28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

May 24,2023

ตึก ๒๘๐ ล.ราชภัฏโคราช ‘รศ.อดิศร’ยืนยันโปร่งใส มั่นใจฝีมือ‘พุทธเตชะ’

ราชภัฏโคราชสร้างตึกนวัตกรรมทางการศึกษา ๒๘๐ ล้าน อธิการบดียืนยันโปร่งใส สุจริต มีธรรมาภิบาลผู้บริหารไม่มีหักเปอร์เซ็นต์ ลงนามจ้าง “บจก.พุทธเตชะ” เชื่อมั่นในฝีมือ ไม่เคยทิ้งงาน

ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราช สีมาจะดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการและนวัตกรรมทางการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งมีการทำพิธีลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ โดยมี รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนายปัญญา มณีศรี ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท พุทธเตชะ จำกัด ให้ถ้อยแถลงและลงนามในสัญญาก่อสร้างอาคารฯ ท่ามกลางผู้บริหารและคณาจารย์ และสื่อมวลชนเข้าร่วม

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวว่า “การก่อสร้างอาคารนี้ในวงเงิน ๒๘๐ ล้านบาท ในประเทศนี้ ถ้ามีผู้บริหารมานั่งแล้วมีโครงการเหล่านี้ คนที่จะต้องตั้งคำถามคนแรกน่าจะเป็นสื่อมวลชน อธิการบดีหรือผู้บริหารได้กี่เปอร์เซ็นต์ ผมอยากจะบอกว่า เราทำงานนี้อยากจะให้เป็นตัวอย่าง ก่อนผมจะมาเป็นอธิการบดีก็เคยตั้งข้อสังเกตคนอื่นเหมือนกัน เป็นผู้บริหารเวลาสร้างตึกเป็นร้อยล้านได้กี่เปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งหนึ่งที่เจตนาอยากให้มีการแถลงข่าว ในขณะที่สำนักงบประมาณถามว่าเด็กก็ลดลงๆ สร้างตึกทำไม ผมเชื่อว่าสังคมก็ต้องถามเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมอยากทำความเข้าใจ กระบวนการดำเนินงานให้ได้มาซึ่งตึกนี้ ได้มาด้วยความยากลำบากพอสมควร เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด รัฐต้องใช้จ่ายไปในด้านสาธารณสุขจำนวนมาก การที่จะขอสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ให้มา จากนั้นก็มีการจัดทำ TOR และการเปิดประมูล ซึ่งจะประมูลด้วยวิธิีการใดถ้าจะโกงก็โกงได้ ผมจะขอเคลียร์ ทุกวันนี้บริษัทรับเหมาก็ไม่ได้สบาย จะเห็นได้ว่าในหลายมหาวิทยาลัยมีการทิ้งงานค่อนข้างมาก เพราะมีการดัมพ์พอสมควร อาคารนี้มีผู้ยื่นซองและพิจารณาคุณสมบัติยังไม่รอบด้านจำนวน ๓ บริษัท ซึ่งบริษัทที่ได้งานไม่ได้ให้ราคาต่ำสุด แต่เรามีการกำหนด spec (คุณสมบัติ) ไว้ใน TOR ที่สำคัญคือประสบการณ์ในการก่อสร้างตึกสูง บริษัทที่เสนอราคาต่ำกว่าไม่ผ่านเพราะไม่เคยสร้างตึกสูงตามที่กำหนด ส่วนอีกบริษัทผลงานที่นำมาประกอบไม่เข้าเงื่อนไข กระบวนการนี้ต้องเสนอต่อกรมบัญชีกลางว่า มหาวิทยาลัยฯ จะเลือกบริษัทนี้ได้ไหม มีการทิ้งงานไหม เรายืนยันไปว่า พุทธเตชะคือบริษัทที่สร้างหอพักหลังใหม่ของหาวิทยาลัยฯ ไม่ทิ้งงาน งานดี น่าประทับใจ เสร็จเร็วกว่ากำหนดด้วยซ้ำ แต่เราไม่ได้นำเกณฑ์เหล่านี้ไปตัดสิน มีกระบวนการเจรจาต่อรองจนได้ราคาต่ำลงอีก เป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผย เปิดสปีกเกอร์โฟนให้คณะกรรมการฟังร่วมกันทุกคน อธิการบดีไม่ได้มุบมิบ กระทั่งสุดท้ายกรมบัญชีกลางอนุมัติให้ทำได้ จึงจัดให้มีการลงนามในสัญญากับพุทธเตชะกับมหาวิทยาลัยฯ ในวันนี้”

“นี่คือกระบวนการที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า เราทำงานด้วยความโปร่งใส สุจริต มีธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยฯ มีธรรมาภิบาล มีความมุ่งมั่นและปรารถนาให้เป็นตัวอย่างในเรื่องของการประมูลหรือประกวดราคา สำนักงบประมาณอนุมัติวงเงินก่อสร้าง ๒๘๐ ล้าน ผ่านกระบวนการ e-Bidding การต่อรองราคา เหลืองบประมาณก่อสร้าง ๒๔๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ฉะนั้น สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณมหาวิทยาลัยฯ (มหาวิทยาลัยฯ สมทบ ๑๕%) จำนวน ๓๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่าออกแบบไม่เกี่ยวกับงบประมาณในส่วนนี้ มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการไปก่อนนั้นแล้ว ประมาณ ๗-๘ ล้านบาท ออกแบบโดยบริษัท ฟิวเจอร์ดีไซน์ จำกัด” อธิการบดีฯ กล่าว

ทางด้านตัวแทนบริษัท พุทธเตชะ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้มีโอกาสในการก่อสร้าง และคาดว่าจะสร้างให้เสร็จตามสัญญาที่กำหนดไว้ ๒ ปี
ทั้งนี้  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็น “ที่พึ่งของท้องถิ่น” ที่มีภารกิจสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนทั้งในระบบ และบริการวิชาการแก่ประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เมืองที่เข้มแข็ง ตามนโยบายของจังหวัดและยุทธศาสตร์ประเทศ จึงได้กำหนดที่จะก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้เพื่อการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา สำหรับนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นักเรียนมัธยมศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไป

อาคารปฏิบัติการและนวัตกรรมทางการศึกษา เป็นอาคาร ๘ ชั้น ได้รับงบประมาณก่อสร้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในการดำเนินการ มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำรายละเอียดและขอบเขตการจ้าง (Terms of Reference : TOR) ที่เปิดโอกาสให้มีการยื่นข้อเสนอแข่งขันกันได้ และใช้วิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อให้มีความโปร่งใสและมีการเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานไว้ทุกขั้นตอน ซึ่งบริษัทที่ได้รับการพิจารณา ได้เสนอราคาก่อสร้างเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ถึง ๓๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท

อาคารปฏิบัติการและนวัตกรรมทางการศึกษา เป็นอาคารได้รับการออกแบบให้มีความทันสมัยในโลกของยุคดิจิทัล แต่ยังคงเอกลักษณ์ของพื้นถิ่นที่มีคุณค่า โดยมีการนำแนวคิดทางสถาปัตยกรรมเรือนโคราช มาใช้ในการออกแบบ ผู้ออกแบบได้เลือกลักษณะของฝาไม้กระดาน ที่ใช้เคราตั้งด้านในตีฝากระดานแนวนอนซ้อนเกล็ดด้านนอกแต่เว้นเป็นช่องจังหวะ มาประยุกต์ในการจัดองค์ประกอบของช่องแสง ตลอดจนการเลือกโทนสีที่เข้ากัน และเลือกวางอาคาร ๒ หลัง ขนานกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะหนึ่งของเรือนโคราช ที่เป็นเรือนแฝดที่มีเรือนนอน ๒ หลังขนานกัน มีชานหรือโถงกั้นกลาง อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน คือ ดินด่านเกวียน เป็นดินเหนียวเนื้อละเอียด ง่ายต่อการขึ้นรูปทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่ายและที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ดินนี้เมื่อถูกเผาจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีแดง จึงได้มีการนำดินเผาด่านเกวียนมาใช้ในการประดับตกแต่งอาคารด้วย

พื้นที่การใช้สอยของอาคาร จะมีการแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือ พื้นที่ใช้สอยนวัตกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการพัฒนาครู, ห้องนวัตกรรมและสืบค้นข้อมูลอัจฉริยะและ Learning space, ห้องบรรยายค้นคว้าและวิจัย, ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนรู้, ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์, ห้องประชุมอัจฉริยะ ๑๒๐ ที่นั่ง และ ๓๐๐ ที่นั่ง, ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางการศึกษาปฐมวัย, ห้องศูนย์การเรียนรู้ทักษะทางสมอง, ห้องปฏิบัติการคลินิกนวัตกรรมทางการศึกษาพิเศษ, ห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยา, ห้องปฏิบัติการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา, ห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง, ห้องปฏิบัติการถ่ายภาพนิ่ง, ห้องปฏิบัติการบันทึกภาพโทรทัศน์, ห้องปฏิบัติการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการกีฬา, ห้องคลินิกวิจัย นวัตกรรมและฐานข้อมูล รวมพื้นที่ใช้สอยในส่วนแรกนี้ จำนวน ๔,๖๔๔ ตารางเมตร

ส่วนที่ ๒ เป็นพื้นที่ใช้สอยนวัตกรรมการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ฝ่ายมัธยมศึกษา ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการสอน, ห้องปฏิบัติการสื่อสารทางเทคโนโลยี, ห้องประชุม, โรงอาหาร, ห้องปฏิบัติการพื้นฐานฟิสิกส์, ห้องปฏิบัติการพื้นฐานเคมี, ห้องปฏิบัติการพื้นฐานชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการภาษาและคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ และ ห้องปฏิบัติการดนตรีไทยและสากล รวมพื้นที่ใช้สอยในส่วนนี้ทั้งสิ้น ๓,๖๐๘ ตารางเมตร   

ทั้งนี้ ในอนาคต เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ อาคารแห่งนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา เพิ่มพูนศักยภาพทางวิชาการสู่ความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตคณะครุศาสตร์ และนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ฝ่ายมัธยมศึกษา ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้และนวัตกรรมการทางการศึกษาชั้นนำ อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคนในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้นต่อไป


อนึ่ง สำหรับวงเงินงบประมาณก่อสร้าง ๒๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แยกออกเป็น ๑.เงินงบประมาณรายจ่ายประจาปี พ.ศ.๒๕๖๖ จำนวน ๒๓๘,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท ๒.เงินนอกงบประมาณจาก จำนวน ๔๒,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๓ ประจำวันที่ ๑๕ พฤษภาคม - ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๖


985 1660