3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

August 28,2023

ปปช.จับมือ ๔ มหา’ลัยโคราช ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริต สร้างจิตสำนึกซื่อสัตย์สุจริต

 

ป.ป.ช.ภาค ๓ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือป้องกันปราบปรามทุจริตกับ ๔ มหาวิทยาลัยในโคราช เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และร่วมรป้องกันและปราบปรามการทุจริต  


วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ถนนสุรนารายณ์ เมืองนครราชสีมา มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค ๓ กับ ๔ มหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตในระดับอุดมศึกษา โดยมีนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และ ดร.ณัฐวัฒม์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งมีนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายณัฐวุฒ ขมประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค ๓ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ เพื่อดําเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนแม่บทประเด็น ๒๑ การต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ ที่มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมของคน โดยเน้นการปลูกฝังและหล่อหลอมให้มีจิตสํานึก และพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมต้านทุจริต รู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะการปลูกฝังวิธีคิดกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายแจ้งเบาะแสการทุจริตในทุกภาคส่วนของสังคม  

 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา สํานักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สํานักงานอาชีวศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สํานักงานลูกเสือแห่งชาติ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ คณะกรรมการอธิการบดี มทร. สถาบันวิชาการป้องกันระหว่างประเทศ กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ กองบัญชาการศึกษา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นต้น ร่วมกันจัดทําขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๖๑ มี ๕ หลักสูตร ได้แก่ ๑. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) ๒. หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with good heat”) ๓. หลักสูตรกลุ่มทหารและตํารวจ (หลักสูตรตามแนวทางการรับราชการ กลุ่มทหารและตํารวจ) ๔. หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นําการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต) ๕. หลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต)

โดยมีเนื้อหา ๔ ชุดวิชา ประกอบด้วย ๑) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ๒) ความอายและความไม่ทนต่อการทุจริต ๓) STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต ๔) พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑ และวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ เห็นชอบหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปปรับใช้ในการจัดการเรียน การสอนของสถานศึกษา และปรับใช้ในหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงาน ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๖๑ เป็นต้นมา ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๖๔ ได้จัดทําเพิ่มเติมอีก ๓ ชุดวิชา ได้แก่ ๑) การต้านทุจริตในสถานการณ์ Digital Disruption ๒) การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางธรณี ๓) การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติน้ำและน้ำบาดาล และในปีพ.ศ.๒๕๖๕ ได้จัดทําเพิ่มเติมอีก ๒ ชุดวิชา ได้แก่ ๑) การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ๒) การพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ซึ่งเป็นเนื้อหาใหม่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น  

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑. เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานความร่วมมือให้เกิดการเสริมสร้างทัศนคติ คำนิยมในความซื่อสัตย์สุจริต องค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้กับมหาวิทยาลัย และบุคลากรในสังกัด ๒. เพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกลุ่มคณะผู้บริหารข้าราชการ  และบุคลากรให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริตทุกรูปแบบ ๓. เพื่อให้มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา มีบทบาทในการนําหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ในการเรียนการสอนของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม และ ๔. เพื่อรณรงค์และขยายแนวคิดให้สถาบันการศึกษาบริหารงานด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ ประชาชน และยกระดับมาตรฐานการป้องกันการทุจริตขององค์กร


นอกจากการให้ความร่วมมือในการดําเนินงานขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาแล้ว ทั้ง ๕ หน่วยงานจะได้ประสานงานและร่วมกันจัดโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมความสุจริต และความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้แก่บุคลากรในสังกัด ประชาชน ตลอดจนนักศึกษา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต และร่วมเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อไป ซึ่งการจัดทําบันทึกข้อตกลงนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ มหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่จะได้มีรูปแบบแนวทางในการประสานงานกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน และเกิดการประสานความร่วมมือในระดับพื้นที่ร่วมกันสํานักงาน ป.ป.ช.ภาค และสํานักงาน ป.ป.ช.ประจําจังหวัด อันจะส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้บันทึกข้อตกลงเป็นพันธะสัญญา ในการร่วมกันต่อต้านการทุจริตและทําให้เกิดกระแสสังคมไม่ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบ อันเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของประชาชนคนทุกคน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๖ วันที่ ๑๕ สิงหาคม - วันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖


1001 1,430