29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 04,2018

กกต.แจงพร้อมเลือกส.ว. ส.ส.แบ่งแล้ว ๑๔ เขต เสนอ ๓ แบบให้วิพากษ์

          ผู้อำนวยการ กกต.นครราชสีมา เผยที่มา ส.ว. ๒๕๐ คน ทุกภาคส่วนมีส่วนเกี่ยวข้อง แตกต่างจากเดิม เพราะมาจากหลายวิธี แต่ระดับประเทศจบในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๒ ในขณะที่ ส.ส.เหลือ ๑๔ เขต ทำเสนอ ๓ รูปแบบเขตเลือกตั้ง ปิดประกาศทุกพื้นที่ให้แสดงความเห็น แล้วจึงเสนอกกต.กลางรับรองและประกาศใช้ 

          ตามที่มีการประกาศ พ.ร.ป.ทั้ง ๒ ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายนที่ผ่านมา ทาง กกต.ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก ส.ว. เป็นที่เรียบร้อย

          นายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราช สีมา เปิดเผยรายละเอียดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในที่ประชุมกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ ว่า การเลือกตั้งส.ว.ครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งคล้ายการเลือกตั้งส.ส. แต่การเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้สมัคร ส.ว.จะเป็นการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร กฎหมายบทหลักกำหนดให้มี ส.ว. ๒๐๐ คน แต่ในวาระเริ่มแรกของตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ส.ว.มีจำนวน ๒๕๐ คน ซึ่งจะมาจาก ๓ ส่วน คือ ๑. กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. จำนวน ๒๐๐ คน มาจากระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ และเสนอรายชื่อต่อ คสช.เพื่อให้คัดเหลือรายชื่อ ๕๐ คน

          โดยส่วนที่ ๑ การคัดเลือกจะมาจาก ๑๐ กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย ๑.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ๒.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ๓.กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข ๔.กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง ๕.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รวมถึงอาชีพอิสระ ๖.กลุ่ม  ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริม ทรัพย์และสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม ๗.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ๘.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ อัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ๙.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม และ ๑๐.กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ)

          ผู้อำนวยการ กกต.จว.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า สำหรับการสมัครส.ว.จะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ สมัครแบบอิสระ หรือสมัครแบบผ่านองค์กร โดยการสมัครแบบอิสระนั้น ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปีจนถึงวันที่รับสมัคร มีความรู้ประสบการณ์ด้านที่สมัครมาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี เกิดหรือมีชื่อในอำเภอที่จะสมัคร ทำงานหรือเคยทำงานในพื้นที่จะสมัครไม่น้อยกว่า ๒ ปี เคยศึกษาหรือกำลังศึกษาในพื้นที่จะสมัครติดต่อกันอย่างน้อย ๒ ปี ในขณะที่การสมัครผ่านองค์กร ต้องเป็นองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งจัดตั้งมาไม่น้อยกว่า ๓ ปี ผู้ที่จะสมัครผ่านองค์กรจะต้องเคยทำงานหรือเป็นสมาชิกองค์กรนั้นๆ ไม่น้อยกว่า ๒ ปี 

          “สำหรับการเลือกนั้น จะมีทั้งหมด ๓ ระดับ ได้แก่ ๑.การเลือกระดับอำเภอ ผู้สมัครจะมีสิทธิ์ลงคะแนนได้ ๒ คะแนน คือลงคะแนนให้ตัวเองและผู้อื่นในกลุ่มที่สมัคร ซึ่งผู้ที่ได้อันดับ ๑-๓ ของแต่ละกลุ่ม จะเป็นตัวแทนระดับอำเภอ กลุ่มใดมีผู้สมัครไม่ถึง ๓ คนก็ไม่ต้องเลือกเป็นตัวแทนไปเลย ๒.การเลือกระดับจังหวัด เหมือนระดับอำเภอคือมีคนละ ๒ คะแนน เลือกตัวเองกับเลือกผู้อื่นในกลุ่ม แต่จะเอาผู้ที่ติด ๑-๔ ของแต่ละกลุ่ม เป็นตัวแทนระดับจังหวัด แต่ถ้ามีผู้สมัครไม่ถึง ๔ คนก็ไม่ต้องเลือก และ ๓.การเลือกระดับประเทศ เลือกได้ ๒ คะแนนเหมือนกัน แต่จะเอาอันดับ ๑-๑๐ ของแต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ทั้งหมดจะรวมได้ ๒๐๐ คน ก่อนจะเสนอชื่อให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ ๕๐ คน” นายศิริชัย กล่าว

          ทั้งนี้ กำหนดการเปิดรับสมัครลงทะเบียนระดับองค์กร เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติองค์กรว่าผ่านตามคุณสมบัติหรือไม่ จะอยู่ระหว่างวันที่ ๒๒-๓๑ ตุลาคมนี้ เปิดรับลงทะเบียนที่สำนักงาน กกต.ทุกจังหวัดทั่วประเทศ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จะประกาศพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ ๑๐-๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ เปิดรับสมัครระดับอำเภอ และวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ จะเป็นวันเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอ ส่วนวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๒ เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด และในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๒ เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ 

          ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. จะทำการคัดเลือกทาบทามบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่เกิน ๔๐๐ คน เพื่อนำรายชื่อส่ง คสช.คัดเลือกให้เหลือ ๑๙๔ คน และส่วนที่ ๓ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวม ๖ คน โดย ส.ว.จำนวน ๒๕๐ และ ส.ส.จำนวน ๕๐๐ คน รวมเป็นสมาชิกในรัฐสภาทั้งสิ้น ๗๕๐ คน โดยปกติการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ กำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้งและส.ส. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

          นายศิริชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนกฎหมายฉบับการเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ มีคำสั่งที่ ๑๓/๒๕๖๑ คลายล็อกให้กกต.จังหวัดสามารถแบ่งเขตการเลือกตั้งได้ ซึ่งตามปกติต้องรอให้มีผลการใช้บังคับให้มีการเลือกตั้งถึงจะดำเนินการแบ่งเขตการเลือกตั้งได้ แต่มีกำหนด ๙๐ วันให้กกต.จังหวัดแบ่งเขตการเลือกตั้งได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา จัดทำการแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยใช้จำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเฉลี่ยราษฎร ๑๘๙,๑๑๐ คน ต่อ ส.ส. ๑ คน แต่เดิมจังหวัดนครราชสีมามี ๑๕ เขตเลือกตั้ง ปัจจุบันปรับมาเลือก ๑๔ เขตการเลือกตั้ง โดย กกต.จะประกาศรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน จากการจัดทำ ๓ รูปแบบการแบ่งเขตเขตเลือกตั้งของสำนักงาน กกต.จังหวัด โดยวันที่ ๔ ตุลาคมนี้ สำนักงาน กกต.จังหวัดจะส่งรูปแบบขั้นตอนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ มาให้ทางจังหวัด เพื่อปิดประกาศที่ศาลากลางจังหวัดฯ ที่ว่าการอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่ง รวมทั้งสังคมโซเชียล เพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนรับทราบ และเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางสำนักงาน กกต.จังหวัด และผ่านทางเว็ไซต์ กกต.จังหวัด ซึ่งหากพรรคการเมืองหรือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้ง ๓ รูปแบบการแบ่งเขต สามารถเสนอรูปแบบที่ ๔, ๕ และ ๖ ได้ ซึ่งตามกำหนดเวลา ๑๐ วัน กระบวนการสุดท้าย กกต.กลาง จะนำไปเข้าสู่การประชุมหารือ เพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมและประกาศเป็นทางการ คาดจะทราบผลประมาณปลายปี ๒๕๖๑ 

          “ส่วนเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง ๘ คน จะมีการประกาศออกมาให้ทราบเร็วๆ นี้ เพราะตามกฏหมายระบุไว้ว่า เมื่อมีการประการใช้บังคับการเลือกตั้ง ส.ส. หรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะต้องมีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นๆ” นายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดนครราชสีมา กล่าวท้ายสุด

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๘ วันจันทร์ที่ ๑ - วันศุกร์ที่ ๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


789 1406