28thSeptember

28thSeptember

28thSeptember

 

September 14,2023

สร้างทางแยกต่างระดับ‘แยกโชคชัย’ 736 ล้านหวังลดจราจรหนาแน่น เดินทางสู่อีสานใต้และปท.เพื่อนบ้าน

 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ทางแยกโชคชัย ทางหลวงหมายเลข 24 ตัดทางหลวงหมายเลข 224 ถนนราชสีมา-โชคชัย โดยมีนายไชยวิทย์ บุรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 3 กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ ทั้งนี้มีนายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.นครราชสีมา เขต 10 พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายซ้าย ผลกระโทก ส.อบจ.นครราชสีมา เขต อ.โชคชัย นายธรรมธรรศ ทองสำโรง นายอำเภอโชคชัย นพ.เกรียงศักดิ์ ครุธกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโชคชัย รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน โดยมีนายทวิช ชอบพานิช วิศวกรโยธาชำนาญการ นายธีระพันธ์ ภูมิรัตนประพิณ ผู้จัดการโครงการฯ และนายประสาร ชุมละออง นายช่างโครงการฯ ร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ

นายไชยวิทย์ บุรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 3 กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการว่า ทางหลวงหมายเลข 24 เป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางเชื่อมต่อไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านสังคมและความเจริญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงทำให้มีการเปิดประตูการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว ตรงบริเวณด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และประตูการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ตรงบริเวณด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ส่งผลทำให้เกิดการเดินทางสัญจรและมีปริมาณการจราจรมาใช้เส้นทางบนทางหลวงหมายเลข 24 กับทางหลวงหมายเลข 224 เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี และมีปริมาณการจราจรหนาแน่น โดยเกิดเป็นปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ตรงบริเวณทางแยกจุดตัดแยกโชคชัยนี้

โครงการนี้ มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ บนทางหลวงหมายเลข 24 ที่ กม.51+350.000 จุดสิ้นสุดโครงการฯ กม.54+575.000 และอยู่บนทางหลวงหมายเลข 224 มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ อยู่ที่ กม.31+400.000 จุดสิ้นสุดโครงการฯ อยู่ที่ กม.32+800.000 รวมระยะทาง 4.625 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน (เริ่มสัญญาก่อสร้างวันที่ 13 กันายน 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 27 สิงหาคม 2569 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 900 ล้านบาท แต่มีการประมูลโดยวิธีการ e-bidding ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดโชคชัยการโยธาเป็นผู้ชนะ ในราคาค่าก่อสร้าง 736 ล้านบาท

สำหรับลักษณะงานก่อสร้างโครงการฯ ในส่วนของงานโครงสร้าง เป็นงานสะพานคอนกรีตอัดแรงยกระดับในแนวทางหลวงหมายเลข 24 ชนิดพื้นสะพานแบบกล่องหล่อสำเร็จ (PRECAST SEGMENTAL BOX GIRDER) ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร 12 เมตร ขอบทางข้างละ 1.50 เมตร ความยาวสะพาน = 40.00x14 = 560.00 เมตร จำนวน 2 แห่ง, งานเชิงลาดสะพาน ABUMENT STRUCTURE ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร 12 เมตร ขอบทางข้างละ 0.50 เมตร ความยาว 25 เมตร จำนวน 4 แห่ง ส่วนงานทางประกอบด้วย การก่อสร้างผิวทางชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก (JRCP.) ความหนา 25 เซนติเมตร, ผิวทางชนิด ASPHALT CONCRETE WEARING COURE, GRADE AC 40-50 ความหนา 5 เซนติเมตร และงานกำแพงกันดินชนิด RETAINING WALL บริเวณเชิงลาดสะพาน

นอกจากนี้ ยังมีงานระบบระบายน้ำพร้อมบ่อพัก, งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง, งานอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย, งานสีตีเส้นจราจร, งานปลูกต้นไม้และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ และงานอื่นๆ ที่ปรากฏในแบบก่อสร้างกาหนด และเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ซึ่งการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา

นายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.โคราช เขต 10 กล่าวว่า แยกโชคชัยเป็นเส้นทางสายหลักของอีสานใต้ เมื่อปี 2562 ตนเป็น ส.ส.ในพื้นที่ ได้นำเสนอปัญหาจราจรคับคั่งและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งโดยประสานผ่านนายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม (ขณะนั้น) เพื่อขอจัดสรรงบดำเนินการ แต่ต้องหยุดชะงักเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 กระทั่งสถานการณ์คลี่คลาย จึงได้นำมาพิจารณาเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนและแก้ไขปัญหาในอนาคต

 


26 1352