28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 02,2019

ขก.ลุย‘สมาร์ทซิตี้’ระยะ ๒ โคราชฟิตส่งแผนเมืองต้นแบบ

              กระทรวงดีอี เดินหน้าเมืองสมาร์ทซิตี้ เฟส ๒ คลุมพื้นที่ ๒๔ จังหวัด ๓๐ เมือง เผยเตรียมมอบตราสัญลักษณ์เมืองต้นแบบอัจฉริยะภายในปีนี้ ขณะที่โคราช ฟิตเต็มที่ส่งแผนเมืองต้นแบบอัจฉริยะเมืองแรกของไทยเรียบร้อยแล้ว

              เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ห้องประชุมชั้น ๒ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น หรือ KICE นายสันติ  เหล่าบุญเสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการสัมมนาในหัวข้อ “ภาคอีสานกับการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้” ซึ่งหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE กำหนดจัดการสัมมนาขึ้น โดยมีผู้นำหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน เข้าร่วมสัมมนากว่า ๒๐๐ คน

              นายภาสกร  ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวง DE กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินงานว่าด้วยโครงการเมืองอัจฉริยะ นำร่อง ๗ จังหวัดตามที่รัฐบาลกำหนดในช่วงแผนการดำเนินงานระหว่างปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒ ใน ๗ เมือง ซึ่งประกอบไปด้วย ภูเก็ต, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ นั้น มีความคืบหน้าในแผนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรม ในขณะนี้เข้าสู่แผนการดำเนินงานในระยะที่ ๒ ที่มีการขยายขอบเขตแผนการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครบ ๒๔ จังหวัด ๓๐ เมือง โดยในกลุ่มที่ ๒ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายนั้นประกอบด้วย เชียงราย, พิษณุโลก, น่าน, อุบลราชธานี, อุดรธานี, หนองคาย, นครพนม, มุกดาหาร, กระบี่, พังงา, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สตูล, นครศรีธรรมราช และระนอง

              “การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ใน ๕ รูปแบบตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กำหนด ซึ่งขอนแก่นนั้นตอบโจทย์และมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายคือภายในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ที่จะต้องเป็นเมืองน่าอยู่, เมืองที่มีประสิทธิภาพ และเมืองที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้เห็นว่า วันนี้ขอนแก่นมีผลการดำเนินงานที่เป็นต้นแบบที่หลายๆ เมืองได้เข้ามาศึกษา และนำกลับไปถอดรูปแบบการดำเนินงานทั้งเรื่องของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สมาร์ทบัส และโครงการรถไฟฟ้ารางเบา, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ใช้ระบบเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของจุดจอดรถและแอปพลิเคชั่นต่างๆ การให้บริการด้านสาธารณสุขที่มีการใช้ระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งเมืองอัจฉริยะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบดิจิทัลทั้งโครงการเพียงอย่างเดียว แต่การผสมผสานการพัฒนาเมืองและมีการนำระบบการบริหารจัดการและรูปแบบการดำเนินงานที่ทันสมัย มีสภาพคล่องสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในภาพรวมทั้งหมด” นายภาสกร กล่าว

              นายภาสกร กล่าวอีกว่า ในกลุ่มที่ ๒ ที่ดีป้าได้กำหนดเมืองนำร่องเพื่อเข้าสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้นจะมีการเสนอเมืองเพิ่มเติมที่สนใจเข้าร่วมดำเนินการตามโครงการดังกล่าว โดยที่ขณะนี้ร้อยเอ็ดและนครราชสีมาได้เสนอตัวที่จะขอเข้าร่วมกับแผนงานดังกล่าวแล้ว และในการดำเนินงานตามโครงการเมืองอัจฉริยะที่รัฐบาลกำหนดให้ทุกเมืองนั้นเสนอแผนงานที่จะเข้าร่วมนั้น พบว่า จังหวัดนครราชสีมา แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการตามประกาศของกระทรวงดีอี แต่ทางจังหวัดได้นำเสนอแผนงานให้กับดีป้า เพื่อเสนอต่อกระทรวงดีอีได้รับทราบแล้ว และเป็นจังหวัดแรกของไทยที่มีการเสนอแผนงานมาตามลำดับขั้นตอนที่รัฐบาลกำหนด อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๖๒ กระทรวงดีอี เตรียมพิจารณามอบหมายเมืองอัจฉริยะ ให้กับเมืองที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ซึ่งขณะนี้มีหลายเมืองที่มีผลการดำเนินงานที่ชัดเจนเหลือเพียงการสรุปผลการดำเนินงานและเสนอรูปแบบการบริหารจัดการตามระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดไว้ ก็จะสามารถพิจารณามอบตราสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ทันที ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้จะมีสิทธิพิเศษในการพัฒนาเมืองว่าด้วยการดำเนินโครงการไปจนถึงด้านการลงทุนและกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๑ วันจันทร์ที่ ๑ - วันศุกร์ที่ ๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 


786 1419