3rdMay

3rdMay

3rdMay

 

October 29,2023

สปสช.นำร่องที่‘โรงงานซีพีเอฟ’ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ตั้งเป้าหมาย ๒,๕๐๐ คน

 

สปสช.เลือกซีพีเอฟนำร่องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกในโรงงาน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ๒,๕๐๐ คน หลังพบมากในสตรีอายุ ๔๕-๕๐ ปี เล็งขยายไปยังโรงงาน องค์กร ชุมชน หรือหน่วยงานรัฐ แนะหากประสานงานมา พร้อมส่ง รพ.กรุงเทพไปบริการ    

เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลา๑๗.๒๐ น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เดินทางลงพื้นที่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อเยี่ยมชมการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) ณ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ จังหวัดนครราชสีมา บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ ๙ พลตรี นพ.วสันต์ สุเมธสิทธิกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา และคณะ เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ มีนายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และคณะ ร่วมต้อนรับ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มมะเร็งปากมดลูกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่เขตสุขภาพที่ ๙ ดำเนินการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ยังมีกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การนําร่องขับเคลื่อนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ ๙ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของนโยบายมะเร็งครบวงจร เพื่อยกระดับนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้แก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิ

“การค้นหาและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ทำให้สตรีไทยวัยทำงานรับรู้ ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกและระยะก่อนเป็นมะเร็ง สามารถรักษาให้หายได้ง่ายและทันท่วงที เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะลุกลาม ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของประชาชนลดลง สตรีไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย” นพ.ชลน่าน กล่าว    

ด้านนายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ที่ให้ซีพีเอฟเป็นภาคเอกชนนำร่องดำเนินโครงการขับเคลื่อนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง ซึ่งพนักงานหญิงถือเป็นฟันเฟืองที่บริษัทให้ความสำคัญและใส่ใจ พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยโครงการความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานหญิงทางหนึ่ง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๑ ในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีอายุระหว่าง ๔๕-๕๐ ปี อยู่ในช่วงวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง อีกทั้งส่งผลต่อการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ รัฐบาลจึงกําหนดให้มะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ๑๐๐ วัน ที่ต้องดำเนินการแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การคัดกรองซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุลที่ประชาชนสามารถเก็บตัวอ่างส่งตรวจหาตัวเชื้อ HPV ได้ด้วยตัวเอง (HPV DNA Test)  ไม่จำเป็นต้องไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อสามารถตรวจคัดกรองได้เร็ว ก็จะเข้ารับการรักษาได้เร็ว และสามารถรักษาให้หายขาดได้ ๘๐-๙๐%  

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, สปสช.เขต ๙ นครราช สีมา, โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา, บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด, บริษัท โรช ไทยแลนด์ จํากัด และบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) จึงร่วมมือกันทำโครงการฯ ดังกล่าว โดย สสจ.นครราชสีมา จะกำหนดพื้นที่ให้หน่วยบริการภาคเอกชนเข้าไปช่วยคัดกรองในกลุ่มสถานประกอบการที่มีพนักงานสตรีจำนวนมาก ตั้งแต่แจกชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง (HPV Self Collection) สอนวิธีใช้ และเก็บตัวอย่างกลับมาตรวจภายในวันนั้น หากรายใดมีผลตรวจเป็นบวก (+) จะนํามาตรวจยืนยันและรักษาต่อให้ครบวงจร ก่อนจะขยายไปยังโรงงานอื่นๆ ที่มีความพร้อมในอนาคต

ทางด้าน พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการ สปสช. เขต ๙ นครราชสีมา กล่าวถึงโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) ซึ่ง สปสช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา และบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำร่องโครงการนี้ที่โรงงานแปรรูปนครราชสีมา โดยระบุว่าในพื้นที่ สปสช. เขต ๙ มีกลุ่มเป้าหมายในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประมาณ ๑.๘ แสนราย ตรวจไปแล้วประมาณ ๘ หมื่นราย ยังเหลืออีกประมาณ ๙ หมื่นรายที่ยังไม่ได้ตรวจ ซึ่งการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่โรงงานแห่งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายจำนวน ๒,๕๐๐ คน

“สาเหตุที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังไม่เป็นไปตามเป้า นอกจากอุปสรรคในเรื่องความครอบคลุมของหน่วยบริการแล้ว ยังอยู่ที่ตัวผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วยที่อาจจะติดงาน ไม่มีเวลามารับการตรวจ ไม่พร้อม หรือรู้สึกเขินอายที่จะต้องรับการตรวจ ด้วยเหตุนี้จึงมีการหารือกับทั้ง สปสช. ส่วนกลาง สสจ.นครราชสีมา และโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้เข้ามาช่วยเติมเต็มการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่ม Non-UC หรือประชาชนที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง ๓๐ บาท) เช่น ผู้ประกันตน เป็นต้น โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง หรือ Self-Sampling ซึ่งเริ่มแรกจะนำร่องที่โรงงานซีพีเอฟก่อน โดยมีมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ๒,๕๐๐ คน” พญ.สาวิตรี กล่าว

พญ.สาวิตรี กล่าวอีกว่า หากดำเนินการในพื้นที่นำร่องสำเร็จ สามารถจัดการปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ราบรื่น สสจ.นครราชสีมาจะทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review) เสร็จแล้วจะขยายการดำเนินงานต่อ โดย สสจ.จะเป็นผู้ชี้จุดว่ามีโรงงานไหนอีกบ้างที่ยังตรวจคัดกรองไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองแค่ว่าต้องเป็นแค่โรงงานเท่านั้น เป็นชุมชน องค์กรอื่นๆ ที่สนใจ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ หากประสานงานเข้ามา โรงพยาบาลกรุงเทพก็พร้อมเข้าไปจัดบริการให้เช่นกัน

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๕๘ ประจำวันที่ วันที่ ๑๕ ตุลาคม - วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖


245 1,460