29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

March 23,2023

โคราชยังเนื้อหอมด้านลงทุน ปี ๖๕ อนุมัติ ๒๕,๐๗๐ ล. พลังงานทดแทน’ยังยอดฮิต

บีโอไอสรุปภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนปี ๒๕๖๕ ภาคอีสานตอนล่าง ทั้งหมด ๕๐ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๒๗,๐๐๘ ล้านบาท โคราชเนื้อหอมที่สุด มี ๓๕ โครงการมูลค่า ๒๕,๐๗๐ ล้าน เกษตรแปรรูปและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยังเป็นกิจการยอดนิยม

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ หรือบีโอไอโคราช นำโดยนายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ รายงานภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนปี ๒๕๖๕ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในพื้นที่รับผิดชอบ ๘ จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรีมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) ทั้งนี้ในส่วนของการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ในปี ๒๕๖๕ ภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๑,๕๕๔ โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๑ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๖๑๘,๖๒๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๒๑

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรืออีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๕๐ โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๓๕ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๒๗,๐๐๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๔๙๙ส่วนที่ตั้งโครงการลงทุนนั้น กระจุกตัวในจังหวัดนครราชสีมา โดยในปี ๒๕๖๕ จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนโครงการมากที่สุด ๓๕ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๒๕,๐๗๐ ล้านบาท, จังหวัดชัยภูมิ ๖ โครงการ เงินลงทุน ๒๐๕ ล้านบาท, จังหวัดอุบลราชธานี ๕ โครงการ เงินลงทุน ๗๒๗ ล้านบาท, จังหวัดบุรีรัมย์ ๓ โครงการ เงินลงทุน ๑,๐๐๔ ล้านบาท และจังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ เงินลงทุน ๒ ล้านบาท โดยเป็นโครงการใหม่ ๗ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๔ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดละ ๑ โครงการ เป็นโครงการขยายกิจการ ๔๓ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๓๑ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ ๕ โครงการ จังหวัดอุบลราชธานี ๔ โครงการ และจังหวัดบุรีรัมย์ ๓ โครงการ

ส่วนการกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นนั้น เป็นโครงการคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๓๕ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๔,๓๐๑ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑๖ ของเงินลงทุน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง โครงการที่ต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้นมี ๙ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๑๘ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒๒,๓๔๘ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๘๓ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ในขณะที่โครงการที่เป็นการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ มี ๖ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๑๒ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๓๕๙ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑ ของเงินลงทุน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง

ทั้งนี้ โครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้ ๑.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูป ๓ โครงการ, กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังและแป้งแปรรูป เช่น แป้งแพนเค้ก แป้งบราวนี่ แป้งคุ้กกี้ และแป้งชุบทอด เป็นต้น ๑ โครงการ, กิจการผลิตแป้งแปรรูปที่ละลายได้ในน้ำเย็นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ๑ โครงการ และกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ๑ โครงการ, กิจการเนื้อไก่ชำแหละ ๑ โครงการ, กิจการผลิตกากรำและน้ำมันรำข้าวดิบ ๑ โครงการ, กิจการผลิตสารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เพื่อทำการผลิตพรีไบโอติกส์ ๑ โครงการ, กิจการผลิตยางแท่งและหรือยางผสม ๑ โครงการ และกิจการผลิตสาคู ๑ โครงการ

๒.กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นกิจการผลิตแอลกอฮอล์จากผลผลิตทางการเกษตรและเอทานอล ๑ โครงการ และกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ จำนวน ๑ โครงการ ๓.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สาหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติมีขั้นตอนออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง ๑ โครงการ ๔.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบช่วงล่างยานพาหนะ ๑ โครงการ, กิจการผลิตชิ้นส่วนระบบช่วงล่าง (SUSPENSION SYSTEM PARTS) ได้แก่ SHOCK ABSORBER ๑ โครงการ และกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ๑ โครงการ

๕.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนของ HARD DISK DRIVE ๑ โครงการ ๖.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด ๒๒ โครงการ, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ ๒ โครงการ ๗.กลุ่มอุตสาหกรรมแร่ โลหะ และวัสดุ เป็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ตะแกรงเหล็ก ๑ โครงการ และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ เช่น HOUSING TORQUE SENSOR HOUSING WORM GEAR ๑ โครงการ, กิจการผลิตลวดเชื่อม ๑ โครงการ, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้ง ชิ้นส่วนโลหะ เช่น เหล็กปลอกสำเร็จรูป บังโคลนรถ ฝาข้างรถ ๑ โครงการ และกิจการผลิต MULTILAYER CERAMIC CHIP CAPACITOR (MLCC) ทำหน้าที่ในการเก็บประจุไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่ถูกใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ๑ โครงการ ๘.กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นกิจการพัฒนา Enterprise Software ๑ โครงการ ๙.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ๑ โครงการ

ขณะที่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ แยกเป็น ๑.มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๑๐ โครงการ เงินลงทุน ๓๕๓ ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อใช้พลังงานทดแทน ๘ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานโดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในโครงการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ โครงการผลิตลวดเชื่อม โครงการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร (FOOD PROCESSING MACHINERY) โครงการผลิตน้ำมันรำข้าวดิบ ส่วนผสมอาหารสัตว์ เช่น กากรำ โครงการผลิตอาหารแปรรูป โครงการผลิตสาคู และโครงการผลิตแป้งแปรรูป และมีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ๒ โครงการ เงินลงทุน ๓๕ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพสาหรับชิ้นส่วนระบบช่วงล่างยานพาหนะ ได้แก่ STRUT และโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในขั้นตอนการเชื่อมหูโช๊ค และขั้นตอนการอัด BUSH และสลักเกลียวโดยการกดอัด ๒.มาตรการส่งเสริม SMEs ในปี ๒๕๖๕ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๔ โครงการ เงินลงทุน ๒๖๕ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๓ โครงการ เป็นกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ (BIOGAS) กิจการผลิตสารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติเพื่อทำการผลิตพรีไบโอติกส์ กิจการผลิตแป้งแปรรูป อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป


เมื่อมาพิจารณาโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย พบว่า ในส่วนของการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี ๒๕๖๕ มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่อีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๑๔ โครงการ เงินลงทุน ๑,๗๘๘ ล้านบาท โดยแยกเป็นจังหวัดชัยภูมิ ๖ โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๔ โครงการ กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำและกิจการผลิตเอทานอล กิจการละ ๑ โครงการ, จังหวัดอุบลราชธานี ๕ โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๓ โครงการ เป็นกิจการผลิตแป้งสำเร็จรูปจากแป้งมันสำปะหลังไชยาไนด์ต่ำ ๑ โครงการ และเป็นกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ๑ โครงการ, จังหวัดบุรีรัมย์ ๒ โครงการ เป็นกิจการผลิตยางแท่งหรือยางผสม และกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, จังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ เป็นกิจการ พัฒนา Enterprise Software ส่วนภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนในปี ๒๕๖๕ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัด จำนวนโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ส่วนมูลค่าการลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เงินลงทุนสูงถึง ๑๖,๗๗๖ ล้านบาท และอุตสาหกรรมแร่ โลหะ และวัสดุ มูลค่าเงินลงทุน ๕,๕๑๘ ล้านบาท ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูป เงินลงทุน ๒,๑๔๘ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูป และอาหารแปรรูป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๐ วันที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ - วันที่ ๑๔ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


963 1593