28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 22,2018

เลือกเส้นทางมอเตอร์เวย์ สาย‘โคราช-ขอนแก่น’ ผู้ว่าฯห่วงท่องเที่ยวพิมาย

           กรมทางหลวงประชุมสรุปผลคัดเลือกเส้นทางมอเตอร์เวย์ โคราช-ขอนแก่น ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ-เอกชนร่วมรับฟัง ไร้คัดค้าน ผู้ว่าฯ เสนอปรับเส้นทางรองรับท่องเที่ยวพิมาย ด้านนักวิชาการ หวั่นปัญหาค่าเวนคืนซ้ำรอยแฟชั่นไอส์แลนด์ ย้ำต้องระบุในพระราชกฤษฎีกาอย่างชัดเจน

           ตามที่โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครราชสีมา–ขอนแก่น เป็นโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ สายบางปะอิน–หนองคาย ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๗๙ ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย โดยจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน–นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง มีลักษณะโครงข่ายวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และไปสิ้นสุดแนวสายทางที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมก่อนการพัฒนาโครงการ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ.๒๕๕๕) เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แอคโนเลดจ์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครราชสีมา–ขอนแก่น

สรุปผลคัดเลือกแนวเส้นทาง

           เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช จ.นครราชสีมา กรมทางหลวงจัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ (สัมมนาครั้งที่ ๒) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครราช สีมา–ขอนแก่น โดยมี นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ร่วมด้วย นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงค์ ผู้จัดการโครงการ นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ วิศวกรงานทาง นายณรัฐ บัวแย้ม นักวางแผนการขนส่ง และนายนคร ศรีธิวงค์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ร่วมกันให้ข้อมูลในครั้งนี้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการเข้าร่วมฟังการประชุมจำนวนกว่า ๑๐๐ คน เช่น นายอรุณ อัครปรีดี คหบดีเมืองบัวใหญ่ นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราช สีมา เป็นต้น 

           นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การดำเนินการของภาครัฐหรือเอกชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อชุมชน ทุกท่านที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นทั้งเรื่องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม มั่นใจว่าที่มาในวันนี้มีประสบการณ์จากโครงการต่างๆ แม้ว่ากรมทางหลวงจะกำหนดเส้นทางมาแล้ว ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของพวกเราทุกคน”

           นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงค์ ผู้จัดการโครงการ ชี้แจงว่า “โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครราชสีมา–ขอนแก่น จะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ ซึ่งจะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน ๕ ครั้ง ปัจจุบันการศึกษาดำเนินการมาถึงขั้นตอนการสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ ดังนั้นจึงจัดให้มีการประชุมครั้งที่ ๒ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของผลการคัดเลือกแนวเส้นทาง พร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อศึกษาโครงข่ายและกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครราชสีมา–ขอนแก่น ตลอดทั้งคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งวิเคราะห์และจัดทำแผนการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงโดยรอบ เพื่อรองรับการจราจรเข้าและออกจากโครงการ รวมทั้งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาโครงการ 

           “ทั้งนี้ ยังคาดหวังให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาระบบทางหลวงที่อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและขนส่ง, ลดอุบัติเหตุในการเดินทาง, บรรเทาปัญหาการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาพรวมของประเทศ โดยมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่เขตการปกครองตามแนวเส้นทางโครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง ๓ จังหวัด (นครราชสีมา, ขอนแก่น และมหาสารคาม) ๑๖ อำเภอ ๔ เทศบาลตำบล ๔๕ ตำบล”

เลือกแนวเส้นทางที่ ๒ 

           นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ วิศวกรงานทาง กล่าวถึงการคัดเลือกแนวเส้นทางว่า “แนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงนครราชสีมา–ขอนแก่น เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน–หนองคาย ซึ่งเป็นโครงข่ายทางหลวงพิเศษที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในช่วงนครราชสีมา–ขอนแก่น จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเมืองนครราชสีมาและขอนแก่น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้า เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และเป็นการแบ่งเบาปริมาณจราจรบนทางหลวงหมายเลข ๒ ทั้งนี้ ในการกำหนดจุดต้นทาง-ปลายทาง ที่ปรึกษาได้พิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังนี้ ๑.ต่อเชื่อมโครงข่ายทางหลวงสายหลักเพื่อกระจายการจราจรให้ไปได้ทุกทิศของตัวเมือง ๒.มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษในอนาคต และ ๓.เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากร/สิ่งปลูกสร้าง และมีข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมน้อย

           จากเกณฑ์พิจารณากำหนดแนวเส้นทางเลือกดังกล่าว สรุปแนวเส้นทางเลือกได้ ดังนี้ แนวเส้นทางเลือกที่ ๑ แนวเส้นทางโครงการแยกออกจากแนวทางหลวงพิเศษสายช่วงบางปะอิน–นครราชสีมา บริเวณ กม.๑๘๓+๔๐๐ และสิ้นสุดแนวเส้นทางบนทางหลวงหมายเลข ๒๓๐ (ถนนวงแหวนรอบเมืองขอนแก่น) บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองขอนแก่น รวมระยะทางประมาณ ๑๙๓.๑๘ กม.

           แนวเส้นทางเลือกที่ ๒ แนวเส้นทางโครงการจะเป็นแนวเส้นทางเดียวกับแนวทางเลือกที่ ๑ ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร แล้วจึงแยกเข้าสู่พื้นที่ อ.โนนสูง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบนทางหลวงหมายเลข ๒๓๐ (ถนนวงแหวนรอบเมืองขอนแก่น) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองขอนแก่น รวมระยะทางประมาณ ๒๐๓.๓๓ กม. 

           แนวเส้นทางเลือกที่ ๓ แนวเส้นทางโครงการจะเป็นแนวเส้นทางเดียวกับแนวเส้นทางเลือกที่ ๑ และ ๒ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่พื้นที่ อ.เมืองนครราช สีมา ซึ่งแนวเส้นทางจะเข้าซ้อนทับกับแนวเส้นทางเลือกที่ ๒ บริเวณ อ.พล โดยซ้อนทับกันไปจนสิ้นสุดโครงการ เป็นระยะทางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร โดยสิ้นสุดแนวเส้นทางบนทางหลวงหมายเลข ๒๓๐ (ถนนวงแหวนรอบเมืองขอนแก่น) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองขอนแก่น รวมระยะทางประมาณ ๒๑๔.๒๖ กม.

           จากผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม สามารถสรุปได้ว่าแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่สุดทั้งในด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ แนวทางเลือกที่ ๒ โดยในด้านวิศวกรรม ถึงแม้แนวทางเลือกที่ ๒ จะมีคะแนนด้านความยาวแนวเส้นทางและรูปร่างทางเรขาคณิตจะด้อยกว่าแนวทางเลือกที่ ๑ แต่ในด้านจราจรจะมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีการเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของทางหลวงหมายเลข ๒ ทำให้มีปริมาณจราจรสูงที่สุดอีกด้วย สำหรับในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนแนวทางเลือกที่ ๒ เป็นแนวเส้นทางมีค่าก่อสร้างต่ำที่สุด เนื่องจากผ่านพื้นที่น้ำท่วมน้อย ทำให้มีโครงสร้างสะพานน้อยกว่าเส้นทางอื่น และปริมาณจราจรที่คาดว่าจะมาใช้เส้นทางที่มากส่งผลให้มีผลตอบแทนดีที่สุดอีกด้วย

           ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมแนวทางเลือกที่ ๒ เป็นแนวเส้นทางมีผลกระทบต่อการระบายน้ำและคมนาคมขนส่งน้อยที่สุด อีกทั้งแนวเส้นทางยังมีระยะห่างจากพื้นที่อ่อนไหวและโบราณสถานมากที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อทุ่งสัมฤทธิ์อีกด้วย ดังนั้นแนวทางเลือกที่ ๒ เป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมสูงสุด ที่จะใช้ในการออกแบบเบื้องต้นและวิเคราะห์โครงการต่อไป

ผู้ว่าฯ ห่วงพิมาย

           ต่อมาเวลา ๑๑.๐๐ น.เศษ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าร่วมฟังการประชุมในภายหลังพร้อมเสนอข้อคิดเห็นและซักถามว่า “โครงการนี้คาดว่าจะเริ่มในปี ๒๕๖๕ และเสร็จในปี ๒๕๗๑ กรณีนี้ผมมอง ๒ ประเด็น คือ ๑.การศึกษาวิจัยเป็นผู้กำหนดเรื่องของราคาเวนคืนด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อถึงเวลาเวนคืนจริงๆ จะมีปัญหาทุกครั้ง เนื่องจากราคาที่เวนคืนกับราคาที่เป็นจริงตามท้องตลาดแตกต่างกันมาก ทำให้ไม่อยากได้โครงการ เพราะฉะนั้นจะมีวิธีการใดๆ ที่จะทำให้คนที่ถูกเวนคืนได้รับค่าชดเชยที่พึงพอใจ ประเด็นที่ ๒ เรื่องทางน้ำ บางครั้งต้องลงทุนและแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องเผื่อไว้มากๆ เนื่องจากการก่อสร้างอาจเป็นพื้นที่ที่ขวางทางน้ำ เช่น ลำเชียงไกร ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี จึงอยากให้ออกแบบทีเดียวให้แล้วเสร็จ เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว”

           นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ อ.พิมาย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอาจจะขาดโอกาส จึงอยากขอความกรุณาให้สำรวจและออกแบบต่อจากตลาดแค เพื่อที่จะไปเข้ามอเตอร์เวย์ที่จุด อ.โนนสูงว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ต้องวิ่งมาตามสาย ๒ แล้วอ้อมเข้า อ.โนนสูง เพราะอาจเสียเวลา ดังนั้นหากตัดจากเส้นตลาดแคมาขึ้นตรงที่ อ.โนนสูงคิดว่าจะเกิดประโยชน์แก่การท่องเที่ยวพิมาย” 

           นายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ เสนอว่า “ขณะนี้ถ้ามาจากรุงเทพฯ ไป อ.พิมายโดยตรงไม่ได้ จะต้องลงที่ อ.โนนสูง แล้วก็อ้อมไปออกที่ อ.คง ซึ่งค่อนข้างไกล แต่เรามีเส้นหนองหัวฟานสาย ๑๕ ที่สามารถใช้เป็นทางออกได้ ถ้ากรมทางหลวงเชื่อมโยงตรงจุดนี้ได้ การเดินทางไป อ.พิมายจะสะดวกขึ้น อีกจุดหนึ่งที่ อ.บัวลาย ก่อนถึงแยกหนองบัวลาย ๒-๓ กม. คือจุดที่กรมทางหลวงเลือกไว้แล้ว แต่ถ้าขึ้นไปทางเหนืออีกหน่อยตัดเส้นทางหลวงหมายเลข นม.๒๐๐๑ แล้วจึงเลยไป น่าจะเหมาะสมกับการเชื่อมโยงและลดปัญหาการจราจรได้มากกว่า”

หวั่นซ้ำรอยแฟชั่นไอส์แลนด์

           นายจีรวัฒน์ เรืองรอง เลขานุการสภาวิทยาลัยนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นว่า “เห็นด้วยกับเส้นทางที่ ๒ แต่อยากให้มีการปรับเส้นทางเพื่อรองรับที่อำเภอบัวใหญ่เล็กน้อย ส่วนเรื่องการเวนคืน เคยเกิดกรณีที่กรุงเทพฯ ย่านแฟชั่นไอส์แลนด์ ที่พระราชกฤษฎีการะบุว่าเป็นการสร้างทางหลวงสาธารณะ และมีการจ่ายค่าเวนคืน แต่มีผู้ถูกเวนคืนฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากไม่พอใจค่าเวนคืน ซึ่งศาลพิพากษาให้เพิ่มค่าเวนคืน แต่หลังจากนั้นปรากฏว่ามีการตั้งด่านเก็บเงิน ทั้งที่ไม่มีการแจ้งให้ชัดเจนในพระราชกฤษฎีกาว่ามีการตั้งด่านเก็บเงินบนเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากแจ้งว่าเป็นทางสาธารณะ ดังนั้นโครงการนี้อยากให้ระบุในพระราชกฤษฎีกาเวนคืนอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างกรณีเดิมซ้ำอีก นอกจากนี้ อยากให้บริเวณจุดพักรถมีการจำหน่ายสินค้าโอทอป รวมทั้งบริเวณทางผ่านโบราณสถานก็อยากให้ใช้ราวกั้นกันเสียงแบบโปร่งใสเพื่อได้ชมทิวทัศน์ได้”

           ผู้จัดการโครงการให้คำตอบว่า “กรมทางหลวงมีนโยบายที่จะเพิ่มโครงข่ายที่จะเพิ่ม อ.พิมายให้ใกล้กับจุดมอเตอร์เวย์อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้เรากำลังศึกษาอยู่ ส่วนเรื่องพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ต้องบอกว่าโครงการนี้จั่วหัวเป็นมอเตอร์เวย์ตั้งแต่แรก สำหรับกรณีของบริเวณแฟชั่นไอส์แลนด์ สมัยที่ผมออกแบบไม่ได้เป็นมอเตอร์เวย์ แต่เพิ่งเปลี่ยนเป็นมอเตอร์เวย์หลังจากก่อสร้างเสร็จ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงมีปัญหา ดังนั้นโครงการนี้จึงระบุเป็นมอเตอร์เวย์ชัดเจน”

           ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เห็นด้วยกับแนวทางเลือกที่ ๒ นอกจากนี้ จะมีกำหนดการประชุมอีกครั้งที่จังหวัดขอนแก่นในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องประชาสโมสร ๑ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์

 

 

 

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๒ วันอังคารที่ ๒๑ - วันศุกร์ที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖


796 1418