20thMay

20thMay

20thMay

 

November 26,2010

ระดมสมองต้นน้ำ-ปลายน้ำ ยกระดับไหมไทยสู่สากล

เครือข่ายคลัสเตอร์ไหมนครชัยบุรินทร์ ประชุมเข้มข้นส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเส้นไหม เจาะกลุ่มผู้ผลิตไหมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้มีศักยภาพสามารถก้าวสู่ตลาดในระดับสากล ดันศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่โรงแรมวีวัน นครราชสีมา กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้ผลิตและภาคีเพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเส้นไหม โดยมีนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยนางสายพิรุณ น้อยศิริ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มผู้ผลิตไหมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวน ๔๐๐ คน

ทุ่ม ๑๓๗,๔๖๐,๐๐๐ ล้าน

นางสายพิรุณ น้อยศิริ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ด้วยกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ดำเนินการต่อเนื่องในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๖ โครงการ ๔๓ กิจกรรมย่อย เป็นเงินรวม ๑๓๗,๔๖๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมไม่น้อยกว่า ๔๐ กิจกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายคือผู้ผลิต และผู้ประกอบการไหมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งห่วงโซ่กระบวนการผลิตไหมให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถก้าวสู่ตลาดในระดับสากลได้

“กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้ผลิตและภาคีเพื่อสร้างความเข้าใจการดำเนินงาน ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไหมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมย่อยที่ ๑ ของโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน มีงบประมาณดำเนินการรวมทั้งสิ้น ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพี่อสร้างความเข้าใจถึงการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไหมร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการไหมกับภาคีการพัฒนาให้สามารถขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” นางสายพิรุณ กล่าว

เปิดประตูอีสานสู่สากล

นางสายพิรุณ กล่าวเสริมว่า “โดยวิสัยทัศน์กลุ่มจังหวัด คือ ประตูอีสานสู่สากล (Northeast  gateway  to  Global Communities) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมผ้าไหมของภาค ให้เป็นแหล่งผลิตไหมไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่รู้จักกันในนาม Thai Silk และต้องการให้การผลิตผ้าไหมมีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกัน ทั้งการผลิตเส้นไหมและการทอผ้าไหม รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ยังคงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับเทคโนโลยีในการส่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดโลก”

“กระบวนการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ไหม เริ่มจาก ๑. ต้นน้ำ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พัฒนาการปลูกหม่อนการเลี้ยงไหม พัฒนาคุณภาพพันธุ์หม่อน พัฒนาคุณภาพเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน, ๒. กลางน้ำ กลุ่มผู้ผลิตหรือผู้ทอผ้าไหม พัฒนาการฟอกการย้อม การทอ การออกแบบลวดลาย การแปรรูป และ ๓. ปลายน้ำ กลุ่มผู้จำหน่ายไหม การส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยพัฒนาทีมงานการตลาดและการประชาสัมพันธ์” นางสายพิรุณ กล่าว

พัฒนาคลัสเตอร์ผ้าไหม

พร้อมทั้งการพัฒนาเครือข่ายตามแผนยุทธศาสตร์ไหมกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ภายใต้งบเงินกู้ไทยเข้มแข็งของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ปี ๒๕๕๓ ดำเนินการต่อเนื่องในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๖ โครงการ เป็นเงิน ๑๓๗.๔ ล้านบาท งบปี ๒๕๕๔ งบปกติกลุ่มจังหวัด ๗ โครงการ ๑๘๒.๗ ล้านบาท รวม ๓๒๐.๑ ล้านบาท โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓,๓๙๕ ล้านบาท เพื่อพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมปักธงชัยให้เป็นต้นแบบธุรกิจในการพัฒนาคลัสเตอร์ผ้าไหม และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ASEAN Silk Sourcing Hub ยกระดับคลัสเตอร์ไหมสู่สากล เพื่อความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน” พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา กล่าว

มรดกทางวัฒนธรรม

ด้านนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มียุทธศาสตร์ “การพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ผ้าไหม” เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัด ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทั้ง ๔ จังหวัด มีอาชีพดั้งเดิมในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผ้าทอไว้ใช้ในครัวเรือนสืบทอดกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และได้สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย ที่จำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและตลาดสากล โดยในปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับไหม ซึ่งตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำมีมากกว่า ๓๒,๑๒๙ กลุ่ม และผู้ประกอบการธุรกิจในส่วนของปลายน้ำอีกจำนวน ๖๔๖ ราย รวมมูลค่าการจำหน่ายที่เก็บตัวเลขได้ในปี ๒๕๕๓ จำนวน ๔๖๙๗.๑๘ ล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การผลิตไหม ๔ จังหวัด เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียง อาทิ ผ้าไหมบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ, ผ้าไหมนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์, ผ้าไหมยกทองท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ และผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรายได้ในการจำหน่ายผ้าไหมมูลค่ารวมในปี ๒๕๕๓ จำนวน ๔,๖๙๗ ล้านบาท แต่ในปัจจุบันเรามีคู่แข่งขันที่สำคัญในเอเชีย ทั้งประเทศจีน, อินเดีย, เวียดนาม, ลาว และอินโดนีเซีย จึงทำให้ “นครชัยบุรินทร์” ต้องพัฒนายุทธศาสตร์การผลิตผลิตภัณฑ์ไหม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ทุกห่วงโซ่การผลิตมีการปรับปรุงให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

ยกระดับสู่อาเซียน

“ในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ คณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กนจ.) ผลักดันให้กลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” พัฒนากระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ไหมให้ก้าวสู่สากล เพื่อให้สอดรับและเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดของรัฐบาลในการยกระดับผ้าทอมือและหัตถกรรมไทย ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (Asean Design and Crafs Soucing Hub) และได้รับการจัดสรรงบประมาณการสนับสนุนกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ในการพัฒนาจุดแข็ง การเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ก้าวสู่การแข่งขันในบริบทของเวทีนานาชาติอย่างเข้มแข็งต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

“โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไหมปักธงชัย ต้องได้รับการพัฒนาเป็นย่านค้าผ้าไหมที่มีดีไซน์ระดับภูมิภาค (ASEAN  Silk Sourcing Hub) มีทีมนักการตลาดที่เข้มแข็ง การพัฒนาคุณภาพการผลิต การออกแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้า หมู่บ้านท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม ซึ่งจะมีงาน ASEAN Silk Heritage ดังนั้น จึงต้องสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคลัสเตอร์ไหมนครชัยบุรินทร์ ความร่วมมือร่วมใจของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ” รองผู้ว่าฯ โคราช กล่าวย้ำ

ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๙๘๐ วันที่ ๒๖-๒๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓


689 1,357