27thJuly

27thJuly

27thJuly

 

May 30,2024

‘แบงก์ชาติ’ชำแหละเศรษฐกิจอีสาน คาดค่อยๆ ฟื้นตัวจากงบประมาณรัฐ เชื่อภาคเกษตรจะดีขึ้นเมื่อภัยแล้งคลี่คลาย

 

เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมโคราช ๒ โรงแรมเซ็นทาราโคราช ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) แถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส ๑ ปี ๒๕๖๗ หัวข้อ เหลียวหลัง...แลหน้า...เศรษฐกิจการเงินอีสาน โดยเป็นการแถลงข่าวสัญจรครั้งแรก สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ธปท.ภาคอีสาน ได้แก่ ๑) จับชีพจรเศรษฐกิจการเงินในพื้นที่ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ๒) สร้างองค์ความรู้วิชาการเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ ๓) ผลักดันนโยบาย ธปท. ให้กับพื้นที่ ๔) เป็นตัวกลางความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และ ๕) สนับสนุนให้คนอีสานมีความรู้ทางด้านการเงินและเท่าทันภัยการเงิน 

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต เริ่มจากการปูพื้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจอีสานว่า ใน ๓ ภูมิภาค คือภาคเหนือ ใต้ อีสาน รวมกันเศรษฐกิจแค่ ๑ ใน ๔ เท่านั้นเองคือเท่ากับ ๒๕% ของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งประชากรทั้งหมด ๖๗ ล้านคนของไทยอยู่ใน ๓ ภูมิภาคนี้จำนวน ๔๕ ล้านคน ในภูมิภาคนี้มีรายได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก เมื่อเจาะมาเฉพาะภาคอีสาน มีประชากร ๒๒ ล้านคน คือประชากร ๑ ใน ๓ ของประเทศอยู่ที่อีสาน แต่มีส่วนแบ่งรายได้แค่ ๑๐% หมายความว่า ประชากรชาวอีสานมีรายได้ต่ำที่สุด และต่ำ   มานาน แต่เราจะต้องช่วยกันไม่ให้ต่ำต่อไป 

 

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.)

• ภาคอีสานต้องพึ่งพาการเกษตร
ทำไมรายได้ของภาคอีสานจึงต่ำ และทำไมมีส่วนแบ่งรายได้แค่ ๑๐% เนื่องจาก ๑.ภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดหลักของคนอีสาน เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ๕๓% ของแรงงานอยู่ในภาคเกษตร แต่ถ้าดูสัดส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า คน ๕๓% มีสัดส่วนรายได้แค่ ๑๐% หมายความว่าคนที่อยู่ในภาคเกษตรก็ยังมีรายได้   ต่ำกว่าภาคอื่นๆ ๒.ภาคอุตสาหกรรมในอีสานมีสัดส่วนน้อยประมาณ ๒๐% ของ GRP (รายได้ภูมิภาค) นอกนั้นก็เป็นการค้าแบบเล็กๆ ที่เห็นตามตลาดนัดและร้านค้ารายเล็กรายน้อยเป็น Micro ประมาณ ๙๐% ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเกษตรของอีสานต้องพึ่งเกษตรกรเป็นหลักตราบใดที่รายได้ของเกษตรกรไม่ดี คนอีก ๖๐% ก็ยังไม่ดีไปด้วย นั่นคือเป็นต้นเหตุหลักเลยที่ทำให้รายได้ของภาคอีสานยังต่ำ

 

• ภาคเกษตรต้องพึ่งฝน
“การทำเกษตรไม่ผิด หลายประเทศทั่วโลกสามารถทำเกษตรและมีรายได้ดีด้วย แต่ประเทศเราไม่ใช่อย่างนั้น โดยเฉพาะภาคอีสาน เป็นความสามารถพิเศษในการทำเกษตรของไทย จะเห็นได้ว่าเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อนยังสู้ได้กับค่าเฉลี่ยโลก สู้ลาว สู้กัมพูชา สู้เวียดนาม แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็ตกต่ำลงมา ตอนนี้ผลผลิตการเกษตรของเราแพ้แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม และกัมพูชา ปัญหาหนึ่งคือ ในพื้นที่เกษตรของภาคอีสาน    ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน มีพื้นที่ประมาณ ๑๐% เท่านั้นที่อยู่ในเขตชลประทาน หมายความว่า ผลผลิตจะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับฟ้าฝนเป็นหลัก ปีไหนฝนดีผลผลิตดี รายได้เกษตรกรก็ดี ปีไหนฝนไม่ดีรายได้ก็ตกต่ำไปด้วย เมื่อผลผลิตไม่ดี รายได้ก็ต้องรอที่จะได้ราคาผลผลิตดี ปีใดราคาไม่ดี ฝนไม่ดี รายได้ที่เกิดจากการเกษตรก็จะตกต่ำไปด้วย นำมาซึ่งการเป็นปัญหาที่เรื้อรังคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งอ้างอิงผลสำรวจของสำนักเศรษฐกิจสังคมในปี ๒๕๖๔ พี่น้องชาวอีสานมีรายได้ประมาณ ๑๓,๕๐๐ บาทต่อเดือน มีรายจ่าย ๑๖,๘๐๐ บาทต่อเดือน หมายความว่าติดลบทุกเดือนๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท มีหนี้เพิ่มขึ้นเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายแบบเรื้อรัง ก็ต้องอาศัยเงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากพี่น้องซึ่งไปทำงานที่ส่วนกลางส่งกลับมา และสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ “หนี้ครัวเรือน” ที่พอกพูนขึ้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเวลาที่มีการประเมินเศรษฐกิจอีสานจึงไม่วิ่งไปกับตัวเลขของประเทศ เพราะรายได้ของประเทศนั้น ปีใดที่การส่งออกดี ปีใดมีนักท่องเที่ยวมาเยอะ เศรษฐกิจก็จะดี แต่สำหรับเศรษฐกิจอีสาน จะดีได้ก็ต้องมีมาตรการของภาครัฐมาช่วย ปลูกดีผลผลิตดี นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่คิดว่าถ้าเราปล่อยไปแบบนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้จะฟื้นฟูความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวอีสานได้อย่างไร” ดร.ทรงธรรมกล่าว

 

• เศรษฐกิจอีสานหดตัว
ดร.ทรงธรรม กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจประเทศไทยในปี ๒๕๖๖ ฟื้นตัวจากโควิด ขยายตัวประมาณร้อยละ ๑.๙ เป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆ มาจากการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวไหลมาหลังจากช่วงโควิดไหลออกไป เมื่อท่องเที่ยวเข้ามาก็ส่งผลถึงภาคบริการ การบริโภคขยายตัว แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นแล้ว แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้แค่ ๑.๙ ถือว่าน้อยมาก ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าการฟื้นตัวของการส่งออกค่อนข้างล่าช้า วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะมาก็ไม่มา สินค้าหลายประเภทก็ได้รับการแข่งขันจากสินค้าจีนที่มีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้าง มาก ทำให้เราไม่สามารถส่งออกได้ตามที่คาดไว้ รวมทั้งปัญหาความล่าช้าของงบประมาณ ปกติต้องใช้ในเดือนตุลาคม แต่มาถึงเดือนพฤษภาคมแล้วเพิ่งจะผ่านสภา เพราะฉะนั้น กระบวนการงบประมาณล่าช้าก็มีส่วนทำให้ไม่สามารถใช้เงินออกไปได้ ทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าต่อไปไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่มีทั้งบวกและลบ ในปี ๒๕๖๖ จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้แค่ ๑.๙%

 

 

“ในเมื่อเศรษฐกิจของประเทศฟื้นแค่ ๑.๙ แล้วเศรษฐกิจอีสานเป็นอย่างไร ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอีสานหดตัว หมายความว่า ความอยู่ดีกินดีของภาคอีสานแย่ลงประมาณ -๑.๒% ถึง -๒.๒% เป็นการหดตัวทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ส่วนหนึ่งเนื่องจากในปี ๒๕๖๕ มีมาตรการภาครัฐมาช่วยเยอะ ฉะนั้น เมื่อการกระตุ้นจากภาครัฐหมดลงก็ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้รับผลดี และจะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าครองชีพปรับตัวขึ้นเยอะถึงแม้เงินเฟ้อที่ทางการประกาศจะไม่สูงมากนัก แต่เมื่อไปดูสินค้าที่ใช้ในการยังชีพก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่วนผลดีที่ประเทศได้รับคือท่องเที่ยว แต่บังเอิญสัดส่วนการท่องเที่ยวของภาคอีสานไม่เกิน ๓% จึงทำให้ในปี ๒๕๖๖ เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัว การหดตัวนี้ยังเห็นสัญญาณการอ่อนแรงจากยอดขายกลุ่มยานยนต์ สินค้าคงทนโดยเฉพาะรถกระบะ และยอดขายบ้านในระดับกลาง-ล่าง โดยเฉพาะในราคาที่น้อยกว่า ๓ ล้านบาท ทั้งหลายเหล่านี้เป็นแรงลบที่ส่งผลมาจากปี ๒๕๖๖” 

 

• การบริโภคอ่อนแรง
ดร.ทรงธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อมาถึงปี ๒๕๖๗ ช่วง ๓ เดือนผ่านไป (มกราคม-มีนาคม) และในปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณอะไรที่ดีขึ้นบ้าง โฟกัสไปที่ไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๗ คือ ๓ เดือนแรก การบริโภคหดตัวประมาณ ๐.๕% เทียบกับไตรมาสก่อน ความจริงไตรมาสก่อนเราฟื้นขึ้นมานิดหนึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๖๖ เพราะมีมาตรการในการท่องเที่ยว การจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้นจากความมั่นใจที่กลับมาหลังโควิด แต่อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรกของปีนี้ การบริโภคหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ ๐.๕% โดยเฉพาะยอดขายรถกระบะติดลบเยอะมาก ทำให้การบริโภคในไตรมาสแรกไม่ค่อยดี เมื่อเห็นตัวเลขแล้วก็พยายามหันไปดู และไม่อยากเชื่อตัวเลขอย่างเดียวก็ไปถามผู้ประกอบการว่าปกติแล้วหากการบริโภคไม่ดี ผู้บริโภคจะปรับตัวหลายรูปแบบ อาทิ ใบเสร็จต่อบิลใช้น้อยลง บางส่วนก็ไปใช้สิ่งที่ราคาถูกกว่า และจะเห็นว่าวัสดุก่อสร้างค่อนข้างหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหลายเหล่านี้สะท้อนว่าเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็จะปรับตัว คือถ้ายังลดการบริโภคไม่ได้ก็หันไปบริโภคของที่ราคาถูกกว่า ก็สะท้อนว่ายังเห็นสัญญาณอ่อนแรงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่เวลาประเมินเศรษฐกิจนั้น การบริโภคเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเศรษฐกิจ เพราะทุกคนบริโภคหมด เมื่อบริโภคอ่อนแรงจึงส่งผลถึงการลงทุน การบริการภาคอื่นๆ ด้วย และในไตรมาสแรกเราเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณลดลง สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะงบประมาณเบิกจ่ายได้เฉพาะที่จำเป็น และงบประจำ ส่วนงบลงทุนใหม่ๆ ต้องรออนุมัติจากงบประมาณรายปี ซึ่งขณะนี้ผ่านสภาแล้ว และหวังว่าหลังจากผ่านสภามาแล้วในช่วงครึ่งหลังของปีจะเห็นการเร่งรัดเบิกจ่ายชดเชยส่วนที่ลบไปในไตรมาสแรกได้

 

• ยอดขายรถกระบะลดลง
อย่างที่แจ้งไปแล้วคือ ถึงแม้เงินเฟ้อทั่วไป จะลดลง ๐.๙๒% ส่วนหนึ่งเกิดจากเราไปกดราคาน้ำมันไว้ และอาศัยเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปไม่สูงมาก รวมทั้งช่วงหลังราคาผักก็เริ่มเบาแรงลง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูตัวเลขที่เกิดจากการ ใช้จ่ายสินค้าจำเป็นจริงๆ ในร้านสะดวกซื้อหรือในห้างร้าน จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๖ หากราคาสินค้าเพิ่มแต่รายได้เพิ่มไม่ทันก็จะเป็นแรงกดดันการบริโภคไม่ให้ฟื้นตัว และตลาดแรงงานก็เริ่มอ่อนลง ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรลดลงประมาณ ๐.๙% เทียบกับไตรมาสก่อน อย่างที่บอกว่าการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวแล้วยังมีสัญญาณเปราะบางมากขึ้นในสิ่งเหล่านี้คือ ยอดดัชนีการจดทะเบียนรถป้ายแดงของรถกระบะต่ำมาก รถยนต์นั่งถึงแม้จะไม่ลดลงมากก็ตามแต่ก็ยังลดลง รถมอเตอร์ไซค์ก็เริ่มอ่อนแรง สำหรับยอดขายบ้านซึ่งราคาต่ำกว่า ๓ ล้านบาทเริ่มลดลงเพราะส่วนหนึ่งคือรายได้ไม่ดี เมื่อรายได้ไม่ดีสถาบันการเงินก็จะระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางการได้ออกมาตรการในการลดภาษีการโอนและจดจำนอง ก็ต้องดูต่อไปว่าจะส่งผลบวกต่อยอดการโอนบ้านมากหรือน้อยอย่างไร 

 

“เมื่อมาดูข้อมูลในพื้นที่โคราช การเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก ส่วนที่ขายได้ ๖๐% อยู่ในอำเภอเมือง ส่วนปากช่องราคาบ้านจะแพงราคา ๕ ล้านบาทขึ้นไป”

• โคราช’โชคดีปลูกมันฯ-อ้อยมาก
ดร.ทรงธรรม สาธยายต่อไปว่า ไม่ใช่ว่าจะมีปัจจัยลบอย่างเดียว มาดูปัจจัยบวกบ้าง ซึ่งในไตรมาสแรกก็มีปัจจัยบวก คือผลผลิตทางการเกษตรดีในพวกอ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ถึงแม้ผลผลิตจะลดลงเพราะโรคใบด่าง ทำให้มันสำปะหลังมีผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก เมื่อราคาดีก็ทำให้รายได้เกษตรกรบวกประมาณ ๘% แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ตัวเลขการบริโภคดีขึ้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตข้าวคือ ๗๒% ส่วนมันฯ และยางพารา อย่างละ ๑๑% สำหรับอ้อยแค่ ๓% จึงยังไม่สามารถที่จะดึงให้การบริโภครวมดีขึ้นได้ แต่ก็เป็นข่าวดีสำหรับโคราช เพราะเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนมากคือประมาณ ๒๓.๘% ของภาคอีสานเป็นอันดับ ๑ ของภาคอีสาน และปลูกอ้อยเยอะด้วยคือ ๑๑.๖% เป็นอันดับ ๒ ของภาคอีสาน (รองจากอุบลฯ) ในเชิงเปรียบเทียบจึงดีกว่าจังหวัดอื่นๆ และอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยดึงให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกไม่ชะลอตัวมากก็คือการท่องเที่ยว แม้สัดส่วนน้อยแต่มีอัตราเติบโตค่อนข้างสูง ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งชาวไทยมาเที่ยวโคราชมากที่สุดเพราะใกล้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในโซนเขาใหญ่ มีชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ๆ ทั้งยุโรปและอเมริกา ส่วนกลุ่ม Expat และ Digital Nomad อยู่ระยะยาว รวมทั้งอาหรับ (ตะวันออกกลาง) และดูไบที่มีกำลังซื้อสูง สิ่งที่กล่าวมาจะเห็นว่าเศรษฐกิจภาคอีสานในไตรมาส ๑ ยังไม่ดีมากนัก แต่ยังมีมุมมองบวกถ้าเป็นทั้งปี 

 

• คาดปีนี้ GRP อาจเป็นบวก
ในภาคอีสาน GRP ปีที่แล้วติดลบ สำหรับปีนี้แบงก์ชาติอีสานประมาณการน่าจะเป็นบวกได้ อาจจะบวกได้ถึง ๐.๙% โดยมี ๔ ปัจจัยที่คิดว่าจะเป็นผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคอีสานในปีนี้ ได้แก่ (๑) งบประมาณภาครัฐปี ๒๕๖๗ ที่มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังไตรมาส ๒ ทำให้การค้า การก่อสร้างตามการลงทุนภาครัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๖ (๒) รายได้เกษตรกระจายตัวมากขึ้นจากผลดีของภัยแล้งที่คลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๗ คาดว่าส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว ซึ่งเป็นครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ของภาคอีสาน (๓) การผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดอาหารแปรรูป เช่น ไก่แช่แข็ง และหมวดเครื่องแต่งกายที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากความต้องการของคู่ค้า ในขณะที่กลุ่มหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวช้าจากกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่ไฮเทคโนโลยี และ (๔) ภาคบริการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ๆ เข้ามากระจาย ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน อาทิ เกาหลี ยุโรป และอเมริกา เพิ่มมากขึ้น 

 

• แก้ไขไม่ถูกจุดก็ฉุดเศรษฐกิจถดถอย
ดร.ทรงธรรม กล่าวว่า สำหรับความท้าทายระยะยาวในอนาคตของเศรษฐกิจภาคอีสาน ซึ่งปัญหาที่ยังมีอยู่คือความสามารถในการทำเกษตรของไทยถดถอยลง หากยังเป็นแบบทุกวันนี้ก็จะพัฒนายาก คน ๖๐% อยู่ในภาคเกษตร หากแก้ปัญหาไม่ถูกจุด โอกาสที่จะดึงโครงสร้างเศรษฐกิจอีสานขึ้นก็ลำบาก ประเด็นต่อมาคือสภาพอากาศจะรุนแรงมากขึ้น จะมีภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ก็จะกระทบกับการผลิตภาคเกษตร และประการสุดท้ายคือผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับสินค้า  ที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป 

 

“จากที่ลงพื้นที่ไปหลายจังหวัด ในบางพื้นที่มีการปรับตัวแล้ว เรียกว่า First mover ปรับเปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรประณีต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น การทำนาหยอด ลดต้นทุนเพิ่มกำไร ผลผลิตต่อไร่สูง ช่วยยกระดับ  รายได้เกษตรกร และได้เห็นเกษตรมูลค่าสูง เช่น เนื้อโคขุน ที่โคราชก็มีกลุ่มไทยแบล็คโคราช รวมทั้งเกษตรเชื่อมตลาดมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ประเด็นต่อมาคือ แรงงานคืนถิ่นช่วงโควิด นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมากลับมาพัฒนาหรือต่อยอดธุรกิจในชุมชน เช่น ทำการค้าออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟนอกจากนี้ ยังพบว่ามีอุตสาหกรรมดาวรุ่งคืออุตสาหกรรมการแพทย์ เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ จากโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์, วัฒนธรรม (Soft Power) เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ กางเกงแมวโคราช, การท่องเที่ยวที่เห็นชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น” ดร.ทรงธรรม กล่าวในท้ายสุด

 

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายมีการเสริมความรู้ในหัวข้อ “มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และช่องทางแก้หนี้” โดยนางสาวอัมพร นิติกิจไพบูลย์ ผู้วิเคราะห์เศรษฐกิจการเงินอาวุโส และหัวข้อ “การเงินดิจิทัลและการรับมือภัยการเงินรูปแบบใหม่” โดยนางสาวรัมณีย์ พระโคตร ผู้วิเคราะห์เศรษฐกิจการเงินอาวุโส

 

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๕ วันที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม - วันที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๗


70 2,561