28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 01,2019

กฟภ.จ้าง‘เด็มโก้’๑๖๐ ล. นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน

             คืบหน้าสายไฟฟ้าโคราช หลังรอลงดินแรมปี ล่าสุดการไฟฟ้าจ่าย ๑๖๐ ล้านบาท จ้างบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) นำสายไฟฟ้าลงดินเฟสแรกบริเวณรอบลานย่าโม เริ่มกลางเดือนมิถุนายนนี้ ชี้สาเหตุที่ล่าช้ากว่า ๖ เดือน เพราะมีเรื่องฟ้องร้อง ด้านโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารคืบหน้าแล้ว ๙๗% เหลือ ‘ไซแมท’ เจ้าเดียวที่ยังเก็บไม่เสร็จ

             ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เคยนำเสนอว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการประชุมถึงโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ อันได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยา และหาดใหญ่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ อนุมัติงบประมาณลงทุน ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศ เป็นเงินจำนวน ๘,๗๔๘.๕๖ ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ.อีกจำนวน ๒,๙๒๐ ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณไปพิจารณาประกอบการดำเนินการต่อไป

             ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๐ นายมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า จะเริ่มโครงการออกเป็น ๓ ช่วง โดยเฟส (phase) แรกจะดำเนินการบริเวณถนนบุรินทร์ ถนนโยธา ถนนบัวรอง ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนสุรนารี ถนนพิบูลละเอียด และถนนโพธิ์กลาง ส่วนเฟสที่ ๒ จะเป็นปีถัดไป ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องคือ ถนนราชสีมา-โชคชัย ถนนพลแสน ถนนไชยณรงค์ ถนนราชนิกูล ถนนชุมพล และถนนราชดำเนิน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๖๒ และในเฟส ๓ เริ่มในปี ๒๕๖๓ คือ บริเวณถนนจักรี ถนนมนัส ถนนยมราช ถนนอัษฎางค์ ถนนจอมพล ถนนมหาดไทย ถนนสรรพสิทธิ์ และถนนกำแหงสงคราม โดยโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ปัจจุบันทางโคราชได้รับงบประมาณตามที่ครม.อนุมัติ ๒,๔๓๔ ล้านบาท จะครอบคลุมตั้งแต่ถนนเส้นห้าแยกไฟฟ้าจังหวัดจนถึงบริเวณเส้นหลักเมือง โดยโครงการนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะเอาทุกระบบลงใต้ดินให้หมด ไม่ใช่เฉพาะสายไฟฟ้า แต่จะรวมไปถึงสายสื่อสารทั้งหมด ซึ่งการไฟฟ้าก็จะดำเนินการสร้างท่อเพื่อนำสายสื่อสารลงพร้อมกัน 

จากลงดินเป็นจัดระเบียบ

             หลังจากนั้นเป็นต้นมา โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของจังหวัดนครราชสีมา ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เชิญผู้ประกอบการสายสื่อสารในจังหวัดนครราชสีมา รวมไปถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าหารือถึงการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดผ่านเสาไฟฟ้า ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เนื่องจากยังไม่สามารถนำสายไฟฟ้าลงดินได้ จึงต้องหาวิธีแก้ไขสายสื่อสารที่รกรุงรัง เสี่ยงเป็นอันตรายต่อประชาชนก่อน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามด้วย 

             ต่อมา ในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๓๐ น. จังหวัดนครราชสีมาได้เปิดโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้า ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา, นายมงคล ฉัตรเวทิน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เขต ๒๓ จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กฟภ. รับปากว่าโครงการจะดำเนินการจนไปสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒

             ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดตามและนำเสนอความคืบหน้าการจัดระเบียนสารสื่อสารมาโดยตลอด ครั้นเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ มีการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมาและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๒ นายเดชา พลวิเศษ พนังงานระดับ 6 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวรายงานวาระการประชุมที่ ๔.๓.๖ เรื่อง การจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งครั้งนี้มีความคืบหน้าของโครงการ ๔๖% แล้ว เป็นระยะเวลากว่า ๕ เดือนที่การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะต้องให้บริษัทเจ้าของสายสื่อสารดำเนินการเก็บและมัดรวบให้เรียบร้อย

             ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ มีการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมาและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๒ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ นายเดชา พลวิเศษ พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานวาระการประชุมที่ ๔.๓.๕ เรื่อง การจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับฟัง

จัดระเบียบสายสื่อสารคืบ ๙๗%

             นายเดชา พลวิเศษ พนังงานระดับ 6 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า “ความคืบหน้าการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ๙๗% หรือคิดเป็นระยะทาง ๑๒๖,๓๔๐ เมตร จากทั้งหมด ๑๓๐,๐๐๐ เมตร โดยเหลือในส่วนของบริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ซึ่งรับผิดชอบสายสื่อสารทั้งหมด ๓,๕๘๐ เมตร ดำเนินการไปแล้ว ๑,๗๕๐ เมตร คงเหลือ ๑,๘๓๐ เมตร ในขณะนี้เหลือเพียง ๓% ก็จะถือว่าโครงการนี้เสร็จสิ้น”

นายเดชา พลวิเศษ พนังงานระดับ 6 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สายไฟลงดินเริ่ม มิ.ย.นี้

             ส่วนกรณีการนำสายไฟลงใต้ดินนั้น นายเดชา พลวิเศษ พนังงานระดับ 6 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รายงานว่า “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้จัดจ้างให้บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดินบริเวณรอบลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีแล้ว โดยโครงการนี้มีทั้งหมด ๓ เฟส โดยเฟสที่ ๑ จะแบ่งงานออกเป็น ๖ ช่วง ช่วงแรกจะดำเนินการรอบลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ส่วนที่เหลือจะเป็นถนนทางทิศตะวันตกของเมือง เช่น ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนโพธิ์กลาง เป็นต้น โดยในเฟสที่ ๑ ได้อนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น ๑๖๐,๐๑๘,๕๐๐ บาท ซึ่งบริษัท เด็มโก้ จะเริ่มลงงานประมาณกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไป  ใช้เวลาดำเนินการ ๑ ปี สำหรับงบประมาณทั้งโครงการน่าจะอยู่ที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท เพราะนอกจากจะมีการนำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว การไฟฟ้าฯ ยังต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ด้วย หากดึงไฟฟ้าจากนอกเมือง แล้ววันหนึ่งเกิดสายไฟขาด รถชนเสาไฟ ก็จะส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าในตัวเมืองได้ จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ คาดว่าจะตั้งอยู่ในบริเวณการ   ไฟฟ้าฯ ที่ ๕ แยกหัวรถไฟ ทั้งนี้ เหตุที่โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินล่าช้า เนื่องจากบริษัท the consortium or emec and fin technic ได้ยื่นอุทธรณ์การไฟฟ้าฯ กรณีที่ผู้รับเหมาไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะรับเหมาโครงการ จึงทำให้โครงการถูกเลื่อนออกมานานกว่า ๖ เดือน กระทั่งมีการตัดสินว่า บริษัท the consortium or emec and fin technic ไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะมารับเหมาดังนั้น กฟภ.จึงสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใน                 ขั้นตอนต่อไปได้”

สายไฟลงดินแน่นอน

             ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิดเผยเอกสารที่ มท ๕๓๐๕.๑๕/๒๑๙๑๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งส่งถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) เรื่อง สั่งจ้าง งานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่าย ๒๒ เควี เป็นเคเบิลดิน บริเวณถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน (รอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี) จังหวัดนครราชสีมา ลงนามโดยนายทวีโชค เพชรเกษม ผู้ช่วยผู้ว่าการ ปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีรายละเอียดดังนี้

             ตามที่ได้ดำเนินการจัดจ้าง ตามประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่องประกวดราคาจ้างก่อสร้าง งานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่าย ๒๒ เควี เป็นเคเบิลใต้ดิน บริเวณถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน (รอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี) จังหวัดนครราชสีมา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ จร.(จส.๑) -คพญ.๑-๐๓/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ นั้น

             การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้พิจารณาแล้ว ตกลงให้บริษัท เด็มโก้ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ดําเนินการงานดังกล่าว เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๑๖๐,๐๑๘,๕๐๐ บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม กําหนด ระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟได้ภายใน ๓๖๐ วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้างและวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เริ่มงาน สําหรับวันลงนามในสัญญาจ้าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอให้บริษัท เด็มโก้ จํากัด (มหาชน) มาลงนามภายใน ๓๐ วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือฉบับนี้แล้ว โดยก่อนลงนามขอให้จัดเตรียมเอกสารจัดส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตรวจสอบก่อนด้วย ดังนี้

             ๑.เงินสด หรือ เช็คหรือดราฟท์ที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่าย ซึ่งเป็นเช็คหรือดราฟท์ลงวันที่ที่ใช้เช็คหรือ ดราฟท์นั้นชําระต่อเจ้าหน้าที่ในวันทําสัญญาหรือก่อนวันนั้นไม่เกิน ๓ (สาม) วันทําการ หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศ หรือหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด หรือหนังสือค้ำประกันของบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ และประกอบธุรกิจค้ำประกันตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายชื่อบริษัทเงินทุนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งเวียนให้ทราบหรือพันธบัตรรัฐบาลไทยชนิดออกให้แก่ผู้ถือซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เสนอราคา โดยชอบด้วยกฎหมาย (โดยมาทำการโอนหรือจำนำให้ไว้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) เพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นจำนวนร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าที่สั่งจ้างเป็นจำนวนเงิน ๑๖,๐๐๑,๘๕๐ บาท

             ๒.ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ ซึ่งมีอายุการรับรองไม่เกิน ๑ เดือน (๓๐ วัน) นับจากวันที่หน่วยงานที่มีอํานาจออกหนังสือรับรองให้ จนถึงวันที่นำมายื่นต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจัดส่งต้นฉบับดังกล่าวให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตรวจสอบ และเมื่อผลการตรวจสอบมีรายละเอียดครบถ้วนถูกต้องแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะแจ้งให้ผู้รับจ้างส่งมอบสําเนาหนังสือรับรองดังกล่าว โดยผู้รับจ้างจะต้องรับรองสําเนา ถูกต้องในเอกสารทุกหน้าและให้ไว้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไว้เป็นหลักฐาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงจะคืนหนังสือรับรองต้นฉบับให้แก่ผู้รับจ้างต่อไป

             ๓.สําเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.๒๐) พร้อมรับรองสําเนาถูกต้อง และ ๔.หนังสือมอบอํานาจ ในกรณีที่ผู้มาลงนามในสัญญาจ้าง มิใช่ผู้มีอํานาจตามหนังสือรับรองการ จดทะเบียนบริษัทฯ

             อนึ่ง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๕ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ ๖ ล้านบาท การก่อตั้งบริษัทเกิดขึ้นจากกลุ่มวิศวกรระบบไฟฟ้าที่มีประสบการณ์ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า ทั้งทางด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าย่อยและงานระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงมามากกว่า ๒๐ ปี ในปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งแบบครบวงจรในงานระบบจำหน่ายไฟฟ้า ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง–สถานีไฟฟ้าย่อย งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานด้านพลังงานทดแทน เช่นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งผลิตและจำหน่ายเสาโครงเหล็กสำหรับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ระบบเสาโทรคมนาคมและป้ายโฆษณา Bill Board วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาระบบพลังงานของประเทศ

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๕ วันเสาร์ที่ ๑-วันพุธที่ ๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒


784 1437