July 02,2025
‘อีสานโพล’ชี้ ศก.ครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 2/2568 ยังแย่ต่อเนื่อง ผลงานรัฐบาลลดฮวบ เสนอเปลี่ยนนายกฯ แต่ไม่มีผู้เหมาะสม
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 อีสานโพล (E-Saan Poll) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง “ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 2/2568 และคาดการณ์ไตรมาส 3/2568” ผลสำรวจพบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 2/2568 (เม.ย. – มิ.ย. 68) เท่ากับ 31.9 เต็ม 100 อยู่ในระดับแย่ ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่า 32.5 ซึ่งดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไม่ควรต่ำกว่า 40.0 เป็นเวลานาน และคาดว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 3/2568 (ก.ค. – ก.ย. 68) จะเท่ากับ 32.3 โดยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ประเมินคะแนนรัฐบาลด้านเศรษฐกิจได้ 27.1 เต็ม 100 ลดลงจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่ต้องการเห็นการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีโดยการเลือกนายกใหม่หรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่เกินครึ่งยังเห็นว่ารายชื่อในบัญชีแคนดิเดตนายกยังไม่มีใครเหมาะ
รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนด้านต่างๆ และคำนวณดัชนีภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 2/2568 และคาดการณ์ไตรมาส 3/2568 พร้อมประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและภาพรวม และมีคำถามเพิ่มเติมกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2568 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,058 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ รายได้และทรัพย์สินครัวเรือน โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ และการซื้อของมูลค่าสูง และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งค่าดัชนีมีค่าระหว่าง 0 - 100 หากดัชนีอยู่ระหว่าง 0 – 19.9 คือ แย่มาก ระหว่าง 20.0 – 39.9 คือ แย่ ระหว่าง 40.0 – 59.9 คือ ปานกลาง/พอใช้ ระหว่าง 60.0 – 79.9 คือ ดี และ ระหว่าง 80.0 – 100 คือ ดีมาก รายละเอียดเป็นดังนี้
• ดัชนีรายได้และทรัพย์สินครัวเรือนไตรมาส 2/2568 เท่ากับ 33.5 หมายความว่า รายได้และทรัพย์สินครัวเรือนอีสาน อยู่ในระดับแย่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย(+0.5) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 33.0 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 33.8
•ดัชนีโอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ไตรมาส 2/2568 เท่ากับ 30.2 หมายความว่า โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ในอีสาน อยู่ในระดับแย่ และลดลง (-2.5) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.7 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 30.5
• ดัชนีการหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ไตรมาส 2/2568 เท่ากับ 32.3 หมายความว่า การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ของครัวเรือนอีสาน อยู่ในระดับแย่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+1.0) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 31.3 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 33.4
• ดัชนีการซื้อของมูลค่าสูงไตรมาส 2/2568 เท่ากับ 31.4 หมายความว่า ความมั่นใจของครัวเรือนอีสานในการซื้อของมูลค่าสูง อยู่ในระดับแย่ ลดลงเล็กน้อย (-1.7) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 33.1 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 31.3
• ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 31.9 หมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานโดยรวม อยู่ในระดับแย่ และลดลงเล็กน้อย (-0.6) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.5 และคาดว่าไตรมาส 2/2568 ดัชนีจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 32.3 ซึ่งรัฐบาลมีความท้าทายที่จะช่วยให้เศรษฐกิจครัวเรือนอีสานอยู่ในระดับปานกลาง หรือค่าดัชนีควรไม่ต่ำกว่า 40.0 เป็นระยะเวลายาวนาน
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/2568 พบว่า ได้คะแนน 27.1 เต็ม 100 ลดลงจากไตรมาส 1/2568 ซึ่งดัชนีเท่ากับ 30.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระดับต่ำต่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 1/2568พบว่า ได้คะแนน 26.5 เต็ม 100 ลดลงจากไตรมาส 1/2568 ซึ่งดัชนีเท่ากับ 31.0 ทั้งนี้รัฐบาลเคยได้คะแนนด้านเศรษฐกิจต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งได้คะแนนนเพียง 20.3 และได้คะแนนผลงานโดยรวมเพียง 19.3 จากการระบาดอย่างหนักของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา
เมื่อสอบถามว่า ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงนี้ควรมีทางออกในรูปแบบใดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.6 ต้องการให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อันดับ 2 ร้อยละ 19.2 ต้องการให้เลือกนายกใหม่ที่มาจากพรรคอื่น (ที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย) มีเพียงร้อยละ 15.4 ที่เสนอให้ปรับคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสม ร้อยละ 10.8 ต้องการให้เลือกนายกใหม่ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.7 ต้องการให้เลือกนายกใหม่ที่มาจากคนนอกบัญชีแคนดิเดต และร้อยละ 12.3 เป็นความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ไม่แน่ใจหรือไม่มีความคิดเห็นหรือเสนอวิธีการอื่นๆ
เมื่อสอบถามว่า จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่เหลือตอนนี้ ใครเหมาะเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดในช่วงนี้ พบว่า เสียงส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 62.7 ระบุว่าไม่มีใครเหมาะเลย รองลงมาร้อยละ 11.1 ยังคงสนับสนุนคุณแพทองธาร ชินวัตร ตามมาติดๆ ร้อยละ 10.7 สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 7.7 สนับสนุนคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 5.1 เสนอชื่อคุณชัยเกษม นิติสิริ ร้อยละ1.5 เสนอชื่อคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และร้อยละ 1.2 เสนอชื่อคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ 50.5 เพศชายร้อยละ 46.1 และอื่นๆ ร้อยละ 3.4
อายุ 18-24 ปี ร้อยละ 6.5 อายุ 25-30 ปี ร้อยละ 14.9 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 20.2 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 20.8 อายุ 51- 60 ปี ร้อยละ 18.5 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 19.1
การศึกษา ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 23.2 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 19.5 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 17.1 ระดับอนุปริญญา/ปวส./สูงกว่า ม.ปลาย ร้อยละ 13.1 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 23.2 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 3.8
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 45.0 รองลงมา ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.5 ผู้ใช้แรงงาน/ลูกจ้างสถานประกอบการ ร้อยละ 13.3 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 9.1 งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.4 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 6.0 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.3 และ อื่นๆ ร้อยละ 1.4
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 9.5 รายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 18.6 รายได้อยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 22.5 รายได้ระหว่าง 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 26.2 รายได้ระหว่าง 20,001-40,000 ร้อยละ 17.9 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไปร้อยละ 5.3
24 460