3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

August 05,2023

มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊งโคราชวุ่น ยื้อแย่งตำแหน่งผู้บริหาร หวิดมีวางมวย

 

ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) องค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไรใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา รองประธานมูลนิธิโดยนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล พร้อมนายรังสรรค์ อินทรชาธร ร่วมแถลงข่าว กรณีการดำรงตำแหน่งประธานและคณะกรรมการสมัยที่ 40 ครบวาระนานกว่าครึ่งปี แต่ไม่ยอมจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งนายรังสรรค์ระบุว่า คณะกรรมการสมัยที่ 40 ครบวาระเมื่อปลายปี 2565 ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2566 ได้จัดการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการชุดที่ 41 ปี บริหารงาน 2566-67 ซึ่งมีผู้สมัครคือนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ประธานสมัยที่ 40 และนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล รองประธาน โดยใช้วิธีลงคะแนนลับผลปรากฏได้ 21 คะแนนเท่ากัน แต่ไม่ใช้วิธีจับสลากตามแบบสากล เพื่อหาผู้ชนะทำให้การเลือกตั้งไม่ได้ข้อยุติ ประธานจัดการเลือกตั้งเสนอให้นายอภิภวัส ดำรงตำแหน่งประธานสมัยที่ 41 ต่ออีกวาระและให้นายทรงศักดิ์ รอคิวเป็นประธานสมัยที่ 42 ซึ่งต่อมา 3 สมาคมที่ร่วมบริหารองค์กรประกอบด้วยสมาคมโผวเล้ง สมาคมเตี่ยเอี้ยและสมาคมเตี่ยอัน ได้ยื่นหนังสือถึงนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา ขอให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่และคัดค้านการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จึงเสนอแนวทางที่เป็นธรรม กรณีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ สมัยที่ 40 ประจำเดือนมิถุนายน (30 มิ.ย.2566) เสนอให้จัดการเลือกตั้งประธานในวันที่ 2 กรกฎาคม เพื่อไม่ให้เกิดการประวิงเวลา ทำให้เสียโอกาสและไม่สามารถพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปได้

ขณะที่นายทรงศักดิ์ (ซิม) กล่าวว่า ขอให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับมิใช่กำหนดจะให้ใครขึ้นดำรงตำแหน่งแบบไม่ชี้ขาด หากผลเลือกตั้งเท่ากันอีก ต้องใช้วิธีจับสลากวัดดวงตามหลักสากล ปัจจุบันประชาชนมาทำบุญค่อนข้างน้อย เนื่องจากขาดศรัทธา ตนตั้งใจเข้ามาจัดระเบียบให้ดีขึ้นและให้มูลนิธิเจริญรุ่งเรืองกว่านี้ รวมทั้งสร้างความรักความสามัคคีกันในองค์กร

ทางด้านนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ในฐานะรักษาการตำแหน่งประธานสมัยที่ 40 ชี้แจงว่า ได้สอบถามปัญหาข้อสงสัยกับนายทะเบียนระบุตนมีสถานะรักษาการตำแหน่งประธานจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งมีแนวโน้มคะแนนเหมือนเดิมอีก เนื่องจากต่างฝ่ายมีคณะกรรมการมีสิทธิลงคะแนนเท่ากัน จึงขอเวลาแก้ไขตราสารระเบียบข้อบังคับปฏิบัติใช้กันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิในปี พ.ศ. 2500 เพื่อให้ทันยุคสมัย ทั้งการเลือกตั้งและรวบรวมทรัพย์สินและครุภัณฑ์ทั้งหมด เช่นอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินกว่า 400 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้สำนักงานและอื่นๆ ดังนั้นการเร่งรัดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 ก.ค.ถือเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง ควรมีวิธีการและขั้นตอนที่โปร่งใส ยึดหลักตามกฎระเบียบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารต้องมีจิตสำนึกไม่แสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อน สามารถนำองค์กรเดินหน้าต่อไปให้สมกับการเป็นองค์กรการกุศลเก่าแก่ที่สุดในโคราช ตลอดเวลา 2 ปี ที่บริหารองค์กรมีผลงานเชิงประจักษ์ องค์กรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์รวมทั้งเงินบริจาคได้บันทึกข้อมูลลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์และมีที่มาที่ไปชัดเจนโปร่งใสทุกกระบวนการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีมาก่อน

โดย "โคราชคนอีสาน/koratdaily" เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดมีหนังสือที่ มต.895/2566 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ลงนามโดยนายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ ระบุตำแหน่งเลขาฯคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ส่งหนังสือเชิญเรื่อง การประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเซี่ยงตึ๊ง) สมัยที่ 41 ระบุว่า

"ตามที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) สมัยที่ 40 ปีบริหาร 2564 - 2565 (รักษาการ) ได้หมดวาระการดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิฯ และคณะกรรมการมูลนิธิ ลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นั้น ในการนี้ได้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และคณะ คณะกรรมการไปแล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่การเลือกตั้งยังไม่ เสร็จสมบูรณ์ตามข้อบังคับของตราสารมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ต่อมามูลนิธิฯ จึงได้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีมติให้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน และมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจจํานวน 12 คน เป็นผู้ยกร่าง ข้อบังคับระเบียบ และกําหนดกฎเกณฑ์ ในการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ เพื่อดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ 41 ปีบริหาร 2566 2567 และให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งอีกจํานวน 5 ท่าน เพื่อดําเนินการ เลือกตั้งประธานมูลนิธิให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไป จึงขอเรียนเชิญท่านคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ 41 ดังกล่าวเข้าร่วมเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา"

 

จากนั้นมีหนังสือที่ ม.ต. 899/2566 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ส่งถึงคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ 40 และคณะกรรมการทั้ง 6 สมาคมที่มีรายชื่อส่งเข้าเป็นกรรมการสมัยที่ 41 เรื่องการออกหนังสือการประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ 41 ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ลงนายโดยนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน ข้อความในหนังสือระบุว่า
"ตามที่นายทะเบียนจังหวัดนครราชสีมา ได้มีหนังสือตอบข้อหารือว่า “คณะกรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตําแหน่ง ดังกล่าวซึ่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการมูลนิธิ (คณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ 40) จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิชุด ใหม่ตามข้อบังคับที่กําหนดไว้โดยเร็วนั้น กระผมในฐานะรักษาการประธานมูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการประชุมในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งประธาน สมัยที่ 41 โดยมีตัวแทนจาก 6 สมาคมในตราสารมูลนิธิ สมาคมละ 1 ท่าน จํานวน 6 ท่าน และผู้อาวุโส ซึ่งเคยเป็นอดีตประธาน หรือรองประธานของมูลนิธิฯ มาก่อน สมาคมละ 1 ท่าน รวมเป็น 12 ท่าน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 1 ท่านเป็นประธานคณะอนุกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง รวมทั้งหมด 13 ท่าน ทําการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง คณะกรรมการสมัยที่ 41 ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

"ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งมาโดยไม่ชอบตามมติของคณะกรรมการสมัยที่ 40 และมิได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการอีก 1 ท่าน มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการ และดําเนินการจัดประชุม ซึ่งในการกระทําที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการประชุมที่ไม่ถูกต้อง โดยการดําเนินการที่ถูกต้องต้องจัดประชุมคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะต้องทําการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งคณะกรรมการ สมัยที่ 41 และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมา 1 คณะ ทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมัยที่ 41 (คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องยินยอมและพร้อมเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจะต้องเป็นผู้ดําเนินการ)"

"เมื่อดําเนินการร่างระเบียบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ให้แจ้งและส่งเรื่องร่างระเบียบ และสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งสองดังที่ได้กล่าวมา ให้คณะกรรมการสมัยที่ 40 รับทราบเพื่อมีมติออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการ เรียกประชุมคณะกรรมการสมัยที่ 41 โดยดําเนินการตามระเบียบที่ได้รับรองจากมติที่ประชุมคณะกรรมการสมัยที่ 40 (อํานาจหน้าที่ในการออกระเบียบหรือข้อบังคับ เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการสมัยที่ 40 มิใช่ของคณะอนุกรรมการ)"

"เมื่อยังมิได้ดําเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว การที่นายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ เลขาคณะอนุกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ออกหนังสือเชิญว่าที่กรรมการสมัยที่ 41 มาประชุม เลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 จึงไม่ถูกต้องและเป็นกระทําการโดยไม่มีอํานาจแต่อย่างใด ซึ่งการกําหนดวันเลือกตั้งเป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กําหนด ส่วนร่างระเบียบว่าด้วยการ เลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ 41 ก็ยังไม่เห็นแต่อย่างใด เห็นเพียงเอกสาร 7 ข้อที่อ้างว่าสรุปมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่าง 12 คน ที่ได้เผยแพร่นั้นก็มิใช่ร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งประธาน สมัยที่ 41 เป็นเพียงการสรุปและไม่มีลายเซ็นรับรองของคณะอนุกรรมการพร้อมทั้งประธานอนุกรรมการยกร่างแต่อย่างใด


"ฉะนั้นการออกหนังสือเชิญคณะกรรมการสมัยที่ 41 มาเลือกตั้งนั้นจะต้องดําเนินการตามขั้นตอนตามที่กล่าวมานี้ ทั้งหมดให้ถูกต้อง โดยเฉพาะหนังสือต่างๆ ที่นายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ ดําเนินการและออกหนังสือไปนั้น กระทําการโดยไม่มีอํานาจและถูกต้อง"

 

อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวว่า ความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งหวิดมีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นภายในมูลนิธิฯ โดยอดีตผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งเงื้อกำปั้นจะไปชกหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งเป็นทายาทของอดีตประธานมูลนิธิฯ

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าจะนำเสนอข่าวต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.koratdaily.com/blog.php?id=15783

 


999 1,459