2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ต้วมเตี้ยมเสร็จแค่ ๒๘% รถไฟความเร็วสูงโคราช คาดเปิดใช้บริการปี ๗๑

 

รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ทั้งหมด ๑๔ สัญญา บางช่วงยังต้วมเตี้ยมเจอปัญหามรดกโลก และปัญหาเวนคืน ภาพรวมทั้งโครงการแค่ ๒๘.๖๑% คาดเปิดบริการล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในปี ๖๙ น่าจะเสร็จปี ๒๕๗๑


เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา (ข้างที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD คู่สัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ดำเนินการประชุมเพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์งานก่อสร้างสะพานด้วยวิธียื่นคานแบบสมดุล (Balance Cantilever) ในช่วงสัญญาที่ ๓-๔ งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด โดยมีนายกรธัช คนกาญจน์ วิศวกร ๘ รฟท. ในฐานะผู้ช่วยวิศวกรโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยนาย ศราวุธ วรยศ ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างสะพาน ๒ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ชี้แจงรายละเอียด ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม เช่น นายอภิสิทธิ์ กล่ำเหม็ง วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ทางหลวงพิเศษ นายวิชัย แวววุฒินันท์ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ เป็นต้น

นายกรธัช คนกาญจน์ วิศวกร ๘ รฟท. ในฐานะผู้ช่วยวิศวกรโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ

นายศราวุธ วรยศ ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างสะพาน ๒ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ นำเสนอข้อมูลว่า จะมีการก่อสร้างด้วยวิธีคานยื่นสมดุล จำนวน ๓ จุด ได้แก่ จุดที่ ๑ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ (ทล.๒๐๑) จุดที่ ๒ ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๘ แลัะจุดที่ ๓ ถนนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ (มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช : M6) จึงต้องมีการปิดการจราจรบางช่วงเวลา ขาละประมาณ ๓ ชั่วโมง โดยแต่ละจุดจะทำภายใน ๑ วัน ทั้งนี้เพื่อทำการยก Bottom Form Travel ที่ประกอบเสร็จแล้วขึ้นรถเทรลเลอร์บนสะพาน รวมทั้งนำ Bottom Form Travel เข้าตำแหน่งในการยกประกอบ และทำการยกประกอบ Bottom Form Travel โดยกำหนดดำเนินการน่าจะหลังจากปีใหม่ ๒๕๖๗ หรืออาจจะเป็นตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ของผู้ใช้เส้นทางด้วย

สำหรับจุดที่ ๑ (กรณีปิดทำงาน P.77) การจัดการด้านการจราจรระหว่างก่อสร้าง (Divert Lane) ปิดการจราจรขาออกมุ่งหน้าถนนมืตรภาพและให้รถวิ่งสวนทางฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าจังหวัดชัยภูมิ ระยะทาง ๓ กม. บนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ (สีคิ้ว) งานติดตั้ง Form Travel ส่วนกรณีปิดทำงาน P.76) การจัดการด้านการจราจรระหว่างก่อสร้าง (Divert Lane) ปิดการจราจรฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าจังหวัดชัยภูมิ และให้รถวิ่งสวนทางฝรั่งขาออกมุ่งหน้าถนนมิตรภาพ ระยะทาง ๓ กม. บนทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ (สีคิ้ว)
สำหรับมาตรการป้องกัน ลด แก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการดำเนินการ มีการป้องกันวัสดุตกหล่นและน้ำปูน ซึ่งด้านข้างโดยรอบกันด้วยผ้าใบและ Safety net ส่วนด้านล่างจะปูไม้อัดเต็มและผ้าใบ รวมทั้ง Safety net ในขณะที่การส่งของหรืออุปกรณ์ส่งขึ้นที่ตำแหน่งของเสา มีการเก็บวัสดุและอุปกรณ์ที่ทำงานไม่ให้ปลิวออกมา

ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานนั้นมีการอบรมขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัยก่อนเริ่มงาน, อบรมและชี้แจงให้ทราบถึงอันตราย, อบรมความปลอดภัยในการทำงานที่สูง, ตรวจสอบอุปกรณ์การทำงานทุกอย่างให้มีความสบูรณ์ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน และทำ ๕ส บริเวณพื้นที่การปฏิบัติงาน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ คือสนันญาภรร์ เดชไกรทอง ๐๖๖-๑๒๑๘๑๐๑, อิทธิพัทธ์ อินทรีย์ ๐๘๓-๕๒๑๕๗๗๒

“โคราชคนอีสาน” สอบถามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยนายกรธัช คนกาญจน์ วิศวกร ๘ ผู้ช่วยวิศวกรโครงการฯ เปิดเผยว่า สำหรับความก้าวหน้าของโครงการจากกรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา แบ่งออกเป็น ๑๔ สัญญา ซึ่งสัญญาที่เริ่มวางระบบแล้วคือสัญญาที่ ๒-๑ โคกสะอาด ส่วนสัญญาที่ ๓-๔ ดำเนินการแล้วประมาณ ๗๐% ในขณะที่สัญญาอื่นก็จะทยอยดำเนินการ สำหรับบางสัญญาที่กำลังเคลียร์ปัญหาต่างๆ นั้น อย่างที่ทราบกันดีว่าสัญญาที่ ๔-๕ ช่วงสถานีอยุธยา ยังมีประเด็นเรื่องมรดกโลก ต้องมีการทำ HEIA เพิ่มเติม กำลังพิจารณาร่วมกับกรมศิลปากร คาดว่าในเร็วๆ นี้จะเริ่มดำเนินการสัญญาที่ ๔-๕ ซึ่งเท่าที่ทราบมาคือสามารถทำทางวิ่งได้แต่ในตัวสถานียังดำเนินการไม่ได้

ในส่วนของสัญญาต้นๆ เช่น สัญญาที่ ๔-๑ จากสถานีบางซื่อออกมาก็ต้องคุยกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน เพราะยังติดเรื่องการดำเนินงานของโครงการ ๓ สนามบินว่าใครจะเป็นฝ่ายดำเนินการ แม้จะเป็นหน่วยงานเดียวกันแต่ก็เป็นคนละโครงการ รวมทั้งผู้รับเหมาก็ต้องมานั่งคุยกันด้วย

“โดยภาพรวมแล้วมีความก้าวหน้าทั้งหมด ๑๔ สัญญาอยู่ที่ ๒๘.๖๑% อย่างที่เรียนให้ทราบว่า บางสัญญายังเริ่มดำเนินการไม่ได้ เพราะติดปัญหามรดกโลก ติดปัญหาการเชื่อมกับโครงการ ๓ สนามบิน ซึ่งยังต้องนั่งแก้ปัญหาอยู่ โครงการอื่นๆ ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ส่วนสัญญา ๑๐๐% รับงานเข้าระบบแล้วก็จะเป็นช่วงปางอโศก สีคิ้ว กุดจิก งานระบบก็เริ่มเข้าแล้ว ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี ๒๕๗๑ จากเดิมที่กำหนดไว้ในแผนว่าจะเปิดบริการในปี พ.ศ.๒๕๖๙” นายกรธัช คนกาญจน์ กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๐ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ - วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗


168 1,834