July 27,2019
รถไฟทางคู่ผ่าเมืองโคราช ‘ทุบ-ไม่ทุบ’สะพานสีมาธานี รอ‘รัฐมนตรีคมนาคม’ฟันธง
ปัญหารถไฟทางคู่ ‘มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ’ ช่วงสัญญาที่ ๒ ‘คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ’ รถไฟวิ่งผ่าเมืองโคราช ยังไร้ข้อสรุป ทุบ-ไม่ทุบ ‘สะพานสีมาธานี’ การรถไฟฯ ตัดปัญหาเสนอทั้ง ๒ แบบ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ด้าน รมช.คมนาคม ยันรอแถลงนโยบายรัฐบาลก่อนนำเข้าที่ประชุมพิจารณา
ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวกรณีบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนชัลแตนส์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ พิจารณาความเห็นที่แตกต่างระหว่างนักการเมืองและนักธุรกิจโคราชบางกลุ่มรวมตัวเรียกร้องให้มีการยกระดับทางรถไฟผ่านตัวเมือง ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มาประชุมร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เสนอข้อมูลและแนวทางว่าไม่จำเป็นต้องมีการรื้อสะพานบริเวณโรงแรมสีมาธานี ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นเวลา ๓๐ เดือน และยังช่วยประหยัดประมาณอีกจำนวน ๑,๓๓๖ ล้านบาท
จากนั้น บริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ เพื่อรายงานการปรับรูปแบบรายละเอียดก่อสร้างทางรถไฟ บริเวณอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา ในครั้งนั้น บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ทำแบบนำเสนอผลกระทบกรณีทุบสะพานข้ามแยกสีมาธานี ดังนี้ ๑.ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการรื้อถอนสะพานจำนวน ๑,๓๓๖ ล้านบาท ๒.การจราจรติดขัดเป็นเวลา ๓๐ เดือน ๓.ตลอดการก่อสร้างต้องติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และ ๔.ต้องออกแบบสะพานกลับรถเพิ่ม ๒ แห่ง
ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ซึ่งครอบครัวประกอบธุรกิจอู่ต่อรถโดยสารอยู่ไม่ห่างจากสะพานสีมาธานี ที่เข้าร่วมการประชุมอยู่ด้วย กล่าวถึงข้อดีกรณีทุบสะพานข้ามแยกสีมาธานีว่า ๑.ทำให้เศรษฐกิจบริเวณ ๔ แยกอัมพวันกลับมาคึกคักอีกครั้ง ๒.การทุบสะพานออกและยกระดับทางรถไฟ จะทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่ใต้สะพานเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ๓.อ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมตลอดทางรถไฟได้ ๔.ทำให้รถดับเพลิงไม่ต้องอ้อมกลับรถในเวลาฉุกเฉิน และ ๕.เกิดสี่แยกอัมพวันอย่างเช่นในอดีต ทำให้ประชาชนไปมาหาสู่ได้สะดวกสบายมากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการออกแบบโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร ซึ่งสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทาง ถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการก่อสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องรถไฟผ่าเมืองเป็นสองฝั่งตามที่ประชาชนเรียกร้อง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้การประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ต้องยุติลง เพราะต้องเข้าสู่กระบวนการออกแบบและขออนุมัติโครงการใหม่ทั้งหมด
โดยมีการเสนอปรับรูปแบบการก่อสร้างบางช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา (สะพานสีมาธานี) ให้เป็นทางรถไฟยกระดับและบางช่วงเป็นคันทางสูงให้รถยนต์ลอดข้าม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้านกายภาพ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่และต้นทุนค่าก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน
ล่าสุดนายศักดิ์ชัย ทรัพย์ใจเที่ยง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค ๒ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เสนอรูปแบบตามบริษัทที่ปรึกษาเสนอมา ทั้งแบบทุบกับไม่ทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งขณะนี้ยังรอทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ชี้ขาด โดยการเสนอทั้งแบบทุบกับไม่ทุบสะพานสีมาธานีก็แบ่งแยกมาจากคนโคราชที่ต่างฝ่ายเสนอข้อดีที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ทางผู้นำท้องถิ่นคือนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมาต้องให้ทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเล ส่วนประชาชนที่อยู่แถวนั้นหรือสัญจรไปมาไม่อยากให้ทุบ ซึ่งผมเคยแนะนำให้บริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่ให้คำแนะนำกับประชาชนเรื่องของการใช้เส้นทาง เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว
นายจารุวัฒน์ แสงอ่อน ผู้จัดการโครงการ บริษัท เอเชี่ยนเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเป็นคนตัดสินใจ โดยผมเป็นบริษัทที่ปรึกษาให้กับการรถไฟฯ ทำแบบเสนอไปทั้งสองแบบคือ ทุบกับไม่ทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเป็นคนสั่งการเองว่า จะให้การรถไฟดำเนินการในรูปแบบไหน ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่รับฟังการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทั้งในแบบทุบกับไม่ทุบสะพานสีมาธานีแล้ว ซึ่งการประชุมการมีส่วนร่วมครั้งสุดท้ายที่จังหวัดนครราชสีมามีการเสนอแบบไม่ทุบสะพานสีมาธานี แต่ก็มีบางส่วนในที่ประชุมเสนอให้ทุบสะพานสีมาธานี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงเสนอให้บริษัทที่ปรึกษานำเสนอมาทั้งสองรูปแบบ เพื่อนำเข้าเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณา ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปจากกระทรวงคมนาคมแจ้งมายังการรถไฟแห่งประเทศไทย
“การไม่ทุบสะพานสีมาธานีนอกจากจะประหยัดงบประมาณแล้ว ยังไม่กระทบต่อปัญหาการจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ผู้บริหารในจังหวัดมองว่า ถ้าทุบสะพานสีมาธานีจะทำให้เมืองเปิดและขยายพื้นที่ในจังหวัดมากขึ้น ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาก็นำเสนอทั้งข้อดีและข้อเสียให้กระทรวงพิจารณา ส่วนที่ล่าช้าอาจเป็นเพราะการปรับเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นคนตัดสินใจ” นายจารุวัฒน์ กล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ขณะนี้รับทราบมาว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการสรุปแบบออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งทางจังหวัดกำลังรอหนังสือตอบกลับจากทางกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะส่วนตัวก็ยังไม่ทราบเช่นกันว่า จะออกมาในรูปแบบใด
“ช่วงนี้อาจต้องรอการประกาศนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่และนโยบายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งผมพร้อมที่จะเข้าหารือกับนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่เป็น ส.ส.โคราช ถึงปัญหาดังกล่าว” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ปัญหาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะอยู่ในช่วงเพิ่งปรับเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ตนขอให้ทางกระทรวงคมนาคมรับมอบแถลงนโยบายใหม่ออกมาก่อนถึงจะให้คำตอบได้
ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร เดิมใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านบาท หากมีการปรับแบบก่อสร้างโดยการทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า การปรับแบบจะส่งผลให้มูลค่างานโยธาเพิ่มขึ้น ๓,๔๐๐ ล้านบาท เป็นประมาณ ๑๐,๔๐๐ ล้านบาท
ปัจจุบันโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา คือ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง ๕๘ กิโลเมตร วงเงิน ๗,๗๒๑ บาท ก่อสร้างคืบหน้า ๓๒%, สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการก่อสร้าง และสัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร วงเงิน ๙,๓๙๙ ล้านบาท ก่อสร้างคืบหน้า ๖%
ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
902 1,617