29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 02,2015

‘สุรวุฒิ’เร่งสกายบัส ๓,๙๗๗ ล. นักผังเมือง-นักธุรกิจค้าน ไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจร

    ย้ำระบบขนส่งมวลชนเมืองโคราช ‘สุรวุฒิ เชิดชัย’ ยังชี้นำ ‘สกายบัส’ เหมาะสมที่สุด วาดแผนวิ่งยกระดับบนถนนมิตรภาพ นำร่องสายสีน้ำเงิน ราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ ค่าก่อสร้าง ๓,๙๗๗ ล้านบาท เชื่อมเดินทางกับรถไฟทางคู่ ค่าโดยสาร ๑๐ บาทตลอดเส้นทาง หลังรัเงินมาศึกษาออกแบบ ๕๐ ล้านบาท ด้านนักผังเมือง วิศวกรจราจร และปชช.ไม่เห็นดีด้วย เพราะยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการและสภาพเมือง หวั่น! เทคโนโลยีเดินรถเอื้ออู่เชิดชัย

          เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๕ อาคารกาญจนาภิเษก เทศบาลนครนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังแนวคิด “การจัดระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยเทศบาลนครนครราชสีมานำเสนอ “โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา” ซึ่งที่ประชุม คจร.มีมติเห็นชอบกับรูปแบบโครงการดังกล่าว และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสรรงบประมาณศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงสร้างทางวิศวกรรม พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีผู้บริหารเทศบาลนครนครราชสีมา สมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา (ส.ท.) ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจังหวัดนครราชสีมา และผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังจำนวนกว่า ๑๐๐ คน อาทิ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหาร หจก.คิงส์ยนต์, ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเภสัชกรจักริน เชิดฉาย ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

ให้ปชช.มีส่วนร่วมโดยไม่มีอคติ

           นายธงชัย(เบิร์ด) ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการสัมมนาว่า โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา เป็นแนวคิดที่จะเดินไปข้างหน้าของเทศบาลนครนครราชสีมา เพราะโคราชเป็นเมืองขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีปัญหาจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน การจัดสัมมนารับฟังแนวคิดต่อโครงการดังกล่าวในวันนี้ อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรับฟังและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดนครราชสีมา เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการก่อสร้างถนนหลายๆ สาย คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้ ๑๐๐% แต่ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ต้องปราศจากอคติ ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่ได้ความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงคมนาคมมาดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดแล้ว ก็ต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพเมืองและความต้องการของภาคประชาชนผู้โดยสารอย่างแท้จริง 

‘สุรวุฒิ’รับงบศึกษา ๕๐ ล้าน

            นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา แสดงวิสัยทัศน์ต่อโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมาว่า เป็นผลต่อเนื่องจากการศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ หรือที่เรียกว่า Sky Bus  เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ จากกรุงเทพฯ-หนองคาย และพัฒนาให้เมืองโคราชน่าอยู่ในอนาคต เป็นศูนย์กลางการค้า การพาณิชย์ การคมนาคมทางบก และอุตสาหกรรมของภาคอีสาน มีความต้องการการเดินทางจากประชากรในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ คน และมีประชากรแฝงอีกประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดระบบขนส่งมวลชนมารองรับ มิเช่นนั้นจะเกิดวิกฤติการจราจร ถนนจะไม่สามารถรองรับต่อปริมาณยานพาหนะที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ตนจึงมีโอกาสนำเสนอข้อมูลให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสนข. รับทราบรายละเอียด เมื่อประมาณ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกระทรวงคมนาคมมีความต้องการให้จังหวัดนครราชสีมา จัดระบบขนส่งมวลชนรองรับการขยายตัวในอนาคต จึงอนุมัติงบประมาณ ๕๐ ล้านบาท ให้ สนข. ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ มีกรอบระยะเวลา ๖ เดือน    

           “อย่างไรก็ตาม ระบบขนส่งมวลชนสำหรับเมืองนครราชสีมา ต้องขนส่งผู้โดยสารโดยไม่กระทบต่อการจราจรบนพื้นฐาน มีความปลอดภัยสูง ลดอุบัติเหตุ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากรถไฟทางคู่ ไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินในการก่อสร้าง ค่าก่อสร้างไม่เกิน ๕,๐๐๐ ล้านบาท ค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป คือประมาณ ๑๐ บาทตลอดเส้นทาง และสามารถซ่อมบำรุงได้โดยท้องถิ่น” นายกเทศมนตรีฯ กล่าวย้ำ 

เชื่อมโยง ๓๔ สถานีใกล้บ้าน

           จากนั้นดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา และประธานกรรม การบริหาร บริษัท พีเอสเคคอลซัลแทนส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบเทคโนโลยีขนส่งอัจฉริยะ นำเสนอการวางแผนระบบขนส่งมวลชนสำหรับเมืองนครราชสีมา พร้อมชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการจราจรของเมืองมีสาเหตุหลักมาจากโครงข่ายถนนที่มีอยู่จำกัด ไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นได้ การขาดระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยระบบขนส่งสาธารณะในเมืองยังอาศัยรถสองแถวและรถรับจ้าง ซึ่งขาดความปลอดภัย และไม่สะดวกสบาย ในทางกายภาพของถนนในเมืองแคบ ย่านธุรกิจ โรงเรียน การจัดการจราจรไม่เป็นระบบ การนิยมใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง การจัดระบบขนส่งสาธารณะให้มีระบบ เพื่อเป็นแนวทางเลือก รองรับความต้องการในการเดินทางให้เปลี่ยนจากการใช้รถส่วนตัวมาใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาการจราจรในพื้นที่ศึกษา โครงข่ายถนนสายหลัก ประกอบไปด้วย ถนนทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ), ถนนทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ (ถนนราชสีมา-กบินทร์บุรี) เชื่อมต่อจากทิศใต้ของเมืองนครราชสีมาจากภาคตะวันออก ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (ราชสีมา-โชคชัย) และถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (สามแยกหัวทะเล-อุบลราชธานี) โดยลักษณะของศูนย์กลางประกอบด้วยกิจกรรมหลัก เช่น โรงเรียน สำนักงาน แหล่งศูนย์การค้า ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพและอยู่ใจกลางเมือง จึงก่อให้เกิดปัญหาในด้านการใช้รถใช้ถนน 

           ดังนั้น การศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าว จะวางเชื่อมโยงพื้นที่เมืองนครราชสีมา สู่ใจกลางเมืองด้วย ๓๔ สถานีใกล้บ้าน โดยจะนำร่องระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา สายสีน้ำเงินก่อน เส้นทางจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ ระยะทางประมาณ ๑๓.๙-๑๔ กม. มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร ๑๔ สถานี ในระยะต่อไปจะดำเนินการสายสีฟ้า โคกกรวด-โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ระยะทาง ๗.๒ กม. ตามมาด้วยสายสีม่วง ประตูน้ำ-หนองตะลุมปุ๊ก ระยะทาง ๙.๓ กม., สายสีเหลือง บ้านเกาะ-ทางแยกต่างระดับ จอหอ ๒ ระยะทาง ๖.๑ กม., สายสีแดง ตรอกจันทร์-ทางแยกต่างระดับ จอหอ ๑ ระยะทาง ๗.๘ กม. และสายสีเขียว แยกต่างระดับปักธงชัย-มอเตอร์เวย์นครราชสีมา ระยะทาง ๕.๓ กม. 

อ้าง‘Sky Bus’เหมาะสมที่สุด

           สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม คือ รถประจำทางด่วนพิเศษ เพราะมีความยืดหยุ่นสูง เอกสิทธิ์ต่ำ ก่อสร้างง่าย เขตทางแคบ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการบำรุงรักษาต่ำ ทั้งนี้ การคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสมมากที่สุดนั้น จะใช้เทคนิค AHP (Analytical Hierarchy Process) เริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบ ความสำคัญของเกณฑ์ (Criteria) ที่ใช้ในการตัดสินใจ เพื่อหาน้ำหนักของแต่ละเกณฑ์ก่อน หลังจากนั้นจึงนำทางเลือก (Alternative) ที่มีทั้งหมดมาประเมินผ่านเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อจัดลำดับ ไม่ว่าจะเป็นระบบ BRT at Grade, Monorail, LRT, BRT Elevated, Light Monorail และTram (รถราง) จากนั้นจึงประเมินการให้คะแนน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ/การเงิน ๒๕ คะแนน, ด้านวิศวกรรม ๒๐ คะแนน, ด้านสิ่งแวดล้อม ๓๐ คะแนน และด้านสังคม ๒๕ คะแนน รวมเป็น ๑๐๐ คะแนน 

           ดร.กีรติ กล่าวสรุปว่า เมื่อคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าสูงสุด (๐๗.๐๐-๑๐.๐๐ น.) ในพ.ศ.๒๕๙๐ (๓๐ ปีข้างหน้า) เท่ากับ ๑๑,๖๐๐ คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ประกอบกับการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงิน/การลงทุน และสิ่งแวดล้อม ได้ข้อสรุปว่า ระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ หรือ Sky Bus เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา โดยมีคะแนนรวมสูงสุด ๗๖.๘๘ คะแนน ที่สำคัญคือ ระบบยกระดับทำให้ไม่มีผลกระทบด้านการจราจรบนถนนมิตรภาพ และสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ควบคุมเวลาการให้บริการได้ อีกทั้งการใช้ระบบรางบังคับล้อจากความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม จะช่วยให้การให้บริการมีความปลอดภัย และระบบ Sky Bus ที่เป็นรถโดยสารจะมีวงเลี้ยวแคบกว่าระบบราง ทำให้ลดปัญหาการเวนคืนพื้นที่ประชาชนตามแนวสายทาง ซึ่งมีตัวอย่างการดำเนินการในต่างประเทศ ที่เมืองนาโกย่า, โอไดบะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, เมืองเซียะเหมิน ประเทศจีน หรือเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

วิ่งยกระดับเกาะกลางถนนมิตรภาพ

          ทั้งนี้ การออกแบบเบื้องต้นระบบขนส่งมวลชน จะมีทางวิ่งยกระดับบนเกาะกลางถนนมิตรภาพ ตามแนวเส้นทางนำร่องสายสีน้ำเงิน จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ โดยมีโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (Elevated) จะมีความสูงสุด ๑๕ เมตร ถ้าวัดจากระดับดินถึงทางขึ้นสถานีประมาณ ๕ เมตร และ ๙ เมตร สำหรับรูปแบบ BRT จะเป็นรถโดยสารทันสมัยยาว ๑๒, ๑๘ หรือ ๒๔ เมตร จุผู้โดยสารได้จำนวน ๘๐, ๑๕๐-๑๖๐ หรือ ๒๐๐ คน มีประตูรถกว้าง ๑๒๐ เซนติเมตรทั้งสองด้านของรถ ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานสูง ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นระบบ Hybrid หรือไฟฟ้าทั้งระบบ ทั้งนี้ จะวางระบบการจัดเก็บค่าโดยสารก่อนขึ้นรถ ด้วยระบบตั๋วไร้สัมผัส (Contact-less Smart Card) เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า พร้อมโครงสร้างค่าโดยสารแบบราคาเดียวตลอดเส้นทาง ไม่มีการเก็บค่าโดยสารเป็นเงินสดบนรถ ให้บริการในเส้นทางสายหลักด้วยความถี่สูงโดยใช้ระบบควบคุมการเดินรถจากส่วนกลางทุกๆ ๓ นาทีในชั่วโมงเร่งด่วน, ทุกๆ ๗ นาทีนอกชั่วโมงเร่งด่วน และยังให้บริการ ๑๘ ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีวันหยุด นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อการให้บริการ

          โดยมีสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรูปแบบการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถสองแถว และมีระบบตั๋วต่อตลอดจนพัฒนาเป็นตั๋วร่วม มีการจัดจุดจอดรถจักรยาน และรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง พร้อมทั้งจัดสร้าง Sky Walk เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง รวมถึงการเชื่อมต่อระบบจักรยานสาธารณะด้วย 

มูลค่าก่อสร้าง ๓,๙๗๗ ล้าน

          “โครงการนี้ประเมินมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๓,๙๗๗ ล้านบาท แบ่งเป็น การเตรียมงาน ๑๐๐ ล้านบาท, งานรื้อถอน ๑๐๐ ล้านบาท, งานก่อสร้างทางยกระดับ ๑,๗๑๐ ล้านบาท, งานก่อสร้างระดับพื้นดิน ๙ ล้านบาท, ตกแต่งภูมิทัศน์ในแนวเขตทาง ๑๐๐ ล้านบาท, ก่อสร้างอาคาร ๑,๓๖๐ ล้านบาท, ค่ารื้อย้ายและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ๑๐๐ ล้านบาท, การจัดหาที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ๑๐๐ ล้านบาท และค่าก่อสร้างนอกเหนือจากที่ประมาณการ ๓๙๘ ล้านบาท อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ จะทำให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในพื้นที่โครงการได้ถึงร้อยละ ๒๐, ทำให้ประหยัดการใช้น้ำมันได้ถึง ๒๔๖ ล้านบาทต่อปี คิดรวมเป็นมูลค่า ๗,๓๘๐ ล้านบาทตลอดอายุโครงการต่อปี และสามารถลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุได้ถึง ๓.๙ ล้านบาทต่อปี คิดรวมเป็นมูลค่า ๑๑๘ ล้านบาทตลอดอายุโครงการ” ดร.กีรติ กล่าว

อย่าชี้นำด่วนสรุป‘Sky Bus’

          ทั้งนี้ ช่วงที่เปิดให้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้รับฟัง เสียงส่วนใหญ่มองว่า การจัดระบบขนส่งมวลชนสำหรับเมืองนครราชสีมา หรือโคราชนั้น ผู้บริหารเทศบาลนครนครราชสีมา ต้องตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย เป็นหลักสำคัญ ซึ่งในอนาคตประเทศและเมืองโคราชจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงความเหมาะสมของการคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสม มีความหลากหลาย และไม่บดบังทัศนียภาพของเมืองโคราช ไม่ใช่การชี้นำระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ หรือ Sky Bus เหมือนการศึกษาความเป็นไปได้ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาระบบขนส่งมวลชนต่างๆ อย่างละเอียดเพื่อให้ตอบสนองกับเมืองโคราชและคุ้มค่างบประมาณการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ก่อนจะด่วนสรุปว่า Sky Bus มีความเหมาะสม ที่สำคัญคือ ประชาชนทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนอย่างกว้างขวาง และเทคโนโลยีการเดินรถต้องไม่เอื้อกับอู่เชิดชัย และจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพิจารณาระบบ tram หรือรถราง ซึ่งเป็นพาหนะที่วิ่งบนราง หรือ monorail ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดียวร่วมด้วย 

นักผังเมืองค้าน‘บัสลอยฟ้า’

         ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก “Nikhom Boonyanusith” ว่า ขอให้ข้อมูลคนโคราชสักหน่อย รถบัสลอยฟ้าที่ท่าน(ใครก็ไม่รู้) อยากได้กันนักหนานั้น มันคือองค์ประกอบหนึ่ง(สัญลักษณ์เส้นหนาสีน้ำเงินในแผนที่) ของเครือข่ายระบบขนส่งเมืองของเมืองนาโกย่า อันถือว่าเป็นเมืองใหญ่ลำดับ ๓ ของญี่ปุ่น รถบัสลอยฟ้านั้นเป็นแค่ขนส่งตัวประกอบมีหน้าที่รับคนที่อยู่นอกรัศมีตัวขนส่งหลัก(คือพวกรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าทั้งหลาย ดังสัญลักษณ์ที่เขาแสดงไว้ด้านล่างข้างๆ แผนที่นี้) พูดง่ายๆ คือมันมีหน้าที่เก็บคนที่อยู่ด้านนอกใจกลางเมืองเข้ามาส่งระบบขนส่งใหญ่ในเมือง ดังนั้น มันจึงถูกออกแบบให้วิ่งบนถนนเป็นบัสธรรมดาเมื่ออยู่ในย่านพักอาศัย และยกระดับเมื่อเข้าสู่ย่านชุมชนหนาแน่นสูง (เพื่อไม่ต้องเปลืองค่าเวนคืนอาศัยสร้างมันลอยอยู่บนเกาะกลางถนน) เมืองของเขานั้นอยู่กันหนาแน่นกว่าโคราชเป็นสิบเป็นร้อยเท่า ขนาดมีระบบขนส่งขนาดใหญ่อย่างรถไฟใต้ดินได้ 

         “การที่จะเอารถบัสลอยฟ้ามาใช้ที่โคราชให้เป็นระบบขนส่งหลักมันจึงดูย้อนแย้ง เพราะมันถูกออกแบบมาให้เป็นตัวช่วยไม่ใช่ตัวหลัก อาจจะบอกว่ามันเหมาะกับโคราช เพราะคนเรายังไม่อยู่กันหนาแน่นเท่าญี่ปุ่นเขา ก็จะกลายเป็นข้อโกหกไปทำลายน้ำหนักที่ต้องยกมันขึ้นเมื่อผ่านเข้าสู่ในเมือง เพราะการยกขึ้นสูงจากพื้นดินทำให้ต้องออกแบบสถานีจอดที่อยู่สูงขึ้นไป สถานีจึงมีขนาดใหญ่และทำให้คนเดินขึ้นลำบาก ถ้าใช้บันไดเลื่อนก็เพิ่มต้นทุนอีก รวมทั้งเส้นทางที่ลอยขึ้นก็เปลืองค่าโครงสร้างอีกมหาศาล แล้วยังผิดหลักการของการแก้ปัญหาจราจรเมืองด้วยขนส่งมวลชน ที่จะต้องทำให้การใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นเรื่องลำบากกว่า เพื่อทำให้คนเปลี่ยนใจมาใช้ระบบขนส่งที่เราลงทุนไป แต่นี่จะสร้างให้วิ่งข้างล่างก็ไม่เอา เพราะกลัวว่าจะกระทบกับคนที่ใช้รถยนต์ จึงยืนยันให้มันลอยฟ้าซะงั้น คำถามง่ายๆ คือแล้วใครจะเป็นผู้ไปใช้งานมัน ในเมื่อคนโคราชที่มีตังค์น้อยก็นั่งสองแถวไม่เดือดร้อน มีตังค์หน่อยเขาก็ดาวน์มอเตอร์ไซค์มาใช้งาน คนที่มีรถยนต์ยิ่งไม่เปลี่ยนใจมาใช้แน่ เพราะชีวิตปกติเขาก็ขับรถยนต์ออกจากบ้านไปถึงที่หมายอยู่แล้ว” ผศ.นิคม กล่าว 

วิศวกรจราจรถามถึงประโยชน์?

        นายอรชัย ปุณณะนิธิ ประธานมูลนิธิพุทธธรรม ๓๑ นครราชสีมา (ฮุก ๓๑) ซึ่งสำเร็จปริญญาโท ด้านวิศวกรรมจราจร จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา ตั้งคำถามต่อการผลักดันโครงการก่อสร้างรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ หรือ Sky Bus ว่า ๑. ใช่คำตอบของระบบขนส่งมวลชนในอนาคตข้างหน้าหรือไม่ ๒. สามารถแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองได้อย่างไร ๓. การค้าขายของคนเมือง ซึ่งเสียภาษีให้ท้องถิ่นโดยตรงได้ประโยชน์อะไรกับโครงการนี้ ๔. ทัศนียภาพของเมืองบนถนนมิตรภาพกับมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นด้านล่างใครจะรับผิดชอบ และ ๕. ร้านค้าริมถนนมิตรภาพตลอดแนวโครงการจะค้าขายได้ดีขึ้นอย่างไร      

ใครก็หยุดไม่ได้

        อนึ่ง เทศบาลนครนครราชสีมา ในสมัยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรี ได้ว่าจ้างสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประกอบด้วย รศ.ดร.วัฒนวงศ์ รัตนวราห หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง, ผศ.ดร.สุดจิต ครุจิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และดร.ศิรดล ศิริธร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการประยุกต์ด้านการขนส่งและโลจิส ติกส์ รวมทั้งดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสเคคอลซัลแทนส์ จำกัด เป็นเงิน ๑๓ ล้านกว่าบาท จัดทำแผนแม่บทและการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ แล้ว ๒ ครั้ง ซึ่งขณะนั้น รศ.ดร.วัฒนวงศ์ รัตน วราห หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง มทส. ชี้ให้เห็นว่า เมื่อคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าสูงสุด (๐๗.๐๐-๑๐.๐๐ น.) ในอีก ๓๐ ปี (พ.ศ.๒๕๙๐) เท่ากับ ๑๑,๖๐๐ คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง สรุปได้ว่า “รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษแบบยกระดับ(Elevated Bus Rapid Transit - BRT ยกระดับ หรือที่เรียกว่า Sky Bus) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา” ทั้งทางด้านกายภาพของถนน ปริมาณผู้โดยสาร มูลค่าการลงทุน ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงินการลงทุน ใช้เงินลงทุน ๔,๘๔๐ ล้านบาท โดยจะนำร่องเส้นทางจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ ระยะทาง ๑๓.๙๔ กิโลเมตร ทำให้เภสัชกรจักริน เชิดฉาย ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น ท้วงติงกระบวนการศึกษา โดยระบุว่า ขาดความรอบด้าน ทั้งที่ระบบขนส่งมวลชนมีหลากหลายรูปแบบ แต่กลับสรุปว่า BRT ยกระดับมีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมามากที่สุด และไม่ใช่การเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง เพราะไม่ครอบคลุมไปถึงภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะพ่อค้าและนักธุรกิจในพื้นที่ แต่นายสุรวุฒิ กล่าวว่า หากตนได้รับเงินศึกษาโครงการ ๕๐ ล้านบาท ตามที่ยื่นไว้ ใครก็มาขัดขวางโครงการนี้ไม่ได้ 


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๐ วันพุธที่  ๑ - วันอาทิตย์ที่  ๕  เดือนกรกฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๕๘


722 1374