June 08,2024
ขุดพบอีก "โครงกระดูกร่างที่ 3" เครื่องประดับ แหวนทอง ชามสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก 2,500 ปี
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 บริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์คูเมืองบูรพารวมพล ด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ ตัด ถ.พลล้าน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา บุคลากรสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา โดยนายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดีและนักโบราณคดีปฏิบัติการ นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา และนักโบราณคดีดำเนินการขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจากการพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 2 โครง ไม่ทราบเพศ โครงแรกลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก มีเครื่องปั้นหม้อดินเผาฝังอยู่บริเวณขาและห่างจากโครงแรกประมาณ 2.5 เมตร ส่วนโครงที่สอง ลักษณะกะโหลกศีรษะถูกตัดวางอยู่บริเวณลำตัว เศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำ ตามข้อมูลวิชาการโบราณคดีกำหนดเป็นตัวแทนของกิจกรรมหรือวัฒนธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก
เมื่อเปิดขยายหน้าดินเพิ่มเติมระดับความลึก 175 ซ.ม. ห่างกันกับโครงแรกไม่ถึง 1 ฟุต พบโครงกระดูกมนุษย์เพิ่มเติมอีก 1 โครง ลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก ตามร่างกายมีเครื่องอุทิศ มีเครื่องมือเหล็ก ชามสัมฤทธิ์ หรือสำริด หินดุดินเผาใช้สำหรับดันรูปทรงภาชนะให้เป็นทรงกลมฝังรวมกัน รวมทั้งแหวนทองคำประดับลูกปัดสวมใส่บริเวณนิ้วมือซ้าย สร้างเสียงฮือฮาให้กับนักโบราณคดีที่ค้นพบ เนื่องจากแหวนวงนี้มีความแวววาวสีทองไม่หมองคล้ำหรือมีสนิมเกาะตามกาลเวลา
นายกิตติพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี และนักโบราณคดีปฏิบัติการ เปิดเผยว่า โครงกระดูกทั้ง 3 ร่าง สันนิษฐานว่าถูกฝังจากกิจกรรมการฝังศพของคนสมัยโบราณ อายุประมาณ 1,500-2,500 ปี เป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ก่อนการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ฝังศพขนาดใหญ่ และเมืองนครราชสีมา มีภูมิประเทศเป็นแอ่งน้ำ หรือบึงขนาดใหญ่ และมีชุมชนตั้งอาศัยอยู่รอบบึงจำนวนมาก ก่อนมีการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หลักฐานสำคัญสามารถค้นพบชามสัมฤทธิ์ หรือสำริด เนื่องจากโลหะสัมฤทธิ์ หรือสำริดเป็นโลหะผสม ผู้ที่นำมาใช้ต้องมีองค์ความรู้มากกว่าการหล่อโลหะมากกว่า 2 ชนิดมาผสมกัน และการค้นพบลูกปัดและเครื่องประดับ สันนิษฐานว่าอาจนำเข้ามาผ่านการค้าขายแลกเปลี่ยน กับชุมชนอื่นที่อยู่รอบๆ
อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่อไป ดำเนินการเก็บหลักฐานชิ้นส่วนตัวอย่างของโครงกระดูก ไปวิเคราะห์ พร้อมนำดินในบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบในห้องแล็บ เพื่อวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อตรวงสอบว่าดินในพื้นที่นั้นได้สัมผัสแสงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อใด ทำให้สามารถย้อนเวลาได้ว่าโครงกระดูกที่พบถูกฝังตั้งแต่ช่วงเวลาใด
นายวรรณพงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ความพิเศษในการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีครั้งนี้ บ่งชี้พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งฝังศพของชุมชนโบราณ ในยุคช่วงก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก ราว 2,500 -1500 ปี มาแล้ว สำหรับโครงกระดูกร่างนี้มีความพิเศษกว่า 2 ร่างที่ถูกค้นพบ คือมีทรัพย์สินที่ถูกฝังมาพร้อมกับร่างจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพและสถานะทางสังคมในชุมชนช่วงยุคสมัยนั้น รวมทั้งลักษณะการฝังศพมีความพิเศษต้องมีการนำไปวิเคราะห์เทียบเคียงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กัน เพื่อตีความอธิบายถึงกิจกรรมว่าโครงกระดูกทั้ง 3 ร่างมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบครั้งสำคัญของแวดวงวิชาการโบราณคดีจังหวัดนครราชสีมา และประเทศไทยในปี 2567 รวมทั้งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ และคำตอบที่ชัดเจน สำหรับคำถามเกี่ยวกับเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองเก่าโบราณ ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคสมัยเหล็ก ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางว่าหลักฐานที่พบมีอายุในช่วงยุคสมัยนั้นจริงหรือไม่
329 1,181