August 01,2024
ยังไม่คืบ‘ท่าเรือบก’โคราช รัฐมนตรีลงสำรวจพื้นที่ โวจะพัฒนาให้เป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ (บธ.) คณะผู้บริหาร และพนักงาน กทท. ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือบก Dry Port และร่วมประชุมศึกษาแผนการดำเนินการความเป็นไปได้ในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบก Dry Port โดยมี ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้อำนวยการสถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาโครงการฯ เข้าร่วมประชุมฯ ณ จังหวัดนครราชสีมา และลงพื้นที่สำรวจบริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองและ ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและ เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีจุดแข็งที่สำคัญคือ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาทิ แป้งมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล และยังเป็น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เน้นการขนส่งภายในประเทศ มีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงการ ขนส่งไปยังประเทศลาวและจีนได้ในอนาคต โดยเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งในปี ๒๕๖๗ กทท.จะเข้ามาศึกษาพื้นที่ที่โคราชอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองนโยบายโครงการส่งเสริมการลงทุนและระเบียง เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาล ในการลดต้นทุนด้าน โลจิสติกส์ เสริมศักยภาพ และขีดความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมในครั้งนี้ฯ ได้หารือแนวทางการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและ ความเป็นไปได้ในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม กับ กทท. ในการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ภายใต้รูปแบบการลงทุน ๔ แนวทาง ดังนี้ ๑.รูปแบบพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ (PPP) ๒.รูปแบบการลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชน (Joint Venture) ๓.รูปแบบใช้เงินลงทุนของ กทท. และ ๔.รูปแบบอื่นๆ แผนการลงทุนการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นของโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ โดยจะพิจารณาด้านความพร้อมในการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือบก Dry Port เพื่อให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมต่อในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือบก เป็นหนึ่งในการพัฒนาโครงการที่สำคัญของ กทท. ช่วยส่งเสริมโครงข่ายการเชื่อมโยงสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและระหว่างประเทศให้ใช้การขนส่งทางรางและทางน้ำเป็นรูปแบบหลัก เพราะมีความปลอดภัย ต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็น ๑ ใน ๔ จังหวัด ที่เหมาะสมที่สุดต่อการสร้างท่าเรือบก เนื่องจากจุดเด่นของจังหวัดนี้เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สามารถเชื่อมต่อกับประเทศ สปป.ลาว ตอนใต้ และเมียนมา มีการขนส่งสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมจำนวนมาก พื้นที่ครอบคลุมการขนส่งทางถนนและทางราง อยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ๓๒๐ กิโลเมตร จึงมีความพร้อม และมีศักยภาพที่จะพัฒนาโครงการฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการแล้วเสร็จ กทท. มั่นใจว่า ท่าเรือบกจะเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนการขนส่งหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transport) ที่จะช่วยลดปัญหาความแออัดจากการขนส่งสินค้าเข้าออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งหลักของประเทศ ในขณะนี้ ช่วยยกระดับการให้บริการให้สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอย ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศรองรับการเติบโตด้านการขนส่งสินค้าผ่านทางเรือชายฝั่งและทางรถไฟที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ ๓ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม อันจะเป็นกลไกที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคต่อไป
อนึ่ง ในส่วนของพื้นที่ในการสร้างท่าเรือบกโคราช เริ่มแรกมีการนำเสนอพื้นที่บริเวณตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน ต่อมามีการนำเสนอพื้นที่บริเวณตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา และที่มีการนำเสนอมาภายหลังเป็นแห่งที่ ๓ คือ พื้นที่บ้านทับม้า ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๗ วันที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม - วันที่ ๑๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๗
119 370