแวดล้อมต่างๆ บางทีมีคนขับรถก็หลับหรือมัวแต่อ่านหนังสือ ก็ไม่เห็นอะไร สรุปคือ ผมจะใช้คนประมาณ ๓ คน คือ หน้าห้อง นิติกร และคนขับรถ

• แนวทางการแสวงความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดฯ  

การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดย้ายไปจังหวัดหนึ่ง เพื่อไม่ให้อยู่นานเกินไป ป้องกันการสร้างอิทธิพลในพื้นที่ การย้ายของผู้ว่าฯ ก็จะไปทำให้แต่ละจังหวัดเหมือนกันไม่ได้ เช่น ผมย้ายไปอุดรฯ จะไปทำให้เหมือนนครพนมก็ไม่ได้ หรือผมมาโคราช จะพัฒนาให้เหมือนอุดรฯ ก็ไม่ได้ ทุกจังหวัดถูกยึดโยงไว้ด้วยแผนพัฒนาจังหวัด แต่ละแห่งจะมีองค์กรที่รวมตัวกันเรียกว่า กรอ. หรือคณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชน มาพูดถึงเรื่องราวที่สำคัญๆ ที่จะทำให้กับจังหวัด ตอนผมมาโคราชยังไม่มีความคิดว่าจะทำอะไร แต่เมื่อมาถึงผมดูว่า คนโคราชอยากได้อะไร เช่น อยากเห็นพื้นที่ในเมืองมีความคึกคัก มีเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ ไม่ว่าจะเป็น เมือง MICE City การจัดงานพืชสวนโลก ทุกอย่างทุกจัดไว้ในยุทธศาสตร์จังหวัดและเป็นข้อเสนอจาก กรอ.หรือข้อเสนอจากคนโคราช สิ่งที่ผู้ว่าฯ คนเก่าทำไว้ ผมก็มีหน้าที่สานต่อ แต่เมื่อผมอยู่ไป ประชาชนอาจจะมีความคิดใหม่ๆ ก็จะส่งมาที่ผมโดยตรง ผมก็จะร่วมกับคนโคราชในการขับเคลื่อน ในระยะสั้นสิ่งที่คนโคราชอยากเห็นที่สุด คือ การฟื้นตัวจากภาวะการระบาดโควิด-๑๙ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

• พืชสวนโลกโคราชในปี ๒๕๗๒ คืบหน้าอย่างไร

งานพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี มีขนาด B จังหวัดเป็นเจ้าภาพ แต่ที่จังหวัดนครราชสีมา จะมีขนาดใหญ่ A1 ผู้ที่จะเป็นเจ้าภาพ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือประเทศเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่จังหวัด เมื่อ ๑๐ ปีก่อนรัฐบาลเลือกจัดที่เชียงใหม่ แต่ปี ๒๕๗๒ จะเลือกจัดที่โคราช นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ ส่วนจังหวัดและคนในพื้นที่ คือ ส่วนที่สนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล แต่อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คนในพื้นที่ก็ต้องมีส่วนร่วม หากมีข้อเสนอจังหวัดก็จะนำไปบอกเบื้องบนให้ และหากเบื้องบนมีแนวคิดอย่างไร จังหวัดก็จะนำมาบอกคนในพื้นที่ สำหรับโคราชขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหลังจากรัฐบาลอนุมัติหลักการและกรอบงบประมาณ ก็อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารและความพร้อม และนัดหมายสมาคมพืชสวนโลก ส่วนเรื่องการเสนอเปลี่ยนพื้นที่จัดงานพืชสวนโลกที่โคราช ผมก็ได้ยินมาบ้าง เพราะช่วงแรกเสนอพื้นที่อำเภอคง พอมาอยู่โคราชก็มีบางแนวความคิดอยากเปลี่ยนพื้นที่ บางความคิดก็อยากจะขยับเวลาออกไปให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรจาก ครม.

ประโยชน์ของการจัดงานพืชสวนโลก ในช่วงจัดงานแน่นอนว่า โรงแรม ร้านอาหาร ต้องมีคนเข้าเต็มทุกที่ มีคนเดินทางเข้ามาโคราชจำนวนมาก มีการจับจ่ายใช้สอย และพื้นที่โดยรอบงาน แต่ก่อนอาจจะไม่มีคนไปเลย แต่เมื่อมีงานพืชสวนโลก พื้นที่ก็จะก้าวหน้ากลายเป็นเมือง ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น และมีการขยับตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะดำเนินการก่อสร้าง ก็จะมีการใช้แรงงานในพื้นที่ มีการซื้อขายวัสดุก่อสร้าง มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในพื้นที่จากการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งโคราชได้รับงบประมาณกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท เงินมากขนาดนี้หรือมากกว่านี้ คิดดูว่าจะเกิดการขยายตัวมากเพียงใด เมื่อจัดงานเสร็จแล้ว เช่น ที่อุทยานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ (อุทยานราชพฤกษ์) ก็ยังอยู่ ยังเป็นแลนด์มาร์คสำคัญสร้างรายได้สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ ดังนั้นจัดที่ไหนก็ดีหมด สำหรับผมจัดที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้จัดในโคราช ถ้าถามว่าจะดีเท่าเชียงใหม่ไหม ผมคิดว่าอาจจะดีกว่า เพราะประชากรของโคราชและภาคอีสานมีจำนวนมาก งานพืชสวนโลกไม่ใช่แค่งานท่องเที่ยว แต่จะมีนวัตกรรมด้านการเกษตรด้วย ดังนั้น เกษตรกรก็อยากมาหาความรู้เรื่องการเพาะปลูก ผมคิดว่าจะสร้างเศรษฐกิจได้จำนวนมาก

โครงการท่าเรือบกมีความคืบหน้าอย่างไร

ท่าเรือบก เป็นโครงการที่ต้องช่วยกันผลักดันต่อไป ก่อนที่จะย้ายมาโคราช ผมก็ดูเอกสารมาบ้างแล้ว ได้เห็นศักยภาพของเอกชน ซึ่งโคราชเป็นทั้งแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมจำนวนมาก เป็นทางผ่านของโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟทางคู่และความเร็วสูง คนโคราชจึงต้องการสร้างเครื่องมือที่จะเพิ่มศักยภาพของการขนส่งและการค้าการลงทุน การมีท่าเรือบกไม่ว่าที่ใดก็ตาม จะช่วยเพิ่มศักยภาพของการค้าการลงทุน และการขนส่งจำนวนมาก ผมจึงคิดว่า โคราชมีความเหมาะสม ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างมองไว้หลายแห่ง ทั้งอำเภอเมือง (บ้านหนองไข่น้ำ) อำเภอสีคิ้ว (บ้านทับม้า) และตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน หลังจากการท่าเรือฯ ลงพื้นที่มาดู เมื่อมีหลายที่ก็ต้องทำการศึกษาว่า ที่ใดเหมาะสมที่สุด จากการตรวจสอบเอกสารที่ผ่านมา ก็เห็นว่า โคราชเป็นเมืองที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

• การเป็นผู้ว่าฯ อายุน้อย มีข้อดี/ข้อด้อยในการบริหารงานจังหวัดใหญ่หรือไม่ อย่างไร

จากที่พูดตั้งแต่ต้นว่า โคราชเป็นจังหวัดสำคัญ กระทรวงมหาดไทยจึงต้องหาคนที่มีความสามารถ จะนำรองผู้ว่าฯ ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ เลยไม่เคยมี เพราะโคราชเป็นจังหวัดใหญ่และสำคัญ คนจะเป็นผู้ว่าฯ โคราช จะต้องตัดสินใจหลายเรื่อง อย่างการเซ็นหนังสือก็มากกว่าจังหวัดอื่นๆ หากจะนำคนใหม่ขึ้นมาเลยจะเซ็นดีหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องหาคนมีประสบการณ์ กระทรวงมหาดไทยก็คงจะมองดูรอบๆ ดูความอาวุโสของผู้ว่าฯ แต่ละคน ใครที่พอจะมาโคราชได้ ส่วนเรื่องความผูกพันกับการเมือง ผมขอบอกว่า ข้าราชการฝ่ายปกครองต้องทำงานกับทุกคน จะเป็นฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร พระ ครู มหาวิทยาลัย นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้แทนราษฏร บางพื้นที่อาจจะเป็นฝ่ายรัฐบาล บางพื้นที่เป็นฝ่ายค้าน บางพื้นที่ก็เคยเป็นฝ่ายรัฐบาลแต่ตอนนี้ไม่เป็น ดังนั้น การเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และขอให้ประชาชนคอยติดตามดูงานของราชการ คอยให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ ให้กำลังใจการทำงานแก่กัน ซึ่งข้าราชการประจำแบบผม พูดตรงๆ งบประมาณไม่ค่อยจะมี มีก็น้อยมาก แต่งบประมาณท้องถิ่น (อปท.) ในโคราชไม่รู้กี่หมื่นล้านบาท ดังนั้น เราต้องประสานการทำงานระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น และกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค หากถามว่า ผมมาเพราะใคร ต้องไปดูประวัติ ผมจะมาเพราะประวัติทางราชการ หรือความอาวุโส หรือคุ้นเคยกับใคร ทุกคนไปดูเองได้ ผมคิดว่า การดูเส้นทางของคนคนหนึ่ง สามารถวิเคราะห์กันเองได้ ต้องทำงานได้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย

ถ้าลองไปย้อนดูอาจจะมีผู้ว่าฯ โคราช อายุน้อยกว่าผม หรือบางจังหวัดอายุ ๓๐ กว่า ก็เป็นผู้ว่าฯ แล้ว สมัยก่อนข้าราชการมีการเติบโตเร็ว แต่ ๒๐ ปีหลังมานี้ ขนาดของข้าราชการมีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดการรอตำแหน่ง กว่าจะเข้าสู่แต่ละตำแหน่งจึงใช้เวลานาน ซึ่งโคราชกว่าจะได้มาก็ต้องรอจนอาวุโสอีก ท่านก่อนๆ มาอยู่ ๗-๘ ปีก็มี การทำงานมีหลายรูปแบบ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะดูความอาวุโสทางราชการเป็นหลัก ส่วนอายุแค่นำมาประกอบ ไม่ใช่ว่า เหลือปีสุดท้ายขึ้นจากรองผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าฯ เลย แบบนี้ไม่ใช่ความอาวุโส แต่ถ้าถามว่า เรื่องอายุมีอุปสรรคหรือไม่ มีทั้งอุปสรรคและโอกาส ถ้าอายุมาก คนก็จะบอกว่าอายุมากเกินไป พออายุน้อยก็บอกว่า น้อยเกินไป เหมือนเหรียญมีสองด้าน ผมจะพยายามใช้โอกาสที่ยังมีอายุไม่มาก ใช้เวลาทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้กับโคราช อยู่ที่ไหนก็อยากอยู่นานๆ และจะประสานความร่วมมือระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เพราะอย่างไรก็ตาม เมืองจะต้องเป็นของคนรุ่นใหม่ พวกเขาจะต้องเติบโตและรับหน้าที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือภาคเอกชนก็ตาม

ผมคิดว่าระบบที่มีการแข่งขันสูง เพราะมีตำแหน่งน้อย ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยมีหลายพันหลายหมื่นคน แต่คนจะเป็นผู้ว่าฯ มีเพียง ๗๖ คน คนที่จะมาถึงจุดนี้จึงต้องพร้อมด้วยหลายอย่าง จะมีเส้นสายอย่างเดียวไม่ทำการทำงานก็ไม่ได้ หรือทำงานแต่ไม่มีคนเห็นก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องมาพร้อมกัน

• ไม่เคยขอย้าย

ข้าราชการอยู่เป็นวาระ นานสุด ๔ ปี แต่ถ้า ครม.เห็นว่ามีความเหมาะสมอาจจะต่ออายุได้อีก ๑ ปี ๒ ครั้ง ตั้งแต่ผมเป็นผู้ว่าฯ นครพนม และอุดรฯ ทั้ง ๒ ที่ผมไม่เคยขอย้าย แล้วแต่รัฐบาลแล้วแต่กระทรวงมหาดไทย เป็นข้าราชการกำหนดตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อตำแหน่งใดว่าง เช่น โคราชว่าง ก็จะต้องหาคนที่เหมาะสม เห็นว่า ผู้ว่าฯ อุดรธานีอาวุโสพอแล้ว สามารถมาได้ เมื่อเทียบความอาวุโสในพื้นที่อีสาน อยู่อุดรฯ ๒ ปี ไม่ได้ขอ เขาก็ให้มา แต่ความตั้งใจ คือ ไปอยู่ที่ไหนอยากอยู่นานๆ เพราะผูกพัน เช่น มาโคราช ๒ เดือนก็ชอบแล้ว รักตั้งแต่มาทำงาน ทั้งผู้คน นิสัยใจคอ และสภาพแวดล้อมความเจริญก้าวหน้าของเมืองก็มีเสน่ห์

• คาดหวังให้โคราชเป็นอย่างไรในช่วงการบริหารงานของท่าน

ความคาดหวังระยะสั้น คือ ต้องการให้เมืองฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ กิจกรรม ประเพณี การท่องเที่ยว ทำอย่างไรเมืองจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วตามความคาดหวังของประชาชน โคราชเป็นเหมือนยักษ์ คนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กลุกไม่พร้อมกัน ดังนั้น ทำอย่างไรจะให้โคราชลุกได้เร็วที่สุด ผมเชื่อมั่นว่า คนโคราชมีความตั้งใจ และมีความคิดก้าวหน้า เช่น มีคนบางกลุ่มไปรวมตัวกันที่คาเฟ่ เพื่อพูดถึงการพัฒนาเมือง ผมไม่เคยเจอที่ไหนเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะเมืองจะต้องเปลี่ยนผ่านสู่คนรุ่นต่อไป ใครเห็นปัญหาของเมือง ผมเป็นผู้ว่าฯ ก็ต้องรับไว้ แต่ไม่มีใครที่จะแก้ปัญหาได้พร้อมกันทุกเรื่อง ในส่วนระยะยาว ต้องเตรียมสิ่งสำคัญไว้ให้โคราช ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมคน และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง รถไฟทางคู่และความเร็วสูง รวมถึงมอเตอร์เวย์ จะนำหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาสู่โคราช โดยเฉพาะโอกาสในการพัฒนา การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ เตรียมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ เตรียมการส่งเสริมเกษตรกร สรุประยะสั้นคือการฟื้นฟูเมือง และระยะยาวคือการเตรียมเมืองสู่อนาคต และสิ่งที่ผมอยากเห็นอีกอย่างคือ การทำงานของข้าราชการที่ทำงานโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้ไม่ดี แต่อยากเห็นการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ ทำงานด้วยความโปร่งใส ประชาชนเชื่อถือ ให้บริการการอนุมัติและอนุญาตเป็นไปตามความรวดเร็ว ไม่ล่าช้า มีเหตุผล สามารถอธิบายต่อประชาชนได้ ทำงานด้วยความโปร่งใส เพราะข้าราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน

• การผลักดันสายการบิน

เรื่องสายการบิน มีคนพูด ๒ แบบ คือ การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในอนาคตเดี๋ยวก็มีมอเตอร์เวย์ และท่าอากาศยานก็ตั้งอยู่ไกลชุมชน อยู่ต่างอำเภอ ทำให้ลูกค้าที่จะต้องเดินทางไปสนามบิน เพื่อเข้ากรุงเทพฯ เลือกที่จะขับรถยนต์ไปกรุงเทพฯ ดีกว่า แต่ที่ผ่านมาคนโคราชพยายามมองเรื่องการเดินทางข้ามภูมิภาค ไปเชียงใหม่ ไปภูเก็ต สุดท้ายลูกค้าไม่ไป ในขณะที่ฝ่ายผู้ประกอบการก็บอกว่า ภาครัฐต้องสนับสนุน เราจะไปบังคับให้คนขึ้นก็ไม่ได้ หรือจะนำข้าราชการไปขึ้น ก็ไม่ใช่ดีมานด์ที่แท้จริง ผมก็เห็นศักยภาพบางส่วนเหมือนกันกับการบินข้ามภาค ผมเห็นเขาทดลองบินก่อนผมย้ายมา สุดท้ายก็ต้องหยุดเพราะไม่มีคนนั่ง แต่ผมก็อยากเห็นการบินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบินโดยสาร หรือการเป็นศูนย์ซ่อม ศูนย์ฝึกอบรม และให้การศึกษาด้านการบิน ผมยังอยากเห็นโคราชเป็นศูนย์สักอย่างที่เกี่ยวกับอากาศยาน

• แบ่งเวลาให้กับครอบครัวอย่างไร โดยเฉพาะการทำหน้าที่ “ผู้ว่าฯ พ่อลูกอ่อน”

ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ก็มีครอบครัว เพียงแต่ว่า ผมมีลูกเล็ก เรื่องนี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ทุกคนต้องมีหน้าที่ในหลายบทบาท ไม่ใช่แค่ข้าราชการ เอกชนเช้าก็ทำงาน เย็นก็กว่าจะได้กลับบ้าน บางคนทำงานในเมืองใหญ่ เช้าต้องออกแต่เช้ามืด เย็นรถติดกว่าจะถึงบ้านก็ค่ำ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเป็นปกติของคนในสังคม ที่จะต้องมีหลายบทบาท ผมกับภริยาก็พอจะสลับกันช่วยดูแลได้ คอยช่วยดูแลลูก

• มีการแนะนำคุณฟ้าใสเกี่ยวกับบทบาทนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ อย่างไร

ผมให้คำแนะนำน้อย ตั้งแต่อยู่อุดรฯ หรือแต่งงาน ผมก็ขอสภากาชาดไทยให้คุณฟ้าใสเข้าไปศึกษางาน เขาก็จะได้ทราบระบบงานและบทบาทหน้าที่การเป็นนายกเหล่ากาชาด เมื่อย้ายมาโคราช คุณแม่กาชาดทั้งหลายก็อบอุ่นมาก สามารถให้คำแนะนำปรึกษาได้ โดยบุคลิกภาพของคุณฟ้าใส เป็นคนที่เข้ากับผู้ใหญ่ได้ง่าย เข้ากับผมได้ แม้อายุเขาไม่มากแต่ก็ไม่น้อย เขาเคยทำงานรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เด็ก จึงมีความรับผิดชอบ รู้จักวิธีเข้าสังคม ส่วนเรื่องลูกคนต่อไปก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ อาจจะมีสักคนหนึ่ง เพราะผมอายุมากพอสมควรแล้ว

• วางอนาคตให้ลูกอย่างไร

ไม่ได้วาง ปัจจุบันสังคมเปลี่ยน คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมาก ตัวเลขของคนอยู่ในการศึกษาภาคบังคับลดลงเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะประชากรลดลงด้วย แต่บางคนสามารถเลือกที่จะประกอบอาชีพได้ จึงไม่จำเป็นต้องไปเรียนเหมือนกัน ทำตามที่ตัวเองสนใจ ผมจึงวางแผนไว้ว่า ลูกสนใจอะไรก็ส่งเสริม แต่ไม่เลือกอาชีพให้

• ตัวตนของ “สยาม ศิริมงคล” เป็นอย่างไร

ผมก็คนปกติ ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้ว่าฯ เกิดมาเป็นเหมือนทุกคน เติบโตที่ต่างจังหวัด เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ทำงานแรกก็ทำภาคเอกชน จะเห็นว่าคนเข้าถึงผมได้ง่าย ถ้าเข้าไม่ถึงแสดงว่ากังวลไปเอง เบอร์โทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ตก็มี อย่าพิธีรีตองก็พอ กว่าจะนัดกว่าจะเจอยุ่งยากเกินไป ให้โทรศัพท์มาได้เลย ผมรับทุกสาย กลางคืนชาวบ้านโทรมา ภริยาก็นอนฟังด้วย เมาโทรมาก็มี ตัวตนของผมก็คือคนทั่วไป แต่ขณะนี้ต้องสวมบทบาทผู้ว่าฯ ก็ทำหน้าที่ไป ผมเป็นผู้ว่าฯ ผู้คนรู้จัก ให้ความสนใจ แต่ถ้าผมย้ายไปรับตำแหน่งในส่วนกลาง ไปเป็นผู้ตรวจหรือรองปลัดกระทรวงฯ ก็จะมีแต่ลูกน้องที่รู้จัก สังคมไม่ได้ให้ความสนใจ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป

• คิดว่าจะเป็นผู้ว่าฯ โคราชกี่ปี

ไม่เคยคิดเลย ทุกวันนี้ก็ไม่คิด รู้เพียงว่า ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อยู่โคราชก็อยากอยู่นานๆ เท่าที่พอจะนานได้  ผมเป็นคนไม่ขอ ไม่ขออยู่ไม่ขอย้าย ขึ้นอยู่กับกระทรวงฯ จะพิจารณา

• คาดหวังกับตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือไม่

ความคาดหวังในตำแหน่งสูงสุด ที่มีแค่ตำแหน่งเดียว (ปลัดกระทรวง) อย่างที่ผมบอกว่า มันเกี่ยวกับความคุ้นเคยกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือเกิดจากลูกน้องยอมรับ ความรู้ความสามารถ มีอะไรหลายอย่าง การจะไปถึงจุดนั้นต้องมีพร้อมทุกอย่าง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่หวังไม่ได้ ดังนั้น ก็จะไม่คาดหวัง อยู่จุดนี้ก็ดีที่สุดแล้ว ในชีวิตการรับราชการ เป็นผู้ว่าฯ ก็ดีมากแล้ว แต่ได้เป็นผู้ว่าฯ โคราชนี่สุดๆ แล้ว ผมทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ส่วนอนาคตอาจจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกก็ได้

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน
๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๘ วันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม ๒๕๖๕ - วันที่ ๑๔ เดือนมกราคม ๒๕๖๖

 


1035 1918