18thApril

18thApril

18thApril

 

January 26,2023

สุมหัวคุย‘พลิกโฉมโคราช’ แต่มิอาจทำได้ในพลิกฝ่ามือ

จัดเสวนา “Korat Walkable City: เมืองโคราชในอนาคต” พูดคุยถึงปัญหาเมืองและแนวทางการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองเดินดี เมืองเทคโนโลยี และเมืองต้นไม้ ด้าน “รองผู้ว่าฯ” เสนอทำผิวถนนและทางเท้าให้เท่ากัน และเปลี่ยนรอบย่าโมให้สวยงาม เพื่อสร้าง “จตุรัสโคราช”


ที่คลาสคาเฟ่ วัดบูรพ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา นายมารุต ชุ่มขุนทด CEO Class café จัดเสวนาหัวข้อ “Korat Walkable City: เมืองโคราชในอนาคต” ประกอบด้วยเรื่อง “เมืองเดินดี” โดย รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน, “เมืองเทคโนโลยี” โดย รศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ มทส., “เมืองเทคโนโลยี” โดย ดร.ศิริวัฒน์ สาระเขตต์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และเรื่อง “เมืองโคราช” โดยนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๘.๐๐ น.

นายมารุต ชุ่มขุนทด CEO Class café

• การเดินสำคัญที่สุด

รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ กล่าวว่า “เมืองเดินดี คืออะไร เมืองเดินดีไม่ใช่เรื่องทางกายภาพ แต่เป็นทัศนคติของคน แล้วนำทัศนคติมาแปลงเป็นกายภาพ เพราะการเดิน คือ ประชาธิปไตย เมื่อไหร่ที่ทำให้คนหันมาเดินได้มากขึ้น เท่ากับสังคมมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง นอกจากนี้การเดินยังช่วยนำพลังงานที่เรานำเข้ามาในร่างกายออกไปได้ด้วย เช่น การกินอาหาร ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว เขามีแนวคิดตามลำดับว่า การเดินสำคัญที่สุด เพราะเป็นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ แต่ถ้าใครต้องการความสะดวกมากขึ้นก็ใส่ล้อเข้าไป เป็นจักรยาน แต่ถ้าภาครัฐต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น ก็จัดให้มีระบบขนส่งมวลชน หรือจะเป็นการให้บริการของรถรับจ้างต่างๆ และสุดท้าย คนที่ต้องแบกภาระมากที่สุด คือ ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะการที่คุณมีเงินซื้อรถยนต์ได้ ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากเหมือนกัน แต่กลับกัน ประเทศไทยคนที่ได้รับความสะดวกมากที่สุด คือ ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ส่วนคนเดินทางจะมีอุปสรรค์หรือกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวย”

รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์

• โคราชเดินเท้าลำบาก

“ในโคราชการเดินบนทางเท้ายังมีความลำบาก เกือบทุกเส้นทางเดินเท้า มีสภาพทรุดโทรมไม่เอื้ออำนวย หากคนที่ใช้รถยนต์บอกว่า ถนนพัง ถนนแคบ ทำให้ลำบากไม่สะดวก แล้วเมืองก็ไปทำให้ถนนดีขึ้น มีการขุดอุโมงค์ให้รถวิ่งสะดวกขึ้น นั่นแสดงว่า เมืองคุณไม่มีค่าที่จะทำให้คนเดินถนนดีขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งทับถมลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องตั้งคำถามก่อนว่า คนเดินดีหรือยัง ก่อนที่จะไปพัฒนาการจราจรด้านอื่นๆ ให้เกิดขึ้นตามลำดับ คือ เมื่อเดินดีแล้วก็ใช้จักรยานมากขึ้น มีการพัฒนาขนส่งมวลชนให้ดี ตรงเวลา และสุดท้ายคือการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งต้องตั้งคำถามอีกว่า จะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้อย่างไร” รศ.ดร.นิคม กล่าว

• สนับสนุนพลังงานทดแทน

รศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา กล่าวว่า “สมาร์ทซิตี้ คือ โอกาสของเมือง หากเรามีแพลตฟอร์มที่สามารถให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ จะทำให้เมืองมีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นได้มาก ซึ่งวันนี้ผมจะพูดเรื่องใหญ่ คือ พลังงาน โดยพลังงานทดแทนนั้น โคราชมีพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีปริมาณเพียงพอเหมาะแก่การใช้งาน สามารถเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ในด้าน Smart City ที่มีเทคโนโลยีชั้นนำในด้านพลังงานทดแทน สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวและรักสิ่งแวดล้อมได้ การใช้โซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน นับเป็นอีกวิธีในการช่วยทดแทนพลังงานได้ ซึ่งเราอาจจะต้องจ่ายแพงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็จ่ายเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าไม่มาก และผมก็กำลังใช้พลังงานทดแทนด้วยวิธีนี้ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นเดือน มีน้ำมีไฟฟ้าใช้ โดยทั้งหมดมาจากพลังงานทดแทน และที่สำคัญผมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้จ่ายไม่มาก”

รศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา

“เรื่องพลังงานทดแทนต่อมา คือ การใช้น้ำมัน ซึ่งรถจักรยานยนต์จะเห็นภาพมากที่สุด เช่น วินมอเตอร์ไซค์ วันหนึ่งวิ่งรับส่งเฉลี่ยวันละ ๘๐ กิโลเมตร ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ๔,๐๐๐ บาทต่อเดือน แต่ถ้าผู้ใช้จักรยานยนต์หันมาใช้พลังงานทดแทน คือ ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าน้ำมันจะหายไป ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน และถ้าใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายที่ลดลงสามารถนำไปซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ได้ทุกๆ ๒ ปี ดังนั้น พลังงานทดแทนมีราคาถูกกว่า และรักษาสิ่งแวดล้อม หากนำมาทำที่โคราช ให้กลายเป็นโคราชแพลตฟอร์ม หันมาใช้พลังงานทดแทนอย่างครบวงจร มีทั้งการติดตั้งโซล่าเซลล์ จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทำเป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด หากทำได้ จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย” รศ.ดร.วรวัฒน์ กล่าว

• เพิ่มพื้นที่สีเขียว

ดร.ศิริวัฒน์ สาระเขตต์ กล่าวว่า ในเมืองขนาดใหญ่ที่มีอุตสาหกรรมมากมาย ต้นไม้นับเป็นสิ่งสำคัญในการลดปริมาณมลภาวะ ผมจึงไปศึกษาเรื่อง Urban Forestry ว่า ต้นไม้จะอยู่คู่กับเมืองได้อย่างไร ซึ่งเมืองที่มีพื้นทีเขียวมากที่สุดในเอเชีย คือ สิงคโปร์ โดยปี ๒๕๑๐ เขามองกันว่าทำอย่างไรจะทำให้เมืองสิงคโปร์มีแต่พื้นที่สีเขียว ผ่านมา ๕๐ ปี วันนี้สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในเอเชีย กระทั่งปลูกบนพื้นดินยังไม่พอ ต้องไปปลูกบนอาคารต่างๆ และเมืองของเขาออกแบบมาให้สามารถเดินเชื่อมกันได้ รถยนต์มีน้อยมาก แต่เมื่อหันกลับมามองเมืองไทย เมื่อใดที่ต้นไม้สูงและใหญ่ หน่วยงานรัฐก็จะตัดออก บางที่ตัดเหลือแต่ตอ

ดร.ศิริวัฒน์ สาระเขตต์

“ผมจึงคิดค้นแอปพลิเคชั่นขึ้นมา ชื่อว่า 4RESTER ทุกคนสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลต้นไม้ในเมืองโคราชได้ โดยเข้าไปแล้วก็อัปโหลดรูปภาพ ปักหมุดสถานที่ และเลือกพันธุ์ต้นไม้ ซึ่งจุดเริ่มต้นผมจะทำในเขตเมืองเก่าโคราชก่อน ในช่วงแรกก่อนจะมีแอปพลิเคชั่น ผมเคยให้นักศึกษาเก็บข้อมูลต้นไม้โดยการจด ใช้เวลาประมาณ ๓๐ วัน แต่เมื่อใช้แอปนี้ ใช้เวลาเพียง ๓ วัน นอกจากนี้ผมยังขยายผลการศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเขตเมือง ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ราชมงคลอีสาน และวงษ์ชวลิตกุล โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถนำมาประยุกษ์ให้เป็นแนวทางพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองนครราชสีมา คือ พื้นที่รอบคลองคูเมืองในเขตเมืองเก่านั้น สามารถพัฒนาให้เป็นทางจักรยาน ลู่วิ่ง และทางเดินออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบให้เชื่อมต่อกับเส้นทางลำตะคอง และพัฒนาเชื่อมโยงกับสวนสาธารณะต่างๆ เช่นบุ่งตาหลั่ว สวนภูมิรักษ์ บึงหัวทะเล และหนองแก้ช้าง โดยพัฒนาให้เป็นระบบโครงข่ายสีเขียว (Green Network System) หรือระบบสาธารณูปโภคสีเขียว เชื่อมโยงไปทั่วทั้งเมือง” ดร.ศิริวัฒน์ กล่าว

• ลำตะคองสวย

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวว่า ผมคิดว่าการเป็นสมาร์ทซิตี้ต้องเป็นอะไรก็ได้ที่คนอยู่แล้วมีสุขอนามัยที่ดี เป็นเมืองที่อยู่ดีกินดี มีความสุข เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด เช่น ที่อาจารย์นิคม ยกตัวอย่างเมืองที่เดินแล้วสบาย บรรยากาศดี ร่มรื่น นี่ก็เป็นสมาร์ทซิตี้อย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาผมพยายามพัฒนาลำตะคอง ซึ่งโคราชมีคลองสวยมาก ยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร แต่ไม่มีใครใช้ประโยชน์ วันนี้การออกแบบปรับปรุงลำตะคองทั้ง ๑๓ กิโลเมตรเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังเริ่มต้นทำที่โรงเรียนอัสสัมชัญถึงอ่างอัษฎางค์ ซึ่งช่วงนี้ใช้งบประมาณ ๓๐๐ กว่าล้านบาท เป็นช่วงกึ่งกลางระหว่าง ๑๓ กิโลเมตรพอดี และเป็นจุดที่อยู่ใกล้เมืองเก่าที่สุด ผมเคยไปล่องเรือในลำตะคอง บรรยากาศสวยงามมาก และเมื่อก่อสร้างเสร็จ จะสามารถช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น เพราะข้างล่างจะทำเป็นทางเดิน มีพนังคล้ายเขื่อน เมื่อน้ำมามากก็ปล่อยให้ท่วมทางเดินได้เลย นี่ก็เป็นภาพรวมว่า ขณะนี้จังหวัดกำลังทำอะไรบ้าง”

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์

• เมืองแห่งสุขภาพ

“อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เป็นโคราชสมาร์ทซิตี้ คือ Korat Wellness City หรือเมืองแห่งสุขภาพ และเรายังมีพร้อมทุกๆ ด้าน ทั้งสถาบันการศึกษา มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่สามารถวิจัยเครื่องปริ้นต์อวัยวะเทียมได้ มี มทส.ที่คอยวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ต่างๆ มีโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มีการรักษาครบทุกด้าน โดย Wellness City แบ่งเป็น ๓ โซน คือ โซนโรงพยาบาลมหาราชฯ โซน มทส. และโซนหนองระเวียง นอกจากนี้ ในพื้นที่นอกเขตเมือง ยังมีโซนอำเภอปากช่องและวังน้ำเขียว เป็นโซน Wellness ด้วย เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม อากาศดี เราจึงวางโปรเจ็กต์ไว้ว่า Korat Wellness City คือ Korat NOC ได้แก่ N-Natural (ธรรมชาติ) O-Ozone (อากาศ) และ C-Canabis (กัญชา) เพื่อนำมาวิจัยกับการแพทย์และอาหาร ซึ่งทุกๆ โซนได้เสนอไปยังสภาพัฒน์แล้ว คาดว่า ในปี ๒๕๖๖ โคราชจะได้นำเสนอการเป็นเมืองแห่งสุขภาพเข้าสู่ ครม.เพื่ออนุมัติ หลังอนุมัติแล้วโซนต่างๆ ที่กล่าวมา จะคล้ายกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเกิดการกระตุ้นการลงทุนมาสู่โคราช อาจจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในโคราชอีกมากมาย ดังนั้น ในภาพรวมของภาครัฐหรือราชการในโคราช เราวางอนาคตเมืองไว้เป็นขั้นตอน เพื่อดำเนินการไปให้ถึง แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ประชาชน และภาคการลงทุน หากเราจับมือกัน ไม่เกิดความขัดแย้ง เมืองก็จะสามารถเดินต่อไปได้” นายสมเกียรติ กล่าว

• รองผู้ว่าฯ เสนอทุบทางเท้า

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า “สำหรับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ทุกการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในคราวเดียว ต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนผมขอเสนอว่า ให้ทุบกำแพงของทางเท้ากับถนนทิ้ง คือ ระหว่างทางเท้ากับถนนและสวน จะต้องเป็นผืนเดียวกันเหมือนในต่างประเทศ บนผิวถนนอาจจะต้องใช้วัสดุอื่นมาเทแทนที่ยางมะตอย โดยเฉพาะถนนราชดำเนิน ต้องทำให้รู้สึกว่าถนนเป็นผืนเดียวกันทั้งหมดตลอดสองฝั่ง ในยุโรปเองก็ใช้ลักษณะแบบนี้ หากทำได้ก็อาจจะมีสัปดาห์ละ ๑ วัน ที่จะปิดถนนให้คนมาเดิน จัดให้มีกิจกรรม อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะจักรยาน คนเดินเท้า และสกูตเตอร์ เมื่อทำแล้วออกมาดี ก็ค่อยๆ เพิ่มเป็น ๒ วัน ๓ วัน เรื่อยๆ กระทั่งทุกคนติดเป็นนิสัย นอกจากนี้ ตัวอาคารทั้งสองข้าง ควรออกแบบป้ายใหม่ทั้งหมด จัดสรรให้ดูสะอาดสวยงาม กันสาดต่างๆ ก็ออกแบบให้เหมือนกันและต่อเนื่อง เมื่อทำได้ ทั้งสองฝั่งถนนราชดำเนินจะกลายเป็นจัตุรัสของเมือง การเริ่มต้นง่ายมาก คือ การมีส่วนร่วม หากกระแสสังคมเห็นด้วยก็ทำได้ แต่ค่อยๆ ทำทีละจุด ค่อยๆ เปลี่ยน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ แนวคิด ดังนั้นต้องสร้างการมีส่วนร่วมก่อนว่า ถ้าทำแบบนี้คนในพื้นที่เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยเราก็ลงมือทำ”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๙ วันที่ ๑๕ มกราคม - วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


1026 1379