14thMay

14thMay

14thMay

 

March 30,2023

สำนักข่าว AFP ฝรั่งเศส สนใจแนวทางอนุรักษ์สถานีรถไฟโคราช สงสัย...ทำไมต้องทุบของเก่า?

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ทำการสถาปนิกอีสานนครราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา มีชาวฝรั่งเศสสังกัดสำนักข่าว เอ เอฟ พี (AFP) เดินทางมาพบนายวีรพล  จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน เพื่อขอข้อมูลการอนุรักษ์สถานีรถไฟนครราชสีมา ตามที่มีสื่อมวลชนหลายสำนักเสนอข่าวความเคลื่อนไหวการพัฒนาระบบราง  กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมให้ผู้รับจ้างทุบรื้อถอนอาคารเดิม เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟสูง 3 ชั้น รองรับโครงการไฮสปีดเทรนและรถไฟทางคู่ โดยมีนายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต อดีตนายอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา ในฐานะประธานชมรมอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราชพร้อมผู้แทนกลุ่มพลเมืองคนโคราชให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัตศาสตร์และความคิดเห็นของชาวโคราช จากนั้นได้นำไปดูการก่อสร้างทางรถไฟไฮสปีดพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง และสภาพความเป็นจริงของสถานีรถไฟซึ่งได้ปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างให้ทันสมัยทำให้เกิดภาพลักษณ์ของ รฟท. เชิงบวก สามารถสร้างแรงจูงใจให้พี่น้องประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวได้แสดงความตกใจและมีเครื่องหมายคำถามถึง รฟท. ไม่อนุรักษ์สถานีแห่งนี้ และยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสจะหลีกเลี่ยงการรื้อถอนอาคารเก่าที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับวีถีชีวิตชุมชและจะขออนุญาตเข้าพบผู้บริหาร รฟท. เพื่อขอทราบเหตุผล 

นายวีรพล จงเจริญใจ เปิดเผยว่า ความสำคัญของสถานีรถไฟโคราชที่มีประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานสามารถอ้างอิงได้ เมื่อช่วงปลายปี ร.ศ.119 หรือ พ.ศ.2443 เป็นเวลาร่วม 123 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีกรุงเทพมหานครถึงสถานีโคราช (มณฑลนครราชสีมา) เป็นปฐมฤกษ์การเปิดเส้นทางรถไฟ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ถือเป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวอาคารถูกเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดได้รับความเสียหายจึงได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่และเปิดใช้งาน พ.ศ.2498 และในปีเดียวกันในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชีนีประทับรถไฟพระที่นั่งมาลงที่สถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลอีสานนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโคราช แต่ รฟท. มีแนวคิดให้ทุบอาคารสถานีรถไฟเดิม โดยไม่ยอมบอกกล่าวมาก่อนและสอบถามความต้องการและความคิดเห็นของชาวโคราช ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้นำเสนอแนวทางและมุมมองของสถาปนิกในประเด็นของสถาปัตยกรรมสามารถออกแบบหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโครงสร้างนวัตกรรมการพัฒนายุคใหม่ แต่ไม่มีเสียงตอบรับจาก รฟท. แต่อย่างใด พบความเคลื่อนไหวผู้รับจ้างเตรียมจะทุบอาคารเดิมในเร็วๆ นี้ ตราบใดยังไม่ถูกทุบชาวโคราชและผู้ที่รักประวัติศาสตร์รถไฟยังมีโอกาสอนุรักษ์สถานีแห่งนี้ได้ ซึ่งยังไม่สายหรือช้าเกินไป ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง

ด้านนายเมตต์ กล่าวว่า สถานีรถไฟโคราชถือเป็นจุดสำคัญของความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเป็นแหล่งศูนย์กลางผู้คนจากภูมิภาคเข้าสู่เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ตลอดเส้นทางที่มีสถานีรถไฟตั้งอยู่ตามรายทางมีความเจริญมูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเศรษฐกิจมีความคึกคัก เมื่อทราบสถานีแห่งนี้จะถูกรื้อออกไป รู้สึกเสียดาย ฐานะตนศึกษาและรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 หลังโคราชมีรถไฟผ่านทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าไปเมืองหลวงสะดวกและรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จมา ส่งผลให้เกิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์และถนนราชดำเนิน อานิสงส์สถานีรถไฟแห่งแรกในอีสาน เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือเพราะรถไฟเป็นเส้นทางคมนาคมที่ทันสมัยในยุคนั้น ส่งผลให้บ้านเรือนจากเคยมุงจากเปลี่ยนมาใช้สังกะสีและได้บริโภคน้ำแข็งเป็นแห่งแรกในภูมิภาค ฝากถึงรัฐบาลการก่อสร้างหรือการเปลี่ยนแปลงพัฒนาควรสอบถามความเห็นคนในท้องถิ่นก่อน เท่าที่ทราบคนสั่งการไม่ใช่คนโคราช จึงมีแนวคิดออกแบบแปลนต้องรื้อเท่านั้นทำให้พวกเราไม่มีโอกาสเรียกร้องใดๆ

ส่วนผู้แทนกลุ่มสภาพลเมืองคนโคราช กล่าวเพิ่มเติม ของเก่าและของใหม่ต้องอยู่ร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดกิจกรรมให้เกิดการตื่นตัวพร้อมแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์คู่ขนานและขอรายชื่อชาวโคราชที่เห็นความสำคัญของอาคารแห่งนี้และต้องการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกถึงประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาวโคราชให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สัมผัสเรียนรู้รากเหง้าร่องรอยประวัติศาสตร์ของตนเอง จากนั้นนำเสนอให้ผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้ นำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง


703 1,353